Skip to main content
sharethis


กองถ่านหินภายในโกดังของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด


 



ขี้เถ้าถ่านหินที่จะถูกนำไปกำจัดที่โรงงานปูนซิเมนต์ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช


 


โรงงานอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง ของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลควนลัง และหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งใน 3 โรงงานในจังหวัดสงขลาที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และถูกร้องเรียนเรียนว่ามีการปล่อยมลพิษ


 


ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาต้องเข้ามาตรวจและเก็บตัวอย่างน้ำและอากาศไปพิสูจน์แล้ว รวมทั้งสั่งให้ปรับปรุงกำแพงกันแนววางกองถ่านหิน เพื่อป้องกันน้ำฝนชะลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2551


 


หากพิจาณาการเรื่องขออนุญาตขอใช้ถ่านหินของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ตามที่ระบุในเอกสารประกอบการประชุม เรื่อง ติดตามผลการใช้ถ่านหินในโรงงานของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด กับคณะกรรมการและผู้นำชุมชน หมู่ที่ 4 ตำบลควนลัง และหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งตำเสา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่ห้องประชุมบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด พบว่า ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


 


โดยการขออนุญาตใช้ถ่านหินนั้น เริ่มจากนายราจีฟ กูมาร์ สูด กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ชาวอินเดีย ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 27 มกราคม 2551ถึงอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เรื่อง การเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง


 


หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้รับการอนุญาตขยายโรงงานเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2546 และเนื่องจากเกิดสภาวะค่าเงินบาทที่แข็งตัว น้ำยางข้นมีราคาสูงขึ้นและราคาน้ำมันเตาเกรดc ที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาลิตรละ 11 บาท (ปี2549)เป็นลิตรละ 19บาทโดยมาปริมาณในการใช้เดือนละ450000ลิตร/เดือน ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย


 


"จากสภาวะดังกล่าว ยากยิ่งที่จะทำให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีหนทางเดียวคือเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเตาเกรด c มาใช้หมอต้มที่ใช้ไม้, กะลาปาล์มหรือถ่านหินแทน โดยมีขนานขนาดเท่ากับหม้อต้มตัวเดิม 2 ตัวรวมกัน (เดิมขนาด 3,000,000 กิโลแคลอรี่/ชั่วโมง2ตัว ตัวใหม่ที่ใช้ ไม้,กะลาปาล์มหรือถ่านหินขนาด 6,000,000 กิโลแคลอรี่/ชั่วโมงเท่ากับ 1 ตัว)" หนังสือดังกล่าว ระบุ


 


หนังสือดังกล่าว ระบุต่อว่า นอกจากนี้ ในระบบหม้อต้มน้ำมันแบบใช้ ไม้,กะลาปาล์มหรือถ่านหิน มีการนำความร้อนจากปล่องควันนำกลับมาใช้ได้อีก โดยทางบริษัทฯ ได้สร้างอาคารใหม่เพิ่มเติม ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนจากกรมอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดการใช้น้ำมันอีกด้วย


 


จากนั้นวันที่ 28 เมษายน 2551 นายราจีฟ กูมาร์ สูด ได้ส่งหนังสือไปยังนายกเทศมนตรีเมืองควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อขอทราบความเห็นเบื้องต้น โดยระบุว่า จากการที่บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้ขอเปลี่ยนแปลงหม้อไอน้ำจากเดิมใช้น้ำมันเตา มาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และได้ยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ผลพิจารณาจากอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา โดยกรมโรงานอุตสาหกรรม ปรากฏว่าทางบริษัทฯ ยังขาดความเห็นจากทางเทศบาลเมืองควนลังเพื่อประกอบการพิจารณา ตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง


 


อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ทางเทศบาลเมืองควนลังยังไม่ได้มีความเห็นใดๆ ไปยังบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด โดยนางพึ่งบุญ วงศ์ชนะ นายกเทศมตรีเทศบาลเมืองควนลัง ระบุว่า "เทศบาลยังไม่มีมีมติในเรื่องนี้"


 


แม้ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551 เทศบาลเมืองควนลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขอทราบวามเห็นเบื้องต้น ในการการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเตา เป็นถ่านหินในการประกอบกิจการของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ลงนามโดยนายชยุตพงศ์ เรืองกุล รองนายกเทศมนตรีเมืองควนลัง ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรี


 


ในคำสั่งแต่ตั้งระบุว่า เทศบาลเมืองควนลังจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดการดำเนินการตามประกาศจังหวัดสงขลา ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2551 เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับข้อปฏิบัติ การขนถ่าย การจัดเก็บและการนำมาใช้ซึ่งถ่านหิน ของบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด เพื่อประกอบการพิจารณาขอความเห็นเบื้องต้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว


 


คณะกรรมการชุดนี้ มี 10 คน ประกอบด้วย นายชยุตพงษ์ เรืองกุล รองนายกเทศมนตรีเมืองควนลัง เป็นประธาน


 


ส่วนกรรมการ ได้แก่ นายสุคนธ์ เรืองกุล สมาชิกสภาเทศบาลเมืองควนลังเขต 3 นายทวีศักดิ์ สุขพงษ์ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองควนลังเขต 3 นายเพิ่มศักดิ์ เพชรพงษ์ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองควนลังเขต 3 นายประพันธุ์ ศรีสุวรรณ ปลัดเทศบาล นายวิรัตน์ หนูเนียม รองปลัดเทศบาล นายกมลชัย อรุโณประโยชน์ ผู้อำนวยการกองช่าง น.ส.พิมพ์ใจ รัตนะ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข


 


นายทะนงศักดิ์ อักษรสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข กรรมการและเลขานุการ น.ส.วรัญญา เฉลิมบุญ หัวหน้างานสุขาภิบาล กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ


 


"การใช้ถ่านหินของบริษัทอินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ขณะนี้เทศบาลเมืองควนลังยังไม่ให้ความเห็นชอบ ทางโรงงานแจ้งว่าเป็นเพียงการทดลองเครื่อง ส่วนการอนุมัติให้ใช้ถ่านหินเป็นอำนาจของอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา" คือคำยืนยันของ น.ส.พิมพ์ใจ


 


โดยก่อนหน้านั้นทางเทศบาลเมืองควนลัง ได้ส่งหนังสือไปยังบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัดแล้ว โดยขอให้ดำเนินการตามประกาศจังหวัดสงขลาฉบับดังกล่าว โดยในหัวข้อการนำไปใช้ซึ่งถ่านหิน ข้อที่ 4 ระบุว่า ต้องผ่านการรับฟังความเห็นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ


 


ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จึงได้เชิญกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน บริเวณรอบๆ โรงงาน ทั้งจากหมู่ที่ 4 ตำบลควนลัง และจากหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ เข้าร่วมประชุมจำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ที่ห้องประชุมบริษัทฯ


 


นอกจากนี้ยังมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา นักวิชาการและตัวแทนบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด คือ นายภาณุ เรืองจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป และนายสุทธิพงค์ ขุนอินทร ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม เข้าร่วมประชุมด้วยอีก 10 คน


 


โดยนายภาณุ ชี้แจงถึงเหตุผลในการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ส่วนนายอายุวัต ตันติวิเชียร ที่ปรึกษาด้านพลังงาน และ ผศ.ดร.จันทกานต์ ทวีกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บรรยายเกี่ยวกับคุณสมบัติของถ่านหินที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม


 


ผลสรุปจากการดำเนินงานตามประกาศจังหวัดสงขลาดังกล่าว ตามหนังสือที่บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด แจ้งไปยังนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองควนลัง ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ระบุว่า 1.ชาวบ้านทั้งหมดเห็นด้วยที่บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ใช้ถ่านหินชนิดบิทูมินัส เป็นเชื้อเพลิง


 


2. ให้ชาวบ้านทั้งหมดที่มาประชุมในวันดังกล่าวกับตัวแทนโรงงาน เป็นคณะกรรมการร่วมกัน เพื่อตรวจสอบ ติดตามผลการใช้ถ่านหินว่า มีคุณสมบัติหรือมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชาวบ้านและชุมชนหรือไม่ โดยจะนัดประชุมกันทุกๆ 3 เดือน


 


3. ให้บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ดำเนินการแก้ไข ไม่ให้น้ำที่ปนเปื้อนขี้เถ้าถ่านหินระบายออกนอกบริเวณโรงงาน


 


4. ให้บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ร่วมกับชาวบ้านและชุมชน เฝ้าระวังผลกระทบจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เช่น การสุ่มตรวจสุขภาพของชาวบ้านรอบๆโรงงานทุกปี รวมทั้งร่วมกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำ เช่น ปล่อยพันธ์ปลา ใช้น้ำหมักชีวภาพในบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น


 


5. ความเสียหายที่อาจจะมีผลกระทบต่อชาวบ้านหรือชุมชนจาการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ยินดีรับผิดชอบทั้งหมด


 


นอกจากนี้ ยังมีผลสรุปสำหรับเรื่องถ่านหินที่จะนำไปใช้ต้องมีคุณสมบัติและปริมาณตามที่กำหนดในประกาศจังหวัดสงขลา และมีผลวิเคราะห์จากหน่วยงานที่ได้รับการรักรองจากหน่วยงานราชการ ซึ่งทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้ดำเนินการดังนี้


 


1. ถ่านหินที่ใช้งานได้นำไปทดสอบคุณสมบัติและคาความร้อนกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


2. การสั่งซื้อถ่านหิน เลือกซื้อจากบริษัทที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการและเชื่อถือได้


3. สำหรับปริมาณที่และการจัดเก็บ ทางบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด จะแจ้งยอดการใช้และคงเหลือ ให้เทศบาลเมืองควนลังทราบทุกๆ เดือน


 


สำหรับเรื่องที่บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ต้องผ่านการตรวจสอบสภาวะสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการเทศบาลและองค์กรที่เชื่อถือได้นั้น บริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ได้ดำเนินการดังนี้


 


1. การตรวจวัดอากาศ ได้ให้ทางสำนักวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงการจังหวัดสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคใต้ มาตรวจวัดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม และ 16 พฤษภาคม 2551 ผลการตรวจวัด ค่าที่ได้ไม่เกินตามที่ประกาศในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535


 


2.ขี้เถ้าและน้ำที่ปนเปื้อนขี้เถ้าถ่านหิน ได้ให้ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจสอบเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 จากการตรวจสอบสารเจือปน ค่าที่ได้ไม่เกินตามที่ประกาศในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535


 


3. น้ำเสียที่ปล่อยจากโรงงาน ได้ให้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจวิเคราะห์น้ำ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 จากการตรวจวัด ค่าที่ได้ไม่เกินค่ามาตรฐานตามที่ประกาศในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535


 


4. สำหรับการตรวจสภาวะสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการเทศบาล ทางบริษัทฯ ยินดีให้ตรวจสอบตามวันเวลาที่คณะกรรมการเทศบาลต้องการ


 


ประเด็นคำถามก็คือ ในเมื่อยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม แล้วบริษัท อินโนเวทีฟ โกลฟส์ จำกัด ใช้ถ่านหินไปก่อนได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net