รายงาน : โรงเรียนของหนู มีที่ไหนอีกบ้าง..?

กอแก้ว วงศ์พันธุ์


นักวิจัยอิสระ โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามันจังหวัดพังงา

มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

 

 

 

 

  

 

 

การได้เล่นสนุกเป็นช่วงเวลาอันแสนวิเศษของเด็กน้อย เสียงหัวเราะปะปนการสนทนาเจื้อยแจ้ว บางครั้งมีกระทบกระทั่งถกเถียงระหว่างเกมการละเล่นเล็กน้อย แต่ความสงบและความสนุกก็กลับมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน นี่คือโลกของเด็กน้อยที่บางคนอาจเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เพราะพวกเขาเป็นเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติพม่าที่เกิดในประเทศไทย ที่ไม่ปรากฎทั้งสัญชาติพม่าและสัญชาติไทย

 

ในพื้นที่แถบอันดามันประกอบด้วย จังหวัดพังงา ระนอง และภูเก็ต มีจำนวนแรงงานพม่าจำนวนมากอาจมีจำนวนมากถึงห้าแสนคน เป็นแรงงานถูกกฎหมายไม่ถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ และมีเด็กที่เกิดที่นี่จำนวนเกือบหนึ่งหมื่นคน[1] แต่มีจำนวนไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระบบโรงเรียน แม้ว่าปัจจุบันจะมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาจัดการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ แต่ก็เป็นบางพื้นที่ เช่นที่จังหวัดระนองมีโรงเรียนในการสนับสนุนของ Jesuit Refugee Service จึงมีเด็กจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสได้รับการศึกษา อย่างน้อยก็มีทักษะในการอ่านออก เขียนได้ และทักษะในการใช้ชีวิตร่วมหมู่กับเพื่อนๆ เด็กที่นี่มีโอกาสศึกษาในระดับสูงต่อเนื่องหากเด็กมีระดับผลการเรียนดีที่ทางองค์กรสามารถสนับสนุนต่อไปได้

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการประกาศตัวเองว่าเป็นประเทศอารยที่เข้าร่วม หรือลงนาม หรือรับรองกฎหมาย อนุสัญญา ปฏิญญา ในด้านสิทธิมนุษยชนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ในเรื่องการศึกษาของเด็ก หรือการปกป้องสิทธิเด็กก็เช่นกัน ประเทศไทยเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้กับเด็กแรงงานข้ามชาติในหลากหลายข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1948 ข้อ 26 ที่ยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิในการศึกษา และต้องเป็นการให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ, การศึกษาจะได้จัดไปในทางพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเข้าใจ วัฒนธรรมและมิตรภาพระหว่างบรรดาประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติหรือศาสนา

นอกจากนี้ประเทศไทยยังยอมรับ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 ข้อ 13 ที่รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษา มุ่งให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพและความสำนึกในศักดิ์ศรีของมนุษย์ เคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมความเข้าใจ ความอดกลั้นและมิตรภาพระหว่างชาติและกลุ่มเชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มศาสนาทั้งปวง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวพูดถึงสิทธิในการศึกษาว่า การศึกษาขั้นประถมจะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและเป็นการให้เปล่า และทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานความสามารถ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 ข้อ 28 และข้อ 32 ที่ยอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและรัฐต้องจัดการศึกษาแบบให้เปล่า เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง และยอมรับสิทธิเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และจากการทำงานใดที่น่าจะเป็นการเสี่ยงอันตราย หรือขัดขวางการศึกษาของเด็กหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือการพัฒนาการทางร่างกาย สมอง จิตใจ และสังคมของเด็ก

 

 

  

 

 

ทว่า ในทางปฏิบัติ กลับมีเงื่อนไขหลายประการที่เด็กแรงงานพม่าจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา โดยเฉพาะในระบบโรงเรียนของรัฐบาลไทยได้ เนื่องจากเงื่อนไขในทางปฏิบัติหลายประการที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าสู่ระบบโรงเรียนได้ เช่น ข้อกำหนดของการมีสัญชาติไทย ต้องมีหลักฐานตามกฎหมายในแง่ทะเบียนราษฎร์ เป็นต้น

 

ประเด็นปัญหาทัศนคติเชิงลบของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติหรือแม้แต่ชุมชนไทยก็เป็นข้อจำกัดหนึ่งเช่นกัน เช่น การมองว่า ทำไมต้องให้เด็กแรงงานข้ามชาติแย่งงบประมาณรายหัวที่รัฐบาลจ่ายเพื่อเด็กไทย หรือมองว่าเด็กแรงงานข้ามชาติมีความก้าวร้าว ขาดการอบรมเพราะพ่อแม่ไม่มีการศึกษา พ่อแม่ไม่มีความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว อคติที่มองว่าปล่อยให้ผู้หญิงมีลูกมากเกินไป ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาโดยไม่ระวัง การที่เด็กแรงงานข้ามชาติเข้ามาเรียนอาจทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการมาเรียนร่วมชั้นกับนักเรียนไทย หรือทัศนคติที่มองแรงงานพม่าในแง่ลบ โดยเฉพาะเรื่องส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกความเป็นไทย-พม่าในห้องเรียน ประเด็นนี้เป็นเหตุผลประกาศหนึ่งที่พ่อแม่แรงงานข้ามชาติไม่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียน

 

นอกจากปัญหาในเชิงโครงสร้างแล้ว ปัญหาความยากจนของแรงงานข้ามชาติเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ ถึงแม้จะมีโรงเรียนขององค์กรพัฒนาเอกชนที่บริการทางด้านการศึกษาฟรีแล้วก็ตาม บางครอบครัวเด็กต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหารายได้ บางครอบครัวไม่มีเงินค่าเดินทาง ค่าอาหาร เป็นต้น

 

มะ เอ  ชาวร่างกุ้ง อายุ 35 ปี เข้ามาอยู่เมืองไทย 13 ปีแล้ว แต่ยังสื่อสารภาษาไทยไม่คล่องนัก เนื่องจากวิถีชีวิตอยู่กับชุมชนของแรงงานพม่ามากกว่าชุมชนไทย เธอแต่งงานที่ประเทศไทยและมีลูกชายวัยซนอายุ 8 ปี กำลังเรียนชั้น ป.1 ของโรงเรียนนอกระบบที่สนับสนุนโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ปัจจุบันเธอตั้งครรภ์ลูกคนที่สองที่กำลังจะคลอดในเดือนหน้า เธอไม่เข้าใจถึงหลักการการวางแผนครอบครัวตามหลักวิชาการ แต่เธอเข้าใจสภาพปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวเธอเป็นอย่างดี สามีทำงานเป็นช่างเหล็กมีรายได้พอจุนเจือครอบครัวไม่มากนัก หากต้องการให้ครอบครัวอยู่สบายจึงไม่ควรมีสมาชิกในครอบครัวมากเกินไป เธอจึงตัดสินใจมีลูกเพียงคนเดียว เธอทานยาคุมกำเนิดตลอดที่เลี้ยงลูกชายคนแรก การตัดสินใจมีลูกคนที่สองเป็นการขอจากสามีที่ต้องการให้ลูกชายได้มีพี่น้องเป็นเพื่อนกันตามวัฒนธรรมของชาวพม่า เธอจึงตัดสินใจตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง และเธอตัดสินใจว่าจะกินยาคุมกำเนิดไปตลอดหลังจากคลอดบุตรคนนี้แล้ว

 

  

 

เธอกล่าวถึง อนาคตทางการศึกษาของลูกชายว่า อยากให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนไทย ถ้าเขามีความสามารถในการเรียน เพราะไม่ต้องการให้ลูกทำงานหนักเหมือนตนและพ่อของเขา เธอคิดว่า แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เรียนหนังสือคงเป็นได้แค่คนขายแรงงานในระดับกรรมกร ซึ่งลูกชายคงไม่สามารถทำงานเช่นนั้นได้ เพราะเขาเคยผ่าตัดแขน ปัจจุบันยังคงมีเหล็กดามอยู่ภายในแขนของเขา หากลูกชายไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ โอกาสที่เขาจะได้งานที่ต้องใช้แรงงานที่ต้องทำงานหนักเหมือนพ่อแม่มีสูงทีเดียว เธอจึงมองดูลูกชายที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงอย่างห่วงในในอนาคตของเขา การศึกษาจึงสำคัญอย่างมากสำหรับลูกชายของเธอ

 

ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติมักถูกมองจากชุมชนไทยว่า ไม่ให้ความสำคัญกับการคุมกำเนิดทั้งที่อยู่ในสถานะที่ลำบาก พวกเธอถูกกล่าวหาว่า เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาให้สังคมต้องแก้ไขเมื่อเด็กตกอยู่ในสภาพไร้สัญชาติ ส่งผลต่อเนื่องไปที่ปัญหาขาดการศึกษาและปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ความเป็นจริงแล้ววัฒนธรรมของชาวพม่า การมีบุตรถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่ปัญหาของพวกเธอคือ การไม่มีโอกาสเข้าถึงการบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่เนื่องจากสถานะของความเป็นแรงงานต่างด้าวของพวกเธอ โดยเฉพาะที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย กลัวการถูกจับกุม ปัญหาค่าใช้จ่ายสูงเพราะไม่สวัสดิการตามสิทธิที่พึงได้ตามบัตรอนุญาตทำงาน และมีไม่น้อยที่มีความเชื่อว่า การทำหมันส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิง ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มีบุตรอย่างน้อย 3 คน ก่อนที่จะใช้วิธีทานยาคุมกำเนิดแทน หรือฝังเข็ม หรือการคุมกำเนิดวิธีใดวิธีหนึ่ง โน โน จัง คุณแม่วัย 26 ปีของลูกๆ 4 คน อายุไล่เลี่ยกัน 7,4,2 ปีและ 8 เดือนตามลำดับ เธอแต่งงานตั้งแต่อายุ 18 ปี สามีทำงานเป็นคนงานโรงงานน้ำแข็ง ได้สวัสดิการจากเถ้าแก่คือ บ้านพักฟรี สาเหตุที่เธอเป็นคุณแม่ลูกสี่ยังสาว เพราะเธอมีความสุขกับการเลี้ยงดูลูกๆ

 

 

  

 

แม้ว่าครอบครัวของเธอ ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจแต่เธอก็ให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาแก่ลูกๆ โดยไม่คิดที่จะใช้แรงงานลูกเพื่อช่วยหารายได้อีกแรงหนึ่ง บางครั้งเธอค้างค่าอาหารที่ต้องจ่ายให้แก่โรงเรียนทุกเดือน แม้ว่าจะเป็นเงินไม่กี่ร้อยบาท แต่ก็พยายามผ่อนจ่ายให้แก่โรงเรียนในภายหลัง "อยู่ที่นี่ ขอให้ลูกอ่านออกเขียนได้ และพูดไทยได้บ้างก็พอแล้ว ถ้าไม่สามารถเรียนสูงๆ เหมือนคนไทย แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เรียนสูงที่สุด"

 

ความหวังที่จะให้ลูกๆ กลับไปอยู่ประเทศพม่าค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เธอยิ้มที่มุมปากน้อยๆ เมื่อถามอนาคตของลูกที่อาจต้องกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของบิดามารดา ในเมื่อพ่อแม่ยังไม่มีหนทางจะทำให้ตัวเองสบายในบ้านเกิด กระทั่งต้องเสี่ยงเข้ามาทำงานในประเทศไทย เสี่ยงกับการถูกจับกุมตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นี่ แต่ก็ยังดีกว่าชีวิตในประเทศพม่ามากนัก สิ่งที่ทำเพื่อลูกในวันนี้คือ พยายามให้จบการศึกษาภาคบังคับของโรงเรียนนอกระบบแห่งนี้ที่องค์กรพัฒนาเอกชนสนับสนุน อีกทั้งพูดไทยได้ เขียนไทยได้ นั่นหมายถึง การหางานได้ง่ายขึ้น เมื่ออยู่ในฐานะแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

 

ผู้หญิงทั้งสองคนและชีวิตเล็กๆ ที่สองมือของพวกเธอต้องโอบอุ้มบนสถานะอันยากลำบาก พยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ลูกได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา โดยไม่เรียกร้องและไม่เคยทราบว่า เด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการถูกปกป้องจากภัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามธรรมนูญที่ทั่วโลกบัญญัติและยอมรับในหลักการ ทว่า ไม่เคยถูกปฏิบัติให้เป็นจริงในบางประเทศ

 

 





[1] ข้อมูลจาก อู วิน วิน อาสาสมัครห้องสมุดชุมชนทับละมุ จังหวัดพังงา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท