Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศรีสุวรรณ  จรรยา


กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ


 


วันที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้ เป็นวันที่ครบกำหนดการให้มีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 มาครบหนึ่งปีพอดีตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็ต้องถือว่าให้ระยะเวลาการปรับตัวของผู้ประกอบการนานมากพอสมควรทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต หรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขายสินค้า ผู้ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายทางการค้า ฯลฯ ที่จะเตรียมการต่าง ๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรฐาน กระบวนการผลิต การจำหน่ายสินค้าและบริการทั้งหลายให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้สินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 24  สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา


 


หลักการสำคัญ ๆ ของกฎหมายฉบับนี้มีหลายประการด้วยกัน คือ การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่ใช้สินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ นั่นเอง หลังจากที่ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้าและบริการมาตลอดระยะเวลาอย่างยาวนานแสนนาน นั่นหมายความว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป ผู้บริโภคจักได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ตามกระบวนการทางศาล หากสินค้าและบริการนั้น ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค หรือไม่เป็นไปตามคำอวดอ้างในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือตามคู่มือสินค้า โดยมีมูลเหตุสำคัญมาจากสินค้าหรือบริการนั้นไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปลอดภัยต่อการใช้ของผู้บริโภค


 


นอกจากศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องละเมิดแล้ว ในกฎหมายฉบับนี้ศาลอาจจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพิ่มเติมให้มากขึ้นให้กับผู้บริโภคที่เสียหายได้อีก หากความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายต่อจิตใจ อันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายทางด้านร่างกาย สุขภาพอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจิตใจของผู้บริโภคนั้นไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ความหวาดกลัว ความวิตกกังวล ความเศร้าโศกเสียใจ ความอับอาย หรือความเสียหายต่อจิตใจอย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ความเสียหายทางจิตใจนี้ยังไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดในอดีตที่จะกำหนดความเสียหายประเภทนี้ไว้เลยตรง ๆ เท่ากับกฎหมายฉบับนี้ เพราะผู้บัญญัติกฎหมายในอดีตอาจจะยังไม่แน่ใจว่าจะใช้มาตรวัดใดมากำหนดความเสียหายประเภทนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องของมโนคติ หรือนามธรรม ที่ไม่สามารถจับต้องได้ เมื่อกฎหมายฉบับนี้กล้ากำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็เป็นเหตุที่จะทำให้ศาลต้องเร่งกำหนดมาตรฐานความเสียหายทางจิตใจโดยพลันต่อไป อีกไม่นานเราคงจะได้ข่าวการตัดสินเรื่องของการจ่ายค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนกรณีที่เกี่ยวกับค่าเสียหายทางจิตใจจากการที่ใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัย เช่น มีนิ้วมือปะปนมากับแหนม มีแมลงสาบอยู่ในขวดน้ำปลาหรือน้ำอัดลม เป็นต้น


 


แต่ทว่าหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ประกอบการได้ผลิต นำเข้า หรือขายสินค้าโดยรู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าสินค้าไม่ปลอดภัยภายหลังจากการผลิต นำเข้า หรือขายสินค้านั้นแล้วแต่ไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค ศาลอาจจะสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่จะไม่เกินสองเท่าของค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงนั้น ทั้งนี้ ศาลอาจจะดูถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น ความร้ายแรงของความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ, การที่ผู้ประกอบการรู้ถึงความไม่ปลอดภัยของสินค้า, ระยะเวลาที่ผู้ประกอบการปกปิดความไม่ปลอดภัยของสินค้า, การดำเนินการของผู้ประกอบการเมื่อทราบว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย, ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับ, สถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ, การที่ผู้ประกอบการได้ช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคมาก่อนหรือไม่เพียงใด, ตลอดจนอาจดูว่าผู้เสียหายมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่


 


ประการต่อมาคือ การนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict liability) มาใช้บังคับ ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการทางศาลแพ่ง-อาญาทั่วไป กล่าวคือ เมื่อผู้บริโภคเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางศาลแล้ว ผู้เสียหายหรือผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเจ้าของสินค้าหรือบริการนั้นมีกระบวนการผลิต การออกแบบ การนำเข้า การจำหน่ายจ่ายแจกหรือแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาดจนเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอย่างไร เพียงแต่ต้องพิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าของผู้ประกอบการมากน้อยเพียงใดและอย่างไร โดยที่การใช้หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดาทั่วไป


 


ส่วนการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลนั้น หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องคดีได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้ทนายความก็ได้ โดยไปติดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล ณ ที่ทำการศาลแพ่งทุกศาล ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมองหาแผนกคดีผู้บริโภคของศาลนั้น ๆ ให้ทำการช่วยเหลือหรือดำเนินการให้ฟรีได้  หรืออาจจะว่าจ้างทนายความให้การช่วยเหลือให้ก็ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ หรืออาจจะขอให้องค์กรพัฒนาเอกชนประเภทสมาคม หรือมูลนิธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รับรองแล้ว ให้เป็นผู้ฟ้องร้องแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ผู้บริโภคต้องสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมหรือมูลนิธินั้น ๆ เสียก่อน ซึ่งการฟ้องร้องก็จะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทางศาลทั้งปวง


 


ด้านอายุความที่ผู้บริโภคจะใช้สิทธิฟ้องร้องได้นั้น ปกติการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางคดีแพ่งมักจะมีอายุความเพียงแค่ปีเดียว แต่กฎหมายฉบับนี้กำหนดอายุความไว้ถึง 3 ปี นับแต่วันที่ผู้บริโภครู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ต้องรู้ตัวผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิดชอบต่อสินค้านั้นด้วย หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีการขายสินค้านั้น แต่หากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย โดยผลของสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้เสียหายหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแสดงอาการ ผู้เสียหายหรือผู้แทนสามารถใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องได้ภายในระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายต่อตนเอง และรู้ตัวผู้ประกอบการที่ต้องรับผิด ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายที่ปรากฎแก่ตนเอง


 


กฎหมายฉบับนี้กำหนดขึ้นมาใช่ว่าจะเป็นผลร้ายต่อผู้ประกอบการฝ่ายเดียวก็หาไม่ หากแต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เพื่อการป้องปราม ให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานการผลิต การออกแบบ และการควบคุมสินค้าที่สูงมากขึ้น มีคุณภาพดีมากขึ้นไม่ว่าสินค้านั้นจะผลิตภายในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศก็ตาม แต่ผู้บริโภคเองก็ต้องพึงสังวรณ์ไว้เสมอว่า หากมีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการกลั่นแกล้งผู้ประกอบการ ทำการฟ้องร้องโดยใช้เล่ห์ฉลส่อไปในทางทุจริต สร้างเรื่อง ทำพยานหลักฐานปลอม ผู้บริโภคก็อาจจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรืออาจจะต้องถูกผู้ประกอบการฟ้องร้องกลับฐานหมิ่นประมาทได้ โดยเฉพาะการที่ผู้บริโภคอาจรู้อยู่ก่อนแล้วว่าสินค้านั้น ๆ เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net