"AI" ชี้ความร่วมมือระดับภูมิภาค ร่วม UNHCR จะนำไปสู่การแก้ปัญหา"โรฮิงญา" อย่างยั่งยืน

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลทำจดหมายเปิดผนึกถึงถึงรัฐบาลประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่าและไทย เกี่ยวกับกรณี "ชาวโรฮิงญา" ซึ่งเป็นชาวมุสลิมกลุ่มน้อยที่มาจากรัฐยะไข่ ภาคตะวันตกของประเทศพม่า จำนวนหลายพันคนได้หลบหนีออกนอกประเทศโดยทางเรือ เพื่อไปยังประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งเป็นเหตุให้มีคนสาบสูญหลายร้อยคน โดยคาดว่าน่าจะจมน้ำเสียชีวิต และช่วงสองเดือนที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าวกองทัพไทยได้บังคับส่งกลับชาวโรฮิงญาประมาณ 1,000 คนหลังจากได้โดยสารเรือขึ้นชายฝั่งด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในขณะที่ทางการอินเดียและอินโดนีเซียได้ช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนนี้ไว้ ทำให้เกิดความหวั่นเกรงถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่อยู่ในขั้นวิกฤต

 

ทั้งนี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล มีข้อเสนอแนะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าว โดย 1.ประเทศพม่า จะต้องยุติการข่มขู่คุกคามอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย โดยถือว่าเป็นรากเหง้าของวิกฤตครั้งนี้ 2.รัฐบาลทุกประเทศควรปฏิบัติตามพันธกิจที่มีต่อกฎหมายทางทะเล และให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยทางทะเล ทั้งในด้านการค้นหาติดตามและการช่วยชีวิต 3.รัฐบาลทุกประเทศควรอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาทุกคนที่อยู่ในดินแดนของตน สามารถเข้าถึงหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ 4.รัฐบาลทุกประเทศควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานภาพของผูลี้ภัย และพิธีสารปี 1967 รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของผู้ไร้รัฐ

           

"แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้ร่วมมือกันในการติดตามดูแลชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตเหล่านี้ ให้ช่วยส่งตัวบุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือจากภัยทางทะเลไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยโดยทันที และประกันว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงที่เป็นธรรมและเหมาะสม และเพื่อประเมินความต้องการในการคุ้มครองของพวกเขา" จดหมายระบุ

 

ในส่วนของประเทศไทย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลได้แสดงความยินดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงเจตจำนงที่จะจัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยปัญหาของชาวโรฮิงญา โดยทางออกที่เสนอในระดับภูมิภาคต้องเป็นหลักประกันว่า ชาวโรฮิงญาซึ่งถูกคุกคามในประเทศพม่าจะต้องไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน และผู้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองก็จะต้องถูกส่งกลับอย่างมีมนุษยธรรม และรัฐบาลไทยจะต้องยุติการผลักดันส่งกลับชาวโรฮิงญา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยทันที รวมทั้งยุติแผนการใดๆ ที่จะขับไล่บุคคลเหล่านี้ออกจากประเทศ

 

"ความร่วมมือระดับภูมิภาคทั้งของประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่าและไทย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา" จดหมายระบุ

 

 

 

 

จดหมายเปิดผนึก

ถึงรัฐบาลประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่าและไทย

 

เรียน ฯพณฯ

 

เราขอแสดงข้อกังวลอย่างจริงจังต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ชาวมุสลิมกลุ่มน้อยที่มาจากรัฐยะไข่ ภาคตะวันตกของประเทศพม่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาหลายพันคนได้หลบหนีออกนอกประเทศโดยทางเรือ เพื่อไปยังประเทศไทยและมาเลเซีย หลายร้อยคนสาบสูญ ซึ่งคาดว่าน่าจะจมน้ำเสียชีวิต สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤตโดยเฉพาะในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากกองทัพไทยได้บังคับส่งกลับชาวโรฮิงญาประมาณ 1,000 คนหลังจากโดยสารเรือขึ้นชายฝั่งด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในขณะที่ทางการอินเดียและอินโดนีเซียได้ช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนนี้ไว้

 

เพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าวแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล มีข้อเสนอแนะเร่งด่วนดังต่อไปนี้สำหรับรัฐบาลของประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่าและไทย

 

