อภิปราย "ขบวนการประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย" เสนอแนวทางพัฒนาประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ในงานกิจกรรมผ้าป่าข้าวเปลือกและระดมทุนของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ที่ศูนย์เกษตรกรสารภี จ.เชียงใหม่ มีการอภิปรายหัวข้อ "ขบวนการประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย" โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ ผู้ประสานงานกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ดำเนินรายการโดย นายวิสุทธิ์ มะโนวงศ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนหญิง

 

 

ความโรแมนติกที่ล้มเหลวของประชาสังคม

ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวถึงขบวนการประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นเรื่องแรก โดยนำเสนอปรากฏการณ์กลุ่มพันธมิตรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภัควดีเสนอว่าพันธมิตรฯ มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ชี้ให้เราเห็นถึงความคิดบางอย่าง เพราะว่าก่อนหน้านั้น มีคนคาดหวังใฝ่ฝันกันมากคือคิดว่า ประชาชนและชนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนหลักซึ่งจะพัฒนาประชาธิปไตย สื่อจะบอกว่าระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยคนชั้นกลางที่มีความรู้สูง ก็จะสามารถผลักดันให้การเลือกตั้งดีขึ้นและได้ตัวแทนที่ดี ซึ่งบางครั้ง ทำให้มองข้ามคนยากคนจน เหมือนกับว่าคนยากจนไม่ใช่ตัวแทนหลักในการพัฒนาประชาธิปไตย

 

เรื่องพันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ชนชั้นกลางไว้ใจไม่ได้ กรณีพันธมิตรเหมือนชนชั้นกลางในหลายๆ ประเทศ ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้เกิดระบบเผด็จการขึ้นมา ตั้งแต่สมัยคนที่พูดถึงมาก เช่น ที่เยอรมัน กรณีฮิตเลอร์ก็เกิดขึ้นมาจากชนชั้นกลาง ในประเทศลาตินอเมริกาก็มีชนชั้นกลางจำนวนมาก และชนชั้นกลางในเวเนซุเอลาก็สนับสนุนระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

 

เมื่อก่อนประมาณ 10-20 ปีที่แล้ว ตอนที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง เรามีความเชื่อและความคาดหวังจากเรื่องการสื่อสาร เกิดการแพร่ขยายจำนวนมากของข้อมูล และคนมีความรู้แล้ว มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ภาคประชาสังคมขึ้นมา" คือ การรวมตัวของคน โดยทุกชนชั้นจับมือร่วมกัน และมองเห็นรัฐบาลทำอะไรไม่ดี ก็ออกมากดดันรัฐบาล และสั่งสอนรัฐบาล เมื่อกดดันรัฐบาลได้สำเร็จแล้ว และภาคประชาสังคมก็กลับบ้านนอนดูทีวี เมื่อไหร่รัฐบาลทำไม่ดี ก็ออกมากดดันใหม่ คือ มันมีความเชื่อแบบนี้ อยู่เป็นความฝัน ที่โรแมนติคมากและก็ดูสบายดีด้วย เพราะว่า ไม่ต้องมีการต่อสู้อะไรมาก เนื่องจากเราเชื่อว่า การรับรู้ข่าวสารมากขึ้น คนก็จะออกมากดดันรัฐบาลได้ดีขึ้น แต่ปรากฏการณ์ของพันธมิตร ทำให้ความเชื่อเรื่องภาคประชาสังคมล่มสลายโดยสิ้นเชิง เพราะความเชื่อเรื่องภาคประชาสังคม ไม่ได้ก่อให้เกิดประชาธิปไตย ในที่สุดแล้ว เมื่อการต่อสู้จะดำรงอยู่ และดำเนินต่อไป ในเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้น ทักษิณอาจจะทำเพื่อชนชั้นล่าง ตามแนวนโยบายของรัฐ และทำให้ชนชั้นล่างได้ประโยชน์ รวมทั้งอาจจะทำให้ชนชั้นกลางเสียประโยชน์

 

 

นโยบายและชนชั้น ข้อสังเกตต่อประชาธิปัตย์-ไทยรักไทย

ภัควดี ตั้งข้อสังเกตโดยกล่าวว่า ถ้าเรากลับมาสังเกตนโยบายของประชาธิปัตย์ เอื้อชนชั้นกลางล่าง และแจก เงิน 2,000 บาท รวมทั้งเรื่องการสังเกตวิธีการโกง เช่น ส.ปก.4-01 ก็เป็นเรื่องผลกระทบต่อชาวบ้าน และถ้าพี่น้องจำได้ สมัยรัฐบาลชวน ก็เคยโกงนมเด็ก ที่เอานมบูดให้เด็กกิน ในปัจจุบันก็เรื่องปลากระป๋องเน่าแจก ที่จังหวัดพัทลุง และ วิธีการโกง นั่นก็คือ รัฐบาลประชาธิปัตย์ ขูดรีดชนชั้นล่าง และเอาเงิน มาแจกชนชั้นกลาง เพื่อฐานเสียงของเขา และในขณะที่วิธีการของทักษิณ คือ แจกชนชั้นล่าง มาขูดรีดชนชั้นกลาง เก็บภาษี โดยแนวนโยบายต่างๆ เพื่อแจกชนชั้นล่าง ในที่สุดแล้ว มันเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น เราไม่สามารถคาดหวังว่า การรับรู้ข่าวสารของชนชั้นกลาง หรือแม้แต่ของพวกเรา รับรู้ข่าวสาร แล้วคิดว่าทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตย และปรากฏการณ์กลุ่มพันธมิตร ทำให้เรารู้ว่าคนที่ยึดมั่นประชาธิปไตยมากที่สุด ก็คือคนยากจน นี่แหละ เพราะสังเกตดูแล้ว ก็เห็นว่าฝั่งเสื้อแดง ไม่ว่าจะดีเป็นอย่างไรก็ตาม คือ ฝ่ายที่ยืนยันมากที่สุดว่า เราต้องเคารพกติกา ไม่ใช่ใช้วิธีการนอกระบบเข้ามา ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตย มันจะดี หรือเลว อย่างไรก็ตาม ในที่สุดอย่างน้อย มันเป็นสิ่งเดียวที่คนยากจนได้ประโยชน์มากที่สุด

 

 

คนจนผู้ยึดมั่นประชาธิปไตย

ภัควดี อภิปรายต่อว่า การเลือกตั้ง หรือการใช้เสียงข้างมาก แสดงว่าอย่างน้อยก็ได้ประโยชน์แก่คนยากจน เพราะคนยากจนมีจำนวนมาก และคนยากจนก็สามารถกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐได้ระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในประเทศไทย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศลาตินอเมริกา ก็มีลักษณะเดียวกัน คนที่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด ก็คือ คนยากจน นี่แหละ ไม่ใช่ชนชั้นอื่น เพียงแต่เราต้องมาคำนึงถึงว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้น บางทีก็ไม่พอแก่การแก้ปัญหาจริงๆ คือ พวกเราต้องคิดว่า การเลือกตั้ง มันเป็นแค่กติกา แต่ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้สังคมขึ้นได้ อาจจะเลือกได้แค่ผู้แทน แต่ระบบทุน ความเหลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ มันเป็นทำให้ผู้แทนของพวกเรา ซึ่งถูกทุนครอบงำ ในรัฐสภาอยู่มาก และผู้แทนเลยไม่ใช่ผู้แทนของพวกเรา สักเท่าไหร่ ถ้าระบอบประชาธิปไตย และผู้แทนไม่พอ ก็ควรหาระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นๆ ที่มีการพยายามใช้ในโลกเข้ามาเสริม คือ ระบอบประชาชน มีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และระบอบประชาธิปไตยทางตรง มี 2 แบบด้วยกัน อย่างหนึ่งให้คนเข้าร่วมเป็นคนๆ คือ ปัจเจกบุคคล ก็เข้ามามีส่วนร่วม

 

กรณีเช่นในบราซิล เมืองเทศบาลบางเมือง เขาจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม คือ เขาเปิดสภาสาธารณะ ให้คนในเทศบาลเข้าไปพิจารณา และจัดทำงบประมาณแบบให้คนเข้าไปโหวต และคุณจะใช้งบประมาณอะไรบ้าง และเข้าไปตรวจสอบงบประมาณพวกนี้ หรือว่า การลงประชามติก็ให้คนมาออกเสียง แต่ว่าเวลา เราให้คนไปเข้าร่วม แบบเป็นรายๆ ไป มันก็มีปัญหาอยู่ว่า คิดเองทำเอง โดยอยู่คนเดียว มันก็จะถูกสื่อมวลชนปลุกปั่นได้ง่าย ก็เป็นเรื่องปกติของการฟังสื่อมวลชนมากๆ ก็เชื่อตาม แต่สื่อมวลชน ก็ถูกนายทุนครอบงำ และใช้สื่อมาเป็นเครื่องมือมาปลุกปั่นคน

 

 

การจัดตั้งขบวนประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบน

ภัควดี ชี้ให้เห็นว่าเส้นทางแก้ไขปัญหาที่ประชาชนจะพัฒนาประชาธิปไตยได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญ ก็คือ การจัดตั้งองค์กรเป็นขบวนการรวมกันและก็ภายในองค์กร ควรจะต้องมีกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่แบบเอ็นจีโอ ที่มีลักษณะเป็นพี่เลี้ยงมาให้ชาวบ้าน ทำนั่น ทำนี่ แต่ชาวบ้าน คือ คนยากจน รวมตัวกันเองเป็นองค์กร และที่สำคัญภายในองค์กร ก็เป็นตัวแทนเป็นปากเสียง ในกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ผู้แทนองค์กร ข้าวโพด มันสำปะรัง องค์กรแรงงานนอกระบบ และองค์กรแม่บ้าน แต่ละคนก็เป็นตัวแทนของตนเอง เพราะไม่มีใครพูดแทนใครได้ ในยุคสมัยก่อน เราใช้พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเดียว พูดแทนประชาชนไปหมด แล้วเป็นอย่างไร ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ไปไหน และพรรคก็เอาอำนาจไปหมด แต่ละองค์กร ก็ต้องเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ของตนเอง และแต่ละองค์กรนั้น ก็ต้องฝึกทุกคน มีกระบวนการประชาธิปไตยในองค์กร และจริงอยู่ พอมีองค์กรมากๆ แต่ละองค์กรต้องมีความขัดแย้งกัน แต่ละองค์กรก็ต้องมีการประสานด้วยกระบวนการประชาธิปไตย มารวมเป็นเครือข่าย แล้วใช้กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยวงกว้างขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เอ็นจีโอ หรือตัวแทนมานำ องค์กรอื่นมานำ เพราะว่า การที่ให้คนอื่น พูดแทนเราทั้งสังคมได้ ในการถูกผู้อื่นพูดแทนเรา ไม่ว่าจะในค่ายสังคมนิยม ตัวอย่าง พรรคคอมมิวนิสต์ จีน รัสเซีย สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ

 

ภัควดี กล่าวสรุปว่า "การสร้างเครือข่ายองค์กรที่จะกดดันทางการเมือง ซึ่งการทำให้ประชาธิปไตยมากขึ้น จะทำให้แนวทางของรัฐเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ และมันต้องมีปัญหาอยู่มาก แต่พูดง่ายๆ ว่า มันทำแทนกันไม่ได้ มันจะต้องสร้างเป็นขบวนการโดยมีองค์กรเป็นหัวใจของขบวนการ"

 

 

ชาวนา กับการต่อสู้ทางชนชั้น

รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ กล่าวในเรื่อง สงครามทางชนชั้นและการสร้างองค์กรให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อจะเชื่อมทำให้สมาพันธ์องค์กรกลายเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ทางชนชั้น มีใจความว่า การต่อสู้ทางชนชั้น ไม่ใช่การลุกขึ้นจับปืนแบบ พ.ค.ท.

 

ส่วนเราจะจัดองค์กรและคิดถึงการเชื่อมสมาพันธ์อย่างไรนั้น สถานการณ์ในขณะนี้แหลมคมมากขึ้น จึงต้องทำความเข้าใจ ความซับซ้อน และความสัมพันธ์ของโครงสร้าง ว่าเราอยู่ที่ไหนของโครงสร้าง ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามันยุ่งยากกว่าที่ผ่านมาหลายเท่า

 

โดย รศ.ดร.อรรถจักร ขอแยกคนในสังคมไทยออกเป็น 3 กลุ่ม และทำให้เห็นว่าตอนนี้เราสัมพันธ์กันอย่างไรในบ้านของเรา ชาวไร่ ชาวนาสัมพันธ์กันอย่างไร โดยเฉพาะชนชั้นนำ ผู้ที่สามารถมีอำนาจ บงการเรา และอำนาจสามารถชักนำเรา อย่างไร

 

สมมติว่า ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจเหนือเรา และเมียมีอำนาจต่อเรา นี่ตัวอย่างง่ายๆ กรณีชนชั้นนำ กับความสัมพันธ์ต่อชาวนาว่า ส่วนแรก ชนชั้นนำทางวัฒนธรรม ครองอำนาจนาน มาถึงวันนี้แล้วด้านหนึ่ง ก็มีอำนาจได้อยู่ แต่ก็ถูกกระทบกระเทือน ส่วนที่สอง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งฐานการผลิต กับการค้าโลก สัมพันธ์กับตลาดโลก และความสนใจของชนชั้นนำ คือ การจัดภาคการผลิต กับโลก ส่วนที่สาม คือ ชนชั้นนำทางการเมือง ในยุค 2520 ชนชั้นนำบางส่วนในท้องถิ่น เช่น พ่ออนุสรณ์ วงศ์วรรณ เป็นเจ้าพ่อท้องถิ่น และถูกดึงไปส่วนกลาง มันเข้าไปผูกกับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ และชนชั้นนำทางวัฒนธรรม

 

 

ลักษณะพิเศษอันดัดจริตของชนชั้นกลางไทย

รศ.ดร.อรรถจักร ยังกล่าวต่อว่า ชนชั้นกลาง ค่อยๆ เป็นปึกแผ่น มีจำนวนมากขึ้น จึงสร้างสถาบัน และสื่อทั้งหมด เช่น กรุงเทพธุรกิจ ผู้จัดการ ฯลฯ จากโครงสร้างของข้างบนและลงมาถึงชนชั้นกลาง คือ พวกนี้ต้องการศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่ใช่ประชาธิปไตย โดยในปี 2535 คนชั้นกลางดีใจว่า ชนะ แต่คนที่ตาย คือ คนจน ส่วนชนชั้นกลางเป็นผู้ฉกฉวย คนที่ตายในเหตุการณ์ 2535 ในกรุงเทพฯ คือ คนสลัม ซึ่งนั่ง-กิน-นอนอยู่ถนนราชดำเนิน แต่คนชนชั้นกลาง เช้ามา-เย็นกลับเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ชนชั้นกลางไทยไม่ได้เน้นความเสมอภาค เนื่องจากชนชั้นกลาง ไม่ได้คิดถึงความเท่าเทียมกันและคนชั้นกลางไทยมีลักษณะพิเศษ เช่น ดัดจริต คือ เขาจะโค้งให้ขอทาน แสดงออกว่าเมตตา กรุณา ปราณี แต่ถ้าขอทานเดินเข้ามา "กูขอ 20 บาท" ชนชั้นกลางจะไม่ให้เงิน

 

ดังนั้น เขาเน้นเสรีภาพ แต่ไม่ได้เน้นเสมอภาค ในปี 2540 ชนชั้นกลางเข้าไปสัมพันธ์การค้ากับโลก คิดง่ายๆ พนักงานแบงก์ สัมพันธ์กับโลกภายนอก อันนี้เป็นตัวอย่าง โดยชนชั้นกลาง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นตัวเชื่อมเมืองและชนบท ซึ่งคิดเกี่ยวกับเรื่องผู้รับเหมารายย่อยว่า ย้อนหลังไป 10 ปีก่อน พวกพ่อหลวง ไม่ได้เป็นผู้รับเหมา และต่อมาเริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้รับเหมา ส่วนชนชั้นกลาง ก็เอาเปรียบตัวเรา โดยมาอยู่ในความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลาง ในมหาวิทยาลัย มันฉีกขาดการรับรู้ระหว่างชนชั้นกลางกับคนจน และนักวิชาการ ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม

 

 

ชนชั้นนำ-ชนชั้นกลาง-ชาวนาเปลี่ยนแล้ว

รศ.ดร.อรรถจักร วิเคราะห์ว่า เมื่อชนชั้นนำก็เปลี่ยน ชนชั้นกลางก็เปลี่ยน จากปี 2520 ชาวบ้านก็เปลี่ยน และชาวนาก็เปลี่ยน คือ ชาวนาจริงๆ ที่มีชีวิตการทำนาแบบเดิม ซึ่งมีแรงงานเครือญาติ ไม่มีอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าเมื่อเราทำนา จะมีกระบวนการรับจ้าง เท่าที่ผมสำรวจ พวกเราเกี่ยวข้าวโดยเครื่องเกี่ยวข้าวแล้ว เมื่อชาวนาแท้ๆ ไม่มีแล้ว พวกเราคล้ายเป็นชาวนาพิเศษ คล้ายๆเป็นผู้จัดการนา เรามีสองขาเป็นแรงงานรับจ้าง และเอาเงินจากภายนอกมาทำนา โดยตัวพี่น้องก็เปลี่ยนฐานภาคการผลิตนอกการเกษตรที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ตำแหน่งแห่งที่ ต้องทำให้เราเป็นฐานะพลเมือง แตกต่างไปจากชาวนาเดิม นอกจากคลองชลประทาน สถานีอนามัย แต่ตอนนี้พอเราอยู่นอกระบบ เพราะว่าเราต้องการ 30 บาท เพื่อรักษาทุกโรค และเราต้องการสิทธิพลเมือง ซึ่งสลับซับซ้อนกว่าเดิม

 

ดังนั้น สถานะทางชนชั้น จึงต้องการกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งชาวนาทั้งหมด คือ แรงงานนอกระบบ แรงงานนอกภาคเกษตร และกำลังแรงงาน ที่ผลิต 68 % ของแรงงานเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งใครไปรับจ้างเกี่ยวข้าว หาบเร่ แผงลอยเป็นแรงงานนอกระบบ และพวกเราเปลี่ยนแล้ว จะจัดองค์กร พวกเราไม่ใช่ชาวนาแบบเดิม คือ แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ โดยเราจะต้องคิดว่า ต้องพูดเรื่องแรงงานนอกระบบ เรื่องอื่นๆ และวางตำแหน่งกันใหม่ เราต้องนั่งคิดแล้วว่า ชนชั้นกลางใหม่ คือ เกษตรกร ที่มีฐานทำนาแบบเดิม กลายเป็นชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งเป็นกรรมาชีพมากขึ้น แล้วกระบวนการที่เราจะเคลื่อน คือ การต่อรองและแบ่งปันกัน

 

ในที่สุดแนวโน้มของการก้าวไปข้างหน้า คือ มีคนชั้นกลางมากขึ้น ในโครงสร้างแบบสามเหลี่ยม อาจจะเปลี่ยนเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทน และขบวนการภาคประชาชน ก็ต้องมีรูปแบบองค์กร สมาพันธ์องค์กร รวมทั้งพวกเรา คนจน ต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง อันน่าจะเป็นพลังหนึ่ง คือ อิฐก้อนแรกๆ ที่ทำให้สังคมไทย ก้าวหน้ามากขึ้น" รศ.ดร.อรรถจักร กล่าว

 

 

รัฐกับการครอบงำทางการเมือง

เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ ผู้ประสานงานกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ วิเคราะห์ว่า รัฐไทยมักครอบงำตลอดเวลาว่าสาเหตุความยากจน สาเหตุที่เป็นคนจน ก็เพราะว่า ชาติปางก่อนเราทำบุญไว้น้อย ต่อมาบอกว่าโง่ จนเจ็บ ปัจจุบันสาเหตุ จน เครียด กินเหล้า ดังนั้น ถ้าเราไม่มารวมกลุ่ม ก็ไม่รู้ว่าสาเหตุ คืออะไร และเรามีการเอาเปรียบ หลงว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ซึ่งผมพูดเสริม อาจารย์ทั้งสองว่า ในที่สุดแล้ว ก็ทำให้เราเป็นชนชั้นที่เสียเปรียบ และในครัวเรือนเกษตรกรปัจจุบันนี้ กรณีอย่างหลายคน มีพ่อเป็นเกษตรกรต่อสู้ในเรื่องที่ดิน แม่เป็นแรงงานรับจ้างนอกระบบอยู่ที่บ้าน และลูกสาวอยู่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน โดยพ่อ แม่เป็นหนี้ ธกส. ขณะเดียวกัน ลูกสาวก็กู้หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และคิดว่าเพื่ออนาคตจะไต่เต้าไปสู่ชนชั้นใหม่หลังเรียนจบ สถาบันการศึกษา ก็โกหกพกลมจบแล้วจะมีงานดีๆรองรับ แต่กลับต้องเข้าเป็นคนงานสู่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน แถมต้องใช้หนี้ที่กู้มาเรียนอีกต่างหาก

 

 

ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง ไม่ใช่เชียร์ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจแฝง

เจษฎา ยังกล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อพูดถึงคำว่า ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎร และในปัจจุบันกลุ่มคนที่ไม่ชอบประชาธิปไตย คือกลุ่มเสียประโยชน์ นั่นคือ กลุ่มราชการทหาร และสื่อสารมวลชน ซึ่งคนชั้นกลาง และนักวิชาการบางคน ไม่ยอมรับหลักการหนึ่งสิทธิ-หนึ่งเสียง ก็มักมีความคิดผ่านสื่อว่า คนในชนบทโง่ จน และการเลือกตั้งไม่ดี หรือเราจะปล่อยให้คนรวย มีสิทธิมากกว่า คนจน หรือคนที่เป็นด็อกเตอร์ มีสิทธิมากกว่าคนจบ ป.4 รวมทั้ง คนมีชาติตระกูล มีสิทธิมากกว่าชาวนาบ้านนอก หรือประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง และจะต้องยอมรับผลแพ้ ชนะจากการเลือกตั้งไม่ใช่เชียร์ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจแฝงได้

 

 

องค์กรประชาชนของขบวนการภาคประชาชน ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

เจษฎา มีความคิดเห็นว่า องค์กรประชาชนที่ควรจะเป็นว่าขบวนการภาคประชาชนต้องมีจิตสำนึกประชาธิปไตย และทุกคน มีสิทธิถกเถียงในเรื่องการจัดองค์กรที่เป็นประชาธิปไตย จะต้องสร้างประชาธิปไตยในองค์กร สร้างการนำรวมหมู่ และสร้างผู้นำใหม่ๆเพิ่มขึ้นเป็นอิสระจากองค์กรแหล่งทุน ความคิดขององค์กรต้องไม่นิยมอนุรักษ์นิยม ที่จะฟังคำสั่งอย่างเดียว จะต้องมีจิตสำนึกแบบสากล และเรารักชาติได้ แต่ไม่ใช่คลั่งชาติ เราต้องมีความเป็นสากล ซึ่งต้องไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่มีสำนึกทางประชาธิปไตย และจะต้องสามัคคีเป็นจุดสำคัญ ที่ต้องพัฒนาองค์กรกัน โดยมีเป้าหมายสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สร้างอำนาจพลังขึ้นมา และยิ่งภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ ก็พึ่งตนเองยาก เพราะมีหนี้สิน เราจะเผชิญปัญหามากขึ้น คนจะตกงานมากขึ้น และนโยบายปลดหนี้ ยังไม่มีนโยบาย รวมทั้งการปฏิรูปที่ดิน การกระจายของรัฐยังไม่ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น นกน.เป็นชาวนายุคใหม่ ต้องผลักดันให้ลูกหลาน รู้ว่าสิทธิ เมื่อเป็นคนงาน ก็จะต้องตั้งสหภาพแรงงานได้อย่างไร และร่วมต่อสู้กับพ่อแม่ที่เป็นนกน.ในอนาคต

 

เจษฎา สรุปว่า "รัฐสวัสดิการเป็นทางเลือกที่สำคัญของสังคมไทยเพื่อสร้างความเสมอภาค เป็นการยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จากครรภ์มารดา-เชิงตะกอน คนชรา มีการดูแลเป็นสิทธิ ไม่ว่าใครเป็น รัฐบาล ก็ตามแต่ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นไปได้ ก็ต้องเก็บภาษีก้าวหน้าจริงๆทำจริงๆ มิใช่เป็นเพียงคำพูดโวหาร หรือชื่อภาษีก้าวหน้า แต่พอดูตัวเลขการเก็บภาษีกลับล้าหลังเหมือนเดิม" เจษฎากล่าวทิ้งท้ายไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท