รายงาน: สู่ 3 ปีที่อดอยาก ประเมินเศรษฐกิจโดยที่ประชุมหอการค้า

การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 26 ที่หอการค้าจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลานั้น อยู่ในช่วงที่สถานการณ์ทางเมืองไทยเข้มงวดเข้าไปทุกที ประเด็นสำคัญจึงอยู่ท่าทีต่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก ด้วยการไม่คาดหวังใดๆ เลยต่ออำนาจรัฐขณะนั้น

 

แต่หากประเด็นทางการเมืองออกไปทั้งหมด จะเห็นว่า เนื้อหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตเศรษฐกิจดูจะหนักหนากว่าด้วยซ้ำ และจะเห็นผลไปจนถึงระดับรากหญ้าของประเทศ คนยากคนจนและความอดอยากจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2553 อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมาด้วย

 

เดิมทีในการสัมมนาครั้งนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นที่คาดหวังมากของภาคเอกชนในภาคใต้มากที่สุด คือ การผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูล หรือแลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล แต่จากสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น กลับผลักดันให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ยังอยู่ห่างไกลออกไปอีก

 

การสัมมนาที่ถูกรวบเหลือวันเดียว จากที่กำหนดไว้ 3 วัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเดินทางมาร่วมได้ เนื่องจากปัญหาการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง รวมทั้งความตึงเครียดทางการเมืองขณะนั้น ทำให้ต้องตัดกำหนดการเหล่านั้นออกไป

 

จนถึงขนาดที่กรรมการหอการค้าไทยบางคนบ่นในที่ประชุมว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่มีผู้บริหารระดับนโยบายของประเทศมารับฟัง แล้วจะคาดหวังกับข้อเสนอต่างๆ ครั้งนี้ได้อย่างไร

 

นอกจากผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น จะส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก แต่ความหวังทางการเมืองก็น่าจะกลับมาดีขึ้น เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายลงแล้ว

 

แต่การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่วันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งน่าจะส่งผลในระยะยาวมากกว่านั้น ดูจะเป็นเรื่องร้ายแรงกว่า อย่างที่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวไว้ในพิธีเปิดว่า

 

"ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเริ่มต้นเผชิญกับวิกฤติการเมืองละวิกฤติเศรษฐกิจโลก และไม่รู้ว่าจะจบลงเมือไร การรับมือวิกฤติเศรษฐกิจต้องการความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐภาคเอกชนและสังคมอย่างพร้อมเพรียงกันไม่มีเวลาที่จะมาทะเลาะกัน

 

หอการค้าไทยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตจากผู้ประกอบการ ทั้งในภาคการผลิตและบริการ พบว่า อุตสาหกรรมต่างๆ คาดว่าจะมียอดขายลดลงในปี 2552 ได้แก่ กลุ่มอาหาร สิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องประดับ การบริการได้แก่ โรงแรม ภัตตาคาร การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ โดยประเมินว่าผลกระทบครั้งนี้จะยาวนานถึง 3 ปี โดยจะหนักที่สุดในปี 2553

 

ทางหอการค้าทุกจังหวัดจะต้องดูและและอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและต้องติดตามข่าวสาร สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการ และ สถานภาพการจ้างงานในจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ปรึกษาระหว่างกันและภาครัฐในการรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น"

 

นอกจากนี้ ในการสัมมนาครั้งนี้ เดิมได้กำหนดหัวข้อการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย : เพื่อรองรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 

กลุ่มที่ 1 เรื่อง การเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนไทย ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กลุ่มที่ 2 เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด: ภายใต้ความร่วมมือภาคเอกชน และ กลุ่มที่ 3 โอกาสของประเทศไทยในการบริหารจัดการ: พลังงานทดแทน น้ำ และโลจิสติกส์

 

แต่เนื่องจากอุปสรรคหลายอย่าง ดังที่ทราบกันแล้วนั้น หอการค้าไทยจึงปรับเปลี่ยนกำหนดการและกำหนดหัวข้อย่อยในการระดมความคิดเห็นเป็น 2 กลุ่มเท่านั้น ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เรื่อง ทำอย่างไรให้ภาคเอกชนเข้มแข็ง และ กลุ่มที่ 2 เรื่อง ฟื้นฟูประเทศไทยให้พ้นวิกฤตได้อย่างไร

 

โดยนายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า การพูดคุยกันใน 3 หัวข้อเดิม เป็นเรื่องที่ไกลเกินไปแล้ว

 

สำหรับการประชุมในกลุ่มที่ 2 เรื่อง ฟื้นฟูประเทศไทยให้พ้นวิกฤตได้อย่างไร ที่มีนายดุสิต เป็นประธานนั้น ได้กำหนดประเด็นในการพูดคุย 5 ประเด็น คือ การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองไทย การสร้างบรรยากาศและความเชื่อมั่นทางการท่องเที่ยว การสร้างบรรยากาศและความเชื่อมั่นทางการลงทุน กระบวนการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อความเข้มแข็งของธุรกิจ

 

โดย 3 ประเด็นแรก ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าภาคเอกชนไม่สามารถทำอะไรได้เลย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเท่านั้นที่จะดำเนินการได้ ส่วน 2 ประเด็นหลักภาคเอกชนสามารถทำได้เลย

 

นายเวทย์ นุชเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะรองนายกสมาคมธนาคารไทย กล่าวต่อที่ประชุมว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กระทบไทย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไม่หนักเท่าไหร่ อัตราส่วนแนวโน้มสินเชื่อขยายตัวตลอด

 

"ที่ผ่านมาเรามีเงินฝากประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท สินเชื่อประมาณ 6.9 ล้านล้านบาท แต่พอมาเดือนตุลาคม หนังคนละม้วน การพยาการณ์ของการทำธุรกิจต้องเปลี่ยนใหม่หมด สินเชื่อกับเงินฝากลดลงประมาณ 90 % นั่นแสดงว่า สภาพคล่องในระบบยังมีอีกเยอะ แต่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการขยายสินเชื่อมากขึ้น" นายเวทย์ กล่าว

 

"ผมดูแลทางภาคใต้อยู่ ลูกค้าเก่าของธนาคารเราไปดูแลใกล้ชิดเลย พบว่า ท่านต้องซินารีโอ (การพยากรณ์) ในการทำธุรกิจใหม่หมด วิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2540 กับคราวนี้แตกต่างกันมาก ครั้งนั้นคนตกงานสามารถไปทำมาหากินได้ ไปเปิดท้ายขายของถูกได้ แต่วิกฤตครั้งนี้มันลามไปถึงธุรกิจและภาคผลิตจริง ซึ่งหลังจาการปิดงวดบัญชีปีนี้ จะมีธุรกิจย่ำแย่ ที่ประสบภาวะวิกฤตอีกมาก คนตกงาน ที่มีอายุ 30 - 40 ปี จะน่าเป็นห่วง จะกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรง" นายเวทย์ กล่าว

 

นายเวทย์อธิบายอีกว่า ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเคยมีตัวเลขแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอยู่ เช่น สินเชื่อของภูเก็ต มีมากที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 130,000 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี รองลงมาประมาณ 69,000 ล้านบาท แต่หลังการปิดสนามบิน คิดว่าอุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการที่มีแรงงานในระบบประมาณ 830,000 กว่าคน จะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

 

นายเวทย์ บอกด้วยว่า ในภาคใต้ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ โครงการแรก ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2553 คือ โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเสียดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 1.5 เท่านั้น

 

"ลูกค้าผมที่ยะลา ซึ่งปล่อยสินชื่อเรื่องพลาซ่า คอมเพล็กที่ใหญ่ที่สุด เขาอยู่ได้สบายในอัตราดอกเบี้ยเท่านี้ แต่พอพ้นปี 2553 ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจเหล่านี้ เพราะตาม พ.ร.บ.(พระราชบัญญัติ) การเงินใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สามารถจะให้เงินสนับสนุนพวกนี้ได้อีกแล้ว" นายเวทย์ กล่าว

 

อีกโครงการซึ่งสิ้นสุดภายในปลายปี 2550 คือโครงการสึนามิ โดยธุรกิจโรงแรมได้รับอัตราดอกเบี้ย ลบร้อยละ 2.75 ปิดบัญชีไปแล้วหลายโรงแรม ยังมีที่กำลังจะฟื้นตัว โดยต้องพยายามปรับการชำระหนี้ใหม่ ส่วนที่เริ่มจะชำระหนี้ได้ แต่พอมาเจอภาวะวิกฤตอย่างนี้แล้ว ก็ขอฝากในภาคธุรกิจช่วยกระตุ้นกันว่า โครงการนี้น่าจะทำต่อไป

 

อีกโครงการคือ ธนาคารกรุงไทยร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ให้ความช่วยเหลือในภาคธุรกิจใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.75 โครงการนี้จะสิ้นสุดในปี2551 โครงการนี้รัฐบาลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ จัดขึ้นเพื่อช่วยพยุงธุรกิจในยามวิกฤตทั้งหมด มาตรการเหล่านี้จำเป็นและต้องเร่งให้มีต่อเนื่องต่อไป

 

"สิ่งที่ทุกธนาคารเป็นห่วง ซึ่งต้องเข้มงวดมากขึ้น ก็คือหนี้เสียในธนาคารพาณิชย์จะมีมากขึ้น ในปีต่อไปคิดว่าธุรกิจบ้านเราน่าเป็นห่วง ค่อนข้างลำบาก" นายเวทย์กล่าว

 

ขณะที่นายดุสิตเอง ระบุว่า จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดังกล่าวนั้น สรุปได้ว่าทุกอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบทั้งหมดในปีหน้า จึงเชื่อว่าอัตราการเจริญเติบโตในด้านการส่งออกจะติดลบหมด ยกเว้นสินค้าอาหารกลุ่มเดียวที่มีโอกาสที่จะติดบวกอยู่บ้าง

 

"หอการค้าไทยเคยออกแถลงการณ์ไปแล้วว่า คิดว่าปีหน้า การเจริญเติบโตทางด้านการส่งออกคิดว่าเป็น 0% คือไม่มีการเจริญเติบโต แต่จากการสำรวจมาโอกาสที่จะติดลบมีสูง เพราะฉะนั้นเชื่อว่าการเจริญเติบโตโดยรวมคงไม่ถึง 3% อันนี้ยังไม่รวมกับปัญหาการปิดสนามบิน การว่างงานประมาณ 7 - 8 แสนคนเป็นอย่างน้อย" นายตุสิต กล่าว

 

นายดุสิต ระบุต่อว่า จากการสำรวจธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเร็วและแรงมากที่สุดคือ ธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่ทราบแล้วว่าได้รับผลกระทบทันทีตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2551 และครั้งนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นเราไม่มีข่าวดีเลยว่าจะฟื้นฟูได้เร็ว

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ช่วยกันหาทางออกในการแก้ปัญหาและเตรียมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโดยเฉาะในช่วง 3 ปีหลังจากนี้ โดยมีหลายข้อเสนอ ซึ่งสรุปออกมาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

 

ระยะสั้น ได้ขอให้ภาคเอกชนชะลอการเลิกจ้างงาน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสังคมมากเกินไป โดยส่วนนี้ได้ขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องรายได้พนักงานส่วนหนึ่ง และผู้ประกอบการออกให้ส่วนหนึ่ง เป็นต้น

 

ในระยะกลาง ประเด็นที่มีการพูดกันมากคือผลกระทบจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่เร่งเข้ามาเปิดสาขาจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างพระราชบัญญัติค้าปลีกที่ยังไม่ผ่านสภา จึงขอให้ภาครัฐเร่งสร้างกติกาเรื่องนี้ให้ชัดเจน

 

ส่วนในระยะยาว จะเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน (Land Bridge) กำหนดนโยบายด้านพลังงานทดแทนที่ชัดเจน เป็นต้น

 

ขณะที่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งมีนายไพรัช บูรพชัยศรี กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย เป็นประธานกลุ่ม ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก คือ ในระยะ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า โลกจะเข้าสู่ยุคการค้าเสรีสมบูรณ์แบบ ฉะนั้น ต้องทำให้ภาคเอกชนเข้มแข็ง โดยเฉพาะภาคเอกชนแต่ละจังหวัด ซึ่งทำได้ยากมาก องค์กรที่ทำเนื่องนี้ได้ คือ หอการค้าไทย และหอการค้าส่วนภูมิภาคต่างๆ เอง ซึ่งจำเป็นต้องทำให้หอการค้าเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่นั้นๆ

 

จุดบกพร่องที่มักจะสร้างปัญหาให้หอการค้า คือ ผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความเสียสละ เพราะที่ผ่านมา ประธานหอการค้าของแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่มาจากการยัดเหยียดให้เป็น โดยไม่ได้เกิดจากความเต็มใจ การบริหารองค์กรจึงล้มเหลว

 

ปัญหาอีกอย่าง คือ การที่ประธานหอการค้าไม่รู้จักบริหารจัดการงบประมาณ เนื่องจากองค์กรนี้ เป็นองค์กรอิสระของภาคเอกชน ที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ จึงมักมีปัญหาขาดงบประมาณทำกิจกรรมพัฒนาองค์กร เมื่อหอการค้าไม่มีประสิทธิภาพ การที่ภาคเอกชนของไทยจะเตรียมตัวให้พร้อมกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของเวทีการค้าการส่งออกระดับนานาชาติ ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก

 

ปัญหาเรื่องปากท้องคือของจริงที่ชาวบ้านต้องเผชิญ แม้หน้าตาศูนย์อำนาจทางการเมืองขณะนี้ ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นที่หวังพึ่งได้หรือไม่ แต่ผลกระทบจะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทยอยปรากฏออกมาที่ละแห่งสองแห่งแล้ว ไม่ว่าราคายางพารา ปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำ สถานประกอบการปลดพนักงานออก หรือแม้แต่การปิดกิจการก็มีแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท