Skip to main content
sharethis

ปรัชญา โต๊ะอีแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


 


จังหวะก้าวของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยนับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่เป็นต้นมา เพราะข่าวคราวเกี่ยวกับปฏิบัติการความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบประเภท "ช็อกทั้งประเทศ" ดูจะลดน้อยลงไป ข่าวสารจากชายแดนใต้กลายเป็นปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงที่รุกเรื่องการใช้กำลัง และปิดล้อมตรวจค้นบ่อยครั้ง ตามด้วยเสียงปืนกับความสูญเสียในลักษณะ "วิสามัญฆาตกรรม" มากกว่า


 


วิสามัญฆาตกรรม เป็นศัพท์เทคนิคทางกฎหมาย จัดเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมายถึงกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งการตายแบบนี้จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามที่กฎหมายกำหนด และต้องมีกระบวนการไต่สวนการตายโดยศาล


 


คำถามที่รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงต้องตอบเสมอเมื่อเกิดการวิสามัญฆาตกรรมก็คือ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่? และสำหรับพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะถูกตั้งคำถามต่อไปอีกว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า?


 


คำถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐถาโถมเป็นระลอกตั้งแต่ต้นปี 2552 ไล่มาตั้งแต่การเผยแพร่คลิปวิดีโอทหารซ้อมชาวบ้าน ตามด้วยองค์การนิรโทษกรรมสากลเปิดข้อมูลเจ้าหน้าที่ไทยซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยกว่า 30 รายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถัดมาไม่กี่วันก็เกิดกรณีทหารวิสามัญฆาตกรรมชายมือพิการเสียชีวิตที่ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จากนั้นในวันที่ 30 ม.ค. ก็เกิดกรณีอิหม่ามมัสยิดบ้านกาหยีที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายนั่งรถกระบะคล้ายของทางราชการยิงตายซ้ำอีก


 


และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ก็คือกรณีที่ อังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ถูกทหารคุกคามจากการนำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานที่ จ.ปัตตานี


 


ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยและหน่วยงานความมั่นคงเสียหายไปพอสมควรจากปฏิบัติการในดินแดนด้ามขวาน


 


ปมปัญหาไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เมื่อมีการตรวจสอบเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ และพบว่าบางเหตุการณ์น่าจะมีเงื่อนงำ เช่น อิหม่ามอับดุลการิม ยูโซ๊ะ ที่สายบุรี ถูกยิงหลังจากเพิ่งออกจากคุกกรณีถูกจับกุมและคุมขังในข้อหาครอบครองอาวุธสงครามมาเพียงไม่กี่เดือน


 


นายอับดุลอาซิ คงเถียร ชายที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่ ต.เมาะมาวี ชาวบ้านระบุว่าเขาเป็นคนมือพิการ ไม่น่าจะยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ได้ แต่ทหารยืนยันว่าชายผู้นี้ใช้มือข้างหนึ่งประคองปืน และมืออีกข้างหนึ่งเหนี่ยวไก โดยมีการปรับแต่งด้ามปืนให้เล็กกว่าปกติ เพื่อให้สามารถจับได้เหมาะมือ


 


กลายเป็นปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบ...


 


ก่อนหน้านั้นยังเคยเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารบุคคลที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ภายหลังถูกควบคุมตัวจากยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น แม้รัฐจะการันตีว่าบุคคลผู้นั้นบริสุทธิ์ แต่ไม่นานก็ถูกยิงตาย หลายคนถูกยิงทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่เพิ่งตามไปเยี่ยมเยียนถึงบ้านด้วยซ้ำ และเกือบทุกครั้งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่


 


นี่คือโจทย์ข้อใหญ่ที่ดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงจะยังขบไม่แตก แม้จะพยายามชี้แจงแต่ก็ทำให้ชาวบ้านยอมรับไม่ได้!


 


 


ทนายมุสลิมจี้รัฐหยุดพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ


อดีลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความจากศูนย์ทนายมุสลิม มองว่า ความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐยังปกคลุมไปทั่ว หลายๆ ครั้งที่เกิดเหตุยิงบุคคลที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวมา ชาวบ้านมักจะเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่


 


"จากประสบการณ์ของผมที่ทำงานในพื้นที่มาตลอด กรณีเหล่านี้แทบไม่เคยมีเสียงพูดจากชาวบ้านเลยว่าเป็นการกระทำของคนร้าย และเจ้าหน้าที่รัฐจะบอกว่ามีคนยุยงให้ชาวบ้านคิดอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นทันทีทันใด มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการยุยงให้เชื่อเช่นนั้นได้อย่างรวดเร็ว" 


 คำถามที่ ทนายดีลัน ตั้งเป็นประเด็นก็คือรัฐควรทำอย่างไร?


 


"ผมคิดว่ารัฐต้องทำงานอย่างเป็นระบบมากกว่านี้ การจับกุมทุกกรณีน่าจะต้องตรวจสอบหลักฐานอย่างชัดเจนก่อน รัฐต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ที่ดูแลลูกๆ ให้ลูกๆ อุ่นใจได้ ไม่ใช่ทำตัวให้ลูกๆ ไม่ไว้วางใจ"


 


 


แนะประสานฝ่ายพลเรือนเยี่ยมชาวบ้านแทนทหาร


เขาเสนอว่า การไปเยี่ยมเยียนบุคคลที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว ไม่ว่าจะในชั้นเรียกไปซักถาม หรือออกจากเรือนจำเพราะชนะคดี ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ไม่ใช่ฝ่ายยุทธการ


 


"ผมอยากให้ลองคิดว่าให้หน่วยงานอื่นทำแทนได้หรือไม่ เช่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ถ้าฝ่ายความมั่นคงบอกว่าจะต้องคุ้มครอง ผมบอกได้เลยว่าไม่ต้องก็ได้ ชาวบ้านเขาอยู่ได้ การส่งทหารในเครื่องแบบไปจะยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงมากกว่า รัฐพยายามบอกว่าทำงานแบบบูรณการแล้ว แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ปัญหานี้สะท้อนได้อย่างชัดเจน"


 


 


หวั่นหันหลังให้กระบวนการยุติธรรม-หนุนนักศึกษามีสิทธิชุมนุม


ทนายอดีลัน ชี้ว่า ความคิดของชาวบ้านในปัจจุบันน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากมีข่าวยิงอิหม่ามที่สายบุรี และยิงชายมือพิการที่เมาะมาวี


 


"ผมกลัวว่าชาวบ้านจะหันหลังให้กับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก และการที่เขาคิดอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะรัฐไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง ฉะนั้นรัฐต้องทบทวนตัวเอง ตอนนี้ชาวบ้านก็เริ่มไม่เอาแล้ว ทำให้เราต้องคิด ชาวบ้านพูดอย่างนี้ก็มีนัยยะ และมีนัยยะที่น่ากลัว นักศึกษาก็เริ่มรู้สึกอย่างนั้นแล้วเหมือนกัน"


 


ทนายอดีลัน ยอมรับว่า ได้รับทราบข่าวที่นักศึกษาเตรียมตัวจัดชุมนุมประท้วงด้วยประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นสิทธิ์ และฝ่ายความมั่นคงไม่ควรขัดขวาง


 


"ท่าทีของนักศึกษานั้น จริงๆ แล้วรัฐต้องกลับมามองตัวเองว่าทำไมนักศึกษาถึงได้ออกมาสะท้อนแบบนี้ การชุมนุมของนักศึกษาผมมองว่าสามารถทำได้ในฐานะคนไทย และความเป็นนักศึกษาสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิทธิ์ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ฉะนั้นรัฐควรมีพื้นที่ให้นักศึกษาได้ยืน ต้องไว้ใจคนไทยด้วยกัน"


 


ทนายอดีลัน กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะที่ผ่านมารัฐมองเพียงว่า นักศึกษาเป็นตัวสร้างปัญหา 


 


"ผมคิดว่ารัฐควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ นอกจากกรอบของรัฐเอง รัฐต้องให้ทางเลือกในการเคลื่อนไหว นักศึกษาเป็นพลังที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน รัฐจึงควรทำดีกับนักศึกษา แต่ที่ผ่านมารัฐมองว่านักศึกษาเป็นตัวเพิ่มปัญหา ทั้งๆ ที่ควรรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วน รวมทั้งนักศึกษาและชาวบ้านด้วย" เขากล่าว


 


 


เลขาฯสนนท.ยอมรับนักศึกษาอึดอัดกับวิธีการของรัฐ


ขณะที่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เพื่อนนักศึกษาอยู่ในภาวะหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐมาก เพราะล่าสุดมีเจ้าหน้าที่ไปค้นบ้าน นายลีโอ เจ๊ะกือลี นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายในการเคลื่อนไหวหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีเพื่อนอีกคนซึ่งเป็นโฆษกของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ถูกคุกคามที่บ้านโดยไม่ทราบตัวคนร้าย และยังมีคนอื่นๆ อีกหลายคน


 


"เพื่อนๆ รู้สึกอึดอัดกันมากในสถานการณ์ขณะนี้ แต่ก็ยังคงมีกำลังใจอยู่ ตอนนี้พวกเราก็ตั้งคำถามว่า ทำไมหลายๆ ครั้งที่เราเรียกร้องความเป็นธรรมต่อภาครัฐ เรามักเป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งที่เราก็ต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี และเชื่อในหลักสิทธิมนุษยชนมาตลอด" 


 


"กระบวนการยุติธรรมในวันนี้ไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมกับเราเท่าไหร่ ทำให้เราเริ่มหมดหวังกับเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่เรากลัวมากก็คือ มีเพื่อนๆ ภาคีจากส่วนกลางหลายคนทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม รู้สึกอึดอัดกับการใช้วิธีการเดิมๆ สื่อสารกับรัฐ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าอารมณ์ตรงนั้นจะระเบิดมาเมื่อไหร่ หรือออกมารูปแบบไหน ทั้งที่จริงๆ ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นเลย" 


 


เลขาธิการ สนนท. ย้ำว่า ถึงวันนี้นักศึกษาหลายส่วนรู้สึกหมดหวังกับภาครัฐในการจัดการปัญหาภาคใต้แล้วจริงๆ 


 


"เราไม่หวังแล้วว่าภาครัฐจะทำให้ความรุนแรงลดลงได้ แต่เราแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เพราะผมยังมีความหวังจากภาครัฐอยู่บ้างในส่วนนี้ หากภาครัฐยอมฟังเสียงเรียกร้องของชาวบ้านหรือนักศึกษาบ้างก็น่าจะดี เราอยากให้รัฐเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน โดยให้ประชาชนกำหนดชะตากรรมของตัวเอง นอกจากนี้เราอยากให้ภาครัฐปฏิบัติตามอนุสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ได้ทำข้อตกลงไว้ในเวทีนานาชาติต่างๆ เพราะเรารู้สึกว่ารัฐยังไม่ได้ปฏิบัติตามเท่าไหร่เลย"


 


เป็นสัญญาณที่ส่งจากนักศึกษา...พลังบริสุทธิ์ที่ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมไทยมาหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์บ้านเรา!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net