ประเทศพม่า จะต้องยุติการข่มขู่คุกคามอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย สิ่งนี้เป็นสาเหตุที่รากเหง้าของวิกฤตครั้งนี้

 

รัฐบาลทุกประเทศควรปฏิบัติตามพันธกิจที่มีต่อกฎหมายทางทะเล และให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยทางทะเล ทั้งในด้านการค้นหาติดตามและการช่วยชีวิต

 

รัฐบาลทุกประเทศควรอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาทุกคนที่อยู่ในดินแดนของตน สามารถเข้าถึงหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ-UNHCR)

 

รัฐบาลทุกประเทศควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานภาพของผูลี้ภัย (UN Convention relating to the Status of Refugees) และพิธีสารปี 1967 และอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของผู้ไร้รัฐ (UN Convention relating to the Status of Stateless Persons)

           

ในขณะที่ชีวิตของบุคคลเหล่านี้อยู่ใต้ความเสี่ยง แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้ตระหนักถึงพันธกิจของตนที่มีต่อกฎหมายทางทะเล ซึ่งมีผลบังคับใช้ในกรณีที่พบหรือจับกุมผู้พลัดถิ่นที่เดินทางอยู่กลางทะเล อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล (UN International Convention on Maritime Search and Rescue-SAR) และทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea-UNCLOS) กับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (International Convention for the Safety of Life at Sea-SOLAS) ซึ่งประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่าและไทยเป็นรัฐภาคี กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล พันธกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตามนอกเหนือจากพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea-UNCLOS) กำหนดให้รัฐภาคีจัดหาเรือที่ติดธงของประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือกับบุคคลใดก็ตามที่พบว่าประสบภัย หลงทาง และช่วยเหลือบุคคลนั้นระหว่างอยู่กลางทะเล โดยมีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างไม่เลือกปฏิบัติในแง่ของสัญชาติ สถานภาพ หรือพฤติการณ์ของบุคคล นอกจากนั้น รัฐชายฝั่งต่าง ๆ มีหน้าที่จัดหาและดูแลให้มีการค้นหาและช่วยชีวิตตามจุดมุ่งหมายดังกล่าว ทั้งนี้โดยผ่านความตกลงความร่วมมือในภูมิภาค

 

การประกันความปลอดภัยและศักดิ์ศรีของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือและลูกเรือ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการพิจารณาวางแผนว่าจะส่งตัวผู้ที่ถูกช่วยเหลือไปไว้ที่ใด ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐซึ่งรับผิดชอบต่อการค้นหาและช่วยเหลือชีวิตในบริเวณที่มีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้ได้ มีหน้าที่ต้องจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา หรือประกันว่ามีการจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา อย่างไรก็ตาม รัฐแต่ละแห่งต้องประกันว่าจะไม่มีการส่งกลับหรือส่งตัวบุคคลเหล่านั้นไปยังสถานที่ที่เสี่ยงจะถูกละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในกรณีที่พวกเขากำลังค้นหาหรือต้องการความคุ้มครองจากนานาประเทศ รัฐซึ่งให้ความช่วยเหลือจะต้องส่งตัวบุคคลดังกล่าวไปยังดินแดน ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงที่เป็นธรรมและเหมาะสม ทั้งนี้โดยมีการประกันมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่

 

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้ร่วมมือกันในการติดตามดูแลชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตเหล่านี้ ให้ช่วยส่งตัวบุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือจากภัยทางทะเลไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยโดยทันที และประกันว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงที่เป็นธรรมและเหมาะสม และเพื่อประเมินความต้องการในการคุ้มครองของพวกเขา

 

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอแสดงความยินดีที่ ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงถึงเจตจำนงที่จะจัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยปัญหาของชาวโรฮิงญา การหลั่งไหลของชาวโรฮิงญาออกจากประเทศพม่าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นปัญหาท้าทายอันยิ่งใหญ่และต้องได้รับการแก้ไขด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเท่านั้น ทางออกที่เสนอในระดับภูมิภาคต้องเป็นไปเพื่อประกันว่า ชาวโรฮิงญาซึ่งมีความหวาดกลัวจากภัยคุกคามในประเทศพม่า ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน จะต้องไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน และผู้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองก็จะต้องถูกส่งกลับอย่างมีมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยจะต้องยุติการผลักดันส่งกลับชาวโรฮิงญา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยทันที รวมทั้งยุติแผนการใด ๆ ที่จะขับไล่บุคคลเหล่านี้ออกจากประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวที่เชื่อถือได้ ชาวโรฮิงญาหลาร้อยคนได้สาบสูญหรือเสียชีวิต ภายหลังจากกองทัพไทยได้ผลักดันให้พวกเขาออกสู่ทะเลโดยต้องอยู่บนเรือที่ไม่มั่นคงพร้อมกับน้ำและเสบียงอาหารแค่เพียงเล็กน้อย ชาวโรฮิงญาบางส่วนรายงานว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยทุบตี ในขณะที่รัฐบาลไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง วันที่ 29 มกราคม รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่าอยู่ระหว่างตัดสินใจในการดำเนินการกับชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศกว่า 200 คน ซึ่งได้มาขึ้นฝั่งที่เกาะเว้ จังหวัดอาเจะห์เมื่อวันที่ 7 มกราคม ในขณะที่กองทัพเรืออินเดียสามารถช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนระหว่างอยู่บนเกาะหรืออยู่ใกล้กับเกาะในมหาสมุทรอันดามัน

 

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลยินดีที่ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 27 มกราคมว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ให้เข้าร่วมในการประชุมระดับภูมิภาคที่เขาเสนอให้จัดขึ้น การตัดสินใจเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากจนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่อนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้าถึงชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวไว้ทุกคน เป็นเหตุให้ไม่สามารถประเมินความต้องการในการคุ้มครองได้ สำคัญสุด ทางสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ขอที่จะเข้าเยี่ยมกลุ่มชาวโรฮิงญา 126 คน ซึ่งตามรายงานข่าวได้ถูกควบคุมตัวไว้โดยทางการไทย แต่ตามรายงานในเวลาต่อมา เป็นไปได้ว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ถูกทหารไทยผลักดันออกไปทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ไม่ส่งกลับบุคคลเหล่านี้และอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติสามารถเข้าถึงชาวโรฮิงญาซึ่งอยู่ในประเทศของตนโดยทันที ทั้งนี้เพื่อประเมินความต้องการในการคุ้มครอง และเพื่อประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศที่ถูกส่งกลับไป

 

ความร่วมมือระดับภูมิภาคทั้งของประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่าและไทย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนได้หลบหนีจากภัยคุกคามอย่างเป็นระบบและเข้าไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ โดยส่วนใหญ่ไปอยู่ในประเทศบังคลาเทศ นอกจากนั้น ภายในประเทศพม่าเอง ชาวโรฮิงญาก็ต้องประสบเคราะห์กรรมจากนโยบายที่เลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงและมีเป้าหมายที่พวกเขา บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับสัญชาติและในทางปฏิบัติถือเป็นผู้ไร้รัฐ ชาวโรฮิงญาที่ถูกส่งกลับไปประเทศพม่า ยังตกอยู่ใต้ความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงาน การผลักดันให้ออกจากพื้นที่ การเวนคืนที่ดิน และการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางอย่างเข้มงวด การละเมิดสิทธิเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงด้านอาหารของพวกเขา รัฐบาลประเทศพม่าจะต้องยุติการละเมิดสิทธิเหล่านี้โดยทันที และให้เปลี่ยนแปลงนโยบายเลือกปฏิบัติที่มุ่งปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวโรฮิงญา ตราบใดที่สาเหตุที่รากเหง้ายังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลประเทศพม่า ชาวโรฮิงญาก็ยังคงต้องหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่อไป

 

จนกว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าจะดีขึ้น ชาวโรฮิงญาและกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่เผชิญกับภัยคุกคามในประเทศจะยังคงหลบหนีจากภูมิลำเนาของตน และแสวงหาที่พักพิงอันปลอดภัยที่อื่น ภายใต้บริบทดังกล่าว แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่าและไทย ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานภาพของผูลี้ภัย (UN Convention relating to the Status of Refugees) และพิธีสารปี 1967 และอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของผู้ไร้รัฐ (UN Convention relating to the Status of Stateless Persons) การให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาเหลานี้จะถือเป็นกรอบกฎหมายที่เหมาะสม และนำไปสู่การแก้ปัญหาระดับภูมิภาคที่สอดคล้องและเป็นเอกภาพ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามต่อไป

 

เราขอขอบคุณที่ท่านให้ความใส่ใจอย่างเหมาะสมต่อประเด็นที่เร่งด่วนเช่นนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

Sam Zarifi

ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท