Skip to main content
sharethis

ครม.สั่งตรากม.พิเศษรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสกัดยึดสนามบิน ให้อำนาจ "ทอท" จับคนบุกสนามบิน โทษฐานฝ่าฝืนปรับสูงสุด1หมื่นบาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ.... และมาตรการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามการเสนอของกระทรวงคมนาคม หลังจากเกิดเหตุการณ์บุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเสียหายอย่างรุนแรง โดยรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรียอมรับเหตุผลการผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กังวลถูกต่างชาติซักถามระหว่างการไปประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส และระหว่างการเยือนญี่ปุ่น

 

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า อนุมัติในหลักการร่าง  พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ.... และมาตรการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ โดยกระทรวงคมนาคมเสนอให้มีการตรากฎหมายพิเศษโดยเฉพาะเพื่อรักษาความปลอดภัย เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินการสำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและให้อำนาจพนักงานของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงาน ที่สามารถปฏิบัติการเกี่ยวกับความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท่าอากาศยาน คือมีอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา โดยมีการกำหนดมาตรการการรักษาความปลอดภัยได้หลายระดับ ระดับเร่งด่วน อาทิ การจัดตั้งมาตรการด่านตรวจตราต่างๆ ไปจนถึงมาตรการต่อเนื่องระยะยาวเพื่อตรวจสอบบุคคลที่จะเดินทางเข้ามาในท่าอากาศยานและวางแผนฝึกซ้อมในการรองรับสภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการตั้งศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่ง ครม.อนุมัติในหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบรัดกุมก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

นายปณิธานกล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นหนึ่งในมาตรการเรียกความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ เพราะเวลานายกฯไปไหนมีแต่คนถามเสมอว่ามาตรการการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานเป็นอย่างไร และการเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่นก็กังวลเรื่องนี้มาก เมื่อมีร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจึงจะสามารถ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปแล้ว นอกจากนั้น ยังมีการพูดถึงการรักษาความปลอดภัยในสนามบินในต่างจังหวัด สนามบินดอนเมือง รวมทั้งรถไฟ และท่าเรือด้วย ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ.... นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานในรายละเอียดว่า กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เสนอ โดยยกการปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ทำให้ภาคการขนส่งทางอากาศของประเทศต้องหยุดชะงัก ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศขาดทุน มีผู้โดยสารและสินค้ามากมายติดค้างอยู่ในประเทศทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศ มาเป็นหลักการและเหตุผลจำเป็นต้องหามาตรการหรือแนวทางรักษาความปลอดภัยป้องกันไม่ให้เหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก สาระสำคัญของร่างกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้และให้มีอำนาจในการออกกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าอากาศยาน การควบคุม การปรับปรุงและการให้ความสะดวกปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยแก่กิจการท่าอากาศยาน รวมทั้งออกประกาศเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานแก่กิจการท่าอากาศยาน และยังกำหนดให้ประธานกรรมการ และกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท เป็นเจ้าพนักงานและให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการควบคุมผู้กระทำผิดตามที่กฎหมายกำหนดในเขตท่าอากาศยานควบคุม และมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาและเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา

 

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือข้อบังคับของคณะกรรมการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยแก่กิจการท่าอากาศยาน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อใช้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดำเนินการปรับใช้กับท่าอากาศยานทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี 2 ระบบคือ

 

1. มาตรการเร่งด่วน จัดตั้งด่านเพื่อตรวจตราและป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องตามเส้นทางเข้าออก และ 2.มาตรการต่อเนื่องในระยะยาว จัดตั้งจุดตรวจสอบถาวรสำหรับตรวจสอบบุคคลที่จะเดินทางก่อเข้าสู่ท่าอากาศยาน การวางแผนฝึกซ้อมตามแผนรอบรับภาวะฉุกเฉินและจัดตั้งศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ ในร่างที่เสนอกับ ครม.ได้มีข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ....นั้นกำหนดให้ใช้เฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ครอบคลุมท่าอากาศยานกรุงเทพและท่าอากาศยานอื่นๆ จึงมีข้อเสนอให้เห็นควรบัญญัติให้เป็นกฎหมายกลางเพื่อกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานอื่นได้ด้วย 

 

ด้านนายวุฒิชัย สิงหมณี รองอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปมาตรการป้องกันเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ประกอบด้วย 1.ส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนที่จะเดินทางถึงท่าอากาศยาน 2.หากการชุมนุมมีแนวโน้มยืดเยื้อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต้องจัดเตรียมพื้นที่ภายในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการชุมนุม โดยต้องแยกจากอาคารผู้โดยสาร 3.จัดเตรียมเส้นทางสำรองไว้ให้ผู้โดยสารผ่านเข้าออก 4.เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจทางเข้าออกพื้นที่เขตการบิน และ 5.ต้องซ้อมแผนป้องกันเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานเป็นประจำทุกปี ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก ทอท.จะต้องประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เพื่อขอกำลังสนับสนุนดูแลฝูงชน ซึ่งขั้นตอนการประสานระหว่างหน่วยงานนี้ กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดว่าจะเสนอ ครม.ให้พิจารณากำหนดเป็นนโยบายแห่งชาติ โดยออกเป็นกฎหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม

 

นายวุฒิชัยกล่าวว่า ขอ.อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารชี้แจงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) กรณีเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2551 ให้รับทราบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหลักการปฏิบัติงานทั่วไปที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงให้ไอซีเอโอในฐานะหน่วยงานที่ดูแลด้านการบิน

 

 

ที่มา : มติชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net