ส.ส.มุสลิมใต้จี้รัฐแก้ปัญหาโรฮิงยาโยงค้ามนุษย์ถึงหาดใหญ่จรดสุไหงโก - ลก

นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการได้ส่งหนังสือเสนอให้รัฐบาลหามาตรการป้องกันและแก้ปัญหาชาวโรฮิงยา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศพม่าอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยเสนอ 4 ข้อ ต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

 

สำหรับข้อเสนอทั้ง 4 ข้อประกอบด้วย 1. ขอให้รัฐบาลไทยนำประเด็นการอพยพหลบนี้เข้าเมืองผิดกฎหมายของชาวโรฮิงยาสู่การปรึกษาหารือของประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน

 

2. ขอให้รัฐบาลเรียกร้องให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เข้าไปดูแลสังเกตการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงยาในประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเทศต้นทาง หรือให้ได้รับการคุ้มครองหรือได้รับความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการอพยพย้ายถิ่น

 

3. ขอให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับแนวทางป้องกันและผลักดันผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกรอบในทิศทางเดียวกัน

 

4. ขอให้รัฐบาลตรวจสอบเครือข่ายการลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศอย่างเข้มข้นและจริงจัง เนื่องจากพบว่าขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีอยู่จริง และมีส่วนสำคัญต่อการนำพาชาวโรฮิงยาเคลื่อนย้ายไปประเทศที่สาม ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย

 

นายเจะอามิง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดระนองของคณะกรรมาธิการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 หลังสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษนำเสนอข่าวว่า ชาวโรงฮิงญาอพยพถูกทหารไทยทำร้าย โดยพบข้อมูลน่าสนใจหลายอย่าง จากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงยาที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งชาวบ้านที่ให้การช่วยเหลือและดูแลชาวโรฮิงยา โดยชาวบ้านไม่เชื่อว่าทหารไทยทำร้ายชาวโรฮิงยา พร้อมยืนยันว่า ภาพที่ปรากฏในสื่อน่าจะเกิดขึ้นมา 1 ปีแล้ว

 

"เราพบว่าระหว่างชาวเลหรือชาวประมงด้วยกัน มีปฏิญญาร่วมกันว่าจะไม่ทำร้ายกัน และต้องให้การช่วยเหลือดูแลชาวเลที่ได้รับความเดือดร้อนในเบื้องต้นก่อน ซึ่งรวมถึงชาวโรฮิงยาที่อพยพมาทางเรือด้วย" นายเจะอามิง

 

นายเจะอามิง เปิดเผยด้วยว่า ระหว่างนั้นคณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบไปยังหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยว่า มีชาวมุสลิมโรฮิงยามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ไม่พบแม้แต่รายเดียว

 

"ชาวโรฮิงยา 68 คนที่ถูกจับกุมล่าสุด มีการเขียนหมายเลขโทรศัพท์ตามเสื้อผ้าและร่างกาย รวม 17 หมายเลข จากการตรวจสอบล่าสุด หมายเลขแรกเป็นของชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย หมายเลขที่ 2 และ 3 อาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งน่าเชื่อว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นคนที่อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์" นายเจะอามิง กล่าว

 

นายเจะอามิง กล่าวว่า จากการสอบถามทั้ง 68 คน ได้รับคำตอบว่า ทั้งหมดจะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย หรืออยู่ที่ประเทศใดก็ได้ที่ไม่มีการทารุณกรรม แต่หากไม่สามารถเดินทางไปประเทศเหล่านั้น พวกเขาก็ขอร้องอย่างเดียวว่าอย่าส่งกลับไปยังประเทศพม่าอีก

 

"ส่วนตัวในฐานะที่เป็นมุสลิมด้วย เห็นว่า ปัญหาของชาวโรฮิงยา ทางองค์กรที่ประชุมกลุ่มประเทศมุสลิม หรือ โอไอซี(OIC) ควรต้องเข้ามาดูแล ซึ่งผมเองในฐานะมุสลิมจะนำเรื่องนี้เสนอต่อโอไอซีให้มาช่วยเหลือชาวโรฮิงยาด้วย" นายเจะอามิง กล่าว

พ.ต.ต.นิติเวช มณีช่วง สารวัตรกลุ่มงานพิทักษ์เด็ก สตรีและการค้ามนุษย์ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่า กรณีชาวโรงฮิงยาอพยพเข้ามาในประเทศไทย ไม่น่าจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ถูกลอกเข้ามาทำงาน แต่เข้ามาเพราะความเดือดร้อน เป็นการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยทางผู้บังคับบัญชาได้กำชับให้ติดตามเรื่องนี้ตลอด แต่ที่ผ่านยังไม่มีคดีจับกุมชาวโรฮิงยาในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงในคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

 

สำหรับข้อมูลเชิงลึกจากการลงพื้นที่จังหวัดระนอง พบว่าข้อมูลบุคคลที่โยงใยไปถึงขบวนการนำพาชาวโรฮิงยา ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่จังหวัดระนอง เดินทางไปยังประเทศที่สาม โดยในจำนวนนี้พบว่ามีบุคคลที่อาศัยอยู่ในอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอำเภอสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้นำพาชาวโรฮิงยาเดินทางไปยังประเทศที่สามผ่านทางด่านชายแดนไทย - มาเลเซีย ขณะเดียวกับการตรวจสอบข้อมูลยังไม่ขั้นว่ามีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการจับกุมบุคคลเหน้านั้นมาสอบสวน

 

โดยบุคคลเหล่านั้นอาจหาประโยชน์จากการนำพาชาวโรฮิงยาเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามซึ่งเข้าข่ายขบวนการค้ามนุษย์หรืออาจให้ความช่วยเหลือด้วยมนุษยธรรม สามารถดังกล่าวโยงใยได้ดังนี้ ในจังหวัดระนอง มีชาวต่างชาติ ชื่อมานาฟ ชาลี และดินดาษ

 

จังหวัดพังงา ชื่อ อามินะ พำนักที่ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ชื่อชาลี และ ขอตา ชาวพม่า ที่อำเภอสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส ชื่อคุยลามียา และซาเกร ชาวพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท