ชีวิตดิ้นรนของเฮฟวี่พลัดถิ่นจากอิรัก

แปลและเรียบเรียงจาก

One Band Moves Its Metal Out of Iraq, 2-2-2009,  Ben Sisario, The New York Times

Headbangers From Iraq, Thrashing and Waiting, 22-5-2008, Melena Ryzik, The New York Times

 


สมาชิกวง Acrassicauda 3 คนถ่ายรูปร่วมกับเจมส์ เฮทฟิลด์ (คนที่สองจากขวา) แห่งวง Metallica
(รูปโดย Monica Hampton, The New York Time)

 


Acrassicauda เป็นวงร็อคจากกรุงแบกแดดในช่วงที่ไฟสงครามคุกรุ่น พวกเขาเหมือนต้องฝ่าฟันออกมาจากนรก พื้นที่ที่ใช้ซ้อมดนตรีของพวกเขาถูกระเบิดทิ้ง สมาชิกวงถูกหาว่าเป็นพวกบูชาซาตาน และถูกข่มขู่เอาชีวิตในสาเหตุที่ว่าพวกเขาทำดนตรีแบบตะวันตกออกมา จากนั้นจึงต้องระหกระเหินหนีความรุนแรงไปอยู่ในซีเรียกับตุรกี ฆ่าเวลาไปวันๆ และเฝ้าฝันว่าจะได้ออกไปร็อคยังดินแดนเสรี

 

ในคืนวันอาทิตย์คืนหนึ่ง หลังจากพวกเขามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐฯ พวกเขาได้มีโอกาสพบปะหลังเวทีกับวงเมทัลลิก้าที่พรูเดนเชี่ยล เซนเตอร์ ในเนวาร์ค ด้วยบรรยากาศแบบพรรคพวกพี่น้อง ซึ่งเจมส์ เฮทฟิลด์ นักร้องนำวงเมทัลลิก้า [1] ยังได้ให้กีตาร์แบล็กอีเอสพีพร้อมลายเซนต์ "ยินดีต้อนรับสู่อเมริกา" กับวงนี้ด้วย

 

"ไว้สำหรับสานต่อศรัทธา" เฮทฟิลด์ บอกทิ้งท้าย  "เขียนริฟฟ์เจ๋งๆ ออกมาล่ะ"

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2007 มีสารคดีชุดที่ชื่อ "Heavy Metal in Baghdad" (ดนตรีเฮฟวี่ เมทัล ในกรุงแบกแดด) ได้พูดถึงวง Acrassicauda และศรัทธาในร็อคแอนด์โรลของพวกเขาไว้ ในสารคดีได้แสดงภาพว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในหนทางดนตรีร็อคของตนแม้ในท่ามกลางสภาพการณ์ผิดปกติ และพวกเขาก็ยังคงยึดตนเองกับบทบาทนี้ต่อไปเมื่อมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในสภาพการณ์ใหม่

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้สถานะพวกเขาเป็นผู้อพยพ ซึ่งจะมีสิทธิได้รับกรีนการ์ด (บัตรแสดงความเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในสหรัฐฯ ที่ออกให้กับชาวต่างชาติ) ภายใน 1 ปี คณะกรรมการผู้ลี้ภัยนานาชาติ หรือ IRC จัดให้พวกเขาอาศัยในอพาร์ทเมนต์ระดับกลาง หนึ่งเตียงนอน ในรัฐนิวเจอร์ซี่ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีโปสเตอร์ของวงเมทัลลิก้าหรือสเลย์เยอร์ติดอยู่ข้างฝา มีเพียงกีต้าร์วางกองอยู่มุมห้องเท่านั้น

 

วง Acrassicauda มีสมาชิก 4 คนประกอบด้วย ฟายซัล ทาลาล อายุ 25 ปี เป็นนักร้องนำและริทึ่มกีต้าร์ มาร์วาน ริยาดห์ มือกลอง ฟิราส อัล-ลาตีฟ มือเบส และ โทนี อซิซ ลีดกีต้าร์ ซึ่งขณะนี้ เขาอยู่ที่รัฐมิชิแกน เพื่อหาทางอพยพครอบครัวเขามาจากอิรัก

 

งานคอนเสิร์ทเมทัลลิก้าในครั้งนั้นเป็นงานคอนเสิร์ทเต็มรูปแบบครั้งที่สองที่พวกเขาได้เข้าชม โดยครั้งแรกเป็นงานคอนเสิร์ทวงเทสตาเมนต์ในตุรกี

 

พวกเขาบอกว่าความท้าทายครั้งใหม่รอพวกเขาอยู่ เมื่อพวกเขาตัดสินใจกันแล้วว่าจะเล่นดนตรีและเข้าแข่งขันกันในตลาดเปิดของดนตรีเมทัล ริยาดห์ มือกลอง พูดติดตลกว่า พวกเราทำได้ดีในการรอคิวเป็น 3-4 ชั่วโมงในอาคารคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพ แต่กับเรื่องดนตรีแล้วยังต้องมีการขัดเกลา

 

แม้วงเมทัลจากกรุงแบกแดดจะมีไม่มากนัก แต่กับการเป็นผู้อพยพแล้ว พวกเขาไม่โดดเดี่ยวเลย และไม่ใช่ทุกคนที่จะเล็ดรอดเข้ามาในที่เดียวกับพวกเขาได้

 

มีผู้อพยพชาวอิรักอยู่ประมาณ 2,000,000 คนทั่วโลก ในปีงบประมาณที่ 2008 มีจำนวน 13,000 คนที่อพยพไปอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มีอีกจำนวน 17,000 คน กำลังวางแผนที่จะอพยพไปสหรัฐฯ ในปีงบประมาณที่ 2009 เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา มีผู้อพยพชาวอิรักจำนวน 47 คน ที่เป็นนักดนตรี

 

บ็อบ แครี่ รองประธานด้านนโยบายการอพยพและการตั้งถิ่นฐานจากคณะกรรมการผู้อพยพนานาชาติพูดถึงวงนี้ว่าพวกเขาโชคดีมากที่ผ่านระบบนี้มาได้ "บางคนได้มาจากความพยายาม บางคนได้เพราะมีคนคอยหนุน และบางคนได้เพราะโชคช่วย"

 

ผู้ที่คอยหนุนวง Acrassicauda คือ Vice นิตยสารและบริษัทผลิตสื่อจากบรู๊กลินผู้สร้างสารคดี "Heavy Metal in Baghdad" Vice เป็นที่รู้จักในฐานะสื่อที่วิจารณ์วัฒนธรรมป็อบแบบเสียดสีมากกว่าที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรม แต่พวกเขาก็ดำเนินการให้วงนี้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมากว่า 1 ปีครึ่ง

 

ซูโรสซ์ อัลวี หนึ่งในผู้กำกับสารคดีและผู้ก่อตั้งบริษัท Vice บอกว่า Vice ได้เคยพยายามทำเรื่องอพยพเหล่าสมาชิกวงไปยังแคนาดาและเยอรมนี นอกจากนี้ยังให้เงินช่วยเหลือถึงราว 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมาจากสปอนเซอร์ การบริจาคออนไลน์ และจากเงินทุนของ Vice เอง

 

โดยนายอัลวีให้เหตุผลในเรื่องความช่วยเหลือว่า เป็นเพราะพวกเขานำเสนอเรื่องราวของ Acrassicauda ออกไป เหล่าสมาชิกวงจึงได้รับคำขู่จากอิรักในช่วงที่อยู่ซีเรีย

 

"พวกเรามีส่วนรับผิดชอบตรงนี้" อัลวีกล่าว

 

สมาชิกวง Acrassicauda ยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากหน่วยงานรัฐใดๆ เลย หน่วยราชการด้านพลเมืองและผู้อพยพของสหรัฐฯ (United States Citizenship and Immigration Services) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ กับกรณีพิเศษนี้ แต่โดยปกติแล้ว การจะได้รับสถานะผู้อพยพนั้น ผู้แจ้งความจำนงจะต้องพิสูจน์ว่า พวกเขาถูกกระทำหรือกดขี่จากเรื่องเผ่าพันธุ์, ศาสนา, เชื้อชาติ, ความเห็นทางการเมือง หรือกลุ่มทางสังคมมาแล้ว

 

สำหรับนักดนตรีเหล่านี้ การเล่นดนตรีเมทัลก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าของพวกสุดโต่งได้ และตอนนี้พวกเขาก็ยังเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัวพวกเขาในอิรัก

 

อัล-ลาตีฟ มือเบสของวงเผยว่าเขารู้สึกผิดกับการที่ได้มาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย ขณะที่ครอบครัวเขาไม่ได้ปลอดภัยเช่นเขา และสาเหตุของความไม่ปลอดภัยนั้นมาจากตัวเขาเอง "ผมทำให้ชีวิตพวกเขาต้องเสี่ยงภัย จากการที่ตัวผมเองมาอยู่ในวง เฮฟวี่ เมทัล"

 

มือเบสวงนี้บอกอีกว่า เขาอยากเป็นนักดนตรี อยากออกผลงาน แต่ก็ยังมีความรู้สึกกดดันจากสื่อ "...มันเป็นแบบนี้ คือคุณแคร์เกี่ยวกับผมเพราะว่าผมเป็นนักดนตรีหรือคุณแคร์เกี่ยวกับตัวผมเพราะคุณคิดว่าเรื่องราวของผมมันน่าสนใจ?"

 

ในช่วงที่ถ่ายทำเรื่อง Heavy Metal in Baghdad ทางวงบอกว่าอยากให้เน้นเรื่องประสบการณ์การเป็นเมทัลเฮด (metalhead) ของสมาชิกมากกว่าเน้นเรื่องความเป็นชาวอิรัก  "เมื่อตอนเราเริ่มตั้งวง พวกเราไม่ได้บอกว่า 'โอ้! พวกเรามาจากอิรัก บางทีเราน่าจะใช้ประโยชน์จากความเป็นอิรักของพวกเรานะ ทำเหมือนตัวประหลาดพวกคณะละครสัตว์เป็นไง' " มาร์วาน ริยาดห์ (เดิมชื่อ มาร์วาน ฮุสเซน)  กล่าว "...พวกเราก็แค่คนธรรมดาที่มีความซาบซึ้งในดนตรี"

 

ริยาดห์ ยังได้พูดถึงแรงบันดาลใจในเฮฟวี่ เมทัล อีกว่า ชีวิตพวกเขาไม่ได้มีทางเลือกหรือสิทธิอะไรมากนัก จนเมื่อเขาได้พบกับดนตรีเฮฟวี่ เมทัล ในครั้งแรกก็รู้สึกว่ามันคือการปลดปล่อย "...แล้วต่อมาพอพวกเราเริ่มเรียนรู้เติบโตกับมันมากขึ้น พวกเราก็คิดว่าเราสามารถใช้มันเป็นเป็นเครื่องมือนำทางที่ดีและใช้มันพูดอะไรที่คุณต้องการ ให้ดังและเร็วที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้"

 

Acrassicauda ก่อตั้งวงขึ้นในช่วงปี 2000-2001 ชื่อ Acrassicauda ได้มาจาก Androctonus crassicauda ชื่อสปีชี่ย์ของแมงป่องดำชนิดที่พบทั่วไปในทะเลทรายของอิรัก พวกเขาต้องเล่นเป็นวงใต้ดินที่ปิดลับเนื่องจากรัฐบาลสั่งห้ามการเผยแพร่เพลงแนวนี้ ทางวงเคยออกเดโมอัลบั้มความยาว 14 นาทีในนาม Acrassicauda และเคยทำดนตรีประกอบให้สารคดี Heavy Metal in Baghdad

 

ในช่วงปี 2008 ที่พวกเขามาอาศัยอยู่ในสภาพผู้อพยพทำให้เขาไม่สามารถหางานที่ถูกต้องตามกฏหมายทำได้ พาสปอร์ตอิรักและอุปสรรคทางการเมืองอื่นๆ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเดินทางไกลได้ (นั่นทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้ดูสารคดีเกี่ยวกับพวกเขาซึ่งฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตและเบอร์ลินด้วย) แม้ว่าพวกเขาจะเล่นคอนเสิร์ทบ้างเล็กน้อย แต่ก็มีคนมาดูพวกเขาไม่มากนัก

 

ริยาดห์ บอกว่าพวกเขาเหมือนถูกโดดเดี่ยวออกจากสังคม ไม่มีอะไรให้ทำมากมาย หากจะออกไปข้างนอกก็รู้สึกว่าค่าครองชีพสูง พวกเขาจึงได้แต่นั่งมองหน้ากันไปมาทั้งวันทั้งคืน

 

 

 

 

..........................................................

เชิงอรรถ

[1] เมทัลลิก้า (Metallica) เป็นวง เฮฟวี่/แทรซ เมทัล ชื่อดังของสหรัฐฯ อเมริกา ก่อตั้งและมีผลงานมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ 1980 และยังคงมีผลงานมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดได้ออกอัลบั้ม Death Magnetic เมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท