Skip to main content
sharethis

จากความบิดเบี้ยวเชิงโครงสร้างและการตลาดที่ไร้คุณธรรมในเรื่องของสุขภาพ ไม่แปลกที่เราจะเห็นความไม่เท่าเทียมในการกระจายตัวและผลของโรค ซึ่งในที่นี้จะเน้นที่โรคติดเชื้อเป็นหลัก แม้โรคไม่ติดต่อจะเป็นภัยคุกคามคนจนมากขึ้นเป็นลำดับก็ตาม

 

นายแพทย์ พอล ฟาร์เมอร์ หมอชาวอเมริกันซึ่งอุทิศตัวทำงานในพื้นที่ชุมชนยากจนในประเทศต่างๆ มานานกว่า 20 ปี และร่วมก่อตั้ง Partners in Health องค์กรมนุษยธรรมด้านการแพทย์ ได้เขียนหนังสือ 2 เล่ม คือ Infections and Inequality: The Modern Plagues และ Pathologies of Power: Health, Human Rights, and the New War on Poor เพื่อถ่ายทอดความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งชี้ปัญหาในหลายๆประเด็นรวมทั้งทัศนคติและความถือตัวในวงการแพทย์ที่นำไปสู่การซ้ำเติมปัญหาของคนจน

ชุดวิเคราะห์ของ พอล ฟาร์เมอร์ จะนำเสนอ ความแตกต่างของคำตอบซึ่งนำสู่ความล้มเหลวของการรักษาผู้ป่วยที่ทั้งเสริมและเจาะลึกลงไปในปัญหาโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของโลกใบนี้ยิ่งขึ้น ว่าทำไมโรคที่รักษาให้หายได้จึงยังคงอยู่ และระบาดรุนแรงมากขึ้น เพื่อเป็นฐานในการแก้ไขความเข้าใจและการวางนโยบายที่ผิดทิศผิดทางเพื่อนำไปสู่การทบทวนการปฏิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจัง

พอล ฟาร์เมอร์ ชี้ว่า ปัจจัยด้านสังคมเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจของโรคติดต่อ ปัจจัยเหล่านี้มีบทบาทในการแพร่กระจายของโรค แต่มักถูกละเลยโดยนักวิจัยที่มักมีข้อเสนอที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง ประสบการณ์ในพื้นที่กว่า 20 ปีได้นำเสนอปัจจัยหลักคือ สังคมชีวภาพ การวิเคราะห์ข้ามสาขา ระหว่าง ระบาดวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และแพทย์ศาสตร์ ควรจะถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน

มายาคติที่เกี่ยวกับโรคและการเกิดโรค

โจเซฟ เป็นคนชั้นกลางใน ปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น วัณโรค แต่ประสบความล้มเหลวในการรักษาหลังจากได้รับการรักษาไป 1 ปี เขาได้รับสูตรยาเดิมตลอด และ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ดื้อกับยาหลายตัว (MDRTB) หลังจากที่เริ่มไอเป็นเลือด เขาก็เริ่มขายหุ้นและที่ดินเพื่อนำไปซื้อขายราคาแพง แต่ก็ต้องหยุดทุกครั้งที่ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน (ยังไม่ต้องพูดถึงว่า น้องสาวของเขาก็เริ่มไอเป็นเลือดเช่นกัน) โรงพยาบาลของรัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนใดๆ ทั้งๆที่ได้เอาตัวอย่างเสมหะของเขาไป แต่ไม่ได้แจ้งผลตรวจกลับมา โชคดีว่า ในที่สุดโจเซฟได้รับการรักษาจากคลินิกสาธารณกุศลแห่งหนึ่งที่มีเงินบริจาคมากพอ ทำให้เขามีอาการดีขึ้น

ทุกปี วัณโรคได้คร่าชีวิตคนมากกว่า 3,000,000 คนไปอย่างเงียบๆทั้งๆที่โรคนี้สามารถรักษาได้ สถานการณ์ตายของวัณโรคในเฮติสูงกว่าสหรัฐฯ 70 เท่า ไม่แปลกที่ชาวนิวยอร์คผู้ร่ำรวยคนหนึ่งเป็นไขมันอุดตันในเส้นเลือด มีโอกาสที่จะอยู่รอดมากกว่าชาวเฮติสุขภาพดีเยี่ยมคนหนึ่ง เพราะผู้ป่วยประเภทนี้แหล่ะ ที่เทคโนโลยีให้ความสนใจและใส่ใจมากที่สุด

ข้อถกเถียงทางการแพทย์ส่วนใหญ่มุ่งไปที่ข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับ จริยธรรมทางชีวภาพและทางคลินิก อย่างไรก็ตาม ไม่มีการพูดถึงคุณภาพการรักษาของคนจนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และเครื่องมืออันหลากหลายได้ และปัจจัยอื่นๆผลักดันให้ผู้คนต้องไปสู่ความป่วยไข้

ความอยุติธรรมเยี่ยงนี้ สามารถเห็นได้ในการแพร่กระจายของเอดส์ อเดลีน ติดเชื้อไวรัส เธอเป็นหนึ่งใน 95% ของผู้ติดเชื้อที่อยู่ในทวีปแอฟริกา เมื่อตอนที่เธอใกล้เสียชีวิตเธอเพิ่งได้รับยาต้านไวรัส 3 ตัว ซึ่งช่วยพยุงรักษาชีวิตเธอให้อยู่รอด เธอได้กล่าวในการสัมมนาโรคเอดส์นานาชาติครั้งที่ 13 ที่เมืองเดอเบิร์นในปี 1999 ว่า

"วิทยาศาสตร์สร้างยา ดังนั้นวิทยาศาสตร์จะต้องหาหนทางที่จะนำยาไปถึงมือของคนจน เพราะว่าพวกเราเป็นคนที่มีเชื้อเอดส์"

ในปี 2000 ชุมชนเอดส์ทั่วโรคได้นำเสนอรายงานที่ขมขื่นขึ้นมาหนึ่งชิ้น ระบุว่า เอชไอวีได้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของคนจนและคนชายขอบมากขึ้น ในขณะที่ บรรดาชาติมั่งคั่งกำลังจำกัดการเข้าถึงนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไปเน้นแค่นโยบายป้องกัน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ และละเลยคนที่ต้องการการรักษายา ตัวอย่างเช่น เงินจาก USAID จำนวนหลายล้านได้นำไปใช้ในการสนับสนุน Family Health International เพื่อใช้ในงานป้องกันเท่านั้น

ทฤษฎีความรู้ของโรคติดเชื้อบางทฤษฎีมักเน้นที่ เรื่องเฉพาะชาติพันธุ์ หรือ พื้นที่การเกิดโรค เช่น การเรียกโรคบางโรค ว่าโรคเขตร้อน (Tropical Disease ) ประวัติศาสตร์ของมาลาเรียเคยกระจายตัวอย่างกว้างขวางในซีกโลกเหนือ หลายพันคนตายระหว่างสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันนี้ โรคนี้ถูกกำจัดออกไปเพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาชนบท ขณะนี้มาลาเรียจึงถูกเรียนในสาขาวิชาโรคเขตร้อน ทั้งๆที่ มันไม่ใช่โรคเฉพาะเขตร้อน แต่ว่าคนมักไม่ค่อยได้ยินข้อสรุปถึงบทบาทของความยากจน ตัวนำในการแพร่กระจายซึ่งมียุงเป็นพาหะยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและถูกแพร่เชื้อโดยสภาพสังคมที่ยากจน ดังนั้น แทนที่จะไปเชื่อมโยงกับสภาพภูมิประเทศ ความเกี่ยวเนื่องของมาลาเรียน่าจะเกี่ยวข้องกับสังคมมากกว่า

หรือ ความพยายามจะชี้ว่า เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านทางสุขภาพ "Health Transition" นั่นคือ โรคหลอดเลือดหัวใจในซีกโลกเหนือ และโรคติดเชื้อในซีกโลกใต้ ประสบการณ์พิสูจน์ว่าเป็นสิ่งตรงกันข้าม เชื้อชาติหนึ่งเชื้อชาติใด ไม่ได้ทำให้คุณเป็นโรค แต่สถานะทางสังคมต่างหาก คำอธิบายที่เห็นชัดที่สุด คือ โรคติดต่อ ยังเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของคนแอฟริกัน-อเมริกันในสหรัฐฯ

การไม่สนใจปัจจัยทางสังคมทำให้มองไม่เห็นสาเหตุของโรคที่แท้จริง ซึ่งต้องพิจารณาถึงการกระจายและปัจจัยทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงในระดับระหว่างประเทศโดยเฉพาะการเปิดเสรีสินค้าเกษตร ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรในโบลิเวียและอาร์เจนติน่า มีความเกี่ยวพันอย่างไรกับ โรคไข้ Hemorrhagic fever หรือไม่ หรือการกีดกันทางเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในระดับสถาบันมีความเกี่ยวกันอย่างไรกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำในสหรัฐฯ ตัวอย่างบางประการต่อไปนี้จะอธิบายว่าทำไม

อีโบลา เกิดขึ้นอย่างไร ขอบเขตแค่ไหน

อีโบล่า เป็นไวรัสที่รู้จักกันดีว่ามีอยู่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว (แต่ไม่กระจาย) การแพร่กระจายของอีโบล่าเกิดขึ้นครั้งแรกในซาอีร์ เมื่อปี 1976 มันจู่โจมโรงพยาบาลทั้งคนไข้ หมอ พยาบาล แม่ชี ตายเรียบ ขณะที่คนอื่นนอกโรงพยาบาลรอด

สาเหตุนั้นชัดเจนคือ มันเกิดขึ้นในโรงพยาบาลในชุมชนที่ยากจน และพื้นที่ที่ไม่มีสถานพยาบาลมากพอ ด้วยคุณภาพที่ย่ำแย่ของการรักษาพยาบาล และการใช้เข็มที่ติดเชื้อ ขณะที่ย่านคนมีอันจะกิน และชุมชนคนต่างชาติ (สหรัฐฯ ยุโรป) ที่ได้รับการบริการสาธารณสุขชั้นเยี่ยมไม่มีปัญหานี้ นักระบาดวิทยารู้ดีว่า การเกิดขึ้นของโรคมักจะเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับบริบททางสังคม

วัณโรค เกิดขึ้นที่ไหน

ในหนังสือเรื่องวัณโรค How the battle was won and lost? ระบุว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้สิ่งที่ครั้งหนึ่งเรียกว่า โรคห่าขาว "White plague" สามารถถูกปราบลงได้ ในซีกโรคเหนือ ไม่มีคนคิดถึงวัณโรคกันแล้ว แต่สิ่งที่เรามักไม่ได้คิดถึง คือว่า อัตราการป่วยจากวัณโรคได้ลดลงเป็นอย่างมากก่อนที่จะมีการค้นพบยาปฎิชีวนะ streptomycin ในปี 1943 เสียอีก

มีการประเมินว่า มีผู้ติดเชื้อมากถึง 1.7 พันล้านคนทั้งที่เชื้อนั้นสามารถป้องกันและรักษาได้ สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ อัตราการติดเชื้อวัณโรคที่สูงในหมู่คนจนในอเมริกา ตัวเลขระดับประเทศผู้ติดเชื้อลงลงร้อยละ 4.2 แต่ในคนผิวดำ ตัวเลขการติดเชื้อสูงมากอยู่ที่ร้อยละ 6.8 และในชุมชนฮิสปานิคร้อยละ 12.9 ในทศวรรษ 1980 ในนครนิวยอร์คแห่งเดียว อัตราการเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 45 โดยร้อยละ 79 อยู่ในชุมชนคนผิวดำ และร้อยละ 115 ในกลุ่มฮิสปานิค โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุระหว่าง 25-44 ปี ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 152 ในชุมชนคนผิวดำ และร้อยละ 216 ในกลุ่มฮิสปานิค ในกลางทศวรรษ 1990 ในหมู่ของประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ อัตราการเพิ่มมากถึง 200 เท่า

แต่น่าแปลกที่ การควบคุมวัณโรคไม่ได้อยู่ในนโยบายเร่งด่วนของสหรัฐอเมริกา

เอชไอวี กำลังจะแพร่ไปที่ไหน

เอชไอวีเป็นโรคที่ได้รับการศึกษามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา แต่ในบรรดาสิ่งพิมพ์กระแสหลักเราพบความตระหนักถึงการการแพร่กระจายของการติดเชื้อไม่มากนัก มันได้พุ่งเป้าหมายไปที่คนชายขอบและแพร่กระจายผ่านพรมแดนและมีรูปแบบเฉพาะ (ซึ่งจะอธิบายในลำดับต่อๆไป) แต่กลางปีทศวรรษ 1980 เรายังได้ยินสโลแกน "เอดส์สำหรับทุกคน" ทั้งที่จริงมันส่งผลต่อคนจนมากที่สุด ปัจจัยร่วมหลักในที่นี้คือความไม่เท่าเทียมทางสังคม แต่ยุทธศาสตร์ยังคงเน้นที่การป้องกัน ขณะที่ราคายาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานมีราคาลดลงบ้าง แต่ราคายาต้านสูตรสำรองยังแพงหูฉี่เกินที่คนธรรมดาจะมีปัญญาเข้าถึง

 

 
 
 

รายงานชุด ‘Power & Health’

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net