Skip to main content
sharethis

ปริศนาการถูกสังหารโหดของ นายอับดุลการิม ยูโซ๊ะ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกาหยี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นแรงขับดันอันสำคัญให้องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กร ตลอดจนนิสิตนักศึกษาพากันลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์ความจริงและควานหาความเป็นธรรม


หนึ่งในนั้นคือเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อสันติภาพ หรือ คยนส. ที่มี ไลลา เจะซู เป็นแกนนำ


 ไลลา เขียนบทความที่ชื่อ "คำถามที่รัฐยังไม่ตอบ กรณีความสูญเสียของครอบครัวโต๊ะอิหม่ามสายบุรี" จากประสบการณ์การลงพื้นที่จริงครั้งนี้ และนี่คือบางช่วงบางตอนที่ถ่ายทอดจากความรู้สึกของนักศึกษาสาวตัวเล็กๆ อย่างเธอ


รัฐจะเอาอะไรกับพวกเราอีก...



"ปมเงื่อนการตายของโต๊ะอิหม่ามบ้านกาหยีที่ยังไม่กระจ่างชัด คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ ความสงสัยที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย อาจนำมาซึ่งความหวาดระแวงสงสัยและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น...


นางฟาอีซะห์ สะแลแม  พี่สาวของอิหม่ามอับดุลการิม เล่าให้ฟังว่า ภรรยาของอิหม่ามต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพังด้วยการขายขนมหวานเล็กๆ  น้อยๆ หน้าบ้านเพื่อให้พอประทังชีวิตลูกๆ ถึง  4 ชีวิต ในช่วงที่อิหม่ามถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำปัตตานี ระหว่างวันที่ 9 ต.ค.2550 ถึง 30 ต.ค.2551 ในข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง โดยอิหม่ามอับดุลการิมถูกคุมขังตลอดการพิจารณาคดี แต่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ


"แม้ว่ากระบวนยุติธรรมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาแล้ว แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมักจะมาค้นบ้าน เพราะสงสัยว่าโต๊ะอิหม่ามน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เราไม่เข้าใจว่าภาครัฐจะเอาอะไรกับพวกเราอีก ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมก็พิสูจน์แล้วว่าเราบริสุทธิ์"


ครอบครัวของอิหม่ามให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนหลังจากที่ได้รับอิสภาพ เจ้าหน้าที่เข้าทำการค้นบ้านรวม 4 ครั้ง และทุกครั้งไม่มีการแสดงหมายค้น ยกเว้นครั้งสุดท้าย วันศุกร์ที่ 23 ม.ค.2551 เวลา 16.30 น. หนึ่งอาทิตย์ก่อนเกิดเหตุการณ์สลด


เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้วสั่งให้ภรรยาของอิหม่ามเซ็นชื่อรับทราบการตรวจค้น พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า..."อยู่ดีๆ หน่อยนะ เพราะบางครั้งเราจำเป็นต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย"   จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จากไป….


หลายเสียงที่ได้ยิน พวกเขาสิ้นหวังไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่ใครๆ ก็คาดหวัง


"แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะกล่าวเสมอว่าจะเป็นรัฐบาลที่เน้นเรื่องความเสมอภาคเคารพสิทธิมนุษยชน แต่เราไม่อยากให้พูดแต่ปาก อยากขอให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองพูดด้วย ถ้าทำไม่ได้ก็อย่ามาพูดเลยดีกว่า" หญิงคนหนึ่งในหมู่บ้าน กล่าว


หากเหตุการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่าความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐคงจะไม่หลงเหลืออีกเลย"


ด่านสกัดทุกร้อยเมตร-ทำไมจับคนร้ายไม่ได้


ไลลา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สิ่งที่นักศึกษาได้ยินได้เห็นจากการพบปะพูดคุยคือ ชาวบ้านไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร สังเกตได้จากในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ขอศพโต๊ะอิหม่ามไปชันสูตรที่โรงพยาบาล แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เพราะชาวบ้านไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมที่ภาครัฐหยิบยื่นให้  


"หลังเกิดเหตุ ญาติผู้เกี่ยวข้องปิดประตูใส่เมื่อเจ้าหน้าที่ขอเข้าไปเยี่ยมเยียน แต่จะอนุญาตเฉพาะนักศึกษา เพื่อนบ้าน และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนความหวาดระแวงและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐได้เป็นอย่างดี และหากเป็นเช่นนี้ ภาครัฐจะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างไร" ไลลา ตั้งคำถาม


ส่วนที่ตำรวจและทหารระดับสูงออกมาการันตีว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ไลลา บอกว่า เป็นเพียงลมปากที่ไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ เพราะจากการลงพื้นที่พบว่า ทุกเส้นทางมีการตรวจค้นอย่างเข้มงวด มีด่านตรวจแทบจะทุก  100 เมตร แล้วทำไมถึงจับคนก่อเหตุไม่ได้ และเพราะเหตุใดคนร้ายจึงสามารถหลบหนีได้อย่างลอยนวล


เมื่อถามว่า หลังจากนี้เครือข่ายนักศึกษาจะจัดชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ไลลา กล่าวว่า "เราไม่ตอบ แต่รับรองว่าถ้าภาครัฐยังไม่สามารถให้ความกระจ่างหรือคลี่คลายความสงสัยและเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้ นักศึกษากับรัฐก็ไม่มีวันยืนอยู่ข้างเดียวกันได้"


"เราขอประกาศตรงนี้เลยว่า   เราจะขอยืนอยู่เคียงข้างชาวบ้าน   แม้ว่าจะต้องถูกมองเป็นศัตรูกับรัฐก็ตาม" ไลลา กล่าว


ระวังชาวบ้าน"เลือกข้าง"เพราะไม่มีทางเลือก


นายลีโอ เจ๊ะกือลี นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาภาคใต้ยังร้อนระอุนั้น เป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมของรัฐไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านได้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านถูกกระทำอย่างซ้ำๆ แต่ไม่เคยได้รับการอธิบายหรือทำความเข้าใจกับเรืองที่เกิดขึ้น โดยสองเหตุการณ์ล่าสุดคือการเสียชีวิตของ นายอับดุลอาซิ  คงเสถียร ชายมือพิการที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และ อิหม่ามอับดุลการิม ยูโซ๊ะ โต๊ะอิหม่ามที่ถูกยิงหน้ามัสยิดบ้านกาหยี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี


"ในฐานะขบวนการนักศึกษาไม่สามารถนิ่งดูดายหากชาวบ้านถูกกระทำอย่างซ้ำๆ ตอนนี้ก็มีกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ส่วนอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อาจมีการรวมตัวของนักศึกษาอีกครั้งเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านก็ได้ หากชาวบ้านยังเป็นฝ่ายถูกกระทำต่อไป"


นายลีโอ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐเร่งแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ มิฉะนั้นแล้วจะเกิดการเลือกข้างขึ้นโดยที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก นอกจากร่วมขบวนการกับกลุ่มที่ต้องการผลประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net