Skip to main content
sharethis

วานนี้ (21 ก.พ.) เวลา 14.20 น. ในการประชุม "อาเซียนภาคประชาชน" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนากลุ่มย่อยหัวข้อ "การเมืองภาคประชาชนและชุมชนทางเลือก" ดำเนินรายการโดยนางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


 


การเมืองไม่เห็นหัวคนจน จึงต้องมีการเมืองบนท้องถนน



นายพุต บุญเต็ม ชาวบ้านเครือข่ายสมัชชาคนจน กล่าวว่า ในไทยมีคน 2-3 กลุ่มที่สามารถกุมอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจได้ ทั้งยังชอบเอารัดเอาเปรียบและไม่เห็นหัวคนจน คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนักกฎหมาย ซึ่งพยายามอ้างว่าใช้กลไกในระบอบประชาธิปไตย แต่เรามักจะถามว่าเป็นประชาธิปไตยเพื่อใครกันแน่ เพราะเมื่อผ่านเลือกตั้งไปแล้วก็ไม่เอื้อประโยชน์ให้คนจน ไม่เห็นหัวชาวบ้าน จึงเป็นทั้งการเมืองและการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนจน


 



นายพุฒยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนราศีไศล ที่ใช้งบประมาณ 785 ล้านบาท ต้องใช้พื้นที่เป็นแสนไร่ เพียงเพื่อการชลประทาน 43,000 ไร่ จึงขอถามว่าคุ้มค่าหรือไม่


 



นายพุฒกล่าวถึงความจำเป็นของการมีการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะการมีสมัชชาคนจน เพราะการเมืองในระบบไม่เห็นหัวคนจน ดังนั้นการเมืองภาคประชาชนจึงต้องออกไปเดินบนท้องถนน เพราะทั้งกฎหมายและนโยบายของรัฐจะทำโครงการพัฒนาใดๆ ก็ตามไม่ได้ศึกษาผลกระทบของชาวบ้าน และไม่มีค่ารื้อย้ายให้ชาวบ้าน


 



นักกิจกรรมเครือข่ายสมัชชาคนจนผู้นี้ ยังกล่าวว่ายุทธวิธีทางการเมืองของชาวบ้านมีความหลากหลาย ทั้งปิดถนน ยึดเขื่อน ทำในสิ่งที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะไม่เดินลงมาบนท้องถนน ไม่ทำให้รถติด ก็ไม่มีทางได้เป็นข่าว การสร้างเครือข่ายและอำนาจต่อรองจำเป็นต้องทำต่อไปและผลักดันเรื่องนโยบายผ่านการเมืองบนท้องถนน


 



เขากล่าวทิ้งท้ายว่าในอาเซียนจะมีกฎบัตรอะไรก็ตาม น่าจะผ่านเวทีประชาสังคมของประชาชนในอาเซียนเสียก่อน โดยเอาบทเรียนมาจากโครงการพัฒนาของรัฐที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวชนบทเป็นอย่างมาก ไม่ต้องให้คนจนเสียสละตลอดเวลา ต่อไปนี้รัฐในอาเซียนต้องเห็นหัวเราบ้าง รัฐในอาเซียนต้องเห็นหัวคนจน


 


เผยชุมชนยโสธรชาวนาถือศีล-ทำนา ปลูก "ข้าวคุณธรรม" ส่งขายเอ็มโพเรี่ยม



น.ส.นิตยา จิตติเวชกุล กล่าวว่าเมื่อปี 2550 ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยศึกษาชุมชนมีความสุข 8 แห่งทั่วประเทศไทย สรุปได้ว่าชุมชนทางเลือกต้องมีวิถีที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้ชุมชนมีพลังอำนาจในการกำหนดเส้นทางของตัวเอง และการเมืองจากรากหญ้าต้องให้ทุกส่วน ทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกชาติพันธุ์มามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน และหากเกิดโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน ชุมชนต้องมีบทบาทในการตัดสินใจ จากบทเรียนพบว่าที่ชุมชนสามารถสร้างความเข้มแข็งได้ส่วนหนึ่งคือได้ผ่านการต่อสู้มาและได้นำหลักพุทธศาสนาและมิติทางจิตวิญญาณเข้ามาทำงานร่วมกันกับชุมชน


 



น.ส.นิตยา ยังกล่าวว่า ปัจจุบันหลายชุมชนในชนบทเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ แต่ในการวิจัยชุมชนมีความสุขพบว่าบางชุมชน อย่างเช่นที่ จ.ยโสธร ไม่ได้ทำแค่ปลูก "ข้าวอินทรีย์" แต่ทำ "ข้าวคุณธรรม" เพราะสมาชิกในชุมชนถือศีลและทำนาไปด้วย เพื่อนำข้าวที่ได้มาขายที่ห้างเอ็มโพเรี่ยม เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาตัวเอง และสร้างการเชื่อมต่อกับภายนอก


 



การเมืองภาคประชาชนเกิดเมื่อประชาชนเข้าไม่ถึงอำนาจ "ประชาธิปไตยตัวแทน"



นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กฎบัตรอาเซียนระบุว่าจะเคารพหลักแห่งประชาธิปไตย หลักแห่งธรรมาภิบาล หลักแห่งสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และหลักแห่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จึงตั้งข้อสังเกตว่านิยามของรัฐจะเหมือนของประชาชนหรือเปล่า ซึ่งประเทศไทยเผชิญปัญหาทำนองนี้เสมอ


 



ประธาน กป.อพช. ผู้นี้ยังเสนอว่า "การเมืองภาคประชาชน" เกิดเพราะ "ประชาธิปไตยแบบตัวแทน" เป็นพื้นที่อำนาจของชนชั้นนำ ไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนเข้าไม่ถึงอำนาจนี้ ไม่มีประชาชนธรรมดาเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง คือ เมื่อประชาชนให้อำนาจเขาผ่านการเลือกตั้ง เราก็มาอยู่ที่ขอบนอก ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ


 


ดังนั้น "ประชาธิปไตยตัวแทน" จึงไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของพี่น้องในสังคมไทยได้เลย แต่ไปตอบสนองผลประโยชน์กับคนบางกลุ่ม ไม่ได้เอื้อให้กับการแก้ปัญหาสำหรับคนทุกกลุ่มและกลายเป็นภัยคุกคามกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เช่น สร้างเขื่อนก็ไปคุกคามประชาชนที่อยู่ในพื้นที่


 



ถ้าการเมืองระบบตัวแทนไม่ตอบสนองต่อปัญหา ชาวบ้านจึงมีปฏิกิริยาตอบกลับ เพื่อขอมีส่วนร่วมกับนโยบายของรัฐ ในรอบ 10 ปีมานี้จะเห็นว่าชาวบ้านประกาศปฏิญญาว่าขอจัดการทรัพยากรและการพัฒนาด้วยตัวเอง ไม่ให้รัฐและทุนต้องกำหนดตลอด ชาวบ้านขอมีส่วนร่วมในบ้านของตัวเองบ้าง นี่คือการเมืองภาคประชาชน ทั้งหมดเป็นการปรับสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐ เป็น "การเมืองพลเมือง" ประชาชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง มีระยะห่าง มีอิสรภาพพอสมควรกับรัฐ การเมืองแบบนี้เป็นการเมืองที่สำคัญ ไม่ต้องตั้งพรรค ไม่ต้องเลือกตั้ง เป็นสามัญชนธรรมดาอยู่บ้าน ก็สามารถทำการเมืองภาคประชาชนได้ ประชาชนสามารถมารวมกันได้โดยไม่ต้องมียศตำแหน่งมาก่อน


 



นายไพโรจน์ ยังแสดงความไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองมักท้าทายให้ภาคประชาชนว่าแน่จริงก็ลงไปแข่งเลือกตั้ง โดยไพโรจน์บอกว่าภาคประชาชนไม่ได้ต้องการมีอำนาจเช่นนั้น เพียงแต่ต้องการมีโอกาสในการตัดสินใจและขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบ้างเท่านั้น


 


ประภาสเชื่อไทยอยู่ในยุคประชาธิปไตยค่อนใบ พลังอนุรักษ์หวนคืน



ด้าน ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเมืองภาคประชาชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นาน โดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช เป็นผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรกในช่วงทศวรรษที่ 2530 มีความสำคัญต่อประเทศโลกที่ 3 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมต่อสู้กับทหาร ต่อสู้กับระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ และต่อสู้กับประชาธิปไตยแบบ 10 วินาที ขณะที่ตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งก็ใช้นโยบายที่กระทบต่อฐานทรัพยากรของคนจน เพราะการเมืองเป็นไปแบบที่ชาวบ้านเรียกว่า "การเมืองไม่เห็นหัวกู"


 


ดังนั้น การเมืองบนท้องถนน การสร้างอำนาจการเมืองแบบสมัชชาคนจนจึงเกิดขึ้น คนจนต้องสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองต้องเห็นหัวกู ดร.ประภาสยังกล่าวด้วยว่า ไม่ว่าที่ผ่านมาพวกเราจะตำหนิพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างไร แต่ขบวนการนี้ก็การสะท้อนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ฉ้อฉลของการเมืองแบบตัวแทน


 



ดร.ประภาส กล่าวว่า สร้างพลังในเครือข่ายคนจน ไม่ใช่การสร้างเขตอิสระแบบปลอดอำนาจรัฐ แต่หลายกรณีก็เป็นการไปประสานรัฐกระจายเอาอำนาจมาสู่ชุมชน เช่น พรบ.สภาองค์กรชุมชน แม้จะสามารถผ่านกฎหมายมาได้เพียงสภาที่ปรึกษาชุมชน แต่ถือเป็นความพยายามในการถ่ายโอนอำนาจรัฐมาสู่ชุมชน



เขายังกล่าวถึงการสร้างการเมืองภาคประชาชนเชิงสถาบัน และการขยายประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยทางตรง โดยยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธระบบเลือกตั้ง แต่เห็นว่าแค่เลือกตั้งยังไม่พอ การมีส่วนร่วมของประชาชนควรมีทุกระดับ มีการตรวจสอบนโยบายสาธารณะโดยประชาชนมีส่วนร่วม


 



ดร.ประภาส กล่าวว่า ในความเห็นของเขาเห็นว่าประชาธิปไตยขณะนี้เป็นประชาธิปไตยค่อนใบคือเป็นประชาธิปไตยราว 2 ใน 3 หนึ่ง มีกลุ่มทางการเมืองแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ หนึ่งคือ ภาคธุรกิจ เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนและนักเลือกตั้ง ที่เริ่มอ่อนตัวลงไป อีกส่วนคือ ภาครัฐและอีกส่วนที่ผมไม่อยากพูดถึง แต่ขอให้จินตนาการเอาเอง อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยของอภิสิทธิ์ชน ตุลาการภิวัตน์และอำนาจระบบราชการ ส่วนที่สามคือภาคประชาชน เป็นประชาธิปไตยทางตรง ขบวนการเคลื่อนไหว ไปปะทะ ประสานในสองส่วนอำนาจก่อนหน้านี้ คือภาคประชาชนเริ่มมีที่มีทางในการสถาปนาประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพื่อจัดการชีวิตสาธารณะกันเอง


 



สิ่งที่รัฐบาลทำจะเห็นว่า นโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนๆ ก็เหมือนกัน ที่ชาวบ้านเรียกว่า "อัปรีย์ไป จัญไรมา" คือเหมือนกันหมด ดังนั้น ในอนาคตเราจะทำอย่างไรให้สวัสดิการสังคมได้ลงรากปักฐาน แทนสังคมสงเคราะห์แบบแจกเป็นรายๆ


 



ขอเรียกสถานการณ์ในขณะนี้ว่าสถานการณ์เหลือง-แดง ขอเรียกร้องให้นับศพภาคประชาชนกันให้เสร็จเรียบร้อย คือเลิกรบกันซะ ฝ่ายสีเหลืองเองก็มีข้อจำกัด ประชาธิปไตยแบบพันธมิตรคือการเมืองแบบเอาอำนาจขึ้นข้างบน ไม่เห็นหัวคนจน เห็นคนจนเป็นเหยื่อทักษิณ สองคือไม่สนใจปัญหาคนจน มีการพูดในการชุมนุมบ้าง แต่พูดตอนตี 5 ทุกวัน ส่วนสีแดงสนใจประชาธิปไตยระบบตัวแทนที่มีข้อจำกัด แม้สนใจเรื่องสวัสดิการอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้สร้างสวัสดิการให้คนเข้มแข็งเท่าไหร่นัก เราคงเห็นชัดว่ารัฐกับภาคธุรกิจไปในทิศทางเดิม เรายังอยู่ในระบบที่ "ยังอยุติธรรม" เราคงต้องกลับมาทบทวนข้อขัดแย้งบางอย่าง แล้วมาสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่เอาปัญหาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง


 


ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนระบุ "คนจนเพราะถูกหลอกให้เสียสละเพื่อการพัฒนา"



ในช่วงแลกเปลี่ยน นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า เขาเชื่อว่าชาวบ้านรู้จักสิทธิและรู้จักหน้าที่ แต่สิ่งที่เข้ามาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ที่เข้ามารอนสิทธิชาวบ้าน คือ รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ซึ่งไม่รู้จักสิทธิของท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม แต่ได้เอาสิ่งใหม่ๆ มาครอบจนรอนสิทธิเดิมที่ชาวบ้านมีอยู่ ทำลายประเพณีวัฒนธรรมเดิมๆ ที่มีอยู่ ผูกขาดโดยผู้รู้หรืออ้างตัวว่ารู้อยู่จำนวนหนึ่ง


 



เพราะฉะนั้นการเมืองภาคประชาชนที่มันเกิดขึ้นเพราะสิทธิตรงนั้นมันถูกรบกวน และต้องดำเนินการเพื่อปกป้องและพิทักษ์สิทธิของพวกเขา มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเขาไปยื่นหนังสือ เขาไปร้องเรียน ทุกวันนี้เขาต้องไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน เพราะการสร้างเขื่อนสิริกิติ์เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เขาต้องอพยพไปอยู่ที่นั่น ถูกราชการเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านเสียสละที่ดิน แล้วบอกว่าเมื่อย้ายจะได้ค่าชดเชย ได้ที่ดิน แต่ทุกวันนี้เขาก็ยังไม่ได้เอกสารสิทธิในที่ดิน และกลายเป็นผู้บุกรุกอุทยาน


 


นักกิจกรรมอินโดนีเซียเสนอตั้งพรรคภาคประชาชน



ส่วนนักกิจกรรมชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า พรรคโกลคาร์ของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ได้รับการเลือกตั้งในปี 2547 และในการเลือกตั้งปีนี้สงสัยว่าพรรคนี้จะกลับมาด้วย สถานการณ์ในไทยเป็นแบบนี้หรือไม่ และเห็นด้วยกับผู้ร่วมเสวนาว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ ดังนั้นในอินโดนีเซียกลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ในอินโดนีเซียและสหภาพแรงงาน ชาวนา ชาวไร่ มาร่วมกันตั้งพรรคการเมืองร่วมกัน


 



รัฐประหาร 2459 ทุนเก่าปะทะทุนใหม่



ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ตอบคำถามนักกิจกรรมในอินโดนีเซียว่า ประเภทนักการเมืองไทยตั้งแต่หลัง 2475 ก่อนยุค 14 ตุลาคม 2516 นักการเมืองในพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งด้วย มีข้าราชการ 80-90% มีนักธุรกิจเล็กน้อย ต่อมามาถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เริ่มมีสัดส่วนนักการเมืองท้องถิ่น-เจ้าพ่อ ที่เติบโตมากับการพัฒนาทุนนิยม สูงสุดของพัฒนาการนี้คือยุค พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ โดยมีนักอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับพรรคชาติไทยในระดับท้องถิ่นชนะการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล


 


อีกยุคคือสมัยทักษิณหรือที่บางคนเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" มีระบบที่นายทุนใหม่หรือทุนโลกาภิวัตน์เข้าไปกุมพรรคการเมือง ทุนกลุ่มนี้โตมากับธุรกิจสื่อสาร ระบบปาร์ตี้ลิสต์เปิดโอกาสให้นายทุนมืออาชีพเข้ามาในวงการเมือง ส่วนนายทุนท้องถิ่นกลับไปเป็นแค่พวกยกมือในสภา มีนักการเมืองท้องถิ่นกลับไปเล่นการเมืองท้องถิ่นเยอะ เพราะงบประมาณในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมันเยอะกว่า


 



หลังการรัฐประหารปี 2549 เห็นได้ชัดว่ามีการปะทะของทุนเก่ากับทุนใหม่ ระบบการเมืองที่มีการออกแบบใหม่หลังรัฐประหาร มีการออกแบบให้ทุนท้องถิ่นกลับมามีอำนาจต่อรองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหนีทุนโลกาภิวัตน์แบบทักษิณ มีระบบโควตารัฐมนตรีกลับมา จะเห็นว่ากลุ่มเพื่อนเนวิน หรือวังโน้น วังนี้ มี ส.ส. 5 คน ก็ได้โควตารัฐมนตรี 1 คนเป็นต้น คือตอนนี้ทุนท้องถิ่นระบอบราชการ-ทหารฟื้นตัว ประสานกับพลังชนชั้นกลาง และพลังที่พูดไม่ได้อีกส่วนหนึ่ง ตอนนี้จึงเป็นการเมืองสองขั้วใหญ่


 



ไพโรจน์ตอบคำถามอินโดนีเซียยันภาคประชาชนไม่ตั้งพรรคการเมือง-ขอคู่ขนาน



นายไพโรจน์ พลเพชร อภิปรายและตอบคำถามนักกิจกรรมอินโดนีเซียที่ถามเรื่องพรรคการเมืองของภาคประชาชนในประเทศไทยว่า จะเห็นได้ว่าระบบการเมืองแบบพรรคการเมืองรับใช้ประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ยืนยันว่าการเมืองภาคประชาชนต้องอยู่ เป็นการเมืองคู่ขนาน และไม่จำเป็นต้องสร้างพรรคการเมือง


 


ทั้งนี้การเมืองภาคประชาชนต้องดำรงอยู่ แต่ไม่ใช่การเมืองแบบเก่าที่ส่งคนไปตั้งพรรคแบบกลุ่มผลประโยชน์ แต่การมีการเมืองภาคประชาชนก็เพื่อ "แชร์อำนาจรัฐ" ที่สำคัญการเมืองภาคประชาชนไม่มีข้อจำกัดแบบการเมืองในระบบ เพราะคนจบ ป.4 เป็นวุฒิสภาไม่ได้ แต่ก็เล่นการเมืองภาคประชาชนได้


 



"ใครจะสร้างพรรคการเมืองสร้างไป ผมไม่ขัดขวาง แต่การตั้งพรรคต้องไม่ใช่การลดทอนอำนาจการเมืองภาคประชาชน และเอาการเมืองภาคประชาชนไปสร้างพรรค" นายไพโรจน์ย้ำ



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net