Skip to main content
sharethis

วานนี้ (19 ธ.ค.51) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนป่า จัดแถลงข่าว "ลำดับสถานการณ์ข่าวสิ่งแวดล้อม ปี 2551" อาทิ สถานการณ์ที่คุกคามทรัพยากรป่าไม้มากที่สุด สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามฐานทรัพยากรชุมชนและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด และ 10 อันดับ สัตว์ป่าที่ถูกค้ามากที่สุด ณ อเมซอนเทอเรซ ปตท.สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดี


 


พบตัวลิ่ม อันดับ 1 ของ 10 อันดับ สัตว์ป่าที่ถูกค้ามากที่สุด


นางสาวบุษรา ธีรกัลยาณพันธุ์ เจ้าหน้าที่สนับสนุนโครงการอาวุโส มูลนิธิเพื่อนป่า (Wilaid) กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา มีคดีลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายจำนวน 144 คดี ทั้งสัตว์ป่าเพื่อการบริโภค สัตว์ป่าเพื่อเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าเพื่อการสะสม พร้อมเปิดเผยถึง 10 ลำดับ สัตว์ป่ายอดนิยมที่ถูกค้ามากที่สุดในประเทศไทย โดยอันดับที่ 1 คือ ตัวลิ่ม ที่แม้ว่าการจับกุมแต่ละครั้งจะเป็นเพียงคดีเล็กๆ แต่ก็การจับกุมที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมากกว่า 30 คดี


 


อันดับ 2 คือ สัตว์ตระกูลเสือ เช่น เสือโคร่ง เสือลายเมฆ เสือดำ และเสือขนาดเล็กอื่นๆ เป็นต้น สามารถจับกุมผู้ลักลอบซื้อขายได้ไม่บ่อยนัก แต่มักพบพร้อมกับการลักลอบขนส่งตัวลิ่ม ในลักษณะที่ถูกชำแหละแล้ว โดยจับกุมได้บริเวณชายแดนภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทั้งนี้มีราคาในตลาดมืดสูงประมาณ 1,300-20,000 เหรียญสหรัฐ แล้วแต่ขนาดและสายพันธุ์


 


อันดับ 3 คือ นอแรด เป็นซากสัตว์ป่าที่มีการจับกุมการลักลอบโดยมีประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อส่งต่อจากประเทศต้นทางไปยังปลายทาง คาดว่าเพื่อใช้บริโภคเป็นยาชูกำลัง โดยความน่าสนใจของการค้าซากสัตว์ชนิดนี้คือมูลค่าทางการค้าที่สูงมาก โดยจากการค้นความข้อมูลพบว่าในตลาดมืดมีราคาถึงกิโลกรัมละ 50,000 เหรียญสหรัฐ


 


อันดับ 4 งาช้าง ซึ่งถือเป็นของสะสมที่ได้รับความนิยมมานาน โดยงาช้างที่ลักลอบค้าส่วนใหญ่เป็นงาช้างแอฟริกัน ซึ่งแม้จะไม่มีข่าวการจับกุมเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นที่น่าจับตามองเมื่อมีรายงานข่าวว่ามีการผ่านอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าซึ่งชนิดสัตว์ป่าและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์ หรือไซเตรท (CITES) ให้ประเทศสมาชิก อาทิ ซิมบับเว บอสวานา นามิเบีย และแอฟริกาใต้ ปล่อยโควตางานช้างแอฟริกัน 108 ตัน ออกสู่ตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านการนำเข้าและส่งออก เพราะถูกจับตามองในฐานะแหลงแปรรูปเพราะที่แรงงานช่างฝีมือในการแกะสลัก แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัดทางกฎหมายในการค้าสำหรับผลผลิตที่มีการแปรรูปดังกล่าว


 


ส่วนในอันดับต่อๆ มาเป็นสัตว์ประเภทที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อไว้เป็นสัตว์เลี้ยงของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ โดย อันดับที่ 5 คือ เตา ทั้งเต้าบกและเต่าน้ำจืด โดยคาดว่าจะมีเต่าต่างประเทศในตลาดของไทยกว่า 27 สายพันธุ์ โดยทั้งหมดอยู่ในบัญชีของการอนุรักษ์ทั้งสิ้น อันดับ 6 "งู" มีคดีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรจับกุมการนำเข้างูจำนวน 1 ตัน ได้ที่สนามบินนอยไบ ประเทศเวียดนาม โดยรายงานข่าวแจ้งว่าเป็นการนำเข้าจากประเทศไทยปะปนเข้าไปกับการขนส่งปลาทะเล


 


อันดับ 7 และ 8 คือ ลิงแสม และนางอายตามลำดับ ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นสัตว์ตระกูลไพรเมท และแม้จะไม่มีการจับกุมการลักลอบค้าลิงขนาดใหญ่อย่างอุรังอุตังในประเทศไทยอย่างหลายปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังมีลิงในประเทศไทยถูกล่าเพื่อการค้าเป็นประจำ ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2551 มีการจับกุมผู้ลักลอบล่าลิงแสมได้ที่ จ.สระแก้วโดยผู้ต้องหารับสารภาพว่ากำลังจะส่งข้ามชายแดนไปยังภัตตาคารในประเทศกัมพูชา


 


ในส่วนคดีเกี่ยวกับนางอาย ล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้ออกจดหมายข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีหญิงชาวสหรัฐฯ ที่ลักลอบนำนางอายจากประเทศไทยเข้าประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการตัดสินคดีในเดือนมีนาคม 2552 โดยคดีนี้ถือเป็นคดีที่แสดงถึงความก้าวหน้าในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ ในการหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าในระดับโลก


 


อันดับ 9 นก ซึ่งไม่ได้มีการเจาะจงสายพันธุ์ แต่คาดว่าในกรุงเทพฯ มีนกในตลาดการค้าขณะนี้ราว 2,553 ตัว และอันดับ 10 สวนสัตว์-รวมมิตรสัตว์ป่า จากตัวอย่างการตรวจค้นรีสอร์ทแห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร โดยตำรวจ-อุทยานฯ พบสัตว์ป่าหลายชนิดทั้งสัตว์ป่าท้องถิ่นและสัตว์ป่าต่างประเทศ เช่น อูฐ ลิง ค่าง อุรังอุตัง ฯลฯ โดยสัตว์บางส่วนไม่มีใบอนุญาตครอบครองจึงมีการตรวจยึดดำเนินคดี แต่มีอุปสรรค์ในการดำเนินการเนื่องจากขาดงบประมาณจึงทำให้ต้องทำเรื่องฝากของกลางไว้ที่รีสอร์ทดังกล่าว ทำให้พบปัญหาในกระบวนการใช้กฎหมาย


 


นางสาวบุษรากล่าวต่อมาว่า อยากขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชนไทย ในการที่จะช่วยสนับสนุนและผลักดันในเรื่องการแก้ไขข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการดูแลคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างจริงจังต่อภาครัฐ เพราะเชื่อว่ารัฐจะเห็นความสนใจเมื่อสื่อมวลชนให้ความสนใจ ทั้งนี้เมื่อเทียบมูลค่ารายได้จากการกระทำผิกฎหมายดังกล่าวเมื่อเทียบกับอัตราโทษปรับสูงสุดเพียง 40,000 บาท แม้จะโดนจับแล้วกับอีกก็ยังมีความคิดที่จะเสียง ซึ่งในส่วนนี้เป็นสิ่งที่น่าหวั่นเกรงในสถานการณ์ปัจจุบัน


 


ด้านนายสุรพลดวงแข อดีตเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยฯ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการค้าสัตว์ป่ามีมูลค่าเทียบเท่ากับการค้าอาวุธและยาเสพติด แต่โทษเบามาก และส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายนี้มักเป็นคนวงในที่รู้ช่องว่างของกฎหมายจึงกล้าเข้ามาเสียง ทั้งนี้การจะต่อสู้กับขบวนการค้าสัตว์ป่าได้ จะต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจกับสังคม


 



  


ร่างกฎหมายอุทยานฯ-ส่งเสริมอนุรักษ์สัตว์ป่า สถานการณ์ที่คุกคามทรัพยากรป่าไม้มากที่สุด


 


ส่วนนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รายงานสถานการณ์ที่คุกคามทรัพยากรป่าไม้มากที่สุด ในรอบปี พ.ศ.2551 ว่า อันดับที่ 1 คือ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... เพราะสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีการเปิดพื้นที่ป่าให้เช่า และให้มีการค้าสัตว์ป่าทุกชนิด ซึ่งถูกองค์กรด้านการอนุรักษ์คัดค้านมาโดยตลอด และล่าสุดกฎหมายดังกล่าวได้ถูกตีกลับจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปยังกรมอุทยานฯ แล้ว ในสมัยที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ


 


อันดับ 2 นโยบายเปิดให้เช่าพื้นที่อุทยาน ในขณะที่ร่างกฎหมายใหม่ 2 ฉบับในอันดับที่ 1 ยังไม่รู้อนาคต กระทรวงทรัพย์ฯ ได้มีนโยบายเปิดพื้นที่อุทยานให้เอกชนเช่า เพื่อหารายได้เข้ารัฐ แต่ไม่สามารถดำเนินนโยบายได้ เพราะถูกคัดค้านอย่างเข้มข้นจากกลุ่มคนรักษ์อุทยาน ทำให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ออกมาประกาศต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวหากตนยังอยู่ในตำแหน่ง  


 


อันดับ 3 การลุกคืบของโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนโป่งขุนเพชร เขื่อนแม่วง และเขื่อนห้วยสโมง เป็นต้น


 


ส่วนอันดัน 4 ฝายแม้ว ตามโครงการกระทรวงทรัพย์ฯ มีปัญหาเรื่องการทุจริตครั้งใหญ่จากงบประมาณ 770 ล้านบาท อันดับ 5 การเสียชีวิตของนายวิโรจน์ เชื้อขาวพิมพ์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตหน้าบ้านพัก เมื่อวันที่ 23 มี.ค.51 ถือเป็นการสูญเสียเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทุ่มเทให้กับการทำงานอีกคนหนึ่ง และสุดท้าย อันดับ 6 กรมธนารักษ์ให้เอกชนเช่าพื้นที่ป่าในเกาะอาดัง-ราวี จ.สตูล ซึ่งขณะนี้เป็นคดีความกันอยู่ระหว่างกรมธนารักษ์และกรมอุทยาน โดยกรมธนารักษ์อนุญาตให้บริษัทอาดังรีสอร์ทเช่าพื้นที่เพื่อลงทุนด้านการท่องเที่ยว แต่กรมอุทยานไม่ยินยอม  


  


ชี้แผนพัฒนา จ.ประจวบฯ คุกคามฐานทรัพยากรชุมชน แถมขาดการมีส่วนร่วม มากที่สุด


 


ด้านสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามฐานทรัพยากรชุมชนและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด นายศศินกล่าวว่า  อันดับ 1 คือแผนพัฒนา จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปี สถานการณ์การพัฒนาใน จ.ประจวบฯ ต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นมาโดยตลอด และในช่วงปีที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กของบริษัทสหวิริยา ถือเป็นโครงการที่เป็นภัยคุกคามกับประชาชนบานทรัพยากรอย่างมาก


 


อันดับที่ 2 แผนพัฒนาภาคใต้ การขยายแผนการพัฒนาลงไปในภาคใต้ ทำให้เกิดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามฐานทรัพยากรชุมชนและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การก่อสร้างท่าเรือ เขื่อน โรงงานโรงไฟฟ้า รวมทั้งโครงข่ายท่อก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น


 


อันดับ 3 โครงการผันน้ำโขง ซึ่งถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยการอนุมัติงบประมาณ 7 หมื่นล้านเพื่อดำเนินโครงการ อันดับ 4 แผนพัฒนาพลังงานที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วม โดยการดำเนินการตามแผนพัฒนาพลังงานทำให้มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นทั่วประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี และโรงไฟฟ้าที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการรวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว และอันดับ 5 โครงการขุดคลองลัดท่าจีน ของกรมชลประทานเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีชุมชนได้คัดค้ามาโดยตลอด เนื่องจากมองเห็นว่าสร้างความเสียหายมากและมีแนวทางอื่นที่จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า แต่ขณะนี้กรมชลประทานยังยืนยันที่จะดำเนินการ


 


ตัวแทนชาวบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หวั่นนายกใหม่เข้าข้างทุนเหล็กเร่งผลักโครงการ


 



 


นายสุพจน์ ส่งเสียง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า แผนพัฒนาภาคตะวันตกของอ่าวไทย หรือเวสเทิร์นซีบอร์ดในพื้นที่ อ.บางสะพาน โดยหวังผลักดันให้เป็นเมืองหลวงเหล็กนั้นเป็นตัวอย่างการทำลายชีวิตของคนในพื้นที่โดยนโยบายการพัฒนาของรัฐที่ร่วมมือกับทุนขนาดใหญ่ ด้วยการอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชายฝังที่เหมาะสมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ไม่สนในถึงความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และวิถีชีวิตของผู้คน


 


นายสุพจน์กล่าวต่อมาว่าอุตสาหกรรมเหล็ก โครงการแรกของเครื่อสหวิริยาที่ก่อสร้างไปแล้วในพื้นที่ อ.บางสะพาน ได้สร้างมลภาวะแก่คนในพื้นที่ทั้งฝุ่น ขยะพิษ รวมทั้งทำให้ชาวบ้านซึ่งทำอาชีพประมงขนาดเล็กขาดรายได้จากการหาปลา นอกจากนั้นยังมีความหวั่นเกรงกันว่าหากมีการก่อสร้างโครงการใหม่เพิ่มเติมตามที่ได้มีการเริ่มดำเนินการอยู่พื้นที่ขณะนี้ จะทำให้เกิดปัญหากับฐานทรัพยากรทางอาหารที่สำคัญของประเทศเพราะจะกระทบกับวงจรชีวิตของปลาทู เพราะตั้งอยู่ใจกลางการปิดอ่าวเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นมาตรการของกระทรวงเกษตรและกรมประมง


 


ในส่วนพื้นที่ก่อสร้างทั้งโครงการเก่าและพื้นที่บางส่วนของโครงการใหม่ได้มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครองอยู่กว่า 1,000 ไร่ โดยโครงการเก่ามีการตรวจสอบว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและที่สาธารณะ 611 ไร่ แต่มีหลักฐานการขอเยียวยาเปลี่ยนจากรุกเป็นเช่าอยู่ 300 ไร่โดยเสียค่าเช่าให้ อบจ.แต่อีก 311 ไร่ ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ส่วนโครงการใหม่ ก่อนที่จะมีการขยับผังโครงการได้มีการตรวจสอบถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 36 ไร่ (1 แปลง) และกำลังพิจารณาเสนอเพิกถอนจากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ดินและป่า อีกกว่า 400 ไร่ (18 แปลง)   


 


ทั้งนี้ พื้นที่โครงการใหม่ของโรงถลุงเหล็กได้ละเมิด พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้ต้องรอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ผ่านความเห็นชอบก่อนการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ใดๆ ของโครงการ เพราะมีกรวางผังโครงการติดพื้นที่ชุมน้ำที่กำลังจะประกาศให้มีความสำคัญระดับชาติ คือป่าพรุแม่รำพึง และอยู่ห่างชุมชน 5 หมู่บ้านโดยรอบเพียง 50 เมตร แต่ทางโครงการกลับดำเนินการปรับปรุงพื้นที่โดยอ้างการอนุญาตจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการขุดคลองระบายน้ำซึ่งทำให้บ่อนน้ำตื่นของชาวบานเสียหายกว่า 42 บ่อ


 


นอกจากนี้นายสุพจน์ยังได้กล่าวว่าบริษัทในเครือสหวิริยาได้มีการส่งตัวแทนเข้าแทรกแซงการจัดทำผังเมือง ทำให้มีการเปลี่ยนสีจากสีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่วนอุทยาน และพื้นที่อยู่อาศัย เกษตร ไปเป็นสีม่วงคือพื้นที่อุตสาหกรรมมีมลพิษ ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน โดยมีหลักฐานเป็นบันทึกการประชุมระดับจังหวัดในปี 2549 และ 2550


 


ด้านนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การกำหนดพื้นที่ผังเมืองเป็นพื้นที่สีม่วงไม่เคยมีการสอบถามความคิดเห็นความต้องการของประชาชนเลย ทั้งที่พื้นที่โรงงานมีพื้นที่เพียง 1,400 ไร่ แต่ประชาชนหมดทั้งตำบลต้องถูกกำหนดโดยไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น นอกจากนั้นแผนพัฒนาตั้งแต่ฉบับที่ 7 ที่กำหนดโดยสภาพัฒน์ฯ ให้ จ.ประจวบเป็นโครงการนำร่องเวสเทิร์นซีบอร์ดก็ไม่เคยถามประชาชน


 


"แผนพัฒนาถูกกำหนดมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รู้ว่าปัจจุบันในพื้นได้เปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว เรามีทางเลือกมากขึ้น วันนี้ประจวบฯ กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของประเทศ และเราเลือกที่จะพัฒนาเพื่อการท่อเที่ยว ในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเราน่าจะกำหนดอะไรของตัวเองได้บ้าง" นางจินตนากล่าว


 


นอกจากนี้นางจินตนายังเรียกร้องให้มีการติดตามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาอย่าง นายเลิศรัตน์ รัตนวานิชได้มีข้อเสนอให้มีการแก้กฎหมายเพื่อเปิดให้โครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงถลุงเหล็ก และโรงไฟฟ้า สามารถดำเนินโครงการได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเพียงเล็กน้อยที่ประชาชนมีอยู่ นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงการที่บริษัทสหวิริยาให้เงินสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ โดยเกรงว่ากลัวจะมีผลในการเร่งผลักดันโครงการให้มีการก่อสร้างเร็วขึ้น แม้จะคาดการณ์ได้ว่าโครงการดังกล่าวจะต้องมีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากอยู่ในแผนการพัฒนาของสภาพัฒน์ฯ


 


"ที่สุดไม่ว่าพี่น้อง หรือสื่อมวลชนจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ยังไงเราก็ต้องสู้ เพราะถ้าสู้วันนี้เรายังเหลือบ้าน จากบทเรียนของมาบตาพุด ในวันนี้คนที่นั่นทำได้เพียงยันไม่ให้เกิดโครงการที่ 1,701 ในพื้นที่ แต่สภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ถูกทำลายไปอย่างมหาศาลแล้ว แต่ถ้าวันนี้เรายังอาจจะรอด ยังรักษาบ้านของเราไว้ได้" นางจินตนากล่าว   


 


ทั้งนี้ ก่อนการแถลงข่าว กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าได้จัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ "กระทิงเขาแผงม้า" โดยมีการพูดคุยถึงกรณีศึกษาในการฟื้นฟูเขาหัวโล้นให้กลับกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง จนกลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงเรื่องแหล่งอาศัยของกระทิง โดยนายโชคดี ปรโลกานนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า พร้อมร่วมการเสวนาพูดคุยกันถึงแนวทางการดูแลรักษาพื้นที่ป่าเขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และอนุรักษ์พันธุ์กระทิงในพื้นที่ซึ่งมีจำนวนกว่า 100 ตัว หรือราวร้อยละ 10 ของจำนวนกระทิงที่มีในประเทศไทย โดยนายสมโภชน์ ศรีโกสามาตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายณรงค์ สุวรรณรงค์ ช่างภาพเจ้าของผลงานภาพถ่ายในหนังสือ "กระทิงเขาแผงม้า" โดยมี วิลลี่ แมคอินทอช ดารา พิธีกรชื่อดังทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ



 



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net