Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.52  การประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีวาระการประชุมในส่วนของภาคเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การพิจารณางบประมาณขาดดุลกลางปี 2552 เพิ่มเติม จาก 100,000 ล้านบาท เป็น 120,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ  และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจอีก 6 แสนล้านบาท เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว



นอกจากนี้ยังได้พิจารณาเตรียมออกมาตรการ 5 ด้าน อาทิ การช่วยเหลือภาคแรงงาน มาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการ การเพิ่มเม็ดเงินให้กับประชาชน ด้วยการสนับสนุนวงเงินให้กับผู้ที่ทำประกันตนกับทางสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายให้รายละ 2,000 บาท ให้กับผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 14,000 บาท หรืออาจลดอัตราหักรายได้เข้าประกันสังคม  ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รมว. คลัง ระบุว่า ในภาพรวมจะเป็นการเพิ่มเม็ดเงิน ในกระเป๋าให้ประชาชนจำนวนประมาณ 10 ล้านคน เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น



นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในส่วนเงินที่กระทรวงแรงงานได้รับอนุมัติจะนำมาใช้ใน 2 ส่วน คือโครงการอบรมผู้ว่างงานวงเงิน 6,900 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการเร่งด่วน ดังนั้น ครม. จึงอนุมัติให้เบิกงบกลางวงเงิน 120 ล้านบาท เพื่อสำรองจ่ายเป็นกรณีฉุกเฉินในการเตรียมจัดฝึกอบรมให้ผู้ว่างงาน และนำมาจ่ายเพื่อช่วยค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับรายได้ประจำไม่เกิน 14,000 บาท/เดือน เป็นเงิน 2,000 บาท/คน/เดือน



นายบัณฑูร สุภัควณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท/คนนั้น เบื้องต้นมี 8,009,200 ราย คิดเป็นวงเงิน 16,058 ล้านบาท ขณะที่บุคลากรภาครัฐที่จะได้รับสิทธิมี 1,235,146 ราย คิดเป็นวงเงิน 2,328 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินในเดือนเม.ย. ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 52



อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกโครงการจะได้ข้อสรุปชัดเจนในการประชุม ครม.วันอังคารที่ 20 มกราคม โดยเฉพาะมาตรการใช้น้ำ-ไฟฟรีที่จะมีการปรับปริมาณในการใช้ฟรี



ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม ในวันที่ 14 ม.ค. จะพิจารณาลดการจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างลงเหลือฝ่ายละ 1.5% ขณะที่ภาครัฐจะสมทบเข้ากองทุนเหมือนเดิมจำนวน 2.75%



อนึ่ง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 3 กระทรวงเศรษฐกิจ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และสำนักงานประกันสังคม ร่วมกันปล่อยกู้ผู้ประกอบการในวงเงินตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึงไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีแล้ว


 



นักวิชาการหวั่นแผนกระตุ้นศก.เจ๊ง ชาวบ้านได้เงินแล้วเก็บ


นายพิภพ อุดร อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า รัฐบาลนี้บริหารงานท่ามกลางปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจประกอบกับสภาพการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ จึงทำให้ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องสานต่อนโยบายประชานิยม และต้องกระตุ้นให้เกิดภาวะการใช้จ่ายในภาคประชาชนอย่างรวดเร็ว แต่จากการทำวิจัยได้ข้อมูลว่าประชาชนในระดับผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ถึงแม้จะมีเงินในกระเป๋าก็ไม่ใช้จ่าย เพราะความกังวลในเรื่องความมั่นคงในอาชีพ ไม่รู้ว่าจะถูกปลดออกจากงานเมื่อไหร่ แม้แต่ในประเทศสหรัฐฯที่รัฐบาลอ้างเป็นแบบอย่างก็เคยประสบความล้มเหลวในแนวทางนี้มาแล้ว ในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ที่เคยคืนภาษีให้ประชาชน 600-1,200 เหรียญ ปรากฏว่าคนอเมริกันไม่ยอมใช้จ่ายจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯพังมาจนถึงทุกวันนี้



" นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้เป็นไปในลักษณะขายผ้าเอาหน้ารอด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้รอดไปก่อนไม่ได้มองเรื่องระยะยาว ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าถ้าการกระตุ้นการใช้จ่ายไม่สำเร็จหนี้สินหรือผลพวงจากนโยบายนี้จะหวนกลับมาผูกคอตัวเอง " นักวิชาการ มธ.กล่าว พร้อมทั้งเสนอว่า การจะกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระยะยาวต้องเสริมสภาพคล่องให้เกิดในตลาดการเงิน โดยต้องให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินเลิกวิตกจริตแล้วกล้าปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ไม่ใช่ใช้ระบบเหมาโหล ปฎิเสธที่จะส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด เพราะจะทำให้ภาคเอกชนพังกันทั้งระบบ


 



"พิสิฐ"ห่วงปชช.ใช้เงินไม่ตรงตามเป้าหมายรัฐบาล


ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง สำหรับการที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 18 โครงการจำนวน 1.15 แสนล้านบาทนั้น คือ การปฏิบัติจริง เมื่อมีการอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณ จะเกิดการใช้หมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายที่ออกมา ถือว่าเป็นที่ถูกต้องควรทำในช่วงภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ตกต่ำในปีนี้ ไม่ได้มีเพียงระลอกเดียวอย่างแน่นอน ต้องมีตามมาอีกหลายระลอก ซึ่งจะต้องเฝ้าดูแล และติดตามอย่างใกล้ชิด ในอนาคตว่าเม็ดเงินจะมีการนำไปใช้จริงได้หรือไม่



"การแก้ปัญหาหลักๆ ต้องเอาเงินไปส่งจุดที่เดือดร้อน ผมเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้เยอะ หากเงินที่กระจายไป เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้ เช่น โครงการจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนและข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 1.4 หมื่นบาทจำนวน 2 พันบาท หากเป็นคนตกงานและมีลูก ซึ่งลูกอาจจะไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว จะไปช่วยให้เด็กได้เรียนหนังสือก็บรรลุเป้าหมาย แต่หากได้เงินไปแล้วเอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ก็ถือว่าไม่มีประโยชน์ ดังนั้น การปฏิบัติถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงและกังวลมากที่สุด" ดร.พิสิฐ กล่าว



อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเงินจำนวน 1.15 แสนล้านบาท เพียงพอหรือไม่นั้น เชื่อว่าไม่มีทางพออย่างแน่นอน ไม่ว่าเงินจะมากกว่านี้ก็ตาม แต่ต้องดูกำลังของตัวเราเองว่า มีมากแค่ไหน และต้องมีการเฝ้าติดตามกันเป็นระยะๆ ว่าเม็ดเงินที่ลงไปแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เงินดังกล่าวจะมีประโยชน์หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของรัฐบาลว่า ต้องการอัดฉีด หาเสียง หรือเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง



 


 


ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net