Skip to main content
sharethis

ในรายการ "มองคนละมุม" ทางสถานีวิทยุ FM 100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผลิตโดยโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ดำเนินรายการโดยมานพ คีรีภูวดล ที่จะออกอากาศในวันที่ 3 มกราคม 2552 มีแขกรับเชิญคือ บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แลกเปลี่ยนในประเด็นวิกฤตเศรษฐกิจและการเลิกจ้างในประเทศไทย


 



 



บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก


 


ผู้ดำเนินรายการ: สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพขอต้อนรับท่านเข้าสู่รายการมองคนละมุมในปีใหม่ปีนี้ปี 2552 ในวันเสาร์ที่ 3 มกราคม 2552 เสาร์นี้ปีใหม่นี้อาจจะมากับข่าวไม่ค่อยดี อย่างที่เราทราบกันดีกับเศรษฐกิจของอเมริกามีปัญหาและได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกและประเทศไทยก็มีปัญหาประเด็นที่จะมาคุยกับคุณผู้ฟังครั้งนี้อย่างที่นักวิชาการหรือสื่อต่างๆ ได้ออกมาพูดคุยว่าผลกระทบครั้งนี้บางทีอาจจะแรงกว่าปี 2540 ก็คือว่าแรงงานที่จะกระทบทั้งแรงงานเก่าที่ทำงานอยู่แล้วและแรงงานที่จะเข้าสู่ระบบใหม่คือนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน วันนี้เราจะคุยกับคนที่ได้ทำงานกับกลุ่มแรงงานมาโดยตลอดท่านเป็นเลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก คุณบุญยืน สุขใหม่


 


ผู้ดำเนินรายการ: สวัสดีครับคุณบุญยืน


 


บุญยืน: สวัสดีครับท่านผู้ฟังรายการทุกท่าน


 


ผู้ดำเนินรายการ: ได้มาเชียงใหม่ด้วยนะครับ


 


บุญยืน: ก็ถือโอกาสมาสวัสดีปีใหม่ที่เชียงใหม่ด้วยนะครับเพราะว่าไม่ได้มาหลายปีแล้ว 4 - 5 ปีแล้ว


 


ผู้ดำเนินรายการ: ก็อยากจะเข้าสู่ประเด็นเลยนะครับในฐานะที่ได้อยู่ในแวดวงแรงงานมาพอสมควรจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 กับปี นี้ คือตั้งแต่ปี 2551 มาแล้วและก็ปี 2552 คิดว่ามันมีอะไรที่เหมือนและแตกต่างกันไหมครับ


 


บุญยืน: ครับ ความต่างมันก็มีอยู่ ถ้าเกิดเรามองในเรื่องของความต่างลักษณะแรกก็คือว่า ปี 2540 นี้ปัญหาของเศรษฐกิจโลกในส่วนของยุโรป หรืออเมริกาเองนี้จะไม่มีปัญหาในเรื่องของการเงินหรือว่าในเรื่องตลาด แต่ว่าเราจะมีปัญหาภายในของเรา ซึ่งปัญหาภายในประเทศในเรื่องการเงินการธนาคาร สถาบันทางการเงินอาจจะมีการปล่อยกู้แล้วทำให้ให้มีปัญหาการจัดเก็บ และหนี้สูญ มากก็เลยทำให้สถาบันทางการเงินมีปัญหาซึ่งก็อาจจะคล้าย ๆ กับสหรัฐ ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือเมื่อปี 2540 อาจจะคล้าย ๆ กับอเมริกาในปัจจุบันนี้ แต่มารอบนี้ของไทยแตกต่างกันอย่างไรครับ


 


บุญยืน: ของไทยตอนนี้ ถ้าดูในเรื่องของสถาบันการเงินหรือถ้าดูในเรื่องของความสามารถภายในของเราก็ยังไม่มีปัญหาถึงขนาดนั้นแต่ว่าปัญหาของเราก็คือว่าประเทศของเราเป็นประเทศที่ผลิตเพื่อที่จะส่งออกเป็นหลัก เพราะว่าจากที่เมื่อก่อนเราเคยเป็นประเทศเกษตรกรรมแต่ตอนนี้เราก็มามุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศก็จะมาจากการส่งออกเป็นส่วนมากซึ่งก็จะกระทบพอสมควรถ้าถามว่าจะกระทบเหมือนปี 2540 หรือไม่ นี่ก็เป็นประเด็นที่นักวิเคราะห์หลายๆ คนก็มองไว้ในมุมที่แตกต่างกัน


 


ผู้ดำเนินรายการ: ข้อเท็จจริงที่กำลังเผชิญอยู่ ณ วันนี้ ในส่วนที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะจะมีแรงงานนิคมค่อนข้างเยอะที่ระยอง ตรงนี้สถานการณ์การเลิกจ้างหรือว่ากลุ่มแรงงานกับผู้ประกอบการได้สื่อสารเพื่อจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้างครับ


 


บุญยืน: คือในส่วนของภาคตะวันออกถ้าเกิดเรามองเปรียบเทียบคนงานในระบบ คนงานในระบบหมายถึง คนงานที่อยู่ในระบบโรงงาน เพราะคนงานจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คนงานในระบบ กับคนงานนอกระบบ ซึ่งตอนนี้บ้านเราก็จะมี 36 ล้านคน ถ้ารวมสองประเภทนี้ แต่ว่าเรามีคนงานในระบบที่อยู่ในระบบประกันสังคมทำงานตามโรงงาน ประมาณ 11 ล้านคน นะครับ ที่ระยองก็จะมี ที่ชลบุรี ที่ภาคตะวันออกนะครับที่ชลบุรีมีประมาณ 5 แสนคน ที่ระยองประมาณ 3 แสนคน  และก็อีกหกจังหวัดรอบนอกประมาณ 2 แสน รวมกันแล้วประมาณ 1 ล้าน คิดเป็น 10 % ของแรงงานในระบบทั้งหมดที่มีอยู่


 


ผู้ดำเนินรายการ: ค่อนข้างเยอะนะครับ


 


บุญยืน: ครับ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีปัญหาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ในเรื่องของผลกระทบสภาวะเศรษฐกิจจากในส่วนของอเมริกาที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเรามองมันแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเราก็ต้องมองว่าของปี 2550 ปี 2551 เป็นอย่างไร และปี 2552 อนาคตจะเป็นอย่างไร ก็คงจะต้องแยกกันวิเคราะห์เพราะว่าถ้าเราไม่แยกกันวิเคราะห์แล้วมันก็จะทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน เพราะว่าการที่จะผลิตสินค้าการที่ลูกจ้างจะทำงานตามที่นายจ้างสั่งมันจะต้องมีออเดอร์มีคำสั่งซื้อเข้ามา ฉะนั้นเองเมื่อปี 2550 ต่อเนื่องมาถึงปี 2551 มันก็มีการผลิตอย่างต่อเนื่องและมี ออเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเกิดเราเช็คจากยอดการผลิตถ้าเทียบปี 2551 กับปี 2550  ปี 2551 ยอดการผลิตจะสูงกว่า


 


ผู้ดำเนินรายการ: หมายความว่ายอดการผลิตและการสั่งซื้อใช่ไหมครับ


 


บุญยืน: ใช่ครับ


 


ผู้ดำเนินรายการ: เทียบระหว่างปี 2550 กับปี 2551 ปี 2551 จะสูงกว่า


 


บุญยืน: ใช่ครับ เพราะไตรมาสสุดท้าย ปี 2551 จะมาลดลงปลายไตรมาสสุดท้ายเท่านั้นเองเพราะว่าเราวิเคราะห์เราจะวิเคราะห์ทีละไตรมาสสามเดือนวิเคราะห์กันครั้งหนึ่ง ในระหว่างสามไตรมาสที่ผ่านมายอดการผลิตมันสูงอย่างต่อเนื่องจะมาลดในช่วงไตรมาสสุดท้ายซึ่งลดลงเป็นการชะลอตัวลงไม่ใช่ว่าลดดิ่งตัวลงเลย


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือตัวเลขที่คุณบุญยืนพยายามบอกระหว่างปี 2550 กับปี 2551 มันชี้วัดและนัยยะอย่างไรครับ


 


บุญยืน: มันมีนัยยะว่าเมื่อยอดการผลิตมันสูงหรือว่ายอดขายมันสูง สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของผลกำไรผลประกอบการย่อมจะมีผลกำไรที่สูงขึ้นแต่สิ่งที่มันตรงกันข้ามก็คือเราทั้งสื่อและภาครัฐ หรือในส่วนของโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อต่างๆ แม้กระทั่งสื่อของรัฐก็พยายามที่จะเปิดประเด็นในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า


 


ผู้ดำเนินรายการ: เป็นการประโคมข่าวกันไป


 


บุญยืน: ใช่ครับ เป็นการสื่ออออกไปให้สาธารณชนเห็น มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ ส่วนหนึ่งอาจจะมีการปรับตัวเพื่อที่จะรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่สิ่งหนึ่งก็ทำให้นายจ้างได้ฉกฉวยโอกาสตรงนี้ในเรื่องของการเลิกจ้าง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมาจนถึง ณ ปัจจุบัน จนจะถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้ปัญหาการเลิกจ้างนี้จะสูงมากโดยเฉพาะพื้นที่ในปริมณฑลที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ ได้ทราบข่าวจากเพื่อนผู้ร่วมแรงงานที่อยู่ในเขตปริมณฑลถือว่าสูงมาก


 


ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานขึ้นไปเป็นหลักแสนแต่ว่าถ้าเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออก ที่ผมเองก็มีส่วนที่จะติดตามอย่างใกล้ชิดก็จะมีหลายหมื่นคนเหมือนกันที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้เองเรามองว่าถามว่าจริงๆ แล้วมันถึงวิกฤตจนถึงขั้นที่จะถูกเลิกจ้างแล้วหรือยังถ้าถามผมตรงนี้ผมก็คงมองว่ามันก็ยังไม่วิกฤตขนาดที่ต้องถูกเลิกจ้าง เพราะว่าปี 2551 นี้ ยอดขายแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายังมีกำไรอยู่ แล้วความแตกต่างของปี 2540 กับปี 2551 นี้แตกต่างอีกส่วนหนึ่งก็คือว่าการจ้างงาน รูปแบบการจ้างงานนี้แตกต่างกันโดยชิ้นเชิง เพราะว่าก่อนปี 2540 มาจนถึงปี 2541 กฎหมายแรงงานยังเป็นรูปแบบเดิม ก็คือเราใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 และก็ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งในอดีตจะไม่มีพูดถึงในเรื่องการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงไว้ ฉะนั้นเองในอดีตจะเป็นการจ้างงานโดยตรงโดยนายจ้าง


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือหมายความว่าถ้าเทียบสถานภาพแรงงานในตอนนั้นกับตอนนี้ความเสี่ยงหรือว่าความจำเป็นที่จะปลดแรงงานตอนนี้ถ้าเทียบกับปี 2540 ต่างกันเลยใช่ไหมครับ


 


บุญยืน: ต่างกันครับเพราะว่ากฎหมายเมื่อปี 2541 พึ่งจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ออกมา โดยที่เอาประกาศคณะปฏิวัติฉบับ 103 กับประกาศมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานมารวมกันแล้วมันจะมีมาตราหนึ่งที่ระบุไว้ คือมาตาที่ 11 ให้นายจ้างจ้างงานในระบบคือเหมาค่าแรงได้ ซึ่งในอดีตเรื่องนี้จะไม่มีเลยก็คือนายจ้างเวลาจะจ้างงานต้องจ้างคนงานเข้ามาโดยตรงเลย


 


ผู้ดำเนินรายการ: ก็คือเมื่อก่อนถือว่าเป็นพนักงานบริษัท จ้างเป็นเงินเดือน แต่ถ้าเป็นระบบเหมาจ้างมีความพิเศษแตกต่างกันอย่างไร


 


บุญยืน: ความแตกต่างระบบเหมาจ้างค่าแรงก็คือว่าตัวบริษัทเองไม่ต้องไม่รับผิดชอบอะไรก็คืออาจจะไปจ้างบริษัทผ่านนายหน้าว่าเราต้องการลูกจ้าง 50 คน มาทำงานในโรงงานนะโดยที่บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับคนงานเลย จ่ายเงินเป็นก้อนให้กับบริษัทเหมาค่าแรงส่วนบริษัทเหมาค่าแรงก็จะรับสมัครคนเข้ามาทำงานให้ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง บริษัทต้องการลดต้นทุนก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างกับกับบริษัทเหมาค่าแรงไม่ต้องบอกเลิกสัญญาจ้างกับคนงานเพราะว่าคนงานนี้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบ


 


ผู้ดำเนินรายการ: ก็คือหมายความว่าลดความเสี่ยง


 


บุญยืน: ใช่ ลดความเสี่ยง


 


ผู้ดำเนินรายการ: โดยถ้ามองในมุมของผู้ประกอบการ ลดความเสี่ยง คือบริษัทผมเป็นนายจ้างเหมาจ่ายให้คุณบุญยืนทำต่อใช่ไหมครับ คือไม่จำเป็นต้องมีระบบสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคมอะไร


 


บุญยืน: ไม่มีครับ


 


ผู้ดำเนินรายการ: บริษัทที่รับช่วงต่อนี้จะมีระบบสวัสดิการให้พนักงานไหมครับ


 


บุญยืน: จริงๆ แล้วเขาก็จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐาน ในเรื่องของสวัสดิการขั้นพื้นฐานมันก็จะมีในเรื่องของ ห้องน้ำ น้ำดื่ม วันลาหยุดพักผ่อนประจำปี เรื่องของการลาป่วย ซึ่งสิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านี้จริงๆ แล้วที่ผ่านมาในกฎหมายระบุไว้ให้ต้องมีแต่ที่ผ่านมานี้ลูกจ้างเหมาค่าแรงจะถูกละเมิดตรงนี้ค่อนข้างเยอะ นี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้นายจ้างส่วนใหญ่บริษัทส่วนใหญ่จะจ้างงานผ่านลูกจ้างเหมาค่าแรงนี้เยอะเพราะว่าตัวเองไม่ต้องมารับผิดชอบเรื่องพวกนี้ ไม่ต้องมารับผิดชอบในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ไม่ต้องมารับผิดชอบในกรณีที่พนักงานเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน แล้วก็มาจ่ายค่าชดเลยอะไรต่างๆ หรือแม้กระทั่งที่จะเลิกจ้างก็ไม่ต้องมารับผิดชอบการจ่ายค่าชดเชยการจ่ายค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพราะว่าบริษัทเหมาค่าแรงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ทั้งหมด


 


ผู้ดำเนินรายการ: สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ ส่วนที่กระทบเยอะที่สุดในแรงงานคือส่วนที่สองที่กล่าวถึงใช่ไหมครับ


 


คุณบุญยืน: ใช่ครับคนงานเหมาค่าแรง


 


ผู้ดำเนินรายการ: ค่อนข้างเยอะไหมครับ ที่เจอกัน ณ วันนี้


 


บุญยืน: ณ วันนี้เองในเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ คิดว่าตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ในภาคตะวันออกประมาณ 50 % และ 55 % จะเป็นแรงงานในระบบเหมาค่าแรงซึ่งเมื่อกี้ผมบอกว่าจะมีแรงงานประมาณ ล้านคน ฉะนั้น 55 % ประมาณ 5 แสนคนเป็นคนงานในระบบเหมาค่าแรงที่จะได้รับผลกระทบจากตรงนี้ นี่ก็เป็นตัวเลขที่น่าวิตกเหมือนกัน เพราะว่าโดยปรกติแล้วคนงานเหมาค่าแรงจะได้รับค่าจ้างที่ต่ำสวัสดิการที่ต่ำอยู่แล้วเมื่อเทียบกับพนักงานประจำ ปรกติผมเป็นคนงานประจำผมก็จะได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน ค่ากะ กลางคืนก็คืนละ 200 บาท อย่างปัจจุบันแต่ถ้าพนักงานเหมาค่าแรงเขาเข้ามาก็จะได้แค่ค่าจ้างขั้นต่ำ ระยอง ก็จะ 173 บาท/วัน ค่ากะกลางคืนอาจจะได้ 50 บาท หรือบางที่ก็อาจจะไม่ได้เลย นี่ก็คือความแตกต่างของสวัสดิการที่ลูกจ้างเหมาค่าแรงและลูกจ้างประจำที่ได้รับซึ่งมันแตกต่างกัน


 


ผู้ดำเนินรายการ: สิ่งที่คิดว่ามันเป็นปัญหาตอนนี้คือว่ามาตรการทางรัฐบาลได้มีความพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้อย่างไรบ้างครับ


 


บุญยืน: คือตอนนี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การเมืองบ้านเรายังไม่นิ่งยังมีปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะว่าในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนมีการเปลี่ยนรัฐบาลไปสามชุดแล้ว ซึ่งมันเป็นปัญหาค่อนข้างเยอะความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา เพราะว่าแต่ละชุดที่เข้ามายังไม่ได้ทำอะไรเลยก็ต้องออกแล้ว ฟอร์มรัฐมนตรียังไม่เสร็จเลยก็ต้องออกกันแล้ว จากที่ผ่านมารัฐบาลชุดใหม่นี้ก็ยังไม่ได้แถลงนโยบาย แต่ว่าชุดเก่าที่แถลงแล้ว ผมก็คิดว่ามันคงจะต้องปรับเปลี่ยนไป เพราะว่าขั้วมันถูกเปลี่ยนไปแล้วขั้วการเมืองมันถูกเปลี่ยนแต่ว่าชุดเก่าที่นำเสนอมาหลักๆ เลยก็จะมีสองประเด็น ประเด็นหนึ่งก็คือการพัฒนาฝีมือแรงงาน จริงๆ แล้วผมคิดว่าแรงงานเหล่านี้ จริงๆ แล้วแรงงานที่ตกงานในปีนี้ไม่ใช่แรงงานที่ไร้ฝีมือ เพราะว่าหลายๆ คนมีทักษะ คนในในระบบเหมาค่าแรงนี้เขามีความรู้อยู่แล้วเพียงแต่เขาขาดโอกาสเท่านั้น เพราะว่าส่วนใหญ่ จะเป็น ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ทั้งนั้น อันนี้ก็คือส่วนหนึ่งทำให้เขาตกงาน ผมคิดว่า มันไม่จำเป็นต้องมาพัฒนากัน และอีกส่วนหนึ่งก็คือว่าถ้าเกิดเวลางบรัฐบาลต่างๆ ออกมามันก็จะไปอยู่ในส่วนของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานเป็นส่วนใหญ่


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือไม่ถึงคนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงปัญหาที่ผ่านมาเป็นแบบนี้


 


บุญยืน: ที่ผ่านมามันเป็นอย่างนั้นเพราะว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยมีสหภาพแรงงานประมาณ 1,200 กว่าแห่ง ณ ปัจจุบัน มีสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่ประมาณ 1.5%  คือ 3 แสนคน ถือว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่น้อยมากฉะนั้นเองสภาองค์การลูกจ้างแรงงงานในบ้านเราก็มี 12 สภา เวลางบประมาณตกมาก็จะตกอยู่กับสภาแรงงานซึ่งมีสมาชิกอยู่ 1.5 % ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่ใน 1.5 % อยู่ในส่วนของสภาองค์การแรงงานทั้งหมด มันก็มีการแยกเป็นกลุ่มย่านกลุ่มอะไรต่างๆ ด้วยเป็นกลุ่มย่อยออกไปอีก


 


ผู้ดำเนินรายการ: ข้อเสนอที่ทางกลุ่มแรงงานอยากจะให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐช่วยแก้ปัญหาในครั้งนี้อย่างไรบ้าง


 


บุญยืน: จริงๆ แล้วเราก็ได้เคยจัดสัมมนากันมา 2-3 ครั้ง ทำอย่างไรว่ารัฐจะสามารถช่วยสนับสนุนได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีรัฐบาลเข้ามารองรับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะว่าที่ผ่านมาก็มีหลายประเด็นที่ทำให้รัฐต้องไปเสียเวลา แต่ก็มีประเด็นที่ทางเราเองในส่วนของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกเครือข่ายด้านแรงงานมีการพูดคุยกันและจัดสัมมนากันและก็มีการออกทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีชุดใหม่ เรายื่นแน่นอนโดยยื่นไปก่อนแล้วก่อนที่โพลจะออกมา


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือจดหมายยื่นถึงนายกรัฐมนตรีประเทศไทยคนไหนก็ได้ใช่ไหมครับ


 


บุญยืน: ครับ คนไหนก็ได้ที่เข้ามา และรัฐมนตรีแรงงาน ตอนนี้ก็ฟอร์มตัวออกมาเราก็ได้ส่งให้แล้วเรามีมาตรการของเราก็คือว่าในเรื่องของการห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน หรือเลิกจ้างคนงานและทุกบริษัทต้องจัดทำแผนเพื่ออรองรับและแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่นแทนการเลิกจ้างคนงานให้สหภาพแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนงานหรือให้รัฐเข้าแทรกแซงโดยการเข้าไปถือหุ้นในสถานประกอบการได้ เพราะว่าที่ผ่านมาเรามองว่านายจ้างเอะอะก็อ้างว่าขาดทุนซึ่งจริงๆ แล้วขาดทุนจริงหรือเปล่าเราไม่รู้อย่างที่ผมเกริ่นในเบื้องต้นว่าปี 2550 ปี 2551 ชัดเจนเลยว่ากำลังการผลิตคุณสูงขึ้นแต่คุณจะมาอ้างว่าขาดทุนมันคงเป็นไปไม่ได้ฉะนั้นสิ่งนี้คือสิ่งหนึ่งที่เราต้องการคือพูดง่ายๆ ว่าห้ามนายจ้างปิดงานหรือว่าเลิกจ้างนะครับ ถ้าหากเรามองย้อนไปเมื่อปี 2540 สถานการณ์ลักษณะนี้จะไม่มี ในเรื่องของการเลิกจ้างจะมีน้อยมาก


 


ผู้ดำเนินรายการ: มีน้อยมากใช่ไหมครับ นอกจากเป็นผู้ประกอบการเองใช่ไหมครับโดยเฉพาะสถาบันทางการเงิน


 


บุญยืน: ใช่ครับ และก็ประเด็นที่สองก็คือ เมื่อมีการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นโดยอ้างว่าบริษัทประสบภาวะวิกฤติ รัฐต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้างหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นจริงให้บริษัทรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไขและถ้าหากบริษัทนั้นได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุน อย่าง BOI หรือสิทธิอะไรต่างๆ จาก FTA อะไรต่างๆ เหล่านี้มันก็จะต้องตัดสิทธิ์ออกไปก็จะเป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่ทำให้นายจ้างไม่กล้าที่จะเลิกจ้างคนงาน แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งในเรื่องของการจ่ายเงินประกันสังคมนะครับ กรณีว่างงาน ที่ผ่านมา กรณีว่างงานจะเห็นได้ว่าเงินของประกันสังคมตอนนี้มีอยู่ประ 5 แสนล้าน


 


ผู้ดำเนินรายการ: ครับ มีเยอะมาก


 


คุณบุญยืน: ครับ ตอนนี้ก็ได้ข่าวมาว่าจะเอามาปล่อยให้คนงานกู้ ซึ่งจริงๆ แล้วตรงนี้ในกรณีที่ว่างงานปกติเราถูกหักเงินไปแล้วทุกๆ เดือน เราจะถูกเลิกจ้างด้วยกรณีใดก็แล้วแต่คนงานควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิทธิตรงนั้น ได้รับสิทธิในกรณีว่างงาน เพราะเงินถูกหักไปแล้ว แต่ที่ผ่านมากฎหมายของเราต้องถูกเลิกจ้างเนื่องจากไม่มีความผิดเท่านั้นถึงจะได้ในกรณีที่ไม่ว่างงาน หรือว่าถ้าคนงานลาออกเองก็จะได้แค่ 30% ของค่าจ้าง


 


ผู้ดำเนินรายการ: กี่เดือนครับ


 


บุญยืน: สามเดือน แค่นั้นเอง 30%  สมมุติว่าเงินเดือน 10,000 ก็จะได้ 3,000 บาท และก็ได้เป็นเวลาสามเดือน ค่าเช่าห้องก็ไม่พอ ถ้าพูดถึงในสภาวะปัจจุบันหรือว่าถ้าเกิดลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดก็จะได้รับ 50% เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาเวลาลูกจ้างถูกเลิกจ้างนายจ้างจะบอกให้ลูกจ้างลาออกซึ่งถ้าไม่ลาออกเราจะไม่ให้หนังสือรับรองการทำงานนะ เอาตรงนี้มาเป็นข้อต่อรอง เพราะว่าถ้าเกิดนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดสิ่งที่ตามมานายจ้างจะต้องจ่ายค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและค่าชดเชยตามกฎหมายด้วยฉะนั้นวิธีที่ลดต้นทุนให้นายจ้างได้ดีที่สุดก็คือให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก


 


ผู้ดำเนินรายการ: หรือว่าสร้างความผิดให้เขา


 


บุญยืน: ใช่ สร้างความผิดให้เขาโดยที่นายจ้างไม่ต้องเสียอะไรเลย เป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการทำอยู่แล้วนี่ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วง อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของประเทศไทยเราต้องมองถึงในเรื่องอนาคตด้วยว่าคือ ณ ปัจจุบันเราเป็นประเทศที่นำเข้าทุน ก็คือว่าพูดง่ายๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทยฉะนั้นเอง เขาเข้ามาสิ่งที่เขาต้องการคือกำไร ได้กำไรแล้วเขาก็ขนออกนอกประเทศไป ฉะนั้นเราเองสุดท้ายเราจะไม่เหลืออะไร รัฐเองต้องสร้างมาตรการในระยะยาวเพื่อที่จะให้คนรุ่นอุตสาหกรรมรุ่นแรกอยู่ได้เมื่อเกษียณ เพราะตอนนี้ถ้าเกิดเรามองในเรื่องของการเกษียณ ผมยังนึกภาพไม่ออกว่าวันเกษียณผมจะอยู่ได้อย่างไรเพราะว่ามันจะมีมาตรการทางสังคมมารองรับ ฉะนั้นเราต้องมามองในรัฐสวัสดิการในอนาคตว่า ควรหรือยังที่เราจะต้องมีมาตรการในเรื่องของการจัดรัฐสวัสดิการให้กับคนงานหรือคนที่อยู่ในสังคม เพราะว่าทุกวันนี้รู้สึกว่า คนแก่ได้ 500 บาท ใช่ไหมครับ


 


ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ก็คือบางหมู่บ้านก็ต้องต่อคิว อบต. รับผิดชอบ


 


บุญยืน: ครับ ผมก็ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรได้ 500


 


ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ก็ต้องต่อคิว ถ้าหมู่บ้านไหนมีคนแก่เยอะๆ ก็ต้องรอว่า คนๆ นี้จะเสียชีวิตเมื่อไหร่ นี่ก็เป็นปัญหาอยู่


 


บุญยืน: เพราะว่า 500 บาท ถ้าเขาเจ็บป่วยขึ้นมาทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้น ยิ่งคนที่อายุเยอะจำเป็นต้องได้รับการดูแลนะครับ อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่รัฐต้องเข้ามาดูแลจัดให้มีรัฐสวัสดิการในเรื่องของการเก็บภาษี คนที่มีรายได้เยอะก็ต้องเก็บเยอะอย่างภาษีนิติบุคคล ภาษีมรดก ภาษีท้องที่คนที่มีที่ดินเยอะก็ต้องจ่ายเยอะสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อที่จะนำมาแบ่งให้คนจน


 


ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อกี้มีประเด็นเรื่องของส่วนใหญ่ผู้ประกอบการของเราเป็นชาวต่างชาติมาลงทุนแล้วก็เอากำไรไปมาตรการระยะยาวคือว่ามีความเป็นไปได้ไหมครับจะสร้างผู้ประกอบการที่สัญชาติไทยขึ้นมา


 


บุญยืน: จริงๆ โดยสัญชาตญาณของทุนเขาก็จะไปแสวงหาในพื้นที่ที่สร้างกำไร เพราะตอนนี้ไทยเองก็ไปลงทุนที่เขมร เวียดนาม ลาว


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือหมายความว่าทุนไทยหรือทุนต่างประเทศก็มีสัญชาตญาณเหมือนกันหนีจากประเทศไทยก็ไปอยู่ที่อื่นเรื่อยๆ ก็ไม่ต่างกัน มาตรการเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นทางออกในระยะยาวใช่ไหมครับ


 


บุญยืน: ผมคิดว่านาจะเป็นอย่างนั้นเพราะว่ามันจะอย่างไรก็แล้วแต่คือพูดง่ายๆ ว่าเราต้องสร้างมาตรฐานขั้นต่ำให้กับประชาชน แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ในเรื่องของการยกเลิกกฎหมายเหมาค่าแรงคือสิ่งที่สำคัญเหมือนประเด็นหนึ่งที่ผมบอกว่าก่อนปี 2540 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจมันจะไม่ดีก็จริงแต่ว่าลูกจ้างจะถูกเลิกจ้างน้อยมากแต่ปีนี้แค่ข่าวเท่านั้นเองวิกฤติยังไม่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ทุกคนต้องเข้าใจว่ามันยังไม่เกิดขึ้นแต่ตอนนี้คนงานถูกเลิกจ้างไปเกือบหมดแล้ว เพราะมันมาจากกฎหมายว่าให้มีการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงได้นายจ้างก็เลยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยยกเลิกสัญญาจ้างกับผู้รับเหมาคนเดียวแต่หารู้ไม่ว่าผู้รับเหมาต้องไปเลิกจ้างคนงานอีกเป็นพัน


 


ผู้ดำเนินรายการ: ล่าสุดมีการเลิกจ้างไปกี่จุดแล้วครับ


 


บุญยืน: ลักษณะนี้ ตอนนี้ที่กรุงเทพฯ ก็มีโดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเจเนรัลมอเตอร์ ที่อีสเทิร์นซีบอร์ดตอนนี้เหมาค่าแรงถูกเลิกจ้างทั้งหมดแล้วนี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง


 


ผู้ดำเนินรายการ: ข้อเสนอก็คืออยากให้ยกเลิกกฎหมาย


 


บุญยืน: ใช่ กฎหมายในส่วนการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงควรที่จะยกเลิกไปเพราะว่าเราเองก็ได้พยายามผลักดันและก็เสนอมาหลายครั้งในเรื่องกฎหมายเหมาค่าแรง มีสามประเด็นทิ้งท้ายอยากจะนำเสนอและวิเคราะห์คือจริงๆ แล้วปัญหาการที่มีการกระพือข่าวในเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีมันจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอะไรต่างๆ คือบางทีถ้าเกิดเราหันมามองกันจริงๆ ในปีหน้าเราก็ยอมรับบางครั้งมันอาจจะต้องปรับกลยุทธ์ในการจ้างงานปรับแผนในการทำงานมากขึ้นแต่ว่าส่วนหนึ่งที่นายทุนต้องรับผิดชอบก็คือในเรื่องของคนงานคือทำอย่างไรถึงจะสามารถอยู่ได้ระหว่างคนงานและบริษัทก็อยู่ได้ด้วยเพราะว่าจะปัดภาระผิดชอบไปอยู่ที่คนงานให้คนงานตัดคนงานออกจากระบบเลยมันก็เป็นปัญหา


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือข้อเสนอของคุณบุญยืนคือน่าจะรับความเสี่ยงร่วมกันไม่ใช่ว่าตัดพนักงานออกไปเลยแล้วเขาเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหนอย่างไร


 


บุญยืน: ครับ แล้วก็วิธีการที่เป็นการฉกฉวยโอกาสอย่างหนึ่งก็คือว่าการนำเสนอเข้ามาที่มีการเสนอข่าวตั้งแต่ก่อนที่จะถึงปีใหม่มันเป็นวิธีการที่จะลดต้นทุน เป็นการเอาเปรียบช่วงสุดท้าย


 


ผู้ดำเนินรายการ: เพราะว่าจะมีโบนัสใช่ไหมครับ


 


บุญยืน: ใช่ครับ โค้งสุดท้ายเลย โบนัสนี้ปกติในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่จะ 6 เดือนขึ้น ปกติพนักงานประจำหนึ่งพันคนและพนักงานเหมาค่าแรงก็จะอยู่ประมาณหนึ่งพันเลิกจ้างพนักงานเหมาค่าแรงไปหนึ่งพัน ลดค่าใช้จ่ายไปครึ่งหนึ่งเลยนะครับ


 


ผู้ดำเนินรายการ: คือเคยจ่ายประมาณ 10 ล้าน จ่ายแค่ 5 ล้านเอง


 


คุณบุญยืน: ใช่ครับ นี่เห็นๆ เลย อันนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้นายจ้างฉกฉวยรีบเลิกจ้างเลย อีกส่วนหนึ่งก็คือลดอำนาจในการต่อรองของสหภาพแรงงานเพราะที่ผ่านมาสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องขอโบนัสเท่านั้นเท่านี้นะถ้าบริษัทไม่มีสหภาพแรงงานปัญหาตรงนี้ก็อาจจะไม่มีแต่ว่าถ้าบริษัทไหนที่มีสหภาพแรงงานสหภาพแรงงานก็จะทำงานลำบากมากขึ้นเพราะอะไรเพราะว่าเวลาสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องนายจ้างก็จะบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีถ้าเราคุยกันจริง ๆ ถ้าเราเจรจาเราจะดูตัวเลขกันปีต่อปีเราจะไม่เอาเรื่องของอนาคตมาพูดเพราะเรื่องของอนาคตเป็นเรื่องที่เราจะต้องคุยในปีต่อไปแต่ปีนี้เราก็ต้องเอาข้อมูลของปีที่ผ่านมามานั่งคุยกันตั้งแต่ต้นปีจนถึงธันวาคมนี้เป็นอย่างไรการประกอบการเป็นอย่างไรแต่ว่าสหภาพแรงงานตอนนี้หลายที่ก็เริ่มมีการพิพาทแรงงานมีการออกมาปิดถนน มีการนัดหยุดงาน


 


ผู้ดำเนินรายการ: ช่วงก่อนปีใหม่นี้เยอะมาก


 


บุญยืน: ที่มันเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เพราะคนงานทุกคนรู้ว่าบริษัทมีกำไรแน่นอนแต่บริษัทก็อ้างว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะไม่ดีนะซึ่งมันคนละประเด็นก็เลยทำให้เกิดความขัดแย้งกัน


 


ผู้ดำเนินรายการ: นี่ก็เป็นปัญหา ท่านผู้ฟังครับถ้าฟังจากพี่น้องเครือข่ายแรงงานได้นำเสนอจริง ๆ แล้วก็นึกไม่ออกนะครับถ้าหากว่าคนที่ถูกเลิกจ้างไปนะครับสมมุติว่าครอบครัวหนึ่งทำบริษัทเดียวกันตรงนั้นหมดเลยลูกหลานและวิถีชีวิตจะเป็นอย่างไรทราบข่าวว่าหลายท่านยังมีบัตรเครดิตใบสองใบในการหมุนและก็ลำพังค่าแรง 100% ก็คือว่าค่าจ้างก็อยู่ไม่ได้ทุกวันนี้แรงงานอยู่ได้ก็เพราะว่าค่าล่วงเวลา ค่าโอที


 


คุณบุญยืน: ค่าล่วงเวลาทำงานล่วงเวลา


 


ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าหากว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้จะกระทบต่อไม่ใช่เฉพาะคนงานคนที่อยู่ข้างหลังคนงานก็คือครอบครัว


 


บุญยืน: แม้กระทั่งภาคเกษตรด้วยเพราะที่ผ่านมาภาคเกษตรก็คือจากการวิจัย 65 % ของรายได้ในส่วนภาคชนบทได้ส่งไปจากคนงานในภาคอุตสาหกรรม


 


ผู้ดำเนินรายการ: เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ภาครัฐ คนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมโดยตรงจะต้องออกมาตรการ อยากจะฝากให้กำลังใจกับพี่น้องแรงงาน


 


บุญยืน: ครับ ก็ตอนนี้อยากจะฝากว่าถ้าเกิดมีปัญหาแรงงานเกิดขึ้นอยากจะให้ทุกคนอย่าเพิ่งตกใจตั้งหลักให้ดี เพราะที่ผ่านมานายจ้างเรียกเข้าไปให้เซ็นใบลาออกเราก็เซ็นใบลาออก โดยที่เราลืมไปคำนึงถึงสิทธิของเราที่มีต่าง ๆ มากมายตามกฎหมายมันมีเยอะแยะเลยค่าเลิกจ้าง ฉะนั้นเองถ้าเกิดว่าเราต้องยืนยันที่จะไม่ลาออกบริษัทจะเลิกจ้างก็ให้เลิกจ้างเลยแล้วเราไปเรียกร้องสิทธิในภายหลัง


 


ผู้ดำเนินรายการ: ประเด็นวันนี้ถ้ามีความก้าวหน้าจะนำเสนอใหม่ท่านผู้ฟังครับวันนี้เวลาของเราหมดแล้วครับ สวัสดีครับ


 


บุญยืน: สวัสดีครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net