Skip to main content
sharethis

กลุ่มคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ปฏิเสธเจรจากับอำเภอจะนะ ร้องจังหวัดสงขลามีมาตรการไม่ให้กลุ่มทุนข่มขู่ผู้คัดค้านและให้จ่ายค่าชดเชยการวางท่อโดยเจ้าของที่ไม่อนุญาต

วันนี้ 27 มกราคม 2552 ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา ปฏิเสธไม่ยอมประชุมปรึกษาหารือกับทางอำเภอจะนะ

 

ทั้งนี้ กลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียฯ  กล่าวว่าทางอำเภอจะนะ ได้ส่งหนังสือเชิญมายังตนเองได้ส่งหนังสือถึงนางเน๊าะ  หัดยุมสา  ซึ่งอาศัยอยู่บ้านป่างาม หมู่ที่ 3 ตำบลตลิ่งชัน เลขที่หนังสือสข.0317/ว.025 ลงวันที่ 26 มกราคม 2552  หนังสือดังกล่าวอ้างว่า ตามที่อำเภอจะนะ  ได้รับแจ้งจากจังหวัดสงขลาว่าได้มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการที่บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ดำเนินการวางแนวท่อส่งก๊าซจากโรงแยกก๊าซของบริษัททรานส์ไทย (ประเทศไทย) จำกัด (TTM) ไปยังโรงไฟฟ้าจะนะ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมและมีมติความเห็นร่วมทั้งมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแจ้งให้อำเภอจะนะทราบแล้วนั้น

 

ในการนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้ข้อยุติ จึงขอเชิญเข้าร่วมประชุมในวันอังคารที่ 27 มกราคม 2552 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมอำเภอจะนะ ชั้น 2 ลงชื่อพันจ่าโทอนันต์  บุญสำราญ ปลัดอำเภอจะนะ (จพง.ปค.7) รักษาการแทนนายอำเภอจะนะ ที่ทำการปกครองอำเภอจะนะฝ่ายอำนวยความเป็นธรรม

 

อย่างไรก็ตาม นางเน๊าะและกลุ่มคัดค้านปฏิเสธที่จะร่วมประชุม เพราะไม่เชื่อว่าทางอำเภอจะนะจะให้ความยุติธรรมกับตัวเองได้ เพราะที่ผ่านมาทางอำเภอได้ส่งเจ้าหน้าที่อส.ไปคุ้มกันคนงานบริษัทปตท.บุกรุกที่ดินและข่มขู่ตัวเอง และที่สำคัญช่วงเกิดเหตุการณ์นายประสิทธิ์ วิสุทธิ์จินดา นายอำเภอจะนะได้ลงพื้นที่เองแต่ไม่แก้ไขปัญหาใดๆและยังมีท่าทีโมโหและมีอคติกับชาวบ้านกลุ่มคัดค้านฯ      

 

ทางกลุ่มคัดค้านฯกล่าวว่า การที่ทางอำเภอจะนะ เชิญประชุมสืบเนื่องจากเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ทางบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ดำเนินการวางแนวท่อส่งก๊าซจากโรงแยกก๊าซของบริษัททรานส์ไทย(ประเทศไทย)จำกัด (TTM) ไปยังโรงไฟฟ้าจะนะ โดยใช้เครื่องมือเจาะลอดที่ดินของนางเน๊าะ  หัดยุมสา ทั้งที่เจ้าของที่ดินไม่ยินยอมและอนุญาตให้วางแนวท่อก๊าซผ่าน เพราะแนวท่อก๊าซดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน

 

แนวท่อก๊าซดังกล่าวยังพาดผ่านที่ดินใกล้มัสยิดซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลาม และยังมีการใช้เจ้าหน้าที่อส.อ.จะนะและคนงานของปตท.มาข่มขู่คุกคามกลุ่มคัดค้านฯ จึงได้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิ์ฯ เมื่อ21 มิถุนายน 2550 ว่า มีการละเมิดสิทธิชุมชนและมีการใช้ความรุนแรงในการดำเนินโครงการ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิ์พิจารณาเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูล จึงได้มอบหมายให้อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง และแร่ และสิ่งแวดล้อม ลงมาตรวจสอบ

 

จากการตรวจสอบมีความเห็นว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะอนุกรรมการในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2550 พบว่า มีการกระทำเข้าข่ายลักษณะข่มขู่ชาวบ้านที่คัดค้านจริง และมีการวางท่อส่งก๊าซใกล้ชิดมัสยิดจริง  และพบว่าที่ดินนางเน๊าะ หัดยุมสา ครอบครองอยู่มิได้มีสภาพเป็นลำห้วยสาธารณะแต่อย่างใด แต่เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เป็นสวน และจากการตรวจสอบเอกสารพบว่า กรณีโต้แย้งระหว่างผู้ครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1)เลขที่ 177 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านา อำเภอจะนะ  จังหวีดสงขลา เนื้อที่รวม 3 ไร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอจะนะ แจ้งต่อผู้อำนวยการท่อก๊าซธรรมชาติสงขลา ว่าเป็นลำห้วยสาธารณประโยชน์ แต่สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาจะนะ แจ้งว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 177 ดังกล่าวยังไม่มีการนำไปออกเอกสารสิทธิ์ใดๆ ดังนั้นเมื่อนางเน๊าะ  หัดยุมสา ได้ครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค1)เลขที่ 177 ต่อเนื่อจากนายสัน หัดยุมสา จนถึงปัจจุบันและมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซผ่านที่ดินแปลงกังกล่าวแล้ว ดังนั้นนางเน๊าะ หัดยุมสา สมควรได้รับการชดเชยค่าที่ดินจากบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)

 

และมีข้อเสนอต่อ จังหวัดสงขลา บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)และรัฐบาล ดังนี้

1.                   ให้จังหวัดสงขลามีมาตรการควบคุมดูแลมิให้มีการข่มขู่ผู้คัดค้าน เฉกเช่นกรณีโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ  ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาอีกต่อไป ทั้งนี้ให้เริ่มดำเนินการทันที นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงาน

2.                   ให้ บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)ชดเชยค่าที่ดินของนางเน๊าะ หัดยุมสา ที่ท่อส่งก๊าซผ่านที่ดินดังกล่าวตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1)เลขที่ 177 หมู่ที่6 ตำบลบ้านา อำเภอจะนะ  จังหวีดสงขลา ทั้งนี้ให้ชดเชยให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่รับรายงานฉบับนี้

3.                   ให้รัฐบาลวางมาตรการมิให้มีการข่มขู่คุกคามในแต่ละจังหวัดที่มีโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจที่มีการเผชิญหน้าระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและผู้คัดค้านทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รับรายงานฉบับนี้

 

ทางกลุ่มคัดค้านฯ กล่าวว่า หลังจากที่ผลการตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทางบริษัทปตท.ได้ส่งคนมาเจรจาให้นางเน๊าะ รับเงินชดเชยดังกล่าวหลายครั้งเพื่อเรื่องจะได้จบ  แต่ด้านนางเน๊าะกลับปฏิเสธไม่ยอมรับเงินดังกล่าวที่บริษัทปตท.เสนอให้ เพราะที่ผ่านมาทางบริษัทปตท.ทำผิดกฎหมายละเมิดสิทธิในการวางแนวท่อส่งก๊าซผ่านที่ที่ดินทั้งที่ตัวเองยังไม่อนุญาตหรือยินยอม ตัวเองและลูกหลานยังออกไปยืนขวางหัวเจาะแต่บริษัทยังดำเนินการแล้วจะมาจ่ายเงินชดเชยให้ทีหลัง

 

ทางกลุ่มคัดค้านกล่าวว่าบริษัททำผิดทั้งทางกฎหมายและหลักการศาสนาอิสลามเพราะที่ดินที่เจ้าของไม่ยกให้หากเอาไปถือว่าผิด ที่สำคัญเงินดังกล่าวถือเป็นเงินบาปเพราะเป็นเงินที่ได้มาจากการทำลายวิถีชีวิต สร้างความแตกแยกในชุมชนมุสลิมอย่างมาก  นางเนาะกล่าวว่าเงินแค่แสนที่ปตท.มาเสนอให้ตนสามารถหายอดลำเท็งในผืนดินดังกล่าวไปขายอาจได้เงินมากว่า  ตัวเองไม่ต้องการเงินแต่ต้องการให้ปตท.เอาท่อก๊าซออกไปจากที่ดินของตัวเอง

           

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net