Skip to main content
sharethis

"...นี่เป็นความหวังของพวกเรา ว่าต่อไปคงไม่มีใครมาจับตัวไปอีกแล้ว..." เสียงของนางคำ นายนวล หญิงชนเผ่าดาระอั้ง (ปะหล่อง) บอกย้ำให้ฟังด้วยน้ำเสียงของความหวัง หากสีหน้าของนางยังซ่อนแฝงไว้ด้วยความหวาดหวั่น ขณะพาเดินดูบ้านหลังใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ในพื้นที่ที่ตั้งอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของถนน

 

องอาจ เดชา: เรื่องและภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

"...นี่เป็นความหวังของพวกเรา ว่าต่อไปคงไม่มีใครมาจับตัวไปอีกแล้ว..." เสียงของนางคำ นายนวล หญิงชนเผ่าดาระอั้ง (ปะหล่อง) บ้านปางแดงนอก 1 ใน 48 คนที่ถูกจับเมื่อปี 2547 ด้วยข้อหาบุกรุกป่า บอกย้ำให้ฟังด้วยน้ำเสียงของความหวัง หากสีหน้าของนางยังซ่อนแฝงไว้ด้วยความหวาดหวั่น ขณะพาเดินดูบ้านหลังใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ในพื้นที่ที่ตั้งอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของถนน

 

หลายคนคงจำกันได้กับข่าวเหตุการณ์กรณีเจ้าหน้าที่รัฐไทยได้สนธิกำลังร่วม 200 นาย เข้าปิดล้อมหมู่บ้านปางแดงนอก ต.ทุ่งหลุก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 23 ก.ค. 2547 โดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร และ อส.ได้เข้าจับกุมชาวบ้าน จำนวน 48 ราย ไม่เว้นแม้แต่คนชรา หญิงท้องแก่ คนพิการตาบอด หรือคนขาขาด ต่างถูกจับต้อนขึ้นรถกระบะ รถกรงเหล็ก ก่อนพาตัวไปบริเวณที่หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงดาวและสถานีตำรวจภูธรเชียงดาว หลังจากนั้น ชาวบ้านกลุ่มนี้ถูกบังคับให้พิมพ์ลายมือ ตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว ก่อนส่งตัวเข้าห้องขัง

 

ซึ่งการถูกจับเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2547 นั้น เป็นการเข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงเป็นครั้งที่ 3 แน่นอนว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ต่างเคยถูกจับซ้ำซากมาถึง 3 ครั้งมาแล้ว และเหตุการณ์การจับกุมเช่นนี้ ทำให้หลายคนต่างออกมาพูดกันว่า นี่เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและชัดแจ้ง!!   (อ่านรายละเอียด สารคดี: ปางแดง...สิทธิมนุษยชนที่แหว่งวิ่น เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง (1))

 

 

ย้อนรอยโศกนาฏกรรมการจับกุมชาวบ้านปางแดงซ้ำซาก
ย้อนหลังกลับไปเมื่อเช้ามืดของวันที่ 26 ม.ค.2532 เจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงใน ซึ่งเป็นชาวดาระอั้งหรือปะหล่อง โดยก่อนจะควบคุมตัวไป ทางเจ้าหน้าที่อ้างกับชาวบ้านว่าจะพาไปทำบัตรประชาชน ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนก็บอกว่า จะพาไปรับแจกผ้าห่ม ก่อนจะตั้งข้อหาชาวบ้านปางแดงจำนวน 29 คนในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว

ต่อมา ในเดือน มี.ค.2541 เจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดล้อมหมู่บ้านปางแดงอีกครั้งหนึ่ง และจับกุมชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าปะหล่อง ลาหู่ และลีซู จำนวน 56 ราย ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว จากการสอบถามชาวบ้านพบว่า ลักษณะการจับกุมไม่มีหมายค้น ไม่มีหมายจับแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียด สารคดี : ปางแดง...เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง (3))

กระทั่ง เช้ามืดของวันที่ 23 ก.ค. 2547 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร และ อส.จำนวน 200 นายได้สนธิกำลังเข้าทำบุกจับชาวบ้านปางแดงนอก อีกเป็นครั้งที่ 3 ในจำนวนนี้รวมคนพิการ เช่นว่า ขาขาด ตาบอด และหญิงท้องแก่รวมอยู่ด้วย จำนวน 48 ราย เป็นชาย 36 ราย หญิง 12 ราย เป็นชาวเขาเผ่าลาหู่ 25 รายชนเผ่าปะหล่อง 19 ราย ชนเผ่าลีซู 1 ราย และคนพื้นเมืองอีก 3 ราย ทั้งหมดถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ด้วยข้อหาเดิมๆ ทั้งที่ชาวบ้านกลุ่มนี้กำลังพักผ่อนนอนหลับอยู่ในบ้าน

หลังถูกจับกุม ชาวบ้านทั้งหมดถูกฝากขังอยู่ที่ศาล จ.เชียงใหม่ เนื่องจากไม่มีเงินประกันตัวที่จะต้องวางเงินประกันถึงรายละ 100,000 บาท ต่อมาทีมทนายความของสภาทนายความแห่งประเทศไทย ได้เอาตำแหน่งประกันตัวชาวบ้านทั้งหมดออกมา

 

ชาวบ้านปางแดงยันความบริสุทธิ์ ปฏิเสธข้อหารุกป่าสงวน
28 ก.พ.51 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านปางแดงนอก ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 48 คน ซึ่งทั้งหมดตกเป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2547 ที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดจำเลยทั้ง 48 คนมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติในคดีที่เกิดขึ้นโดยเสนอให้ชาวบ้านทั้งหมดรับสารภาพ ขณะที่ชาวบ้านทั้งหมดต่างยืนยันความบริสุทธิ์ ว่าไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า อีกทั้งถือว่าการจับกุมรวมทั้งการตั้งข้อหาของเจ้าหน้าที่นั้นไม่มีความชอบธรรม

อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาครั้งนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ข้อเสนอแนะในคดีดังกล่าวว่า การจับกุมชาวบ้านปางแดงนอกอย่างในปี 2532 และ 2541 นั้นศาลก็ได้ตัดสินว่า ชาวบ้านบุกรุกป่าจริง เพราะพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว ยังไม่มีการกันพื้นที่ออกแต่อย่างใด ดังนั้น แม้พื้นที่จะมีความเสื่อมโทรม หรือมีสิ่งปลูกสร้างอย่างวัด โรงเรียน แต่ยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ป่าอยู่ ดังนั้นชาวบ้านจะปฏิเสธว่ามิได้บุกรุกป่าไม่ได้

 

ปางแดงจำรับรุกป่า ศาลชะลอพิพากษา ขณะผู้ปฏิเสธโดน 1 ปีรอลงอาญา           
หลังจากนั้น ทั้งชาวบ้านปางแดงที่ถูกจับกุม ทั้งทีมทนายความ และคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนชนเผ่าได้นัดประชุมถกเถียงกันว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไรดี ว่าจะปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือว่ายอมรับสารภาพก่อนจะหาทางแก้ปัญหาและหาทางออกให้ชาวบ้านปางแดงได้มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมนี้ได้

ต่อมา วันที่ 26 มี.ค.2551 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดพิพากษาตัดสินคดีดังกล่าวอีกครั้ง โดยศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดจำเลยทั้ง 48 คนมาเพื่อเจรจาหาข้อยุติในคดีที่เกิดขึ้น โดยเสนอให้ชาวบ้านทั้งหมดรับสารภาพข้อกล่าวหา แล้วค่อยไปต่อสู้เคลื่อนไหวกับราชการในการปักปันรังวัดแนวเขตพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชัดเจน

กระนั้น สำหรับการขึ้นศาลของชาวบ้านปางแดงนอกในครั้งนี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้นัดจำเลยทั้ง 48 คนมาฟังคำพิพากษา ซึ่งแบ่งการพิจารณาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธมาเป็นรับสารภาพข้อกล่าวหา มีจำนวน 37 คน ซึ่งกลุ่มนี้ศาลได้พิจารณาเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป เพื่อรอผลการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่จังหวัดแต่งตั้งว่าผลจะออกมาเช่นไร ขณะเดียวกันระหว่างนี้ให้ทางทนายความฝ่ายจำเลยรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้ศาลทราบทุก 6 เดือน

ขณะที่อีกกลุ่ม คือกลุ่มที่ยืนยันตามคำให้การเดิม คือปฏิเสธข้อกล่าวหา ซึ่งมีจำนวน 11 คนนั้น มีจำนวน 9 คน ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานและวินิจฉัยว่า ชาวบ้านมีเจตนายึดและครอบครองป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว ซึ่งคำให้การของจำเลยก็ไม่ชัดเจน เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนัก ศาลจึงพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี โดยให้รอลงอาญา ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้ มีจำนวน 2 คน นอกจากถูกตั้งข้อหาบุกรุกแล้วยังถูกตั้งข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายด้วย สำหรับข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 4 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน รวมแล้วจำเลยที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนและลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 1 ปี 2 เดือน โดยรอลงอาญาไว้ 1 ปี

ขณะจำเลยอีก 2 คนที่เหลือให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิจารณาให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง จาก 1 ปี เหลือจำคุก 6 เดือน และให้รอลงอาญาไว้ 1 ปีเช่นเดียวกัน

 

 

 

 

 

ศาลระงับคดีปางแดงชั่วคราว ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ล่าสุด คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ ศาลได้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวโดยยังไม่อ่านคำพิพากษา โดยเสนอให้มีการเจรจาร่วมกับฝ่ายนโยบายและป่าไม้เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านปางแดงด้วยการระดมทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการ และสร้างชุมชนให้ได้รับการยอมรับจากสังคมในระยะยาว ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านถูกจับกุมอีก

ซึ่งต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยความเห็นประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ศจพ.ได้ตั้งคณะทำงานสำรวจพัฒนาข้อมูลและแก้ไขปัญหาราษฎรบ้านปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ที่ 1620/2550 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 โดยมีนายอำเภอเชียงดาวเป็นประธานฯ คณะทำงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พอช. ที่ดินอำเภอ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้แทนชาวบ้าน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และ "โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง" โดยมีกรมป่าไม้เป็นเจ้าภาพในการจัดทำโครงการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) วงเงินงบประมาณ 4,625,000 บาท

วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ก็เพื่อจัดหาพื้นที่รองรับการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีความเหมาะสม พัฒนาสร้างกลุ่มชาวบ้านให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านต่างๆ โดยยึดหลัก "สังคมไม่ทอดทิ้งกัน" ในการรวมกลุ่มและสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของขบวนการประชาชนที่เข้มแข็งหนุนเสริมช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยการเชื่อมโยงประสานงานกับรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพัฒนาชุมชนในลักษณะ "สภาองค์กรชุมชน" ในระยะยาว อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

 

"โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง" เป็นทางออกเบื้องต้น
มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมพอสมควร

นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาชาวบ้านปางแดง ถือว่ามีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมพอสมควร เพราะที่ผ่านมา หลังจากมี "โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง" ขึ้นมา ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ จำนวน 94 ครอบครัวๆ ละ 50 ตารางวา มีชาวบ้านปะหล่อง 65 ครอบครัวและลาหู่ 19 ครอบครัว ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มทยอยก่อสร้างบ้านกันแล้ว

"ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว จะมีองค์กรพัฒนาเอกชนระดับท้องถิ่นช่วยดูแลรับผิดชอบอย่างใกล้ชิด คือ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) โครงการพัฒนาพื้นที่สูง (UHDP) และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ท้องถิ่นลุ่มน้ำปิง ถ้าไม่ได้องค์กรเหล่านี้ช่วยดูแล คงไม่เกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา องค์กรเหล่านี้ยังทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาแกนนำและแกนนำสตรีให้มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์สังคม มีกิจกรรมพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่หมู่บ้าน และยังทำหน้าที่ประสานงาน สื่อสารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านพื้นราบให้เกิดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตของชาวบ้านปางแดงได้อย่างดี" นายวิวัฒน์ กล่าว 

 

 

 

  

 

ปัญหายังไม่จบ งบสร้างบ้านไม่พอ
หลายฝ่ายหาทางระดมทุนช่วยเหลือ

หลังจากที่ "โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง" เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนเงินจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในการสร้างบ้าน ครอบครัวละ 30,000 บาท ซึ่งมีสมาชิกในชุมชนกว่า 400 คน ปรากฏว่า เมื่อชาวบ้านได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านในแต่ละหลังไปแล้ว กลับพบว่างบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอ จากการเดินสำรวจดู พบว่า ในแต่ละหลังคา สามารถดำเนินการได้เพียงการยกเสา มุงหลังคากระเบื้อง และการสร้างฝาบ้านได้บางส่วนเท่านั้น

อีกทั้งชาวบ้านปางแดงนอกกลุ่มนี้ ยังต้องดำเนินการเช่าที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยระยะยาวสำหรับชุมชนบ้านปางแดงจำนวน 30 ไร่จากกรมป่าไม้ ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกจำนวน 700,000 บาท แน่นอนว่า ลำพังแค่ชาวบ้านที่ต้องหาเช้ากินค่ำไปวันๆ ไหนจะต้องพะวักพะวงว่า ศาลจะตัดสินคดีที่ถูกจับเมื่อปี 2547 อีกเมื่อไร ย่อมเป็นเรื่องยากและหนักหนาอย่างยิ่งกับการจะต้องหาเงินจำนวนมากขนาดนี้ เพื่อใช้สำหรับการเช่าที่ดินในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจัดหาทุนโครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง ร่วมกับชุมชนบ้านปางแดง ต.ทุ่งหลุก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ได้จัดกิจกรรมในหลายๆ ด้าน เพื่อระดมทุนมาสร้างบ้านให้แล้วเสร็จต่อไป โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2551 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ได้จัดการแสดงละครชุมชนขึ้นที่โรงละครมะขามป้อม สะพานควาย กรุงเทพฯ เพื่อหาทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านรวมทั้งหาทุนในการเช่าพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านปางแดงนอก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก

อีกทั้งเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2551 ที่ผ่านมา ที่บริเวณโรงเรียนบ้านปางแดง ทางคณะกรรมการจัดหาทุน โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง ร่วมกับชุมชนบ้านปางแดง ก็ได้ร่วมกันจัดทอดผ้าป่าเพื่อซื้อที่ดินสร้างชุมชนใหม่ สมทบกองทุนโครงการบ้านมั่นคงชุมชนชนบทบ้านปางแดงนอกอีกด้วย

 

 

 

 

วอนสังคมไทยระดมทุนช่วยเหลือชาวบ้านปางแดง
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการจัดหาทุนฯ กล่าวว่า การระดมทุนครั้งนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ 700,000 บาท ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งทางคณะกรรมการจัดหาทุนฯ ได้เชื้อเชิญผู้ที่สนใจร่วมบริจาคได้พล็อตละ 1,000 บาท ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยระยะยาวจากกรมป่าไม้ รวมไปถึงการนำไปใช้ในพัฒนาระบบสาธารณูปโภค วัด โบสถ์ ศาลาอเนกประสงค์ แปลงเกษตร ภายในชุมชนต่อไป

โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง จึงถือว่าเป็นโครงการเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว ก็คือ การหาทุนสร้างบ้าน รวมไปถึงการหาทุนเพื่อใช้สำหรับการเช่าที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยระยะยาว ซึ่งคนในสังคมไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ได้ โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาเชียงดาว เลขที่ 516-0-17306-4 ชื่อบัญชี น.ส.สุรารักษ์ ใจวุฒิ หรื น.ส.อ่อง สุขะ หรือ น.ส.คำ นายนวล

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการระดมทุนในสร้างบ้านเช่าที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยระยะยาวให้กับชาวบ้านปางแดงซึ่งถือว่าเป็นทางออกเบื้องต้นของปัญหา แต่มีหลายคนต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหากรณีปางแดงให้ยุติได้ทั้งหมดนั้น จะต้องแก้ไขปัญหาทางนโยบาย โดยเฉพาะปัญหาการมีอคติทางชาติพันธุ์ของรัฐไทย ซึ่งยังคงมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย

เหมือนกับที่ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในเวทีประชุมสัมมนาวิชาการ "ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม" ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22-23 ธ.ค.ที่ผ่านมา

"...ตัวนโยบายที่กลุ่มผู้มีอำนาจกำหนด ได้ส่งผลต่อคนกลุ่มชาติพันธุ์ในการถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐไม่ได้สนใจแง่มุมการจัดการทรัพยากรคนชนเผ่า และหลายครั้งมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นตอมาจากคนเหล่านี้และมักจะออกแบบการพัฒนาประเทศที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มชาติพันธุ์ฯ"

 

 

 

 

 

ผู้ที่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการฯ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ น.ส.สุรารักษ์ ใจวุฒิ 086-654-0496 / น.ส.ปองจิต สรรพคุณ 081-208-2629 / น.ส.พาฝัน ศุภวานิช 081-482-2277 หรือที่ http://www.makhampom.net/makhampom/makham2008/detail_th.php?pcoid=79

 

ข้อมูลประกอบ                                                                                                   

ประชาไท

สำนักข่าวประชาธรรม                                                                                                           

มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net