Skip to main content
sharethis

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า สบท.พบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเยาวชนในการใช้โทรศัพท์มือถือก็คือ ปัญหาในการใช้บริการที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่นั้น เด็กและเยาวชนก็จะได้รับปัญหานั้นในลักษณะเดียวกัน แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการคัดกรองข้อมูลจากกลุ่มธุรกิจต่างๆที่จะเข้ามาถึงเด็กและเยาวชนทางโทรศัพท์มือถือ เช่น การส่งข้อความให้โหลดภาพต่างๆที่เป็นการใช้เพื่อความบันเทิง ซึ่งไม่เหมาะสม เช่น คลิปดาราสาวร้อน คลิปฉาวหลุด ฯลฯ หรือ การใช้เพื่อธุรกิจ เช่น การส่งเอสเอ็มเอสชิงทองคำ รถยนต์ ดูดวงวันเกิด ใบ้หวย หรือ เบอร์โทร1900.... หาเพื่อนคุย เป็นต้น เหล่านี้คือกลโกงทางธุรกิจ ที่ยิ่งความเร็วสูง เทคโนโลยีใหม่ เด็กและเยาวชนก็จะเข้าถึงง่ายมากขึ้น เพียงแค่กด "มือถือ" เท่านั้น


 


ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า ปัญหาด้านโทรคมนาคมสำหรับเด็กและเยาวชน มองได้เป็นสองส่วนคือส่วนของตัวบริการ ซึ่งในต่างประเทศจะมีการลงทะเบียนเพื่อเป็นการกำหนดอายุการให้บริการคือ ถ้าเป็นเด็กอายุน้อยจะไม่มีการส่งข้อความที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ หรือไม่เหมาะสมกับเด็กไปให้ ถ้าส่งไปเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการแบบนี้ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็มีโอกาสได้รับข้อความเหมือนๆกัน ส่วนที่สองคือ เรื่องค่าบริการ ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ เพราะวุฒิภาวะในการกลั่นกรองเพื่อเลือกใช้บริการยังไม่เพียงพอ


 


"สบท.อยากแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครองว่า หากต้องการให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ ควรเลือกระบบการจ่ายเงินแบบรายเดือน มากกว่า แบบเติมเงิน เนื่องจากแบบรายเดือน พ่อกับแม่จะทราบได้ว่า บุตรหลานใช้โทรศัพท์ไปกับบริการอะไรบ้าง สามารถให้คำแนะนำกับบุตรหลานได้หากพบว่ามีการใช้บริการในสิ่งที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งสามารถควบคุมรายจ่ายได้ด้วย ในขณะที่แบบเติมเงิน พ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่ทราบเลยว่าเด็กใช้โทรศัพท์ไปกับอะไรบ้าง" ผอ.สบท.กล่าว


 


นายแพทย์ประวิทย์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดสบท.ยังได้ร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม 13 จังหวัด จัดทำ การวิจัยเรื่อง "การสำรวจพฤติกรรมเยาวชนต่อการใช้โทรศัพท์มือถือ " โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง16-18 ปี มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 3,997 บาท จากการสำรวจพบว่า เยาวชนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อให้เพื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัว โดยใช้ระบบเติมเงินถึงร้อยละ 83.2 จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือประมาณเดือนละ 355 บาท ใช้งานเฉลี่ยต่อวันประมาณ 1-5 ครั้ง ระยะเวลาที่โทรคุยอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดประมาณ 1ชั่วโมง 50 นาที ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือจะเลือกตามความสะดวก


 


รองลงมาคือช่วงเวลาหกโมงเย็นถึงเที่ยงคืน และร้อยละ 30 เคยมีปัญหากับพ่อ แม่ ผู้ปกครองเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะใช้โทรศัพท์นานเกินไปและค่าโทรศัพท์ที่สูงเกินไป


 


ความคิดเห็นของเยาวชนต่อการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่า ร้อยละ 63 จำได้ว่าใช้โทรศัพท์มือถือโปรโมชั่นอะไร ร้อยละ 50 เปลี่ยนโปรโมชั่นเพราะโปรโมชั่นเดิมหมดเวลา วีธีเลือกโปรโมชั่นจะใช้วิธีศึกษาว่าเมื่อเปลี่ยนแล้วคุ้มค่า หรือประหยัดกว่า ปัญหาหลักที่พบในการใช้ระบบเติมเงิน คือ ปัญหาวันหมดเงินไม่หมด แต่โทรออกไม่ได้ และปัญหาร้านค้าปลีกตั้งราคาขายบัตรเติมเงินเกินราคาหน้าบัตร ทั้งนี้เยาวชนกว่าร้อยละ 50.9 แก้ปัญหาวันหมดเงินไม่หมด โดยวิธีเติมเงินเพื่อเพิ่มวันใช้งาน และส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยว่า มีกฎหมายห้ามจำกัดวันใช้งานของโทรศัพท์ในระบบเติมเงิน


 


ความคิดเห็นของเยาวชนต่อการใช้บริการรับข้อมูลข่าวสารผ่านเอสเอ็มเอส หรือเอ็มเอ็มเอส พบว่า ร้อยละ 65.3 เคยใช้บริการรับข้อมูลข่าวสารผ่านเอสเอ็มเอส หรือเอ็มเอ็มเอส เพื่อรับข่าวเหตุการณ์สำคัญ ร้อยละ 37.1 ใช้ดาวน์โหลดเพลง ริงโทน ร้อยละ 28.4 เพื่อรับข่าวบันเทิง นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ75.3 เคยได้รับการโฆษณาเชิญชวนให้ทดลองใช้บริการรับข้อมูลข่าวสารผ่านเอสเอ็มเอส หรือเอ็มเอ็มเอส และร้อยละ55.6 เคยเสียค่าบริการรับเอสเอ็มเอสและเอ็มเอ็มเอสข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่ได้ปฏิเสธการใช้บริการ ร้อยละ 41.1 เคยพบปัญหาเสียเงินแล้วแต่ใช้บริการไม่ได้ ร้อยละ 40.4 เคยพบปัญหาดาวน์โหลดบริการเอสเอ็มเอสหรือเอ็มเอ็มเอสไม่เสร็จแต่ถูกคิดค่าบริการ และร้อยละ 29.9 เห็นว่าการคิดค่าบริการเอสเอ็มเอสและเอ็มเอ็มเอส แพงเกินไป


 


ความคิดเห็นเยาวชนด้านความปลอดภัยและการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่า ร้อยละ 57.7 ต้องการให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยกับผู้บริโภค ร้อยละ 52.7 ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกโปรโมชั่นให้คุ้มค่า ร้อยละ 43.2 ต้องการทราบสิทธิของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้เยาวชนส่วนใหญ่ เห็นว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ


 


ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เยาวชน ร้อยละ 55.4 เห็นว่า บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ มือถืออย่างปลอดภัย ร้อยละ 48.7 เห็นว่าบริษัทผู้ให้บริการไม่ควรโฆษณา หรือกระตุ้นให้เยาวชนใช้โทรศัพท์มือถือเกินความจำเป็น ร้อยละ 40.5 เห็นว่า บริษัทผู้ให้บริการควรมีระบบจัดเก็บขยะพิษที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net