Skip to main content
sharethis

(13 ก.พ.52) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม 3 กระทรวงการต่างประเทศ มีการจัดประชุมหัวข้อ "การวิเคราะห์ระบอบระหว่างประเทศว่าด้วยการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและข้อเสนอสำหรับประเทศไทย" โดย ชุดโครงการMEAs สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ ซึ่งมีการเสนอผลการศึกษาวิจัยโดย ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล ทิพย์สุรางค์ วาทิตต์พันธ์ และพิมพ์พชา ปิยะเกศิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า เพื่อเป็นข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการตัดสินในการแสดงท่าทีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ


 


สำหรับบรรยากาศการประชุม มีผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมประชุม อาทิเช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์


 


นางวิภาวรรณ นิพัทธกุศล อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการประชุมว่า เป็นโอกาสในการนำเสนอความก้าวหน้าในส่วนความร่วมมือของฝ่ายรัฐและภาควิชาการรวมทั้ง เอ็นจีโอ เพื่อพิจารณาเรื่องผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยและใช้ประกอบในการตัดสินใจแสดงท่าทีในการเจรจาระหว่างประเทศต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเคยเกรงว่าไทยจะเสียประโยชน์จากการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ทุกวันนี้เราก็ได้ประโยชน์จากอนุสัญญานี้


 


ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ประสานงานชุดโครงการฯ สกว.กล่าวดำเนินรายการว่า ขณะนี้เวทีการเจรจาระหว่างประเทศ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพยังไม่ก้าวหน้าและยังไม่มีข้อยุติ จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยว่า เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จในการเจรจาระดับพหุภาคีและทวิภาคี อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น มีหลายประเด็นซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและวิทยาศาสตร์ เพราะกฎเกณฑ์เต็มไปด้วยเรื่องเชิงเทคนิค มีข้อถกเถียงและต้องทำความเข้าใจ เช่น เรื่องทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรพันธุกรรม หรือสิ่งที่สืบเนื่องแยกออกจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องศึกษาว่าอะไรที่เข้าข่ายกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งสถานะของประเทศไทยในการเป็นประเทศต้นทางคือผู้ให้ทรัพยากรและเป็นประเทศปลายทางผู้รับทรัพยากรชีวภาพ


 


ส่วนผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า ประเทศไทยควรเตรียมรับมือกับโครงสร้างระบอบระหว่างประเทศหรืออินเตอร์เนชั่นนัลรีจีม โดยไทยต้องออกกฎหมายภายในประเทศ เพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมายระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า ระบอบระหว่างประเทศควรมีค่าบังคับหรือไม่เพียงใด


 


อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีความยากมาก คือการนิยามสิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและทรัพยากรพันธุกรรมรวมทั้งส่วนที่สืบเนื่องหรือแยกออกจากสิ่งมีชีวิต เช่น จะเรียกอะไรแบบไหนอย่างไร และเมื่อไหร่ที่ถือว่าเป็นการได้ประโยชน์ โดยจะนับตั้งแต่การนำทรัพยากรออกจากแหล่งทรัพยากร หรือไปนับตอนสกัดเอาประโยชน์ทางพันธุกรรมได้แล้ว หรือจะไปนับว่าเป็นผลประโยชน์ตอนนำมาผลิตขายเป็นอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น หากนำข้าวโพดไปต้มขาย ก็เป็นเพียงการใช้ทรัพยากรชีวภาพ แต่หากนำข้าวโพดไปสกัดเอาเจเนติคโคทหรือสกัดค่าอื่นๆ ก็เป็นประเด็นเรื่องพันธุกรรมไม่ใช่เพียงเรื่องชีวภาพ


 


"หากมีการลักลอบนำทรัพยากรชีวภาพออกไป ปัญหาคือกฎหมายไทยไม่สามารถบังคับใช้กับประเทศอื่นได้ ขณะที่หากมีอินเตอร์เนชั่นนัลรีจีมหรือโครงสร้างระบอบระหว่างประเทศ ก็จะสามารถบังคับใช้กฎหมายกับประเทศที่เป็นภาคีได้ ป้องกันกรณี เช่น มีผู้ลักลอบนำทรัพยากรชีวภาพออกจากไทย ไปสกัดพันธุกรรมยังประเทศปลายทาง โดยเขาไม่กลับเข้ามาในประเทศไทยอีกแล้ว เมื่อจดสิทธิบัตรและกระจายไปยังที่ต่างๆ ประเทศไทยก็ไม่สามารถไปฟ้องร้องอะไรได้เพราะไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศมาควบคุม" ผศ.ดร.สมชายกล่าว


 


ผศ.ดร.สมชายกล่าวด้วยว่า กฎหมายภายในประเทศที่รองรับกฎหมายระหว่างประเทศ บางเรื่องก็อาจจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น ซึ่งจะต้องปรับปรุงต่อไป เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันมีความสอดคล้องกับระบบการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการของชุมชน ยกตัวอย่างเช่น หากมีการจดสิทธิบัตรยีนบางชนิดในพันธุ์ข้าวซึ่งทำให้เกิดความหอมเป็นพิเศษ ก็อาจจะสร้างปัญหาให้แก่ชาวนารายอื่นๆ ไม่สามารถนำพันธุ์ข้าวซึ่งมียีนที่ถูกจดสิทธิบัตรไปปลูกได้ ขณะที่วิถีปฏิบัติในอดีต ชาวนาจะส่งทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไปโดยไม่ได้หวงกัน ดังนั้น การออกกฎหมายภายในประเทศจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาให้ดีว่าอาจสร้างผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ อย่างไรบ้าง รวมทั้งความเหมาะสมต่อทั้งระบบอุตสาหกรรมและระบบชุมชน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net