"Breathless" โครงการศิลปะว่าด้วย "ลมหายใจ" ของเมืองเชียงใหม่

Breathless หรือ "ใจหาย" โครงการศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เห็นสภาพของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันแล้วรู้สึกใจหาย โดยมุ่งเน้นไปที่สภาพปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ Breathless ประกอบไปด้วยชิ้นงานย่อยๆ หลายชิ้น โดยงานศิลปะทั้งหมดนั้นถูกออกแบบให้มีความเชื่อมโยง ด้วยความคิดที่ว่าปัญหาดังกล่าวไม่สามารถมองแยกส่วนได้ เพราะต่างก็มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน

 

 

รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์ รายงาน

 

 

Quinton Mark Quayle เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและสปป.ลาว ร่วมเป็นเกียรติในงาน WE ARE STILL THE DESTROYER งานปิดตัวโครงการ Breathless

 

อัคนี มูลเมฆ นักเขียนและนักแปล ตัวแทนจากภาคีคนฮักเชียงใหม่ร่วมงาน WE ARE STILL THE DESTROYER

 

โจ้ วชิรา Artistic Director โครงการใจหาย มอบแผนที่ต้นไม้ใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ ในงาน WE ARE STILL THE DESTROYER

 

Breathless หรือ "ใจหาย" คือชื่อของโครงการศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เห็นสภาพของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันแล้วรู้สึกใจหาย โดยมุ่งเน้นไปที่สภาพปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ Breathless ประกอบไปด้วยชิ้นงานย่อยๆ หลายชิ้น โดยงานศิลปะทั้งหมดนั้นถูกออกแบบให้มีความเชื่อมโยง ด้วยความคิดที่ว่าปัญหาดังกล่าวไม่สามารถมองแยกส่วนได้ เพราะต่างก็มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน

โครงการนี้ดำเนินการโดยกลุ่ม Rabbit Hood ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 เพื่อผลิตและจัดการโครงการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินการจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และได้รับความร่วมมือจาก เทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ และ British Council ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความร่วมมือด้านโอกาสทางการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม รวมถึงได้รับการสนับสนุนทางด้านข้อมูลจากองค์กรภาคประชาชนอย่างกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ โดย Rabbit Hood ทำหน้าที่วางแนวคิดและออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่าเราทุกคนมีส่วนร่วมในการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าองค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ที่มีอยู่มากมาย แต่ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ โดยเริ่มจากการเปิดรับอาสาสมัครทางอีเมล์ ซึ่งมีอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมกิจกรรมจนจบโครงการทั้งหมด 20 คน

 

วันนี้ "ใจหาย" วันหน้า (อาจ) "ไม่หายใจ"

กิจกรรมแรกภายใต้โครงการ Breathless (หรือ ใจหาย) มีชื่อเรียกว่า "ศิลปะกระจก" ซึ่งเป็นการนำกระจกไปตั้งในจุดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมีอาสาสมัครโครงการบันทึกภาพที่สะท้อนอยู่บนกระจก เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภาพรถสี่ล้อแดงปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็จะขอความร่วมมือจากประชาชนให้ตอบแบบสอบถามว่ากิจกรรมในชีวิตประจำวันนั้นเป็นสาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่าเราอยู่บนโลกใบนี้ในฐานะผู้ทำลาย

แบบสอบถามชุดนี้มีชื่อว่า yes, I am ซึ่งเป็นการสำรวจพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยานพาหนะส่วนตัว การนอนที่ขาดเครื่องปรับอากาศไม่ได้ซึ่งทำให้ห้องเย็นขึ้นแต่โลกยิ่งร้อนขึ้น ความชอบกินอาหารจำพวกปิ้งย่างที่เป็นหนึ่งตัวการสำคัญของควันในอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย จากแบบสอบถามทั้งหมด 9,254 ชุด ในช่วงระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน ผลปรากฏว่าการใช้ถุงพลาสติกนั้นเป็นพฤติกรรมที่ได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลายที่สุด และมีผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายการทำลายเลยเพียง 19 คน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าพวกเรานี่แหละคือนักทำลายสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่ได้ศึกษาปัญหาหมอกควันและพบว่าต้นเหตุสำคัญคือการเผา ไม่ว่าจะเป็นการเผาขยะ เผากิ่งไม้ ใบไม้ เผาเศษวัสดุหลังการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร และเผาป่า ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการรณรงค์และออกมาตรการห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด แต่ทาง Rabbit Hood กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป ด้วยมองว่าการห้ามนั้นไม่น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะหลังจากที่มีมาตรการดังกล่าวก็ยังคงมีการเผาอยู่ จึงคิดว่าควรจะเป็นหน้าที่ของคนเชียงใหม่ที่จะต้องตัดสินใจว่าอะไรที่ควรจะเผาหรืออะไรที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นจึงเกิดกิจกรรม In Your Hand ซึ่งเป็นการผลิตกล่องไม้ขีดไฟที่มีข้อความแนะนำสิ่งที่ไม่ควรเผา จำนวน 10,000 กล่อง แจกจ่ายไปยังคนกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าอำนาจในการจุดไฟอยู่ในมือคุณ และคุณต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเผาหรือไม่

โปสเตอร์ WE ARE THE DESTROYER
(ที่มา: http://iamvajira.blogspot.com/)

ต่อมาจึงมีงาน "WE ARE THE DESTROYER" เมื่อ 19 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อสื่อว่าเราต่างก็ได้ทำร้ายและทำลายโลกใบนี้ด้วยกันทุกคน ด้วยแนวคิดที่ไม่แยกการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมออกจากวิถีชีวิตประจำวัน งานดังกล่าวจึงจัดขึ้นในลักษณะงานปาร์ตี้เช่นที่ได้เคยจัดมา แต่จะมีการคำนวณพลังงานทั้งหมดที่ใช้ภายในงาน โดยกลุ่มจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ส่วนช่างสุขาภิบาล สำนักการช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ จากนั้นทีมงานก็จะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขและแสดงออกมาเป็นภาพกราฟิกฉายขึ้นบนจอภายในงาน

จากผู้ร่วมงานทั้งหมด 200 คน พบว่ามีผู้เดินทางโดยรถยนต์ 114 คัน ระยะทางรวม 4,104.7 กิโลเมตร และเดินทางโดยจักรยานยนต์ 59 คัน ระยะทางรวม 1,031.1 กิโลเมตร ทั้งนี้หมดนี้ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (co2) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1,140.1476 กิโลกรัม โดยปริมาณดังกล่าวนั้นยังไม่นับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินอีก 3 คน ระยะทางรวม 2,400 กิโลเมตร ขณะที่ผู้ที่เดินทางด้วยวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างการเดินเท้า 11 คน และเดินทางโดย จักรยาน 4 คัน

ทั้งนี้ในงานปาร์ตี้มีการใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 9.6 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 5,145.6 กิโลกรัม และมีการใช้แก้วพลาสติก 400 ใบ ขวดน้ำพลาสติก 36 ขวด ขวดเบียร์ 360 ขวด และลังกระดาษน้ำหนักมวลรวม 3 กิโลกรัม ซึ่งในกระบวนการผลิตทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 0.0248 กิโลกรัม โดยต้นไม้ที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในงานนั้นจะต้องใช้ต้นไม้จำนวนถึง 512 ต้น

 

โปสเตอร์ A TRIP TO CHIANGDAO
(ที่มา: http://iamvajira.blogspot.com/)

งานชิ้นถัดมาเป็นการพาคนจากในเมืองไปศึกษาวิธีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อ A TRIP TO CHIANGDAO โดยไปพบกับชุมชนบ้านหัวทุ่ง อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ เมื่อ 17 มกราคม 2552 ที่ผ่านมาเพื่อเรียนรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนที่มีการออกข้อตกลงภายในหมู่บ้านให้มีการดูแลทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันจนข้อตกลงดังกล่าวได้กระจายจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้านจนกลายเป็นแนวปฏิบัติในวงกว้าง นอกจากนี้สมาชิกที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ก็ได้เรียนรู้ว่าชาวเขาไม่ใช่ผู้ร้ายในการเผาป่ากลับกันชาวเขานั้นเป็นกำลังสำคัญในการดับไฟป่ารวมถึงยังเป็นผู้ดูแลป่าในพื้นที่เป็นอย่างดี

 

โปสเตอร์ WE ARE STILL THE DESTROYER
(ที่มา: http://iamvajira.blogspot.com/)

 

BIG THREE MAP แผนที่ต้นไม้ใหญ่เมืองเชียงใหม่

จากการดำเนินการที่ผ่านมาทางโครงการพบว่าวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดที่จะช่วยบรรเทาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ได้ก็คือการอนุรักษ์ต้นไม้เดิมที่มีอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่  ทางโครงการจึงได้จัดทำแผนที่ต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นการรวบรวมพื้นที่ที่มีต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่และจัดทำขึ้นเป็นแผนที่

และในวันที่ 19 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ที่ The Ring ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 17 มีการจัดงาน "WE ARE STILL THE DESTROYER" อันเป็นวันปิดโครงการ Breathless มีการเสนอผลงานของโครงการใจหายทั้งหมดตลอดสามเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้นำเสนองานชิ้นสุดท้าย คือแผนที่ต้นไม้ใหญ่ในเชียงใหม่ และส่งมอบให้กับเทศบาลเพื่อขอให้ช่วยออกกฎกติกาสำหรับควบคุมการตัดต้นไม้ใหญ่ในเมือง และเสนอให้มีการจดทะเบียนต้นไม้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ และดูแลรักษาไว้ให้เป็นแหล่งดูดซึมมลพิษทางอากาศ รวมถึงเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ โดยได้มีการแจกจ่ายแผนที่ต้นไม้ใหญ่ให้กับผู้ที่มาร่วมงานทุกคน

อัคนี มูลเมฆ ตัวแทนจากกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องรีบแก้ไขก่อนที่จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก โดยสภาพหมอกควันนั้นถือเป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในพื้นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และส่งผลกระทบมายังประเทศพม่า ลาว กัมพูชา และประเทศไทย ซึ่งมีสภาพเดียวกับปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในประเทศอินโดนีเซียที่ส่งผลต่อประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์ว่าฤดูหนาวในครั้งนี้น่าจะยาวนานกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาหมอกควันในปีนี้มีความรุนแรงเทียบเท่ากับเมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ประสบปัญหาหมอกควันในหลายพื้นที่

ควินทัน มาร์ค เควลย์ (Quinton Mark Quayle) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงานโดยตั้งข้อสังเกตถึงคำว่า Breathless ที่หมายถึงการขาดลมหายใจหรือไม่สามารถหายใจได้ ซึ่งก็จะกลายเป็น Lifeless หรือไม่มีชีวิตก็คือตายนั่นเอง ฉะนั้น Breathless จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยส่วนตัวนั้นชอบแนวคิดของโครงการที่ว่าให้แต่ละคนทำในสิ่งที่ตนสามารถทำได้ ทุถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยทุกคนไม่ต้องหันมาทำสิ่งเดียวกันแต่ทำสิ่งที่แต่ละคนทำได้ เพราะทางออกไม่ได้มีทางเดียว เช่น ทุกคนคงไม่สามารถหันมาใช้จักรยานหรือเดินเท้าได้หมด แต่คนที่ยังต้องใช้ยานพาหนะส่วนตัวก็สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติกหรือลดการบริโภคอาหารจำพวกปิ้งย่างได้

"ในพื้นที่สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเองก็ได้มีนโยบายการจัดการทางสิ่งแวดล้อมให้มีพื้นที่สีเขียวภายในเขตสถานทูต ซึ่งในกรุงเทพมีพื้นที่ลักษณะอย่างนี้น้อยมาก ทางสถานทูตเองได้พยายามในการที่จะประหยัดพลังงานเป็นอย่างมากแต่ก็อาจยังไม่พอ โดยอาจจะต้องหาวิธีการอื่นๆ ในการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมอีก"

ทั้งนี้ เควลย์ กล่าวแสดงความเป็นห่วงเมืองเชียงใหม่ในเรื่องมลพิษที่เกิดขึ้นจากสภาพการจราจรที่ติดขัด โดยจากที่เคยมาอยู่อาศัยที่เมืองเชียงใหม่เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว พบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่มีการวางแผนรับมือที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีการจัดการเรื่องขนส่งมวลชนที่ดีพอ โดยเสนอว่าอาจจะต้องมีการกำหนดเขตพื้นที่เฉพาะที่ห้ามรถยนต์เข้า อย่างเช่น ถนนคนเดินที่มีการกำหนดให้เป็นพื้นที่สัญจรโดยการเดินเท้าในช่วงหัวค่ำทุกวันอาทิตย์ ซึ่งน่าจะต้องมีการขยายแนวคิดดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วชิรา รุธิกนก หรือ โจ้ วชิรา อดีตบรรณาธิการนิตยสาร a day ในฐานะ Artistic Director ซึ่งทำหน้าที่กำกับโครงการศิลปะในครั้งนี้ กล่าวว่าอยากให้โครงการ Breathless เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับตนและคนอื่นๆ นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าอยากให้มีการออกข้อบังคับห้ามตัดต้นไม้ถึงแม้ว่าจะเป็นต้นไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคลก็ตาม โดยอาจจะต้องมีการขออนุญาตตัดไม้จากทางเจ้าหน้าที่ส่วนราชการก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่

"ผมมาอยู่เชียงใหม่ประมาณ 2 ปี กว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นคนเชียงใหม่แล้วหรือเปล่า แต่ผมรักเมืองนี้และกะจะอยู่เมืองนี้ก็เลยอยากให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับผมและคนอื่นๆ ด้วย และโครงการดังกล่าวไม่ควรจบง่ายๆ จึงคิดจะประมวลผลข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้

ด้านเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ นายสมชาย กรรณกุลสุนทร ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงธรรมชาติของความเป็นเมืองที่มีลักษณะของการบริโภคทรัพยากรและขับถ่ายเป็นของเสีย ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดมลพิษตามมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยทางเทศบาลนครเมืองใหม่จะนำข้อมูลพฤติกรรมผู้อยู่อาศัยในเมืองที่จะได้รับจากโครงการ Breathless ไปช่วยในการวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษของเมืองเชียงใหม่ต่อไป

เมืองเชียงใหม่นั้นเคยถูกยกย่องว่าเป็น "เมืองในสวน" ด้วยเพราะมีพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองอย่างหนาแน่น ทว่าปัจจุบันเชียงใหม่กลับมีสภาพเป็น "เมืองในควัน" อย่างที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ การปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ทั้งจะต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายของเมืองเชียงใหม่จะมาถึงและหมดสิ้นไปด้วยความรู้เท่าถึงการณ์แต่ไม่เคยได้ลงมือทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท