สกอ. ยันระบบสมัครเอเน็ตไม่บกพร่อง รองอธิการบดีศิลปากรถามหาความเมตตาต่อเด็ก

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ประธานกมธ.ศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เป็นประธานการประชุมร่วมกับกมธ. 2 ชุด ประกอบด้วยกมธ.ยุติธรรมและการตำรวจ และกมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีการตัดสิทธิการสอบเอเน็ตนักเรียนที่ชำระเงินล่าช้า โดยทางกมธ.ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) มาชี้แจงแต่ปรากฏว่าไม่มีตัวแทนจากภาครัฐมาร่วมเลยแม้แต่คนเดียว มีเพียงผู้ปกครองและนักเรียนที่ประสบปัญหาเท่านั้น

นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ที่เข้ามาช่วยเหลือเด็กก็เพราะทนดูเด็กถูกรังแกไม่ได้ มีการโยนความผิดลงไปที่เด็กที่ไม่ได้สมัครสอบตามเวลาที่กำหนด ทั้งที่เอกสารไม่ได้ระบุว่าต้องชำระเงินภายในวันไหน แถมยังมีปรักปรำว่าเด็กปลอมแปลงเอกสาร เป็นคนเห็นแก่ตัว ถือว่าโหดร้ายที่สุด และยังสร้างข่าวสารในอินเทอร์เน็ตสร้างความแตกแยกในสังคม

"หลังจากที่ผู้ปกครองและนักเรียนได้ไปร้องเรียนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ท่านกลับสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นคู่กรณีมาวินิจฉัย ซึ่งไม่มีอำนาจ ถือว่าผิดกฎหมายวิธีพิจารณาทางปกครอง ม.13 เพราะนายกฯ ดังนั้นหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นรัฐบาลและ รมว.ศึกษาธิการแพ้แน่นอน ถามว่าจะกล้ารับผิดชอบทางการเมืองโดยเอาตำแหน่งเป็นเดิมพันหรือไม่" นายเจริญกล่าว

รองอธิการบดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า การที่ สกอ.โยนกลองให้ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) เป็นผู้วินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจในการวินิจฉัยอยู่ที่รัฐมนตรี ไม่ใช่ สกอ.หรือ ทปอ. ถ้ารัฐมนตรีไปมอบการวินิจฉัยให้ทั้งสององค์กร ก็เท่ากับว่ารัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในที่สุดเมื่อ ทปอ.วินิจฉัยแล้วจะมีปัญหาตามมาว่าคนพิจารณาไม่มีอำนาจวินิจฉัย ถ้าผู้ปกครองนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งรัฐบาลไม่มีทางต่อสู้ แพ้แน่นอน และสิ่งที่ตามมาคือการความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งเราไม่ต้องการ แต่ต้องการเพียงน้ำใจและความเมตตากับเด็ก ถามว่ามันไม่มีแล้วหรือ

"การบอกว่าถ้าไม่ชำระเงินถือว่าเสียสิทธิ์นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเป็นภาคีว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญไทยก็คุ้มครองการเข้าถึงสิทธิการศึกษา แต่รัฐบาลกำลังใช้เหตุการณ์ไม่ชำระเงินมาตัดสิทธิ์ของพลเมือง ผมทนไม่ได้จริงๆ และเชื่อว่าคนในประเทศก็ทนไม่ได้ที่เห็นผู้ใหญ่รังแกเด็ก" รองอธิการบดี ม.ศิลปากรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการประชุม กมธ. นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้ทำหนังสือไปยัง ทปอ. ซึ่งจะเป็นองค์กรที่วินิจฉัยว่าเด็กนักเรียนที่มีปัญหาจะมีสิทธิสอบเอเน็ตหรือไม่ แต่ยังเกรงว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการที่ฝ่ายการเมืองแทรกแซงข้าราชการขัดรัฐธรรมนูญ ม.266 หรือไม่ โดยนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แจงว่ารัฐธรรมนูญห้ามแทรกแซงในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ส.ว.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการทำหนังสือ เนื่องจากกังวลว่าจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง จะทำให้อีกฝ่ายไม่ยอมเพราะกลัวเสียหน้า จึงให้นายบุญยอดนัดหมายให้ ส.ว.ได้เข้าพบ รมว.ศึกษาธิการ ในวันพุธที่ 11 ก.พ. เวลา 09.30 น. เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย  1.ให้ขยายเวลาการชำระเงินออกไป โดยอาจจะให้มีการเสียค่าปรับด้วยก็ได้  2.ให้เปิดกว้างสำหรับเด็กที่สมัครแล้วทั้ง 2 หมื่นคน ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่แจ้งความจำนงไว้ 3.ควรทำความเข้าใจกับสังคมว่าการให้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อเด็ก 1.9 แสนคนเพื่อไม่ให้เกิดการแตกแยกระหว่างเด็ก 2 กลุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม บรรดาผู้ปกครองรวมทั้งเด็กนักเรียนต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ สกอ.ที่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเด็กอย่างไม่มีเยื่อใย โดยได้นำเอกสารที่ปรินต์มาจากเว็บไซต์ของ สกอ.ซึ่งไม่ได้ระบุว่าจะต้องจ่ายเงินค่าสมัครสอบเอเน็ตภายในวันไหนมาแสดง โดยต่างยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการจ่ายเงิน 500 บาท เพราะที่ผ่านมาเสียค่าเรียนพิเศษเป็นแสนบาทยังจ่ายได้ หาก สกอ.เปิดให้จ่ายก็พร้อมจะเสียค่าปรับ นอกจากนี้ผู้ปกครองยังเป็นห่วงเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหา เนื่องจากขณะนี้ไม่มีสมาธิที่จะอ่านหนังสือ แม้ว่าจะได้สิทธิสอบก็จะสู้เพื่อนไม่ได้

 

ในวันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี ม.นเรศวร ในฐานะคณะทำงานคัดเลือกนิสิตนักศึกษาระบบกลาง หรือแอดมิดชั่น ปี 53 และนางสมสุข ธีระพิจิตร รองเลขานุการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีการประชุมร่วมกัน โดยการประชุมดังกล่าวจะมีการหารือใน 2 ประเด็นปัญหาหลัก  ได้แก่ ปัญหาระบบการทดสอบแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ และประเด็นการเตรียมการเพื่อทดสอบ GAT, PAT ในปีหน้าถึงระบบการประมวลผล เนื่องจากในปีการศึกษาหน้านี้ทาง ทปอ.จะต้องเป็นผู้จัดสอบแอดมิชชั่นเอง

รศ.ดร.มณฑลกล่าวว่า ระบบการรับสมัครสอบผ่านอินเทอร์เน็ตของ สกอ.ไม่มีปัญหา ซึ่งในมหาวิทยาลัยทั้ง 26 แห่งใช้ระบบเดียวกัน แต่จะมีปัญหาเรื่องของคำอธิบาย ซึ่ง  ทปอ.รับจะไปปรับปรุงให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

"จากการตรวจสอบพบว่านักเรียนที่มาร้องเรียนบางรายเคยสมัครสอบวิชาเฉพาะเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็สามารถสมัครได้ไม่มีปัญหา แต่พอมาถึงการสมัครสอบเอเน็ต กลับอ้างว่าไม่เข้าใจระบบ ทั้งที่ 2 ระบบใช้วิธีการสมัครเดียวกัน ส่วนกรณีที่บอกว่ามีผู้ที่ไม่ได้ชำระค่าสมัครเอเน็ต ประมาณ  22,000 คน บางคนสมัครแล้ว แต่เหตุที่ไม่มาชำระเนื่องจากรอผลการรับตรงจากมหาวิทยาลัย หรือบางคนแค่เข้ามาทดลองเข้าระบบแต่ไม่ได้ตั้งใจจะนำคะแนนไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย" รศ.ดร.มณฑลกล่าว

ประธานคณะกรรมการศึกษาแอดมิชชั่นกล่าวว่า ในวันที่ 11 ก.พ. จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งคาดว่าคงจะไม่เปิดรับสมัครรอบ 2 แล้ว เพราะจากการรับฟังปัญหาจากนักเรียนที่มาร้องเรียน ส่วนใหญ่พบว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอำนวยการซึ่งประกอบด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้ง 26 แห่ง จะตัดสินใจว่าจะเปิดรับสมัครอีกรอบหรือไม่

ดร.สุเมธกล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 11 ก.พ. สกอ.จะหารือร่วมกัน  3 ประเด็น คือ 1.รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจะดูเฉพาะประเด็นของเด็กที่มาสมัครแต่ไม่ได้ชำระเงินเท่านั้น 2.หารือว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ทปอ.จะต้องปรับปรุงส่วนไหนบ้าง 3.หารือถึงแนวทางในการช่วยเหลือเด็ก 20,000 คน โดยแบ่งกลุ่มเด็กไว้เป็น 3  กลุ่ม ได้แก่ 1.ไม่ประสงค์สอบเอเน็ต 2.ตั้งใจสมัครสอบ และอยากสอบเอเน็ตจริงๆ แต่มีปัญหาไม่ได้ไปชำระเงินโดยติดภารกิจหรือเหตุผลต่างๆ  และ 3.กลุ่มที่สมัครเผื่อเลือก ซึ่งถ้าได้รับตรงก็อาจไม่ต้องสอบเอเน็ต

"มีนักเรียนร้องเรียนทั้งหมด 27 ราย โดยเหตุผลนั้น 9 คนทราบแต่มาชำระไม่ทัน 8 คน ที่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต จึงไม่ทราบกำหนดการรับสมัครเอเน็ต 3 คน ติดภารกิจ 3 คน ไม่รู้ระบบ 2 คน ชำระเงินหลังจากสิ้นสุดวันชำระ 1 คน สมัครไม่ทันและ 1 คนชำระเงินผ่านระบบเอทีเอ็มและเครื่องไม่ตอบรับ  ส่วนต่างจังหวัดนั้น มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 139 แห่ง แต่รายงานมาเพียง 46 โรง มีนักเรียนมาร้องจำนวน 65 รายโดยเหตุผลส่วนหนึ่ง มี 2 ประเด็น คือ 1.ทราบกำหนดวันชำระแต่ไม่มาชำระ และ 2.ไม่ทราบวันชำระ" เลขาฯ กกอ.กล่าว

ที่มา: http://www.thaipost.net, http://www.naewna.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท