Skip to main content
sharethis

องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIO ซึ่งเป็นกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า จัดงานฉลองครบรอบ 48 ปี การตั้งกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นหรือ KIA ที่เมืองหล่ายจ่า ชายแดนจีน-พม่า ทางตะวันออกของรัฐคะฉิ่น มีผู้ร่วมงานนับหมื่น ด้านสหภาพนักศึกษาคะฉิ่นและองค์กรแห่งชาติคะฉิ่น KNO ชี้ KIO ยังไม่ทำให้ชาวคะฉิ่นได้อิสรภาพอย่างแท้จริง

 

 

 

 

การสวนสนามของทหาร KIA ในวันฉลองครบรอบ 48 ปี กองทัพอิสรภาพคะฉิ่นที่เมืองหล่ายจ่า ฐานที่มั่นใหญ่ของ KIA ชายแดนจีน-พม่า (ที่มาของภาพ http://www.kachinnet.com/)

 

 

นาย Salang Kaba Lanyaw Zawng Hra ประธานองค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) กล่าวสุนทรพจน์

(ที่มาของภาพ http://www.kachinnet.com/)

 

 

ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 5 ก.พ. องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น หรือ KIO (KIO - Kachin Independence Organization) จัดงานฉลองครบรอบ 48 ปี การตั้งกองทัพอิสรภาพคะฉิ่นหรือ KIA (KIA - Kachin Independence Army) หรือวันปฏิวัติคะฉิ่นที่เมืองหล่ายจ่า (Laiza) ชายแดนจีน-พม่า ทางตะวันออกของรัฐคะฉิ่น โดย KIA เคยเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่ามาอย่างยาวนาน และไม่กี่ปีมานี้ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า

 

ผู้คนนับหมื่นร่วมงานวันชาติคะฉิ่นครอบรอบ 48 ปี

สำนักข่าวคะฉิ่น (KNG) รายงานว่า นอกจากชาวคะฉิ่นจะเข้าร่วมงานแล้ว องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) ยังเชิญแขกที่ไม่ใช่ชาวคะฉิ่นร่วมงานที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 5 ก.พ. กว่า 2,000 คน ประกอบไปด้วยชาวฉานแดง (Red Shan) ที่อยู่อำเภอ Mohnyin ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทางรถไฟสายมัณฑะเลย์-มิตจีนา ชาวพม่า, พระสงฆ์ไทใหญ่, ชาวนากา จากเขตสะกาย (Sagaing Division) และชาวกุรข่า

องค์กรอิสรภาพคะฉิ่นยังเชิญรัฐบาลทหารพม่า และพันธมิตรกลุ่มหยุดยิงทั้ง กองทัพสหรัฐว้า (USWA - United Wa State Army) กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) และ พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP - New Mon State Party)

เมื่อแขกที่ได้รับเชิญมาถึงในงาน  องค์กรอิสรภาพคะฉิ่นผู้จัดงาน จะจุดประทัด ตลอดจนการปล่อยโคมลอยเป็นการต้อนรับ โดยค่าใช้จ่ายในการมาร่วมงานฉลองวันกองทัพของคะฉิ่นครบรอบ 48 ปี ทั้งค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางองค์กรอิสรภาพคะฉิ่นเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ของ KIO ระบุว่า KIO ใช้งบประมาณระหว่าง 3 - 10 ล้านหยวนสำหรับการจัดงานฉลองวันชาติครั้งนี้

โดยในวันที่ 5 ก.พ. มีการเดินสวนสนามของทหาร 1,300 นายของกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) เพื่อทำความเคาระต่อประธานองค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) Salang Kaba Lanyaw Zaw Hra ซึ่งจะเป็นผู้อ่านแถลงการณ์เนื่องในวันปฏิวัติคะฉิ่น

ในช่วงฉลองวันชาตินี้เอง ระหว่างวันที่ 4-5 ก.พ. ชาวคะฉิ่นก็ฉลอง "เต้นมะเนา" รอบเสามะเนา เพื่อเป็นการสรรเสริญสุริยเทพ "Madai Nat" ด้วย โดยมีผู้ร่วมงานทั้งชาวคะฉิ่นและแขกต่างเมืองนับหมื่นคน โดยเจ้าหน้าที่ KIO เผยว่ามีแขกต่างเมืองลงทะเบียนร่วมงาน 7,000 คน "โรงแรม เกสต์เฮาส์ โรงเรียน พื้นที่โล่ง เต็มไปด้วยแขก เราต้องจัดที่พักให้แขกในบ้านของชาวบ้านในหล่ายจ่า ล่ายจ่ามีแขกมาร่วมงานเยอะมาก"

ประธานองค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) นาย Salang Kaba Lanyaw Zawng Hra กล่าวสุนทรพจน์กับประชาชนระหว่างเทศกาล "เต้นมะเนา" ที่เมืองหล่ายจ่า ฐานที่มั่น KIO ชายแดนจีน-พม่า ว่าประชาชนในรัฐคะฉิ่นต้องสนับสนุนพรรคการเมืองของคะฉิ่น ที่ตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการรัฐคะฉิ่นเฉพาะกาล ซึ่งจะเตรียมไว้สำหรับการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2553 ที่จะถึงนี้ พรรคของคะฉิ่นจะนำมาประชาธิปไตยมาให้กับประชาชนในรัฐคะฉิ่น ประธานองค์กรอิสรภาพคะฉิ่นกล่าว

ประธาน KIO ย้ำกับผู้ฟังสุนทรพจน์ว่า องค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) จะไม่เข้าร่วมในองค์กรทางการเมืองใดๆ ที่แยกตัวออกจาก KIO และย้ำว่าจะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของชาติให้เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่น โดยแถลงการณ์ขนาด 3 หน้าของประธาน KIO ถูกตีพิมพ์ในเว็บไซต์ขององค์กรด้วย นอกจากนี้ประธาน KIO ยังระบุว่าได้สร้างถนน โรงพยาบาล และโรงเรียนให้กับประชาชนในรัฐคะฉิ่นด้วย

 

ฝ่ายค้านคะฉิ่นออกแถลงการณ์โจมตี KIO ยังไม่ทำให้คะฉิ่นได้รับอิสรภาพ

ในขณะที่สหภาพนักศึกษาและเยาวชนคะฉิ่นทั้งมวล (AKSYU - All Kachin Students and Youth Union) ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันปฏิวัติคะฉิ่นด้วยครบรอบ 48 ปีด้วย โดยให้กำลังใจประชาชนชาวคะฉิ่นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่เสียไป และยังเรียกร้องให้ประชาชนคะฉิ่นต่อต้านการเลือกตั้งในปี 2553 ที่รัฐบาลทหารพม่าจะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งด้วย

ส่วนสภานักศึกษาและเยาวชนแห่งพม่า (SYCB - Students and Youth Congress of Burma) เผยแพร่แถลงการณ์เนื่องในวันครอบรอบปฏิวัติคะฉิ่น 48 ปี เช่นเดียวกัน โดยระบุว่าแผนบันได 7 ขั้นของรัฐบาลทหารพม่าไม่อาจเป็นหลักประกันต่อหลักสหภาพที่แท้จริงและหลักสิทธิเสมอภาคของพลเมืองในประเทศ SYCB ยังระบุด้วยว่าจะต้องสู้เคียงข้างชาวคะฉิ่นเพื่อสิทธิเหล่านี้

ส่วนองค์กรแห่งชาติคะฉิ่น หรือ KNO (Kachin National Organization) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของชาวคะฉิ่นซึ่งลี้ภัยอยู่นอกพม่า ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันครบรอบปีที่ 48 แห่งการปฏิวัติคะฉิ่นเช่นกัน โดยกล่าวโจมตี KIO ซึ่งหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าว่า 48 ปีแห่งการปฏิวัติคะฉิ่น ประชาชนคะฉิ่นยังไม่ได้รับเสรีภาพ แต่ยิ่งสูญเสียพื้นที่ยึดครองในรัฐคะฉิ่น

แถลงการณ์ยังประณามผู้นำคะฉิ่นบางคน ที่สนใจแต่ประโยชน์ส่วนตัว ล้มเหลวในการเจรจาเพื่อเป้าหมายของชาวคะฉิ่น แต่กลับเจรจากับศัตรูเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคล ส่วนการหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ทำให้เกิดสันติภาพ แต่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อ HIV และโรคระบาดอื่นๆ ในหมู่ประชาชน ชาวคะฉิ่นจึงพ่ายแพ้ในสงครามเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และกำลังถูกปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติในรัฐ โดยตอนท้ายของแถลงการณ์ KNO ยังเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันขจัดศัตรูออกจากแผ่นดินรัฐคะฉิ่นด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 10 ม.ค. อันเป็นช่วงที่ชาวคะฉิ่นได้จัดเทศกาลเต้นมะเนาในโอกาสที่ครอบวันชาติคะฉิ่น ครบรอบปีที่ 61 ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ของชาวคะฉิ่นด้วย นักศึกษาภายใต้การนำของกลุ่มสหภาพนักศึกษาคะฉิ่น (AKSU) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาใต้ดินและมีสำนักงานอยู่ในรัฐคะฉิ่นนักศึกษาคะฉิ่นเปิดเผยว่า ได้แจกจ่ายใบปลิวกว่า 600 แผ่น เพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า โดยจำนวน 300 แผ่น แจกให้กับผู้ที่มาเฉลิมฉลองวันชาติคะฉิ่นครบรอบปีที่ 61 ในเมืองมิตจีนา เมืองหลวงรัฐคะฉิ่น ส่วนใบปลิวจำนวนที่เหลือได้มีการแจกจ่ายตามเมืองใหญ่ๆ อย่างเมืองไวหม่อง เมืองโมเง็นและเมืองดาไหน่ รวมถึงตามสถานที่ราชการและสถานที่สำคัญต่างๆ

เนื้อหาในใบปลิวดังกล่าวมีข้อความต่อต้านการเลือกตั้งในปี 2553 ที่จะถึงนี้ พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงการยุติสร้างเขื่อนในเขตมิตโส่น และเรียกร้องให้รัฐบาลลงจากอำนาจนำประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่นกัน

 

48 ปีของการปฏิวัติคะฉิ่น การปฏิวัติที่ไม่ถึงที่หมาย

คะฉิ่น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งอยู่ในสหภาพพม่า มีประวัติเรียกร้องอิสรภาพจากรัฐบาลพม่ามาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ เมื่อ 48 ปีก่อน คือวันที่ 5 ก.พ. ปี 2494 ถือเป็นวันก่อตั้งกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) โดยสามพี่น้อง Zau Seng, Zau Tu และ Zau Dan โดยหลังการประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติพม่าของนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า อู นุ (U Nu) ไม่นาน Zau Tu และเยาวชนคะฉิ่นอีก 8 คน เข้าโจมตีคลังรัฐบาลพม่าในเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานตอนเหนือ ได้เงินจากคลังมา 90,000 จ๊าต เงินจำนวนนี้ถูกนำมาใช้บำรุงการทหารคะฉิ่นที่ปฏิบัติการทั้งในรัฐฉานภาคเหนือและในรัฐคะฉิ่น

โดยกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าในรัฐคะฉิ่นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 และต่อมาใน พ.ศ. 2537 ได้ทำสัญญาหยุดยิง

ทั้งนี้ระหว่าง พ.ศ. 2512 ถึง 2533 ฝ่ายกู้เอกราชคะฉิ่นแตกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งนำโดย กองทัพคะฉิ่นประชาธิปไตยใหม่ (NDA-K - New Democratic Army-Kachin) มีผู้นำคือ Zahkung Tingying อีกกลุ่มคือ กองทัพปกป้องคะฉิ่น (KDA - Kachin Defense Army) มีผู้นำคือ Mahtu Naw

พ.อ.James Lun Dau ของกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) กล่าวว่า สมาชิกกองพันบางคนอย่าง ผบ. Zahkung Tingying แห่งกองพัน 101 ของ KIA แสวงหาความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (CPB)

สมาชิกขององค์กรอิสรภาพคะฉิ่น เป็นชาวคะฉิ่นหลายเผ่าทั้ง จิงป่อ (Jinghpaw) ระวาง (Rawang) ลีซอ (Lisu) ไซวา (Zaiwa) ลองวอ (Lawngwaw) และ ลาชิด (Lachyit) แต่ผู้สันทัดกรณีระบุว่าเผ่าจิงป่อเท่านั้นที่มีอำนาจแท้จริงในองค์กรกู้ชาติแห่งนี้

"การแตกแยกในปี 2512 ไม่ใช่ปัญหาด้านเชื้อชาติ" พ.อ. James กล่าว "มันเป็นปัญหาเรื่องการเมือง หลังจากนั้นพวกเขาต้องการเข้าไปหลบภัยอยู่ภายใต้ร่มธงของกองทัพแห่งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า"

ฐานทัพของ กองทัพคะฉิ่นประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDA-K ไปตั้งฐานอยู่ที่ Pang Wa ก่อตั้งโดยอดีตผู้บัญชาการ KIA คือ Zahkung Tingying และ Layawk Zelum โดย NDA-K เป็นกลุ่มคะฉิ่นกลุ่มแรกที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าในปี พ.ศ.2532 ภายหลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าได้ไม่นาน

กลุ่มกองทัพปกป้องคะฉิ่นหรือ KDA ตั้งขึ้นในปี 2533 โดย Mahtu Naw แห่งกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น KIA กองพลน้อยที่ 4 มีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐฉานตอนเหนือ หลังจากแยกตัวออกมาจากกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) กลุ่ม KDA ได้ทำสัญญาหยุดยิงและแปรพักตร์เข้ากับรัฐบาลทหารพม่าที่ย่างกุ้งในปีนั้นเอง

14 ปี หลังจากที่กองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) เป็นกบฏต่อต้านรัฐบาลย่างกุ้ง ในปี 2518 ผู้นำระดับสูงขององค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) Zau Seng Zau Tu และ Pung Shwe Zau Seng ถูกลอบสังหารบริเวณชายแดนไทย-พม่า ผู้นำที่เหลือคือ Brang Seng เข้าเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าในปี 2537 ได้ขึ้นเป็นประธาน KIO และแต่งตั้ง Zaung Hkra เป็นเลขาธิการ KIO

ก่อนหน้านี้ KIO เข้าเจรจากับรัฐบาลของ พล.อ.เนวิน (Ne Win) ใน พ.ศ. 2506 และ 2523 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 KIO ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า หรือ SLORC (State Law and Order Restoration Council หรือ สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) ในขณะนั้น

Zau Mai ประธาน KIO ได้ออกจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2544 หลังการรัฐประหารที่เมือง Laiza ฐานที่มั่นสำคัญของ KIO หลังจากนั้นมา Lamung Tu Jai ได้ขึ้นเป็นผู้นำ KIO

ผู้นำคะฉิ่นถูกกล่าวหาบ่อยครั้งว่าปฏิบัติต่อประชาชนชาวคะฉิ่นไม่ต่างจากรัฐบาลทหารพม่า

Aung Wah ประธานกลุ่มเครือข่ายคะฉิ่นเพื่อการพัฒนา (Kachin Development Network Group) กล่าวว่า "KIO ไม่ได้ทำให้เกิดสิทธิปกครองตนเองหรืออิสรภาพใดๆ แก่รัฐคะฉิ่น นั่นทำให้ความหวังของประชาชนคะฉิ่นถูกทอดทิ้ง"

ข้อมูลจากกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐคะฉิ่นยังกล่าวหาว่า KIO มีการเก็บภาษีข้ามแดนไปยังประเทศจีน และมีส่วนในการดำเนินธุรกิจหลายอย่างทั้งการให้นักลงทุนจากจีนและในรัฐคะฉิ่นสัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ และธุรกิจกาสิโนภายในรัฐคะฉิ่น

"ถ้าพวกเขายังดำเนินการเช่นนี้ พวกเราจะไม่มีทางได้ในสิ่งที่พวกเราต้องการ" Naw La แห่งสหภาพนักศึกษาและเยาวชนคะฉิ่นทั้งมวล (AKSYU) กล่าว

 

 

ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก

Students distribute 600 anti-junta posters on Kachin State Day, KNG, 10 Jan 2009. http://www.kachinnews.com/index.php?option=com_content&view=article&id=695 

Over 2,000 guests in Laiza for Kachin Revolution Day, KNG, 3 Feb 2009.

http://www.kachinnews.com/index.php?option=com_content&view=article&id=715  

Thousands join 'Triumph Manau dance festival' on Kachin Revolution Day eve, KNG, 4 Feb 2009. http://www.kachinnews.com/index.php?option=com_content&view=article&id=716

KIO chairman woos electorate in 'Revolution Day' speech, KNG, 5 Feb 2009.

http://www.kachinnews.com/index.php?option=com_content&view=article&id=718

Kachin Independence Army Celebrates Anniversary, By MIN LWIN, Irrawaddy, 4 Feb 2009. http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=15059

KNO Statement On 48th Anniversary of Kachin Revolution Day, KNO, 4 Feb 2009. http://www.kachinland.org/index.php?option=com_content&view=article&id=252

WUNPAWNG AMYU SHA NI A RAWT MALAN (48) NING HPRING (49) LANG MASAT NINGHTOI, Kachinnet.com, 5 Feb 2009. http://www.kachinnet.com/NEWS/News%202009.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net