วิพากษ์ "เอฟทีเอ อาเซียน-อียู" ประเด็นสิทธิบัตร-แรงงาน บีบคนเล็กไร้ที่ยืน

21 ก.พ.52 วันที่สองของการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ก.พ.- 1 มี.ค. นี้ มีการสัมมนาในหัวข้อย่อยต่างๆ อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "มุมมองวิพากษ์ต่อข้อตกลงการค้าเอเซียน-สหภาพยุโรป : ข้อห่วงใยและโอกาสในการรณรงค์"

 

------------------------------------------------------------

 

ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) ระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป กำลังเป็นประเด็นร้อนในปัจจุบันเพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการวิพากษ์เนื้อหาในหลายมิติ

 

"เมื่อก่อนสหภาพยุโรปจะไม่ก้าวร้าวอย่างนี้ ยังพอมีความเป็นธรรมบ้าง แต่หลังจากมีเอฟทีเอของสหรัฐอเมริกา ท่าทีของสหภาพยุโรปเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ความตกลงที่ร่างขึ้นแทบไม่ต่างอะไรกับของอเมริกา ซึ่งมุ่งขยายขอบเขตอำนาจผูกขาดด้านต่างๆ ให้มากที่สุด และรัฐบาลที่เป็นคู่ภาคีก็ต้องทุ่มทรัพยากรจำนวนมากในการบังคับใช้อย่างเข้มงวด" เกล กากอเร่ นักวิจัยผู้ศึกษาความตกลงเขตการค้าเสรีของประเทศต่างๆ กล่าว

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ศึกษาด้านการเข้าถึงยาในเอฟทีเอหลายฉบับ กล่าวถึงข้อตกลงของอียู-อาเซียนว่า มีเนื้อหาบังคับให้คู่ภาคีเข้มงวดกับระบบสิทธิบัตร โดยเฉพาะกับยา เพิ่มขึ้นมาก โดยพูดถึงแต่มุมของการค้าและการผลิต แต่ไม่ได้สนใจการเข้าถึงยาของประชาชน อย่างไรก็ตาม สภาพยุโรปดูเหมือนจะกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้ฉลาดกว่าฉบับของสหรัฐอเมริกา และเข้มงวดกว่า เพราะระบุว่าถ้าคู่ภาคีไปตกลงกับประเทศอื่นไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ไว้อย่างไรก็ต้องให้สิทธิกับอียูเช่นนั้นด้วย

 

ข้อผูกมัดที่จิราพรคิดว่าเป็นปัญหามีหลายประการ เช่น การกำหนดให้ต้องรับอนุสัญญา PCT (Patent Cooperation Treaty) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับการจดสิทธิบัตรแก่ผู้ถือสิทธิอย่างมาก, ผู้ยื่นขอสิทธิบัตรสามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแม้เป็นสาระสำคัญของการขอจดสิทธิบัตรได้ตลอดเวลา ทั้งที่ตามมาตรฐานทั่วไปไม่อนุญาต ซึ่งจะมีผลทำให้สิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุ เพราะสามารถเปลี่ยนและมาจดเพิ่มได้ตลอด, ขยายเวลาการผูกขาดสิทธิบัตร โดยระบุให้รัฐชดเชยเวลาในการพิจารณาเข้าไปด้วย ส่งผลให้อายุสิทธิบัตรซึ่งปกติอายุ 20 ปี ยาวนานขึ้นไปอีกอาจถึง 15 ปี โดยไม่สนใจว่าความล่าช้าในการพิจารณาเกิดจากใคร, ทำให้ไม่มีโอกาสนำเข้ายาราคาถูกมาใช้ในประเทศได้ แม้จะสามารถประกาศใช้ CL (Compulsory Licensing) ได้ แต่ในทางปฏิบัติจะไม่สามารถทำได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามนำยาชนิดเดียวกันมากระจายในตลาดโดยที่ยาที่มีสิทธิบัตรวางตลาดอยู่

 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากองค์กรหมอไร้พรมแดน กล่าวถึงประเด็นสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตว่า ในความตกลงของยุโรปกำหนดให้ต้องผูกพัน UPOV 1991 (Union for the Protection of New Varieties of Plants) และ อนุสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่จะมีผลให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมถึงจุลชีพได้ ทั้งที่สำหรับประเทศไทยแล้วมีกฎหมายเฉพาะที่ยืดหยุ่นกว่า มีหลักการแบ่งปันผู้ประโยชน์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นเจ้าของพันธุกรรมกับผู้คิดค้นอยู่แล้ว และยังพิจารณาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกร ชุมชน เป็นหลัก แต่ความตกลงนี้เน้นให้ความคุ้มครองผู้ถือสิทธิ และถือเป็นการคุ้มครองที่เข้มงวดที่สุดในโลกก็ว่าได้

 

กรรณิการ์ กล่าวถึงผลกระทบต่อเกษตรกรว่า ถ้ารับความตกลงนี้จะทำให้เกษตรกรประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่บริษัทจดสิทธิบัตรไว้เพาะปลูกตามปกติได้อีกต่อไป ต่อซื้อทุกฤดูกาล บริษัทสามารถผูกขาดตาดได้มากขึ้นจากเดิมที่ผูกขาดอยู่บางส่วนแต่ก็มีมูลค่ามหาศาล ด้านความหลากหลายทางชีวภาพจะลดน้อยลงเพราะจะเหลือแต่พันธุ์ที่ทำตลาดได้ ข้อมูลพันธุกรรมต่างๆ จะอยู่ในมือบริษัทมากขึ้น ที่สำคัญไม่มีหลักการแบ่งปันผลประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นเจ้าของพันธุกรรม เธอยังยกตัวอย่างประเทศคอสตาริกาที่เซ็นเอฟทีเอกับอียูแล้ว และต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรพืชจีเอ็มโอ จากเดิมที่คอตาริกาไม่อนุญาตในเรื่องนี้

 

ไอรีน ซาเวีย จากองค์กรด้านแรงงานในมาเลเซีย กล่าวถึงผลกระทบต่อแรงงานหญิง โดยเธอเริ่มเล่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้จะยังไม่มีความตกลงนี้ เพราะแรงงานหญิงก็ได้รับผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก ผู้หญิงจากชนบทจำนวนมากอพยพเข้ามาทำงานในเขตนี้ซึ่งอ้างถึงการสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงาน แต่ผ่านมา 20-30 ปี พบว่าแรงงานหญิงไม่มีความมั่นคงในการจ้างงาน โดยเฉพาะระยะหลังที่ผลักดันลูกจ้างไปเป็นการจ้างเหมานอกระบบมากขึ้น ค่าแรงก็ไม่ได้สูงอย่างที่คิด บางแห่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ สภาพการจ้างงานก็ไม่ปลอดภัย ถูกบังคับให้ทำงานยาวนานขึ้น ทำงานหนักขึ้น ถูกทำโทษถ้าทำพลาด จำกัดการเข้าห้องน้ำ และบางอุตสาหกรรมก็ต้องสัมผัสกับสารเคมี

 

"ยิ่งเซ็นเอฟทีเอ โอกาสที่สภาพอย่างนี้จะดีขึ้นยิ่งไม่มี มีแต่จะยิ่งเลวร้ายลง" ไอรีนกล่าว พร้อมทั้งระบุถึงความสิ้นหวังต่อขบวนสหภาพแรงงาน ยกตัวอย่างในมาเลเซีย เพราะล้วนถูกทำให้อ่อนแอ ไม่สามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ และไม่ครอบคลุมถึงแรงงานหญิงนอกระบบซึ่งมีจำนวนมาก แต่กระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มก้อน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท