Skip to main content
sharethis

21 ก.พ. 52 วันที่ 2 ของการประชุม มหกรรมประชาชนอาเซียน ที่ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ "การทำเหมืองในอาเซียน: หรือเรากำลังขุดหลุมฝังตัวเอง"

 


 ------------------------------------


 

โรวิก โอบานีล เจ้าหน้าที่จาก Legal Rights and Natural Resources Center- Kasama sa Kalikasan/ Foe ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมสิทธิตามกฏหมายจากฟิลิปปินส์ เล่าว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ จำนวนมาก ทั้งทองแดงและทองคำ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลของพวกเขาจึงสนับสนุนการทำเหมือง 

 


เขากล่าวว่า อาเซียนมีนโยบายสนับสนุนการทำเหมืองมาตลอด ตั้งแต่ในการประชุมอาเซียนที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2538 เป็นต้นมา โดยเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมือง เพื่อทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม

 


โรวิก กล่าวต่อว่า ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านเหมืองแร่ ครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ที่ประชุมได้เห็นชอบในแผนปฎิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียน ปี 2548-2553 (ASEAN Minerals Cooperation Action Plan : AMCAP 2005-2010) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านการลงทุนทำเหมือง โดยให้ความสนใจกับภาคการลงทุนและการค้า เพื่อสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 

 


"ประกาศต่างๆ ที่อาเซียนลงนามล้วนแต่พูดถึงการเปิดเสรีทางการค้า โดยไม่สนใจคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เลย" เขากล่าว 

 


ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า การทำเหมืองนั้นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยิ่ง 

 


"ถ้ามีการทำเหมืองก็จะไม่มีอาหาร ไม่มีแร่ธาตุที่เพียงพอ" โรวิกกล่าว

 


สิตติ เมย์มูนาธ เจ้าหน้าที่จาก JATAM อินโดนีเซีย เล่าว่า การทำเหมืองแร่นำมาซึ่งความยากจน ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำและเชื้อเพลิงจำนวนมากด้วย อีกทั้งของเสียจากการทำเหมืองยัีงไหลมาตามน้ำ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น 


 

รอดนี กาลิชา จากพันธมิตรต่อต้านการทำเหมือง (Alliance to stop mining หรือ ATM) จากฟิลิปปินส์ ชี้ว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ของสหประชาชาติ คือเพื่อรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่อาเซียนกลับทำตรงข้าม

 


นอกจากนี้แล้ว เขาตั้งคำถามว่า กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนจะเป็นเพียงเสือไร้เขี้ยวหรือไม่ เนื่องจากในกฎบัตรอาเซียนได้่ระบุว่า จะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน 

 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net