Skip to main content
sharethis

กองบรรณาธิการโลคัลทอล์ค -ประชาธรรม


ลองนึกภาพ... "ท่ามกลางบรรยากาศความสวยงามของโต๊ะอาหารจัดเลี้ยงผู้นำประเทศทั้ง 10 ประเทศที่จะเกิดขึ้น อาหารที่ตกแต่งน่ารับประทานที่วางอยู่บนโต๊ะ พืชและเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหาร บริกรหญิงชายที่เดินไปมาเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานทำความสะอาดในโรงแรม พนักงานขับรถ ตลอดจนที่มาของอาหารคือเกษตรกรที่ปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ คนขับรถฯลฯ"...


ถามว่า พนักงานแรงงาน เกษตรกร และแม่บ้านเหล่านี้ พวกเขาต่างก็ทำงานอยู่ในภาคการผลิต และต่างก็เป็นประชาชนชาวอาเซียนเช่นกัน แม้จะไม่ใช่นักธุรกิจหรือนักการเมือง แต่พวกเขาล้วนแต่เกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ผู้นำ หรือตัวแทนจากหลายประเทศได้วางนโยบายร่วมกันไว้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ตลอดจนสิ่งที่พวกเขากำลังจะปรึกษาหารือ และกำลังจะทำข้อตกลงร่วมกันในเวทีอาเซียนในปีหน้าด้วย


ไม่แน่ใจว่า ผู้นำประเทศทั้งหลาย เคยนึกถึงประชาชนชายขอบเหล่านี้บ้างหรือไม่?... จำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนในฐานะประชาชนชาวอาเซียนที่ต้องร่วมกันติดตามการประชุมนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป


1


"เวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ ASEAN SUMMIT 2008" ที่เดิมทีจะจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองของไทยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผนวกกับล่าสุดเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้าบุกยึดสนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพขอเลื่อนการจัดประชุมครั้งนี้ไปเดือนมีนาคมปีหน้า


และแม้ว่าฝ่ายพันธมิตรฯ จะยุติการชุมนุมไปแล้ว และสภาพทางการเมืองไทยจะคลี่คลายความขัดแย้งไปได้บ้าง กระนั้นผู้นำสิงคโปร์กลับเสนอให้ย้ายการจัดการประชุมไปยังกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซียภายในมกราคมปีหน้า ทั้งนี้เพื่อป้องกัน ความไม่มั่นคงทางความปลอดภัยของผู้นำประเทศในอาเซียนที่อาจจะตกเป็นตัวประกันทางการเมืองในไทยได้ อีกทั้ง วิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ รวมทั้งกลุ่มประเทศในอาเซียน จึงต้องเร่งประชุมเพื่อปรึกษาหารือ ตลอดจนกำหนดแนวทางร่วมกันเพื่อรับมือมือกับปัญหาดังกล่าว


ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในหลายๆ ด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ สถานการณ์ความไม่สงบจากการก่อการร้ายในบางประเทศ รวมไปถึงวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม - ปัญหาโลกร้อน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนโลก และต่างก็ต้องการให้มีมาตรการ และปฏิบัติการออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทว่า ปัญหาที่ต้องการการแก้ไขยังมีอีกมากมาย และเป็นสิ่งที่ประชาชนอาเซียนต้องร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดผลอีกด้วย


2


"เวทีเครือข่ายประชาชนชายขอบอาเซียน ภาคเหนือ ASEAN Marginalized People Forum (AMPF)" รวมตัวกันขึ้น เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของเวทีอาเซียน สร้างความเข้าใจตลอดจนศึกษาและเสนอประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและคนชายขอบ เนื่องมาจากนโยบายหรือข้อตกลงของอาเซียน


เครือข่ายประชาชนชายขอบอาเซียน ภาคเหนือจะมุ่งนำเสนอ โดยเน้น 3 ประเด็นปัญหาสำคัญๆ ได้แก่ 1.ประเด็นสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง 2.แรงงานข้ามชาติ 3.เกษตรกรรมยั่งยืนและทรัพยากรที่ดิน


นอกจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นประเด็นร้อนของประเทศอาเซียน แต่ดูเหมือนว่าอาเซียนก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะไม่มีความก้าวในการแก้ไข หรือมีมาตรการรับรอง ป้องกันในเรื่องนี้ ถือว่าอาเซียนล้มเหลวเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศพม่า), ประเด็นผลกระทบจากการค้าเสรี สิทธิแรงงาน ปัญหาของเกษตรกรรายย่อย ฯลฯ ยังคงเป็นเรื่องหลักใหญ่ที่อาเซียนต้องหันมาสนใจอย่างจริงจังด้วย


ข้อมูลที่น่าสนใจจาก เอกสารเผยแพร่ของสมาคมเกษตรกรเอเชีย (AFA) และองค์กรเอเซียดราห์ (AsiaDHRRA) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 กล่าวถึง ในปี 2540 ได้มีการตกลงจัดทำ "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020" ขึ้น ซึ่งระบุถึงเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่จะผนึกความร่วมมือเพื่อสร้าง "ประชาคมแห่งสังคมที่เอื้ออาทร" ให้เกิดขึ้นภายในปี พ.. 2573 (.. 2020) มีการจัดทำแผนปฏิบัติการออกมาอย่างต่อเนื่องที่กำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ ที่ประเทศสมาชิกจะดำเนินการเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยแต่ละแผนมีระยะเวลาหกปีและมีการประเมินทบทวนร่วมกันทุกๆสามปี เริ่มจากแผนปฏิบัติการฮานอย (.. 2541-2547) จนถึงปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ( .. 2547-2553)


ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ที่จัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.. 2546 นั้น บรรดาผู้นำอาเซียนได้มีการลงนามในปฏิญญาความร่วมมืออาเซียนฉบับที่สอง (Bali Concord II) ปฏิญญาฉบับนี้ยืนยันความมุงมั่นที่จะก่อตั้งประชาคมอาเซียน และกำหนดให้มีความร่วมมือกันในสามด้านหลัก อันได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ความตกลงนี้เป็นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนขึ้น ซึ่งเรียกกันว่าเป็นสามเสาหลักของอาเซียน


ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ..2550 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการลงนามยอมรับกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) และพิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint - AEC) โดยการลงนามในครั้งนี้เป็นการแสดงถึงเจตจำนงของสมาคมประชาชาติอาเซียนที่ต้องการผนึกความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ เป็นองค์กรระหว่างรัฐที่มีกฎกติกาของตนเองร่วมกัน


3


กฎบัตรอาเซียนนั้น คือข้อตกลงที่กำหนดกรอบโครงสร้าง วัตถุประสงค์ และหลักการขององค์กรอาเซียน อีกทั้งยังกำหนดถึงวิธีปฏิบัติของเหล่าประเทศสมาชิกและกระบวนการปกครองร่วมกันอีกด้วย ซึ่งกล่าวได้ว่ากฎบัตรอาเซียนนั้นเปรียบเสมือนกับรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองกลุ่มประเทศสมาชิกอาเชียนนั่นเอง


ส่วนแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นเป็นการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอาเซียนในระยะยาว ซึ่งแผนปฏิบัติการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้เป็นหนึ่งในสามของแผนการสร้างประชาคมอาเซียน ที่เหลือคือแผนปฏิบัติการของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แผนปฏิบัติการประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียนนั้น ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำ


กฎบัตรอาเซียนคือ บทบัญญัติเชิงสถาบันและเชิงกฎหมายขององค์กรอาเซียน แม้ผู้นำประเทศจะได้ลงนามรับรองไปแล้ว แต่ละประเทศยังจะต้องให้สัตยาบันในกฎบัตรตามกระบวนการทางกฎหมายภายในประเทศด้วยจึงจะมีผลบังคับ ( การให้สัตยาบันคือการผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา และมีการตรวจสอบแล้วว่าไม่ขัดกับกฎหมายในประเทศ )


กฎบัตรทำให้อาเซียนมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล เป็นการรวบรวมข้อตกลงต่างๆของอาเซียนที่ผ่านมาและกำหนดเป็นบทบัญญัติทางการ ตั้งแต่คำประกาศต่างๆ หลักการต่างๆ ที่ว่าด้วยความร่วมมือ การหารือ ฉันทามติ รวมถึงเป้าหมายเฉพาะของสามประชาคมหลักที่อาเซียนได้วางไว้ ความชอบและรวมไปถึงการที่อาเซียนจะมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภายนอก เช่นสหประชาชาติ หรือองค์กรระดับนานาชาติอื่นๆ


4


ส่วน องค์กรภาคประชาสังคม หลายองค์กรต่างก็รู้สึกผิดหวังที่กฎบัตรอาเซียนนั้น ยังขาดรายละเอียดที่สำคัญๆ หลายอย่าง ทั้งยังไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ตัวอย่างเช่น ในกฎบัตรนั้นยังไม่ระบุชัดเจนถึงกลไกในการตัดสินข้อพิพาท ความรับผิดชอบตรวจสอบได้ของรัฐบาลประเทศสมาชิก หรือการชดใช้หากกระทำผิดกติกา เป็นต้น หากแต่มอบหมายให้หน่วยงานระดับกระทรวงเป็นผู้กำหนดรายละเอียดเหล่านี้


นอกจากนี้ ในขณะที่กฎบัตรพูดถึงอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ไม่ได้มีกลไกที่ชัดเจนอะไรเลยรองรับที่จะให้เกิดความโปร่งใส และที่จะให้ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของอาเซียน ไม่มีการกล่าวถึงการตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐ ไม่ได้บอกว่าพลเมืองของแต่ละประเทศจะเข้าร่วมกระบวนการทำงานของอาเซียนได้อย่างไร หรือแม้แต่จะได้รับข่างสารข้อมูลจากอาเซียนได้อย่างไร กฎบัตรมีแต่จะบัญญัติบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐของประเทศสมาชิก ไม่มีการกล่าวถึงประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร แรงงงานอพยพ และผู้หญิง


กฎบัตรอาเซียนนั้น ยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยตลาด เป้าหมายที่จะผูกโยงเศรษฐกิจของทุกประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว มีการตีความแนวเดียวคือการเปิดเสรีให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันแบบเสรี โดยไม่ได้ใส่ใจถึงทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ ข้อห่วงใยด้านนี้จะได้กล่าวถึงต่อไปภายใต้หัวข้อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


ที่น่ายินดีที่สุดคือ กฎบัตรอาเซียนได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่ทั้งในอารัมภบท และหลักการ และในองค์ประกอบของเนื้อหามีการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ประเด็นองค์กรสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมได้รณรงค์กันมาตลอดเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ก็ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนแต่อย่างใด


สุดท้าย กระบวนการจัดทำกฎบัตรอาเซียนแทบไม่ได้มีการหารือกับภาคส่วนอื่นๆ เลย ไม่มีการเปิดเผยร่างกฎบัตรให้ประชาชนได้อภิปรายก่อนจะเสร็จสิ้น พลเมืองของประเทศสมาชิกจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเสนออะไรได้ในการยกร่างกฎบัตร ดังนั้นจึงมีความวิตกกันว่ากฎบัตรอาเซียนจะผ่านการให้สัตยาบันโดยที่ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลพวงทั้งหมดที่จะเกิดตามมา.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net