สถานการณ์เขื่อนปากมูล: ผลสำรวจชี้ "เปิดเขื่อนถาวร" คือความต้องการอันดับแรกของคนปากมูน

 

รายงานสถานการณ์เขื่อนปากมูล

กองเลขานุการสมัชชาคนจน

 

 

ศาลากลางจังหวัดแน่นขนัด ชาวปากมูนนับพันร่วมประชุมคณะทำงาน

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 10.30 น. ชาวบ้านปากมูนนับพันคน จากพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโขงเจียม อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอสิรินธร ได้ร่วมกันเคลื่อนขบวนเข้าสู่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจุดประสงค์ในการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ นายบุญมี คำเรือง ชาวบ้านทรายมูน อำเภอพิบูลมังสาหาร หนึ่งในชาวบ้านที่ได้ร่วมเดินทางมาด้วยนั้น ได้ชี้แจงว่า " เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชาวบ้านปากมูนได้รับการประสานงานจากทางจังหวัด แจ้งนัดหมายการประชุมคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในชุมชนลุ่มน้ำมูน ในวันที่ 21 มกราคม 2552 เวลา 14.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัด และเหตุที่การประชุมครั้งนี้ที่ได้รับความสนใจเข้าร่วมประชุมจากชาวบ้านปากมูนเป็นจำนวนมากก็เนื่องจากว่า ที่ผ่านมาในช่วงปี 2551 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ได้มีการลงพื้นที่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 เพื่อสำรวจความต้องการของชาวบ้าน และทราบว่าในการประชุมครั้งนี้จะนำเอาข้อสรุปที่ได้มาจากการสำรวจ มานำเสนอในที่ประชุมด้วย จึงต้องการมาร่วมรับฟังว่าหลังจากที่คณะทำงานแต่ละท่านได้รับทราบผลสรุปจากการสำรวจแล้ว จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลอย่างไรต่อไป" นายบุญมี กล่าวอย่างมีความหวัง

 

 

ยันไม่มั่ว / ไม่ลอก ชาวบ้านท้า.! พร้อมให้ตรวจสอบ

 

นายสมเกียรติ พ้นภัย ชาวประมงจากอำเภอโขงเจียม ยังได้กล่าวเสริมขึ้นอีกว่า "อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ได้มีการกล่าวหาและปล่อยข่าวลือเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของการทำสำรวจ และบิดเบือนความต้องการที่แท้จริงของชาวปากมูน เช่นการกล่าวหาว่าการกรอกแบบสำรวจมีการชี้นำ  มีการลอกกัน  ไม่ได้เขียนด้วยตนเอง  มีการกรอกแบบสำรวจซ้ำซ้อน  การทำสำรวจไม่น่าเชื่อถือ จึงจำเป็นต้องออกมาแสดงตัว ยืนยันให้ทางคณะทำงานฯ ได้รับทราบว่า ชาวบ้านที่มารวมกันวันนี้ เป็นผู้ที่ได้ร่วมตอบแบบสำรวจ พร้อมที่จะให้คณะทำงานตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และมีความต้องการให้คณะทำงานได้นำข้อมูลที่ได้รับมาจากการสำรวจ นำไปเป็นพื้นฐานในการวางแนวทางการฟื้นฟูชีวิตและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล"

 

 

เปิดประชุมคนล้นห้อง

 

เมื่อถึงเวลา 14.00 น. การประชุมคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในชุมชนลุ่มน้ำมูน ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี 2 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องสถานที่ประชุม ชาวบ้านปากมูนจึงส่งตัวแทนบางส่วนเข้าร่วมประชุม ส่วนกำลังหลักที่เหลือได้นั่งรอรับฟังการประชุมที่ด้านนอกห้องประชุม โดยการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านโทรศัพท์มือถือมายังรถเครื่องเสียงที่จอดรออยู่ภายนอก ทำให้สามารถติดตามการประชุมได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

รายงานผลสำรวจชี้ชัด "เปิดเขื่อนถาวร" คือความต้องการอันดับแรก

 

