Skip to main content
sharethis

กระบวนการพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เติมเต็มด้วยวาทกรรมการพัฒนาแบบใหม่ๆ ที่แยบยล แนบเนียน ต่อการเอารัดเอาเปรียบของชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนก็ต้องดำเนินแผนนโยบาย การพัฒนาให้คงอยู่ อย่างยั่งยืน โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผลลัพธ์การของการพัฒนาที่ไม่มีวันหยุดยั้ง


 


การสร้างเขื่อนเป็นอีกแผนการพัฒนาหนึ่งที่ทั้งรัฐและนายทุนเอกชนร่วมมือกัน เพื่อที่จะสร้างพลังงานมาใช้เป็นแสนๆ ปีก็ว่าได้  การสร้างเขื่อนในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อพลังงานไฟฟ้า เพื่อประชาชน และสุดท้ายก็คือ ผลประโยชน์อันมหาศาลที่ตกอยู่ในมือของนายทุนเพียงไม่กี่คน แต่กลับส่งผลกระทบกับชุมชนไม่รู้สักเท่าไรเช่นกัน


 



แผนที่ อ.เชียงแสน-อ.เชียงของ จ.เชียงราย


 


เยือน "แม่น้ำแห่งชีวิต" บรรยากาศ สู่ "เมืองการค้าของเชียงแสน"


 


เมื่อวันที่ 14 .. ผมมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดหลังปี 2540 เป็นต้นมา สำหรับงานครั้งนี้หัวเรือใหญ่ต้องยกให้ โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า หรือที่เรียกกันว่าเธียร์ร่า (TERRA)


 


เวทีแรก เมื่อก้าวเท้าสู่ดินแดนล้านนา ที่วัดดอยผางาม ใน อ.เชียงของ ผมได้รับฟังกระบวนการทำงานของกลุ่มอนุรักษ์เชียงแสน  อีกอำเภอหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่ไร้การเหลียวแล ทั้งปัญหาระดับน้ำโขงขึ้นลงอย่างผิดปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปัญหาตลิ่งริมน้ำถูกกัดเซาะที่ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ต้องสูญเสียที่ดินไปเป็นจำนวนมาก  


 


.มิติ ยาประสิทธิ กลุ่มรักษ์เชียงแสน เป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์เชียงแสนมาเล่าให้ทางกลุ่มผู้ศึกษาดูงานฟังว่า ชาวเชียงแสนมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเก่าก่อนที่เคยอยู่กันอย่างสุขสบาย พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน ปลาหายาก น้ำท่วมบ่อยขึ้น ตลิ่งพังขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว


 


. มิติกล่าวต่อมาว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากโครงการสร้างเขื่อนในจีน ลาว ที่ผุดขึ้นมากมาย กระบวนการและแผนพัฒนาของรัฐที่จะให้เมืองเชียงแสนที่เดิมเป็นอู่ข้าวอู่น้ำกลายเป็นเมืองแห่งการค้า โดยเฉพาะ FTA ระหว่างไทยจีน หรือแม้กระทั่ง โครงการพัฒนาเศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งชาวบ้านได้รับผลกระทบมากกว่าประโยชน์จากโครงการเหล่านี้


 


ท่าเรือเชียงแสน หลายคนคงรู้จักกันดีว่าเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญกับโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS แต่เท่าที่เห็น ชาวบ้านเป็นได้แค่กรรมกรขนถ่ายสิ้นค้าลงเรือซึ่งเป็นเรือสินค้าของชาวจีนแทบทั้งสิ้น


 



บรรยากาศริมแม่น้ำโขง


 



ท่าเรือเชียงแสน กรรมกรของชุมชนท้องถิ่น กำลังขนถ่ายสินค้าลงเรือชาวจีน


 


 



เรือสินค้าของจีนหลายสิบลำมารอรับสินค้า



 


ระหว่างที่เรานั่งเรือชมบรรยากาศของแม่น้ำโขง ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณโรงแรมริมโขงริเวอร์ไซด์ไปจนถึงบ้านห้วยลึก จะเห็นริมตลิ่งที่ถูกกัดเซาะทำลายโดยกระแสน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติ คือผลจากการพัฒนาที่เรียกว่าเขื่อน คำพูดของคนขับเรือที่บอกเล่าให้ฟัง ระหว่างที่เราล่องเรือทวนกระแสน้ำอยู่กลางลำโขง


 


ผมจึงรู้สึกเศร้าใจอยู่เล็กน้อยที่ได้ยินว่าเขื่อนสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านมากมายขนาดนี้...


 


จากบทเรียนที่ผ่านมาของผม และเชื่อว่าหลายๆ คนคงไม่ต่างกัน ตอนชั้นประถมศึกษา หรือมัธยม เวลาไปทัศนะศึกษาจำได้ว่าทั้งครูและวิทยากรที่นำชมการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก หรือ อีกนานาเขื่อนล้วนแล้วจะมีแต่ข้อดีเต็มไปหมด ผลเสียนั้นยากที่จะจิตนาการเห็น


 


กับสิ่งที่พยายามพร่ำบอกเสมอมาว่า "เขื่อนทำให้เรามีไฟฟ้าใช้" "เขื่อนอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน" แต่ที่ผมได้เห็นนั่นคือ "เขื่อนยั่งยืน" ขณะที่ชาวบ้านต้องอพยพหนี้น้ำที่จะมาท่วมบ้านเรือน ไร่นา และการเวนคืน แล้ววิถีชีวิตคนริมน้ำของพวกเขาก็ไม่ได้ยั่งยืนอีกต่อไป


 


ผมคิดว่า สำหรับชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ถ้าเขาเลือกได้ เขาคงอยากกลับไปใช้ตะเกียง เพื่อดึงเอาทรัพยากรและวิถีชีวิตที่สูญเสียไปกลับมา


 


สัมผัสริมโขง สัมผัสวิถีชน


 


เรือรับจ้างบริเวณฝั่งโขงแล่นลำพาผู้โดยสารอย่างผมชมทัศนียภาพของแม่น้ำโขงตั้งแต่บ้านหาดบ้าย ล่องเรือไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านปากห้วยลึก บ้านปากอิงใต้อยู่ระหว่างอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ สภาพบรรยากาศโดยรอบที่เห็นนอกจากเปลวแดดสะท้อนผิวน้ำที่ล้อมรอบลำเรือ คือ กระแสน้ำโขงที่ไหลแรง และตลิ่งที่พังเป็นแนวยาวตลอดสายน้ำ


 


ตลอดระยะทาง 10 กิโลเมตรที่อยู่บนเรือ เสียงของคนขับเรือ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงของ ได้พรั่งพรู บอกเล่าถึงความผูกพันของแม่น้ำโขงกับชาวบ้านที่มีมาอย่างช้านาน ผู้คนทั้งสองริมฝั่งโขงเป็นพี่น้องกัน และพึงพาอาศัยกันจากแม่น้ำโขง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมสัมผัสได้ว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ มีความรู้สึก และหลอมรวมไปด้วยความผูกพันของผู้คน


 


"แม่น้ำโขงเป็นเสมือนตัวเชื่อมวิถีชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงพรมแดนกันระหว่างประเทศ" ประโยคที่ยินบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี


 



สภาพตลิ่งพัง


 



สภาพบ้านเรือนริมฝั่งประเทศลาว


 


วิถีชีวิตของคนชาวโขง ส่วนใหญ่จะพึ่งแม่น้ำโขงทั้งการเกษตร การประมงน้ำจืด ชาวบ้านต่างรู้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงเป็นอันดับสองของโลก รองก็แค่ลุ่มน้ำอเมซอนเท่านั้น


 


ชุมชนบ้านหาดบ้าย ชุมชนบ้านหวยลึก ชุมชนปากอิงใต้ กลุ่มอนุรักษ์เชียงแสน กลุ่มอนุรักษ์เชียงของ ต่างก็มีเสียงออกมาว่า การพัฒนาจากภาครัฐไม่ได้เหลียวมองวิถีชีวิตของพวกเขาเลย การสร้างเขื่อน วาทกรรมการพัฒนาอันสวยหรูของรัฐร่วมและทุน ได้เบียดบังและเบียดเบียนทรัพยากรริมโขงอันมีค่ายิ่งไปจากพวกเขา


 


การใช้ชีวิตของชาวบ้านในชุมชนดังกล่าว เราจะเห็นเรือประมงเล็กๆ กับใบหน้าที่ดูไม่สมหวังกับการหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพ ส่วนอีกมุมหนึ่งคือ เรือสินค้า รถขนถ่ายสินค้า ที่มีอยู่มายมายเกลื่อนเมือง นี่คือความแตกต่างที่เราได้พบ ซึ่งมันคงจะดีไม่ใช่น้อยที่เรือสินค้าเหล่านั้นชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมได้ด้วย ในการมีส่วนร่วมที่ไม่ใช่แค่กรรมกรรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ  


 



เขตพื้นที่หาปลาของชาวบ้านริมโขง อ. เชียงแสน


 



เขตเศรษฐกิจ ท่าเรือสินค้าริมโขง อ.เชียงแสน


 


ตัวอย่างแผนนโยบายการพัฒนาแม่น้ำโขงและผลกระทบที่เกิดขึ้น


 


จากการผลักดันโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การรื้อฟื้นแผนการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักตั้งแต่ปี 2550 ตั้งแต่นั้นเมืองเชียงของ และเชียงแสนได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือสถานการณ์น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งในตอนนั้นนายนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา มีการแฉออกมาว่าเหตุน้ำท่วมเกิดจากจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนในเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา อีกเหตุระเบิดแก่งในแม่น้ำขยายเส้นทางเดินเรือขนสินค้า เป็นเหตุให้อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย รวมทั้งในฝั่งแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว อยู่ในขั้นวิกฤตใกล้เคียงกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ.2509 และพ.ศ.2514


 


แต่ลักษณะการท่วมแตกต่างออกไป เนื่องจากในอดีตน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำโขงหนัก เพราะแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำอิง ไหลเอ่อและถูกแม่น้ำโขงหนุน แต่สภาพการท่วมในเดือนส.ค.2551 นับเป็นครั้งแรกที่แม่น้ำสาขาไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะเอ่อล้น แต่น้ำที่ท่วมเกิดจากแม่น้ำโขงเข้าท่วมโดยตรง และทะลักขึ้นฝั่งเข้ามาเป็นรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง (1)


หรือแม้กระทั้งแผนพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Greater Mekong Subregion-GMS เป็นอีกแผนหนึ่งที่ดึงเอาทรัพยากรธรรมมาชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยแผนของ GMS จะมีในเรื่องของการเชื่อมต่อพลังงานในภูมิภาคและการค้า ทำให้ต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในการผลักดันการสร้างเขื่อน ระเบิดแก่ง เพื่อเคลียร์เส้นทางการค้า ท้ายที่สุดผลกระทบก็เกิดกับชุมชนดังเดิมที่มีวิถีชีวิตมาช้านาน (2)



เรือหาปลาของชาวบ้าน


 


กระแสพัฒนา บรรยากาศ และธรรมชาติริมโขง


 


อีกมุมหนึ่งที่ระบบธรรมชาติของแม่น้ำโขงได้ให้กับชุมชน ซึ่งถ้าถูกทำลายไปจากการพัฒนา คงจะน่าเสียดายมิใช่น้อย นั้นก็คือ บรรยากาศ ธรรมชาติที่สวยงามบวกกับวิถีชุมชนดั้งเดิม แต่ทั้งหลายเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงตามกระแสการพัฒนา


 


และเพื่อการอยู่รอดของพวกเขา ถ้าฝืน หรือทวนกระแสการพัฒนาชาวบ้านก็มีแต่ตายกับตาย ชาวบ้านคงมีทางเลือกไม่มากนัก เพราะพวกเขาแทบไม่มีสิทธิ มีส่วนในการจัดการหรือกำหนดการใช้ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตัวเองเลย... ทั้งที่มันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น


 



บรรยากาศตอนเช้า ริมโขง


 


ท้ายที่สุดแล้วแม่นำโขงกับกระแสการพัฒนาคงไม่มีรัฐบาลยุคไหน สมัยไหน ยับหยั่งได้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไว้ว่า ต้องรอให้วิกฤตความรุนแรงเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง กับชุมชนอย่างหนักก่อนหรือจะมีการลงไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


 



แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง


 


 


.....................


 


 


อ้างอิงจาก


 


(1).โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต. http://www.livingriversiam.org/mk/mek_n55.html


(2).โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต. http://www.livingriversiam.org/mk/Mek_a1.htm


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net