Skip to main content
sharethis

 

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่หลายฝ่ายให้ความห่วงใยคือคุณภาพการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ที่ตกต่ำลง ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันหาทางออก ไม่ใช่เพียงโทษเด็กว่ามีพื้นฐานอ่อน
สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงในห้วงทีผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 คือคุณภาพการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ที่ตกต่ำลง ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ
 
วันนี้สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดได้ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว คือ ผลการการวัดผลการศึกษาของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กว่าหนึ่งในสามของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดที่ตกอยู่ในสภาพรอพินิจ (probation)
 
หนังสือพิมพ์บูมีตานี โดยนักศึกษาปีที่ 4 ของคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ฉบับที่ 21 ประจำเดือนธันวาคม 2551 - มกราคม 2552 ได้รายงานเรื่องนี้ โดยเปิดเผยภาพรวมเกรดหรือการวัดผลการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีว่ามีสภาพที่น่าเป็นห่วง โดยตกอยู่ในสภาพรอพินิจ (probation) ถึงหนึ่งในสาม
 
โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีสัดส่วนนักศึกษาที่ตกอยู่ในสภาพนี้เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยคณะวิทยาการสื่อสารและคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
 
เมื่อพิจารณาภาพรวมสัดส่วนของนักศึกษาทุกคณะในวิทยาเขตปัตตานีที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 2.00 พบว่า คณะที่มีสัดส่วนนักศึกษาอยู่ในช่วงดังกล่าวมากที่สุด คือคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 85.59%  รองลงมาคือคณะวิทยาการสื่อสาร 44.93% ลำดับที่3 คือคณะศึกษาศาสตร์ 41.37% ลำดับที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ 30.69% และลำดับที่ 5 คณะรัฐศาสตร์ 27.72%
 
โดยในกรณีของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมน้อยกว่า 2.00 สูงสุดจำนวนถึง 285 คน จากนักศึกษาทั้งหมด 333 คนซึ่งนั่นหมายความว่า ในจำนวนนักศึกษา 10 คน จะมีสัดส่วนของนักศึกษาที่เกรดเฉลี่ยเกิน 2.00 เพียง 1 คนเท่านั้น
 
บูมีตานี รายงานด้วยว่า ส่วนนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมมาระหว่าง 1.25 -1.99 มากที่สุด พบว่า เป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุด คือ 37.34% รองลงมาคือคณะศึกษาศาสตร์ 34.53% ลำดับที่สามคณะวิทยาการสื่อสาร 31.40% ลำดับที่สี่ คือคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 23.46% และลำดับที่ห้าวิทยาลัยอิสลามศึกษา 15.08%
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมจากงานทะเบียนและสถิตินักศึกษาของวิทยาเขตปัตตานี ที่เปรียบเทียบสถิติผลการเรียนของนักศึกษาตั้งแต่ปี 2545-2549 ก็พบว่าจำนวนนักศึกษาที่พบกับภาวะรอพินิจเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าอีกด้วย
 
บูมีตานี รายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชั้นปีที่ 1 รุ่นปีการศึกษา 2551 มีทั้งหมด 2,254 คน มีนักศึกษาที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสม น้อยกว่า 2.00 จำนวนถึง 929 คน คิดเป็น 41.22% 
 
ส่วนนักศึกษาที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ระหว่าง 2.00-4.00 มี 1,135 คนคิดเป็น 50.35% โดยนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จำนวนมากต้องประสบปัญหาผลการเรียนที่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ซึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบกับสถิติในช่วงตั้งแต่ปี 2545-2549 พบว่า จำนวนนักศึกษาที่ต้องประสบกับภาวะรอพินิจ (Probation) เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 10 เท่า
 
ด้วยเหตุดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยเองก็ได้พยายามหาทางช่วยเหลือนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องแล้ว
 
อย่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผศ.พักตรา คูบุรัตน์ คณบดี ระบุว่า สาเหตุที่ผลสำฤทธิ์ทางการศึกษาของนักศึกษาที่ต่ำลงเพราะนักศึกษารุ่นใหม่มีพื้นฐานอ่อน รวมทั้งมีปัญหาในเรื่องการแบ่งเวลา
 
