พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎรฉบับใหม่ กับการรับรองสถานะความเป็นคน

ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) ..2551 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ..2534 ซึ่งใช้บังคับมาแล้ว 17 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ที่มา

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและ สิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีความเห็นว่าสมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.. 2534 เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปและสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติ สัญชาติที่มีการแก้ไขใหม่ จึงระดมความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอความเห็นต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ....) .. ... ซึ่งนางเตือนใจ ดีเทศน์และคณะเป็นผู้เสนอ และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้นำร่างพระราชบัญญัติฯของรัฐบาล ซึ่งเป็นร่างของกรมการปกครอง มาเป็นหลักในการพิจารณา และผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2550 เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย จนมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 

พระราชบัญญัติฯฉบับนี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ  

กรณีการดำเนินการทางทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนมีอำนาจ "ระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน" ไว้ก่อน ที่จะรับฟังคำชี้แจงหรือโต้แย้งจากผู้อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของ นายทะเบียน 

เนื่องจากกฎหมายเดิมพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.. 2534 แม้ให้อำนาจนายทะเบียนเมื่อพบว่า การดำเนินการแจ้ง การบันทึกการรับแจ้ง หรือการลงรายการ เพื่อจัดทำหลักฐานทะเบียนต่างๆ  ได้ดำเนินไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียน และดำเนินการแก้ไขรายการทะเบียนให้ถูกต้อง แต่มิได้กำหนดให้อำนาจในการระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนไว้ จึงกำหนดให้อำนาจนายทะเบียนเพิ่มขึ้น 

และที่ผ่านมานายทะเบียนบางคนไม่ทราบว่า ตนเองไม่มีอำนาจในการสั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียน จึงสั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียน ดังกรณีที่ชาวบ้านอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ หลายพันคน ได้รับคำสั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนจากนายทะเบียน เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจพบการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านโดยไม่ชอบของนายทะเบียนอำเภอแม่แตงหลายพันคน ซึ่งก่อปัญหาเรื่องสิทธิของชาวบ้านแม่แตงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนปัจจุบัน 

การจะสั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนได้ นายทะเบียนต้องมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงจะสั่งได้ และให้มีกฎกระทรวงในการกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ และการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบต่อไป โดยบัญญัติเพิ่มเติมว่า

"มาตรา 10 วรรคสี่ การดำเนินการตามวรรคสาม รวมตลอดทั้งวิธีการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงและการอุทธรณ์ของผู้ซึ่งอาจ ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของนายทะเบียน รวมถึงการพิจารณาการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนไว้ก่อนที่จะรับฟัง คำชี้แจงหรือการโต้แย้งได้

 กรณีแจ้งเกิดสามารถแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่ใดก็ได้ 

เดิมการแจ้งเกิดต้องแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในสิบห้าวันในท้อง ที่ที่คนผู้นั้นเกิดเท่านั้น  ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่ให้สามารถแจ้งเกิดได้แม้ไม่ใช่ท้องที่ที่ผู้นั้นเกิด โดยบัญญัติเพิ่มเติมว่า

"มาตรา 18 วรรคสาม ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"  

กรณีกลุ่มบุคคลซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยหรือให้แปลงสัญชาติไทยหรือมีเหตุจำเป็นสามารถขอหนังสือรับรองการเกิดได้ 

เดิมไม่มีการกำหนดการออก"หนังสือรับรองการเกิด" ในกรณีที่เกิดนานแล้วแต่ไม่มีเอกสารการเกิด  นายทะเบียนบางคนได้ออก"หนังสือรับรองสถานที่เกิด" ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ให้แทน แต่นายทะเบียนบางคนไม่ออกหนังสือรับรองใดๆให้เลย ทำให้ประชาชนไม่มีเอกสารรับรองการเกิด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ จึงบัญญัติเพิ่มเติมว่า

"มาตรา 20/1 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใด หรือ ให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้บุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด"  

กรณีคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดทำทะเบียนประวัติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

เดิมการบันทึกข้อมูลตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนราษฎรสำหรับผู้ไม่มีสัญชาติไทยด้วย แต่กรมการปกครองตีความว่า ผู้ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรต้องเป็นผู้มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเท่า นั้น ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการตีความเกินเลยจากที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้คนที่ไม่มีสัญชาติไทยจำนวนมากไม่มีชื่อในฐานข้อมูลของการทะเบียนราษฎร  ทำให้รัฐขาดข้อมูลที่เป็นจริงในการพัฒนา และป้องกัน ประเทศ 

จึงปรับปรุงให้ชัดเจนโดยระบุแยกว่า คนที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวสามารถมีชื่อและได้รับการจัดทำ ทะเบียนราษฎร ซึ่งใช้ ทะเบียนบ้าน ทร.13 ส่วนคนที่ไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นก็สามารถได้รับการจัดทำทะเบียนได้ แต่เรียกว่า "ทะเบียนประวัติซึ่งจะทำให้ คนตกหล่น คนไร้สัญชาติ ผู้อพยพ สามารถทำทะเบียนประวัติได้ ซึ่งการประกาศกำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยบัญญัติปรับปรุงแก้ไขเป็นว่า 

"มาตรา 38 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่ มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็น กรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัย อยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการของผู้นั้นโดยเร็ว 

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มี สัญชาติไทยอื่น นอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 

รายการและบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยกลางทะเบียนกลางกำหนด"  

กรณีเด็กเกิดในประเทศไทยให้นายทะเบียนรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตรให้ แม้เด็กนั้นจะไม่มีสัญชาติไทย 

เดิมแม้จะมีเอกสารทางทะเบียนราษฎรในการออกสูติบัตรรับแจ้งเกิด เรียกว่า "สูติบัตร ทร.3" สำหรับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่เนื่องจากกรมการปกครองเห็นว่าจะทำรายการทางทะเบียนราษฎรให้เฉพาะ ผู้มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเท่านั้น ทำให้เด็กทารกที่มีบุพการีหรือบิดามารดาที่ไม่มีสิทธิอาศัยไม่ได้รับการแจ้ง เกิด จดทะเบียนการเกิด และสูติบัตร  

เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถได้รับการจดทะเบียนเกิด  มีเอกสารรับรองการมีสถานะบุคคล และมีชื่อในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของรัฐ จึงแก้ไขให้นายทะเบียนต้องรับแจ้งเกิด และออกสูติบัตรให้ผู้แจ้ง  ทั้งการแจ้งเกิดคนในบ้านคนนอกบ้านตามปกติ(มาตรา18) การแจ้งเกิดเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาที่ถูกทอดทิ้งโดยผู้พบ (มาตรา 19) การแจ้งเกิดเด็กเร่ร่อนที่อยู่ในอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตาม ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด(มาตรา 19/1) และการแจ้งเกิดคนในบ้านคนนอกบ้านล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดไว้ คือภายใน 15 วัน(มาตรา 19/3) จึงแก้ไขและบัญญัติใหม่ว่า 

"มาตรา 20 เมื่อมีการแจ้งการเกิดตามมาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 19/1 หรือมาตรา 19/3 ทั้งในกรณีของเด็กที่มีสัญชาติไทยหรือเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ  ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้ง รับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้ง โดยมีข้อเท็จจริงเท่าที่จะทราบได้ 

สำหรับการแจ้งการเกิดของเด็กที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายว่า ด้วยสัญชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียน กลางกำหนด โดยให้ระบุสถานะการเกิดไว้ด้วย

กรณีเด็กในสภาพแรกเกิด เด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง และเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง เป็นหน้าที่ผู้พบและผู้อุปการะต้องนำเด็กส่งต่อและแจ้งเกิด 

เดิมพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.. 2534 มาตรา 19 ระบุ ให้ผู้พบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กอ่อนที่ถูกทอดทิ้ง นำเด็กส่งและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ครอบคลุมกลุ่มปัญหาจึงแก้ไขเพิ่มเติมการแจ้งเกิดของเด็กในสภาพแรกเกิด เด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง และเพิ่มการแจ้งเกิดเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง รวมทั้งการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กดังกล่าว โดยแก้ไขมาตรา 19 และเพิ่มมาตรา 19/1 มาตรา19/2 ดังนี้ 

"มาตรา 19 ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้นำตัวเด็กไปส่ง และแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้ แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด 

บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้า หน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับ และส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย 

มาตรา 19/1 เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการ อุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้า หน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อ นายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง  ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด 

มาตรา 19/2 การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา 19 และมาตรา 19/1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสาร แสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด"

อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ 19-20 ..2551 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมบ้านแก้ว จ.เชียงใหม่ เครือข่ายการทำงานด้านชนเผ่าชาติพันธุ์ ระหว่างศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ จัดเวที ประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน นโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าและชาติพันธุ์ 

สุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า แม้พ...จะพยายามอำนวยความสะดวกให้แก้ประชาชนไปแจ้งเกิดที่ไหนก็ได้ แต่จากประกาศกฎกระทรวง 23 สิงหาคม 2551 ในเรื่องกฎเกณฑ์การแจ้งเกิดได้เพียงท้องที่ที่บิดามารดา หรือผู้ปกครองอาศัยอยู่เท่านั้น สอง ต้องมีหลักฐานรับรองการเกิดและพยาน 2 คน หากไม่มีหนังสือรับรองการเกิดต้องพิสูจน์ด้วยดีเอ็นเอเท่านั้น จากหลักเกณฑ์ง่ายๆ พอมีกฎกระทรวงกลายเป็นการเพิ่มภาระและเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน  

กรณีหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20 มีชาวบ้านจำนวนมากต้องการไปใช้ในการยื่นขอสัญชาติ ที่ผ่านมาในกฎหมายทะเบียนราษฎร์ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ เมื่อมีกฎกระทรวงก็เขียนกำหนดเงื่อนไขว่าชาวบ้านที่จะขอหนังสือรับรองการเกิดได้ ต้องเกิดในประเทศไทยแต่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือแจ้งเกิดแล้วแต่ไม่มีสูติบัตร โดยต้องมีทะเบียนบ้าน (ทร.13, ทร.14) หรือทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) หรือผู้ถือบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรเลข 0 สรุปแล้วคือต้องมีทะเบียนมาด้วยถึงจะออกหนังสือรับรองการเกิดได้ ถ้าชาวบ้านไม่มีทะเบียนก็ไม่ได้อยู่ดี 

อย่างไรก็ตามในด้านดีนั้น พบว่า กฎหมายทะเบียนราษฎร์เดิมมีปัญหาในการบังคับใช้ และตีความกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง นักวิชาการบางส่วน จะเชื่อว่ากฎหมายนี้จะใช้กับคนที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งเมื่ออ่านกฎหมายก็ไม่ตรงส่วนไหนที่บ่งบอกไว้อย่างนี้ ซึ่งการปฏิบัติก็ยังยึดตามแนวคิดนั้นอยู่ ดังนั้นคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเขาจะไม่รับแจ้งเกิด แจ้งตาย หรือไม่รับทำทะเบียนอะไรทั้งนั้น ซึ่งในกฎหมายฉบับใหม่ได้แก้แนวคิดเรื่องนี้แล้ว โดยในมาตรา 38 วรรค 2 ให้ทุกคนเข้าทะเบียนราษฎร์ได้ ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องผลักดันให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติให้กับคนทุกคนในประเทศไทย 

หรือมาตรา 19/3 ให้มีการรับแจ้งเกิดกับเด็กทุกคนในประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยรับรองสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม หลังจากที่ถูกนานาชาติติติง ถึงการเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน นี่เป็นเรื่องใหม่ที่อำเภอยังไม่มีใครรู้.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท