เชียงใหม่อำลา พ.ศ. 2551

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

 

อีกปีหนึ่งกำลังจะผ่านไป อาจรวดเร็วสำหรับคนที่มีภารกิจมากมาย หรือคิดหรือกังวลใจกับบางสิ่งบางอย่าง จนไม่มีเวลาดูวันเดือนปี แต่ก็อาจเชื่องช้าสำหรับคนที่เฝ้ารอบางอย่าง อยากให้สิ่งนั้นมาถึง หรืออยากให้สิ่งนั้นผ่านไปโดยเร็ว

 

แต่เมืองเชียงใหม่ก็ยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ผ่านร้อนผ่านหนาว แต่ดูเหมือนว่าอาการร้อนหนาวในปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ไม่ใช่อาการปกติ

 

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เลือก ส.ส.พรรคพลังประชาชนถึง 9 ใน 10 และพรรคนี้ได้เสียงข้างมากในขอบเขตทั่วประเทศ หัวหน้าพรรค คือ นายสมัคร สุนทรเวช ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล แต่ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงธันวาคมปีนี้ กลุ่มต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนโดยกล่าวหาว่าเป็นพรรค "นอมินี" ของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยกระดับการคัดค้านที่เข้มข้นมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

 

จากการโจมตีทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมง (โทรทัศน์ ASTV) โจมตีรายวัน (นสพ.ผู้จัดการรายวัน) มาเป็นการชุมนุมยืดเยื้อที่เชิงสะพานมัฆวานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ในที่สุดก็บุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคม

 

ในที่สุด ศาลก็ตัดสินปลดนายสมัครจากการเป็นนายกฯ ในข้อหาเป็นลูกจ้างเพราะไปจัดรายการชิมอาหารในโทรทัศน์ ติดตามด้วยการปิดล้อมรัฐสภาเพื่อมิให้รัฐบาลใหม่ของนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์แถลงนโยบาย การบุกเข้ายึดที่ทำการรัฐบาลใหม่ที่สนามบินดอนเมือง และยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และศาลตัดสินอีกครั้งให้ยุบพรรคพลังประชาชน

 

กลางเดือนธันวาคม ทุกอย่างจึงแจ่มชัดว่าประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและมีสมาชิกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนอย่างแข็งขันตลอดปี 2551 ที่กำลังจะจากไป

 

แน่นอน ความแตกแยกทางการเมืองในระดับประเทศมีผลกระทบต่อเมืองเชียงใหม่ และต่อคนเชียงใหม่

 

นอกจากสีเหลืองสีแดงจะทำให้พี่ไม่พูดกับน้อง คนรักต้องแยกทางกัน พ่อกับแม่อยู่คนละฝ่าย พ่อกับแม่ใส่เสื้อเหลืองไปนั่งที่หน้าทำเนียบ ลูกเรียนหนังสือที่เชียงใหม่สนับสนุนเสื้อแดง บางบ้านเปิด ASTV ทั้งวันทั้งคืน ข้างบ้านไม่ชอบใจ

 

มีรายการวิทยุสนับสนุนฝ่ายของตนเอง ระดมคนของตนเดินทางไปกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งก็ปักหลักชุมนุมกันที่นี่ ต่างฝ่ายต่างโจมตีกันและกัน ยกพวกเข้าใส่กัน ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เลือดตกยางออก ข้าวของเสียหาย ชีวิตบางคนต้องสิ้นไป

 

เห็นได้ชัดว่าการจัดการของฝ่ายข้าราชการไม่เด็ดขาด กฎไม่เป็นกฎ พรรคพวกสำคัญกว่ากฎเกณฑ์และคำสั่ง ความไม่ชัดเจนว่าใครจะชนะระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากหรือฝ่ายต่อต้าน ทำให้ข้าราชการเข้าเกียร์ว่าง

 

ไม่มีใครเคร่งครัดกฎเกณฑ์ เพราะห่วงแต่หน้าที่การงานและความก้าวหน้าส่วนตัว และที่แล้วมา ไม่สวมหมวกกันน๊อค ดื่มแล้วขับ ขับรถย้อนศร บอกให้แต่งชุดนักศึกษา ฯลฯ การกระทำผิดกฎเกณฑ์ทั้งหมดนี้ มีมาตลอดทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา ดูเหมือนจะมีข้อยกเว้นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง คือ กองบิน 41 ราวกับว่าคนในเมืองนี้มี 2 ระบบความคิด อยู่ในเมืองเดียวกัน ทำกัน 2 ระบบ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะสังคมไทยในปี 2551 ก็เป็นเช่นนี้ มีใครที่เคารพกฎเกณฑ์ทางการเมือง

 

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิบางอย่าง พี่น้องย่านวัดเกตและทั่วเมืองชุมนุมคัดค้านการขยายถนนที่กำหนดโดยสำนักโยธาธิการ, พี่น้องย่านถนนนิมมานเหมินท์และซอยวัดอุโมงค์เดือดร้อนกับอาคารสูงและร้านอาหาร-ดนตรีที่รุกอย่างต่อเนื่อง, พี่น้องชาวนาคัดค้านการรื้อฝายประวัติ ศาสตร์ 3 ฝาย เพราะมองว่ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวต้องการการล่องเรือ แต่ทำลายการเกษตร ฯลฯ

 

คุกกลางเมืองเชียงใหม่กำลังจะถูกย้ายไปที่อำเภอแม่แตง เทศบาลนครเชียงใหม่กำลังถามคนเชียงใหม่ว่าอยากได้แบบไหน คือ ทุบทิ้งเพื่อสร้างข่วงหลวงกลางเมือง หรือเก็บบางส่วน หรือเก็บไว้มากๆ เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์คุกและโรงแรมหารายได้ ฯลฯ

 

หลายวันที่ผ่านมา ก็มีข่าวร้ายที่หนังสือพิมพ์ "พลเมืองเหนือ" รายสัปดาห์ ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ ต้องปิดตัวลงหลังจากเป็นเวทีส่งเสริมความคิดของคนรักบ้านรักเมืองมา 7 ปีเศษ

 

หลายคนไม่รู้ข่าวเหล่านี้เพราะการข่าวของประเทศถูกครอบงำด้วยข่าวจากส่วนกลาง และส่วนกลางในรอบปี 2551 มีแต่ข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้ว

 

ประเทศต้องก้าวไปข้างหน้า ทุกคนต้องทำมาหากิน เชียงใหม่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งระดับชาติและระดับโลก แต่กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เมืองเชียงใหม่ก็ยังคงเผชิญปัญหาเดิมๆ 2 ปัญหาหลัก คือ 1.ปัญหาระดับชาติ - การเมืองไม่นิ่ง สงครามระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับประชาธิปไตยครึ่งใบ หรืออภิชนาธิปไตยยังไม่ยุติ และ 2.ปัญหาท้องถิ่น นั่นคือ ท้องถิ่นอ่อนแอ ขาดอำนาจ อำนาจอยู่ในมือของรัฐบาลกลาง ส่วนข้าราชการประจำส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นตัวแทนเพียงแต่มาประจำการ ตัดริบบิ้น ตีฆ้อง เป็นประธานจัดงาน แจกผ้าห่ม-มาม่า แต่งตัวสวย พูดจาเพราะ อยู่ได้ไม่นานก็จากไป ปัญหาก็สุมทับเพิ่มขึ้นๆ นักการเมืองท้องถิ่นก็ถนัดจัดงานหาเสียง

 

ส่วนรัฐบาลกลางก็ประสบปัญหาที่กล่าวไปแล้ว ไม่นิ่ง ไม่มีโอกาสทำงานก็ถูกต่อต้าน ตลอดจนอยู่ห่างไกลท้องถิ่น ไม่รับรู้ปัญหา รับรู้ช้า ไม่รู้รายละเอียด แต่ไม่ยอมปล่อยอำนาจ

 

เมื่อม่านฟ้า 2551 ใกล้จะปิดฉากลง คนที่เชียร์รัฐบาลใหม่คงเป็นสุข ได้ฉลองปีใหม่กันอย่างคึกคัก แต่ก็ยังเกรงว่าจะมีใครคิดมาเที่ยวแผ่นดินนี้มากมายเหมือนอดีต

 

วันนี้ เมื่อเปิดวิทยุและโทรทัศน์จะไม่ได้ยินเสียงต่อต้านจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเก่า แต่คนส่วนใหญ่ลงคะแนนเลือกรัฐบาลเก่า ไม่มีเสียงจากพวกเขาก็รู้อยู่ว่าวิทยุ-โทรทัศน์และสิ่งตีพิมพ์ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายใคร

 

แน่นอน ไม่ว่าใครจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม ทุกคนล้วนอยากเห็นบ้านเมืองที่สุขสงบ

 

การเรียกร้องให้ผู้คนรักและสามัคคีกันตลอดหลายสิบปีมานี้ ไม่มีใครไม่รู้ และคงไม่มีใครคัดค้าน บ้านเมืองเป็นสุข ครอบครัวก็เป็นสุข แต่ละคนก็มีความสุข มองไปทางใดก็เห็นแต่สิ่งที่ดีงาม และจิตใจก็สบาย มองไปถึงปีใหม่และปีต่อๆ ไป ก็มั่นใจว่าแผ่นดินนี้เหมาะให้ลูกหลานอยู่

 

แต่ความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองเป็นเรื่องสิทธิของแต่ละคน จะห้ามอย่างไร จะเรียกร้องอย่างไร ก็เป็นสิทธิของคนห้ามและเรียกร้อง แต่ทุกสังคมก็เป็นเช่นนี้ ทุกครอบครัวก็เป็นเช่นนี้ เพราะแต่ละคนมีความคิดและความฝันที่แตกต่างกัน หลายส่วนเหมือนกัน และอีกหลายส่วนก็ไม่เหมือนกัน

 

ความหลากหลายคือความงดงาม การเคารพความเห็นต่างควรจะเป็นทั้งความจำเป็น เป็นกฎและเป็นวัฒนธรรม กระทั่งอารยธรรมที่คนในสังคมควรมี

 

ใครล่ะจะไม่เชียร์ให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ ในเมื่อนั่นหมายถึงทุกคนมีความสุขกายสุขใจ แต่บ้านเมืองจะสุขสงบได้ บ้านเมืองนั้นก็ต้องมีกฎกติกาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และทุกคนเคารพกฎเกณฑ์และกติกาเหล่านั้น

 

เช่น เปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้บริหารจัดการบ้านเมืองของตนเอง ไม่ใช่ให้คนที่อยู่ห่างไกล แต่ไม่รู้ปัญหากุมอำนาจ ไม่ควรปล่อยให้ข้าราชการที่ย้ายไปย้ายมาบริหารงานแบบเอาตัวรอด ปล่อยให้ปัญหาต่างๆหมักหมม เสียดายเงินเดือนอันเป็นภาษีของประชาชน

 

คนเชียงใหม่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายในปี 2551 แต่หากไม่มีการสรุปบทเรียนใดๆ

 

เมื่อได้ชัยชนะ ก็เฮโลเริงร่า ไม่สนใจฟังเสียงของคนที่พ่ายแพ้ เมื่อไม่ได้ดังใจ ก็สรรหาเหตุผลออกมาคัดค้าน โดยไม่ยอมรับกติกาใดๆ แต่อ้างว่าทุกอย่างทำเพื่อชาติ

 

อีกไม่นาน เมืองกับประเทศนี้ก็จะเป็นตัวตลกของโลกสมัยใหม่อีกครั้ง คือแต่งตัวทันสมัย อาหารทันสมัย อาคารสูงทันสมัย การโฆษณาทันสมัย ยวดยานทันสมัย แต่กลับไม่มีระบบขนส่งมวลชน รถติดหนึบ บ้านเมืองมีแต่ฝุ่นควัน ป้ายโฆษณาติดเลอะเทอะ เมืองมีกระถางดอกไม้ตามราวสะพานและริมถนน แต่ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา ข้ามถนนไม่ได้เพราะไม่มีรถคันไหนจอดให้ ทางม้าลายไม่มีรถหยุด ขับรถไม่สวมหมวกกันน๊อค ดื่มแล้วขับ สถาบันการศึกษาก็เฝ้ากดขี่ข่มเหงน้องใหม่เพื่อครอบงำทางความคิดและสร้างหุ่นยนต์รุ่นใหม่ และที่สำคัญ เป็นเมืองที่มุ่งขายวัฒนธรรม แต่ด้อยวัฒนธรรม ฯลฯ

 

และจะเกิดการออกมาชุมนุม ยึดอาคารสถานที่กันอีกเมื่อไม่พอใจผลการเลือกตั้ง ดูถูกความเห็นของคนอื่น ไม่เห็นความสำคัญของเสียงข้างมาก และละเมิดกฎกติกาอื่นๆ ต่อไป

 

ดูเหมือนว่าปีที่กำลังจะจากไปนี้จะเป็นเพียงปีแห่งการเริ่มต้นเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของประเทศที่ได้ชื่อว่า "ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา" (Modernization without development)

 

 

                                                                                    20 ธันวาคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท