Skip to main content
sharethis


เรื่องและภาพโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

 


 


 


 


 



การอบรมใน "ค่ายสิทธิการได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551"


ส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันเด็กไร้สัญชาติครั้งที่ 7 ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน


 


 


ความหวังของการมีสัญชาติ


สำหรับคนทั่วไป การมีสัญชาติอาจเป็นเรื่องปกติ เสมือนเป็นสิทธิตามธรรมชาติ เพราะได้สัญชาติไทยกันตั้งแต่มีชื่อในทะเบียนบ้านตอนที่พ่อแม่แจ้งเกิด หลายต่อหลายคนเบื่อหน่าย เมื่ออายุได้เกณฑ์ไปถ่ายรูปติดบัตรประชาชน หรือถึงเวลาต่ออายุบัตรประชาชน


 


แต่อีกหลายคนที่ไม่เคยได้รับสัญชาติ การมีสิ่งๆ นั้นถือเป็นเรื่องพิเศษ และทำให้เขาและเธอเริ่มมี "โอกาส" ในชีวิต


 


"การมีสัญชาติจะทำให้การสมัครงานและโอกาสในการเรียนต่อเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น"


 


ประโยคข้างต้นเป็นความเห็นของ อรุณี ไม่มีนามสกุล อายุ 16 ปี เยาวชนชาวปกาเกอะญอ แห่งบ้านสบเมย หมู่ที่ 4 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ปลายสุดของของรัฐไทยด้านทิศตะวันตกที่มีพรมแดนคือแม่น้ำเมยและสาละวินมาบรรจบกัน อรุณีจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนสบเมยวิทยาคม ในปี 2550 ปัจจุบันโรงเรียนบ้านสบเมยใช้งบประมาณของโรงเรียนจ้างอรุณีเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดและเป็นผู้ช่วยครู ทำการสอนนักเรียนในระดับประถมต้นในวิชาที่ไม่มีผู้สอน ปัจจุบันอรุณียังมีสถานะเป็นบุคคลไร้สัญชาติ


 


นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้อรุณีเข้าร่วมการอบรมใน "ค่ายสิทธิการได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551"


 


สำหรับค่ายดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6-7 มกราคม 2552 ที่ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน หมู่ 2 อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมใน "งานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่ 7 ย้อนรอยอดีตเด็กไร้สัญชาติกับการได้สิทธิตามมาตรา 23" ซึ่งศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7


 


โดยใน "วันเด็กไร้สัญชาติ" ในปีที่ 7 นี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิการขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 23 ให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึง


 


สำหรับเนื้อหาของ มาตรา 23 ของ พ.ร.บ.สัญชาติ กำหนดให้บุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 วันที่ 13 ธ.ค. 2535 ข้อ 1. และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ..2598 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2).. 2535 ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย


 


โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย


 


กิจกรรมค่ายปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการอบรมกฎหมายให้กับเด็กไร้สัญชาติที่มีสิทธิหรือเข้าข่ายจะได้รับสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติไทย พ.ศ. 2551 โดยมีเยาวชนและผู้ปกครองผู้ไร้สัญชาติที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง อ.ขุนยวม และ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และจาก อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เดินทางมาเข้ารับการอบรมประมาณ 120 คน โดยมีวิทยากรอบรมได้แก่ นายสุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความ และนายมานะ งามเนตร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีผู้ช่วยวิทยากรจากสภาทนายความ กลุ่มอาสาสมัครนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ ม.พายัพ ด้วย


 


 


กำลังใจจากผู้ที่ไปถึงฝัน


 


"เรามีความฝันไม่ใช่สิ่งผิด แต่เราต้องไม่เพ้อฝัน และต้องทำความฝันให้เป็นจริง"


 


เป็นคำพูดของ มึดา นาวานารถ อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.พายัพ เยาวชนชาวปกาเกอะญอ บ้านท่าเรือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ในระหว่างกล่าวให้กำลังใจเพื่อนๆ ก่อนเข้ารับการอบรมในค่าย


 


มึดาเป็นอดีตบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ตัวมึดาเองและที่ปรึกษาด้านกฎหมายได้ใช้สิทธิตามช่องทาง มาตรา 23 ตาม พ.ร.บ.สัญชาติฉบับใหม่ ขอสัญชาติไทย โดยเริ่มกระบวนการตั้งแต่ปลาย 28 พฤษภาคม 2551 จนได้รับสัญชาติเมื่อเดือน 3 กันยายนที่ผ่านมา ผลของการต่อสู้ของมึดาจึงเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหลายๆ คนที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติว่าสักวันหนึ่งจะไปถึงฝันแบบมึดาบ้าง


 


มึดายังบอกกับเพื่อนๆ ที่เข้ารับการอบรมด้วยว่าอย่าโกรธหรือเสียใจหากมีคนดูแคลนว่าเราเป็นคนไร้สัญชาติ คนเถื่อน ขอให้เปลี่ยนสิ่งนั้นเป็นกำลังใจผลักดันให้เราต่อสู้เพื่อให้มีสัญชาติตามสิทธิที่เรามี ทำให้ผู้อื่นยอมรับในความสามารถของเราให้ได้


 


ในพิธีเปิดค่ายอย่างเป็นทางการในช่วงเช้าวันที่ 7 มกราคม Ms.Edel Silan ผู้ประสานงาน Cross-border Project องค์กร Save the Children UK กล่าวให้กำลังใจเยาวชนและผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการว่าขอเอาใจช่วยเยาวชนในเรื่องสิทธิการได้สัญชาติ และขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยาวชนในการได้รับสัญชาติ


 


ส่วน อิสราภรณ์ ดาวราม ผู้ประสานงานในประเทศไทยและลาว ขององค์กร Terre des Hommes Germany กล่าวว่า ต้องการทำงานกับเด็กไร้สัญชาติหรือขาดสัญชาติให้มีโอกาสทางการศึกษา สาธารณสุข และสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในประเทศไทย และเนื่องจากเขาเกิดในประเทศไทยก็ควรได้รับการดูแลเฉกเช่นคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน


 


ด้านไพฑูรย์ รวีสกุล ปลัดอาวุโส อ.สบเมย ตัวแทนนายอำเภอสบเมย กล่าวในระหว่างการเปิดงานว่า พ.ร.บ.สัญชาติฉบับใหม่เป็นโอกาสดีที่ทำให้ขั้นตอนการขอสัญชาติง่ายขึ้น ที่สบเมยมีการติดตามและดำเนินการสอดคล้องกับ พ.ร.บ.สัญชาติอยู่แล้วเป็นประจำ มีความก้าวหน้ามากกว่าอำเภออื่นๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตามเอกสารอันเป็นหลักฐานในการที่จะได้สัญชาติก็เป็นเรื่องที่ทางอำเภอสบเมยจะตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย โดยนายไพฑูรย์ยังรับปากด้วยว่าจะรีบดำเนินการให้กับประชาชนที่อยู่ในขั้นตอนการขอสัญชาติตาม มาตรา 23 แล้ว โดยจะดำเนินการไปตามระเบียบที่ พ.ร.บ.สัญชาติกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด


 


 


ช่องทาง ม.23 ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ


สำหรับเนื้อหาในการอบรมของ "ค่ายสิทธิการได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551" แบ่งผู้เข้ารับการอบรมออกเป็น 3 กลุ่มย่อย และใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษในการอบรมแบบเวียนตามฐานย่อยทั้งหมด 3 ฐานเวียน ซึ่งแต่ละฐานจะมีวิทยากรจากสภาทนายความ และผู้ช่วยวิทยากรที่เป็นนักศึกษาอาสาสมัคร คอยช่วยผู้เข้ารับการอบรมรวมรวมเอกสารหลักฐานเพื่อขอลงรายการผู้มีสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ


 


โดยทั้ง 3 ฐานที่มีการอบรมได้แก่ 1.การเตรียมเอกสารทะเบียนราษฎร์ 2.การเตรียมเอกสารการเกิด 3.การเตรียมพยานบุคคล และเมื่อผ่านการอบรมทั้ง 3 ฐานแล้ว ก็จะมารวมกันเพื่ออบรมในฐานที่ 4. วิธีการยื่นคำร้อง การติดตามคำร้อง


 


และการอบรมยังมีขั้นตอนที่ไม่ธรรมดาอีกหนึ่งอย่าง คือจะมีการ "ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย" จริงๆ ณ สำนักทะเบียนอำเภอ โดยผู้เข้าค่ายทุกคนจะไปร่วมสังเกตการณ์และศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง


 


ทั้งนี้หากยึดตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย มท.0309.1/1587 "เรื่อง การขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551" ลงนามโดย นายพงศ์โพยม วาศภูติ สั่งการถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และปลัดกรุงเทพมหานคร เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2551 เพื่อ "กำหนดแนวทางปฏิบัติให้การปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขอลงรายการสัญชาติไทยของบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทยของบุคคลที่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อยและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน"


 


โดยหนังสือดังกล่าวระบุในเรื่องขั้นตอนการเตรียมหลักฐานขอลงรายการสัญชาติไทยตามแบบฟอร์ม "แบบคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551" ว่า จะต้องเตรียม สูติบัตร ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนบ้าน ใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่ หรือทะเบียนประวัติราษฎร เช่น ท.ร.38 ท.ร.38 ก หากยื่นเอกสารนอกเหนือจากนี้เช่น บัญชีสำมะโนครัว ใบรับแจ้งการเกิด หนังสือรับรองการเกิด เป็นต้น หรือเอกสารราชการอื่นซึ่งเจ้าพนักงานได้จัดทำขึ้นจากหลักฐานการทะเบียนราษฎร ให้สำนักทะเบียนทำหนังสือหารือสำนักทะเบียนกลางเพื่อเป็นการหารือเฉพาะราย


 


นอกจากนี้หากมีเอกสารอื่น เช่น หลักฐานการศึกษา หลักฐานการรับราชการทหาร หลักฐานการเสียภาษี หนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์ให้แก่ราชการหรือสังคมซึ่งออกให้โดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่รัฐให้การรับรอง ใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ให้แนบมาด้วย


 


และหลังขั้นตอนการเตรียมเอกสาร และนายทะเบียนราษฎรตรวจสอบหลักฐานแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสอบพยานบุคคลผู้น่าเชื่อถือ เพื่อให้การรับรองเรื่องการมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งอยู่จริงติดต่อกันในประเทศไทย และเรื่องการมีความประพฤติดีหรือการทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมของผู้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย โดยขั้นตอนนี้ผู้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยจะต้องเตรียมพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือในจำนวน และคุณสมบัติตามที่หลักเกณฑ์ของมหาดไทย มท.0309.1/1587 กำหนด


 


 


ความหวังที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย


สุรพงษ์ กองจันทึก วิทยากรค่ายจากสภาทนายความ กล่าวว่า กิจกรรมการอบรมกฎหมายดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเป็นการเสริมศักยภาพการอบรมกฎหมายสัญชาติในระดับปฏิบัติการให้กับนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่แล้ว ในฐานะที่เขาเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายสัญชาติโดยตรง เขายังหวังว่าจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และความเข้าใจในขั้นตอนการขอสัญชาติตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ด้วย


 


และในขั้นตอนของการ "ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย" อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอบรม ที่ส่วนหนึ่งของผู้อบรมจะไปยื่นคำขอนี้ที่อำเภอ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเห็นกระบวนการตามขั้นตอนและระเบียบกฎหมายจริงๆ และเมื่อเห็นตัวอย่างจากเพื่อนจริงๆ ความอุ่นใจความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นตามมา


 


แต่ที่สำคัญที่เขาคาดหวังก็คือเจ้าหน้าที่รัฐเกิด "ทัศนคติที่ดี"


 


"ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมีใจช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ต้องรอให้ชาวบ้านมายื่นเรื่องถึงอำเภอ เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปหาชาวบ้าน ไปให้ความรู้กับชาวบ้านเลย แต่ถ้ายังมีทัศนคติที่ไม่ดี ต่อให้ชาวบ้านปฏิบัติตามขั้นตอนดีอย่างไร ก็ประสบความสำเร็จหรือความคืบหน้าได้ยาก"


 


ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งในทัศนะของสุรพงษ์จึงเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจขั้นตอน และทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมั่นใจว่าเขาทำในกระบวนการที่ถูกกฎหมาย


 


"หากนายอำเภอเกิดความเข้าใจในกระบวนการขอสัญชาติ และเขาลงนามอนุมัติเพิ่มชื่อขอลงรายการสัญชาติไทย ในรายที่ 1 ผมหวังว่าหลังจากนั้นจะมีรายที่ 2 รายที่ 3 รายที่ 4 รายที่ 5 และรายอื่นๆ ตามมา"


 


 


ยื่นได้สัญชาติตาม ม.23 แน่ ถ้าเอกสารครบ


สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน ในฐานะแม่งานหลัก กล่าวถึงกิจกรรมอบรมกฎหมายนี้ว่า ห้องเรียนกฎหมายเป็นกิจกรรมที่จัดทุกปีในวันเด็กไร้สัญชาติ โดยแต่ละปีจะมีประเด็นที่แตกต่างกันไป สำหรับปีนี้เน้นที่การมีสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติฉบับใหม่ ซึ่งกฎหมายกับแนวทางปฏิบัติที่ตามมายังสับสน หลายอำเภอมีความก้าวหน้า เช่น อำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน รับคำร้องขอลงรายการสัญชาติตามมาตรา 23 มีผู้ยื่นคำร้อง 8 ราย ที่ถ่ายบัตรประชาชนแล้ว และมีผู้ยื่นคำร้องอีกหลายร้อยรายที่รอดำเนินการ แต่บางอำเภอแม้แต่คนเดียวก็ยังไม่ได้ถ่ายบัตรประชาชน


 


สันติพงษ์ประเมินว่ามีผู้เข้าข่ายได้รับสัญชาติตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นราย แต่ ณ วันนี้มีผู้ได้รับสัญชาติตามเกณฑ์มาตราดังกล่าวไม่ถึง 100 ราย ทั้งที่ พ.ร.บ.สัญชาติผ่านการบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 8-9 เดือนแล้ว


 


เขากล่าวต่อว่าอาจเป็นเพราะชาวบ้านไม่ได้เตรียมหลักฐานไปอย่างครบถ้วน บางคนเตรียมเฉพาะขั้นตอนที่เป็นเอกสารหลักฐาน บางคนเตรียมเฉพาะขั้นตอนพยานบุคคล แต่กิจกรรมห้องเรียนกฎหมายจะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้กระบวนการอย่างเป็นขั้นตอนไปพร้อมกัน ที่สำคัญจะได้เรียนรู้ผ่านการสังเกตการณ์ในกระบวนการที่มีตัวแทนผู้เข้ารับการอบรมซึ่งมีเอกสารหลักฐานครบเดินทางไปทดสอบการยื่นคำร้องที่สำนักงานทะเบียนราษฎร ณ ที่ว่าการอำเภอด้วย


 


"คาดว่าบ่ายนี้จะมีการเซ็นอนุมัติหลายรายแน่นอน" สันติพงษ์กล่าว ก่อนที่จะพาเยาวชนและผู้ปกครองผู้ไร้สัญชาติเดินทางไปอำเภอแม่สะเรียงเพื่อ "ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยจริง"


 


 


ยังมีความหวัง


หลังการอบรม เราพบกับ อรุณี อีกครั้ง เธอบอกว่าแม้หลังการอบรมจะทำให้เธอเข้าใจเรื่องกฎหมายสัญชาติและการยื่นคำร้องมากขึ้น แต่จากการช่วยตรวจสอบเอกสารโดยผู้ช่วยวิทยากรในขั้นตอนของการอบรม พบว่าอรุณีไม่เข้าข่ายได้รับสัญชาติตาม พ.ร.บ.สัญชาติ มาตรา 23 เนื่องจากพ่อแม่ถือบัตรสีฟ้า มีเลข 13 หลัก หลักแรกเป็นเลข 6 อันเป็นเลขของผู้ถือบัตรบุคคลพื้นที่สูง และอรุณีเกิดหลังปี 2535 ไม่เข้าข่ายได้รับสัญชาติตาม มาตรา 23


 


อย่างไรก็ตาม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสถานะบุคคล ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ยังมีช่องทางสุดท้ายสำหรับอรุณี คือการที่พ่อแม่ของเธอเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอเพื่อลงรายการใน "ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการลงรายการสัญชาติไทยสำหรับบุคคลบนพื้นที่สูง" ซึ่งเป็นระเบียบที่มีการประกาศมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกมาเพื่อให้บุคคลบนพื้นที่สูงที่ได้รับการสำรวจแล้วและถือบัตรสีฟ้าได้รับสัญชาติไทย ซึ่งช่องทางนี้หากพ่อแม่ของอรุณีได้รับสัญชาติก็จะทำให้เธอได้สัญชาติตามพ่อแม่ด้วย


 


แต่ไม่ว่าวันนี้หรือวันพรุ่งนี้จะได้รับสัญชาติหรือไม่ อรุณีเปิดเผยแผนชีวิตที่เธอวางเอาไว้ว่า เธอจะพยายามหาทางกลับไปศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายในระบบการศึกษานอกโรงเรียน ที่ศูนย์ กศน. อำเภอแม่สะเรียง และจะใช้วุฒิที่ได้ไปศึกษาต่อวิทยาลัยการอาชีพ อ.แม่สะเรียงต่อไป


 


อรุณียังมีความหวัง


 


ขณะนี้ เวลา 13.00 น. ของวันที่ 7 มกราคม อรุณีและเพื่อนๆ พร้อมคณะวิทยากรอบรมและผู้ช่วยวิทยากร กำลังเดินทางจากศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน อ.สบเมย อันเป็นสถานที่อบรมกฎหมาย ไปยังอำเภอแม่สะเรียงเพื่อสังเกตการณ์และให้กำลังใจเพื่อนๆ ส่วนหนึ่งที่จะเตรียม "ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย" ณ สำนักทะเบียนราษฎรที่อำเภอ


 


 


 


 


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net