ขณะที่การแก้ปัญหานั้น ทางคณะทำทั้งการเพิ่มชั่วโมงเรียน การนัดติวพิเศษโดยรุ่นพี่ที่มีผลการเรียนดี ขณะที่ในปีการศึกษาหน้าจะมีโครงการจัดคอร์สปูพื้นฐานสำหรับนักศึกษาเข้าใหม่ 1 เดือน รวมทั้งการปรับเกณฑ์การรับนักศึกษา โดยต้องมีคะแนนโอเน็ต ตั้งแต่ 20 % ขึ้นไป
 
เช่นเดียวกับคณะคณะอื่นๆ ก็ได้พยายามแก้ปัญหาในทิศทางที่คล้ายกัน โดยผศ.ดร.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า นอกจากโครงการพี่สอนน้องซึ่งจะทำกันทุกคณะแล้ว ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยได้ลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนต่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหาความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน โดยเฉพาะเพื่อปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมก่อนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย
 
ขณะที่นายพีรยศ ราฮิมมูลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นอดีตอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาต่ำต้องไปที่ระดับโรงเรียน ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้การจัดการศึกษาหลายส่วนยังมีปัญหามาก ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามหาทางแก้ปัญหานี้อยู่
 
"ในส่วนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ตกต่ำลงนั้น ผมจะดึงนาย นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงพื้นที่เพื่อหาทางแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังด้วย"
 
ส่วนในมุมมองของนักศึกษา นางสาวขอดีเย๊าะ หมัดหมัน ชั้นปีที่ 1 วิชาเอกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการจัดการ คณะวิทยาการสื่อสาร บอกว่า สถานการณ์ไม่สงบใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ส่งผลต่อผลการเรียน แต่สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างจากสมัยเรียนชั้นมัธยม
 
"เป็นเรื่องที่ดีถ้าอาจารย์จะสอนให้ละเอียดเป็นพิเศษกว่านี้ หรือหาวิธีสอนที่ทำให้นักศึกษารู้สึกผ่อนคลายกล้าถามเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่เรียนอ่อนและไม่กล้าถาม" นางสาวขอดีเย๊าะกล่าว
 
ส่วนนางสาวเจะฮาวา แยนา ชั้นปี 1 วิชาเอกวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า นักศึกษาบางคนมีผลการเรียนต่ำ เรียนไม่ทันเพื่อน เนื่องจากตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางคนเลือกตามเพื่อน ไม่เข้าใจว่าวิชาเอกที่เลือกเรียน จึงส่งผลต่อการเรียนและเกรดเฉลี่ยต่ำ จึงต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องให้ความรู้เกี่ยวกับวิชาเอกต่างๆ ให้นักเรียนด้วย ที่สำคัญคือผู้เรียนเอง ต้องศึกษาให้ละเอียดเกี่ยวกับวิชาเอกที่จะสอบเข้าจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง
 
คุณภาพการศึกษา อาจบ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตและสังคมของคนในชายแดนใต้ด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน อย่างน้อยก็ได้ช่วยสังคมที่อยู่ท่ามกลางความไม่สงบอยู่ในขณะนี้ได้ โดยไม่ต้องไปโทษเด็กว่ามีพื้นฐานอ่อน แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย แม้พวกเขาเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว
 
 
 
 
 
 
รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ
คณะบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี
 
"สาเหตุที่นักศึกษามีผลการเรียนต่ำมาจากหลายๆ ด้าน ส่วนหนึ่งมาจากนักศึกษาเอง และวิธีการสอนของอาจารย์ด้วย โดยสาเหตุจากตัวนักศึกษานั้นทางคณะแก้ปัญหาโดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ดูแลนักศึกษาที่มีพื้นฐานการเรียนอ่อน โดยให้อาจารย์ใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ ให้นักศึกษามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนก่อน เมื่อนักศึกษามีทัศนคติต่อการเรียนที่ดีแล้ว การดึงตัวนักศึกษาให้เข้ากับระบบการเรียนที่เป็นอยู่ ก็จะทำได้ง่ายกว่านักศึกษาที่มีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียน
 
ในส่วนของอาจารย์ก็จะเพิ่มการสอนในลักษณะเตรียมพื้นฐานก่อน นอกจากนี้ยังได้เตรียมห้องเรียนเสมือน(Visual classroom) เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้เข้าไปแลกเปลี่ยนหรือซักถามเนื้อหาเพิ่มเติมผ่านระบบออนไลน์ หรือข้อข้องใจที่ยังไม่ถาม หรือไม่กล้าถามในห้องเรียน
อาจารย์ต้องให้ความช่วยเหลือนักศึกษาให้มากกว่าเดิม ปีนี้มีนโยบายจะให้อาจารย์จัดทำสื่อการเรียนเพื่อให้นักศึกษาได้ทบทวนความรู้จากที่เรียนในห้องให้เป็นลักษณะวีดีทัศน์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถดูข้อมูลการสอนย้อนหลังได้
 
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาส่วนใหญ่นักศึกษาที่เข้าร่วมติวจะเป็นนักศึกษาที่ขยันและเรียนดีอยู่แล้ว นักศึกษาที่เรียนอ่อนเข้าร่วมติวน้อย จุดนี้ถือว่าโครงการติวก็ยังไม่สามารถช่วยให้นักศึกษามีผลการเรียนดีขึ้นได้อยู่ดี ประเมินแล้วว่า วิธีการนี้ยังแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
 
แม้สาเหตุของนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำ เนื่องจากมีพื้นฐานการเรียนอ่อนมาก่อนก็ตาม แต่ปัญหานี้เป็นหน้าที่ของสถาบันและอาจารย์ผู้สอนที่จะต้องช่วยเหลือแก้ไขต่อไป
 
แต่ในเบื้องต้น นักศึกษาต้องช่วยเหลือตัวเองก่อนในการวิเคราะห์ว่า ระบบการเรียนของตนเองเป็นอย่างไร เพราะอาจารย์สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย"
 
 
 
 
เสียงนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี
 
 
 
นางสาวยูหารียะ สามารถ
ชั้นปี 1 เอกวัดผลการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์
 
"การปรับตัวกับการเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยสิ่งที่ปรับยาก คือ การปรับตัวเรื่องเวลา เนื่องจากปี 1 เป็นช่วงการรับน้อง ซึ่งเป็นช่วงของการปรับตัวของนักศึกษาใหม่กับการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย มีกิจกรรมมาก ทำกิจกรรมเสร็จก็จะรู้สึกอ่อนเพลีย จึงไม่ค่อยมีเวลาทบทวนการเรียน ทำให้ผลการเรียนในเทอมแรกต่ำ แต่ก็ยังได้เกรดประมาณ 2.00 ขึ้นไป
 
ทางคณะมีโครงการพี่สอนน้อง ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เทอมแรก จัดทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 8.00น.- 12.00น. ทำให้ได้ทบทวนวิชาเรียนในห้องได้อีกทางหนึ่ง
 
สิ่งที่อยากฝากคือเรื่องการรับน้อง คือเรียกทำกิจกรรมได้ แต่อยากให้เรียกเป็นเวลา ไม่ควรดึกเกินไป หรือใช้เวลามากเกินไป เพราะจะทำให้เสียเวลาในการทบทวนบทเรียน"
 
 
 
นางสาวมิสบ๊ะ เจะโซ๊ะ
ชั้นปี 1 เอกอิสลามศึกษา คณะวิทยาลัยอิสลาม
 
"การเรียนมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างจากการเรียนระดับมัธยม ทั้งเรื่องเวลาและวิธีการสอน ยอมรับว่าตอนนี้เกรดเฉลี่ยลดลงจากเดิม
 
การเรียนในห้องที่เป็นกลุ่มเล็กทำให้อาจารย์มีความใกล้ชิดกับผู้เรียน ทำให้กล้าที่จะถามข้อสงสัยต่างๆจากผู้สอน แต่การเรียนมหาวิทยาลัยการสอนในห้องใหญ่ส่งผลให้ผู้เรียนบางคน หรือส่วนใหญ่ไม่กล้าถามเมื่อมีข้องสงสัยในเรื่องที่เรียน
 
เมื่อไม่กล้าถามอาจารย์ในห้องเรียน ก็จะมีการติวกันระหว่างเพื่อน และทางคณะก็มีการช่วยเหลือนักศึกษาโดยมีการจัดติวทบทวนบทเรียนขึ้น โดยส่วนใหญ่จะติวในช่วงก่อนสอบ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เนื่องจากนักศึกษาที่ร่วมติวมีจำนวนน้อย
 
การที่มีนักศึกษาเข้าร่วมติวน้อย อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง และความขี้เกียจของนักศึกษาเอง แต่ถ้ามีการบังคับน่าจะแก้ปัญหาได้"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net