เมื่อการประชุมดำเนินไปจนถึงวาระที่คณะทำงานฯ ต้องรายงานผลการสำรวจ ต่อคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในชุมชนลุ่มน้ำมูนนั้น ก็ได้รับความสนใจรับฟังจากชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดทำแบบสำรวจนั้น เริ่มต้นจากเมื่อคราวประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 4/2551 วันที่ 11 สิงหาคม 2551 ได้มีมติให้มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานการประกอบอาชีพและความต้องการของราษฎรในชุมชนลุ่มน้ำมูน โดยคณะกรรมการฯ ได้ลงไปพบปะชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร อำเภอพิบูลมังสาหาร ระหว่างวันที่ 21 - 23 สิงหาคม 2551 เพื่อชี้แจงแบบสำรวจข้อมูลพื้นฐาน และแผนการทำงานของคณะกรรมการฯ

 

การดำเนินการแจกแบบสำรวจได้ดำเนินการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการฯ ร่วมกันแจกและรวบรวมแบบสำรวจ เพื่อนำมาประมวลผล ซึ่งจากการสำรวจพบว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดเป็นอันดับแรก คือ ให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดปีอย่างถาวร ซึ่งมีจำนวนถึง 6,865 ราย รองลงมาคือ ต้องการที่ดินทำกินจำนวน 15 ไร่ 3,930 ราย และถ้ามีการปิดประตูเขื่อนปากมูลให้มีการจ่ายค่าชดเชยครอบครัวละ 500 บาท/วัน จำนวน 1,343 ราย ตามลำดับ

 

 

แบบสำรวจ 15,110 ชุด ระบุอาชีพหลักหาปลา ทำนา

 

จากการรวบรวมแบบสำรวจพบว่า มีการตอบแบบสำรวจทั้งสิ้นจำนวน 15,110 ชุด โดยแบ่งตามพื้นที่ได้ดังนี้

1.) อำเภอโขงเจียม           จำนวน 4,585 ชุด             2.) อำเภอสิรินธร              จำนวน 4,829 ชุด

3.) อำเภอพิบูลมังสาหาร    จำนวน 5,688 ชุด             4.) อำเภอเมือง                จำนวน 1 ชุด

5.) อำเภอตาลสุม จำนวน 7 ชุด

รวมจำนวนทั้งหมด 15,110 ชุด

 

จากการสำรวจพบว่า การประกอบอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่คือการจับปลาในแม่น้ำมูนคิดเป็นร้อยละ 54.2 (9,880) รองลงมาคือทำนา คิดเป็นร้อยละ 28 (5,105) และรับจ้างในชุมชน คิดเป็นร้อยละ 4 (733) ตามลำดับ

 

ด้านการถือครองที่ดินพบว่า ชาวบ้านมีที่ดินเป็นของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 62.7 (9,464) และไม่มีการถือครองที่ดิน คิดเป็นร้อยละ 37.3 (5,646) ชาวบ้านมีที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย เนื้อที่น้อยกว่า 5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 99.8 (8,733) และมีที่ดินทำกินเนื้อที่น้อยกว่า 5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 90.7 (5,856)

 

ความต้องการพัฒนาและระดับการพัฒนา สามารถแยกได้เป็น 3 ระดับ คือ

 

1.) ระดับครอบครัว กิจกรรมพัฒนาระดับครัวเรือน พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีความต้องการให้มีการฟื้นฟูการทำนา คิดเป็นร้อยละ 18.1 (1,693) กิจกรรมการพัฒนาด้านกองทุนเครื่องมือหาปลา คิดเป็นร้อยละ 14.6 (1,361)และพัฒนากิจกรรมด้านการเลี้ยงควาย คิดเป็นร้อยละ 13.6 (1,262) ตามลำดับ

 

2.) ระดับกลุ่ม กิจกรรมการพัฒนาระดับกลุ่ม ที่ชาวบ้านมีความต้องการมากที่สุดคือ กิจกรรมการพัฒนาด้านกองทุนเครื่องมือหาปลา คิดเป็นร้อยละ 17.6 (371) รองลงมาคือการพัฒนากิจกรรมด้านหัตถกรรมครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 11.4 (241)

 

3.) ระดับชุมชน กิจกรรมพัฒนาระดับชุมชน ที่ชาวบ้านมีความต้องการมากที่สุด คือ กิจกรรมด้านการขายสินค้าพื้นเมือง คิดเป็นร้อยละ 18.7 (242) รองลงมาคือ กิจกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ คิดเป็นร้อยละ 18.4 (239) และการพัฒนาด้านเกษตรผสมผสาน คิดเป็นร้อยละ 14.4 (187) ตามลำดับ

 

 

 

ตั้ง ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่างแผนฟื้นฟูฯ ปากมูน

 

ภายหลังการรายงานผลการสำรวจต่อที่ประชุมเสร็จสิ้นแล้วนั้น ที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางถึงข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจ ว่ามีสถานะอย่างไร และมีความสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินการของคณะทำงานฯ หรือไม่ / อย่างไร จนถึงขั้นต้องพักการประชุมในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. เป็นเวลาประมาณ 10 นาที แต่ในที่สุดที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้มีมติดังนี้

 

1.) รับทราบผลการสำรวจและนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน และการแก้ไขปัญหาต่อไป 2.) มอบหมาย ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่างแผนฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน มีตัวแทนชาวบ้าน อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน 3.) ให้เสนอข้อมูลการสำรวจและมติคณะทำงาน ต่อกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง



ชาวบ้านพอใจผลการประชุม

 

ภายหลังการประชุมคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในชุมชนลุ่มน้ำมูนยุติลง นางสุดใจ มหาชัย ชาวบ้านแก่งตะนะ อำเภอโขงเจียม หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านผู้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานฯ ได้ชี้แจงข้อสรุปผลการประชุมผ่านเครื่องกระจายเสียง ต่อหน้าชาวบ้านปากมูนนับพันคน

 

"การประชุมคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในชุมชนลุ่มน้ำมูนวันนี้ ได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ คณะทำงานได้มีมติรับทราบผลการสำรวจที่อาจารย์กนกวรรณ มะโนรมย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ประมวลผลนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงาน และจะนำข้อมูลที่ได้รับมานั้นนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน และการแก้ไขปัญหาต่อไป และที่ประชุมยังมีมติให้แต่งตั้งอาจารย์กนกวรรณ มะโนรมย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่างแผนฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน โดยมีตัวแทนชาวบ้าน อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน"

 

 

ติงการทำงานของคณะทำงานฯ ต้องเคารพตนเอง

 

"แต่กว่าที่ประชุมจะมีมติที่น่าพอใจนี้ออกมาได้ ก็ได้ผ่านการถกเถียงกันในที่ประชุมพอสมควร โดยมีคณะทำงานบางส่วน เช่น นายธรธรรณ์ ชินโกมุท นายอำเภอสิรินธร มีท่าทีไม่ยอมรับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ โดยให้เหตุผลว่า การทำแบบสำรวจมีการชี้นำ บางส่วนก็ลอกกัน และความต้องการของชาวบ้านที่ได้มาก็เป็นข้อเรียกร้องเก่าๆ ของสมัชชาคนจน"

 

นางสุดใจ กล่าวต่ออีกว่า "อยากจะถามท่านธรธรรณ์ ในฐานะที่ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับทราบเรื่องการทำแบบสำรวจ ท่านบอกชาวบ้านว่าถ้ามีความต้องการสิ่งใด ที่คิดว่าสามารถฟื้นฟูชีวิตชาวบ้านได้ให้เขียนลงในแบบสำรวจ แต่เมื่อชาวบ้านเขาเขียนความต้องการของเขาลงไปแล้ว ทำไมจึงต้องมาตั้งคำถามว่ามีการชี้นำบ้าง ลอกกันบ้าง และยังมาพูดอีกว่าความต้องการของชาวบ้านที่ได้มาก็เป็นข้อเรียกร้องเก่าๆ ของสมัชชาคนจน อยากจะถามว่า ตั้งแต่ท่านยังมีตำแหน่งเป็นป้องกันจังหวัดที่อุบลราชธานี และปัจจุบันเป็นนายอำเภอสิรินธร ข้อเรียกร้องเก่าๆ ของสมัชชาคนจนที่ท่านว่านั้นได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่ การทำงานในฐานะคณะทำงานฯ ขอให้มีความเคารพตนเองด้วย ในเมื่อเป็นคนลงไปชี้แจงชาวบ้านด้วยตนเอง ก็ควรจะยอมรับผลการสำรวจที่ได้มา การมีท่าทีเช่นนี้ ชาวบ้านเห็นว่าไม่ถูกต้อง"

 

หลังจากนั้นก็มีตัวแทนชาวบ้านอีกหลายคนขึ้นมาชี้แจงและเล่าบรรยากาศในที่ประชุมให้ชาวบ้านได้รับฟัง ถึงเวลาประมาณ 17.30 น. ชาวบ้านปากมูนทั้งหมดจึงเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณศาลากลางจังหวัด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท