Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 29-30 พ.ย. ที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจัดการสัมมนา เรื่อง "โทรคมนาคมกับการเข้าถึงของผู้พิการทางสายตา" นายกิตติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เปิดเผยถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรคมนาคมของผู้พิการทางสายตาว่า จากประเภทของโทรศัพท์ที่ใช้ 4 ประเภท คือ โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์สาธารณะ พบว่า มีผู้พิการทางสายตาใช้โทรศัพท์มือถือถึงร้อยละ 98 และใช้มากกว่า 1 เลขหมายร้อยละ 34 เป็นโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินร้อยละ 74 แบบรายเดือนร้อยละ 27 โดยการเลือกเครือข่ายผู้ให้บริการนั้น คำนึงถึงโปรโมชั่นมากที่สุด รองลงมาคือโครงข่ายสัญญาณ และการให้บริการลูกค้า พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือคือ โทรบ่อยคุยนาน ปัญหาที่พบจากการใช้โทรศัพท์คือ ไม่สามารถอ่านข้อความได้สะดวกร้อยละ 63  รองลงมาคือ ไม่มีสัญญาณ และผู้ให้บริการให้ข้อมูลไม่ได้


 


"ปัญหาที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากการได้รับความไม่สะดวกจากตัวอุปกรณ์และการให้บริการ ซึ่งต้องปรับปรุงบริการที่มีอยู่ให้ผู้พิการเข้าถึงได้ เช่น มีบริการอ่านข้อความเป็นเสียง หรือมีระบบเตือนด้วยเสียงเมื่อโทรออกนอกเครือข่าย รวมทั้ง ให้มีระบบการตรวจสอบค่าบริการสำหรับคนตาบอด เช่น ใบแจ้งหนี้สำหรับคนตาบอดเป็นอักษรเบลล์ หรือการแจ้งค่าโทรศัพท์เป็นเสียง เป็นต้น" นายกิตติพงศ์กล่าว


 


ด้านนายวีระศักดิ์ ตั้งพูนพันธ์ ผู้พิการทางสายตารายหนึ่งกล่าวว่า  ปัจจุบันการใช้โทรศัพท์มือถือของคนพิการทางสายตาต้องใช้โปรแกรมทอล์คซึ่งเป็นโปรแกรมของต่างประเทศและใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีซิมเบียน ซึ่งเครื่องโทรศัพท์ที่จะรองรับรุ่นนี้ได้ยังมีราคาสูง ขณะที่ค่าโหลดโปรแกรมนี้มีราคาสูงถึง 6,000-8,000 บาทแม้ไทยจะมีโปรแกรมทอล์คที่ชื่อ โปรแกรมรัตนา แต่ก็ยังมีข้อจำกัด มีคุณภาพการอ่านไม่ชัดเจน เช่น คำว่าสามารถ โปรแกรมอ่านได้ว่า สา-มา-รด หรือถ้าเจอตัวย่อ อย่าง สบท. ก็จะอ่านว่า สะ-บด เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่คนพิการทางสายตาต้องการก็คือ การทำให้โทรศัพท์พูดได้ ในราคาที่ถูกลง และมีบริการทอล์คมาให้เลย


 


"ปัจจุบันถ้าคนพิการทางสายตาจะเข้าถึงได้ก็ต้องกระเสือกกระสนกันเอง ซึ่งทำให้อาจจะถูกหลอกได้" นายวีระศักดิ์กล่าว


 


ด้านนายจตุพล หนูท่าทอง ผู้พิการทางสายตาอีกคนหนึ่งกล่าวถึงการเข้าถึงการใช้บริการอินเตอร์เน็ตของคนพิการทางสายตาว่า คนพิการทางสายตาสามารถเข้าใช้บริการอินเตอร์เน็ตด้วยโปรแกรม Jaws for window ซึ่งใช้ได้กับเครื่องพีซีและโน้ตบุค โดยสามารถอ่านข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือได้ แต่ยังไม่สามารถบรรยายกราฟฟิคได้


 


 "ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นเวปของคนตาบอดแล้วไม่ต้องมีกราฟฟิค แต่ต้องเป็นแบบมาตรฐานของ W3C ซึ่งจะกำหนดรูปแบบของการเขียนเวปให้เหมาะสมสำหรับผู้พิการในทุกรูปแบบ สำหรับของไทยตอนนี้ ถือว่า เวป Sanook.com เป็นเวปที่ผู้พิการทางสายตาใช้ได้เพราะแม้จะมีกราฟฟิคเยอะแต่ก็มี auto active text ที่ให้ข้อมูลกับคนตาบอดได้ "นายจตุพลกล่าว


 


ทางด้านนายสวัสดิ์ ประนม ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมทีโอที เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีโอทียังสนับสนุนให้เกิดเครื่องโทรศัพท์สาธารณะสำหรับคนตาบอด 500 เครื่องทั่วประเทศ รวมทั้งให้มีบัตรโทรศัพท์สำหรับผู้พิการและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิการที่ลงทะเบียนคนพิการทั้งสิ้น 7 แสนคน ทีโอทีกำหนดให้ผู้พิการทุกประเภทจะได้รับบัตรเติมเงินนี้ในรูปแบบของ พินโฟน (Pin Phone) 108 จำนวน 1 ล้านใบ เมื่อได้รับพินโฟนแล้วจะได้รับการเติมเงิน 100 บาททุกเดือนเป็นเวลา 30 เดือนเฉพาะผู้พิการที่ลงทะเบียนคนพิการไว้ อย่างไรก็ตามรหัสพินโฟนยังไม่มีในรูปแบบของอักษรเบลล์ ซึ่งจะได้นำไปปรับปรุงต่อไป สำหรับในอนาคตทีโอทีกำลังสนับสนุนให้เกิดระบบ Telecommunications Relay Services เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางโทรคมนาคมกับผู้พิการทุกประเภทต่อไป


 


ขณะนายสุรวัตร ชินวัตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอดวานซ์ คอนแท็คเซ็นเตอร์ จำกัด ระบุว่า สำหรับเอไอเอส เราได้สนับสนุนให้มีพนักงานศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 28 คน และมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานที่เป็นผู้พิการต่อไปในอนาคตด้วย


 

ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ผู้พิการแต่ละประเภทประสบปัญหาในการเข้าถึงโทรคมนาคมแตกต่างกัน  สำหรับผู้พิการทางสายตาภายหลังการสัมมนาวันนี้ จะนำไปสู่การสนับสนุนเครือข่ายผู้พิการทางสายตา เพื่อทำงานด้านผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งการจัดตั้งแกนนำอาสาสมัครในการวางแผนงานเพื่อทำกิจกรรมรวมกันในปี 2552 ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net