"วิทยุชุมชนไม่มีโฆษณา" ได้ฤกษ์รับใบอนุญาตชั่วคราว เริ่ม เม.ย.นี้

วานนี้ (25 ก.พ.) รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม คณะทำงานในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวในการเสวนา "ผ่าแผนรื้อวิทยุชุมชน ของใคร เพื่อใคร?" จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่า คณะทำงานได้สรุปหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมเสนอ กทช.เพื่อประกาศใช้ เพื่อออกใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปี ให้วิทยุชุมชนภายในเดือน เม.ย.นี้

 

คุณสมบัติหลักของวิทยุชุมชน ที่เข้าข่ายได้รับใบอนุญาต คือ วิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณา เพราะสาระที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ระบุว่า วิทยุชุมชน คือ วิทยุที่ประกอบกิจการแบบไม่แสวงหากำไร ไม่มีรายได้จากโฆษณา

 

คณะทำงานไม่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ ด้วยการให้ใบอนุญาตกับวิทยุชุมชนที่มีโฆษณาได้ เพราะเป็นการทำหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงต้องการให้วิทยุชุมชนที่มีโฆษณา เข้าใจหลักปฏิบัติของคณะทำงานชุดนี้ ที่ไม่สามารถให้ใบอนุญาตในครั้งนี้

 

ส่วนวิทยุชุมชนที่ไม่เข้าข่าย ต้องรอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) มาออกใบอนุญาตให้วิทยุชุมชนที่มีโฆษณา เพราะจัดอยู่ในผู้ประกอบกิจการภาคธุรกิจ

 

"ต้องการให้สังคมเข้าใจถึงจุดเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปสื่อในครั้งนี้  ที่เริ่มในกลุ่มวิทยุชุมชนแท้จริงก่อน โดยไม่ต้องการเห็นการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการกดดันภาครัฐจากกลุ่มที่ไม่พอใจ เพราะอาจจะส่งผลต่อการปฏิรูปสื่อให้ล่าช้าออกไปอีก" รศ.ดร.พนากล่าว

 

แม้ว่า กทช. จะให้ใบอนุญาตชั่วคราวกับวิทยุชุมชน ที่ไม่มีโฆษณา เป็นกลุ่มแรก แต่เชื่อว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับวิทยุชุมชนกลุ่มที่เหลือเพียงแต่ขณะนี้ต้องการทำให้กลุ่มที่ไม่ถูกกฎหมายอย่างวิทยุชุมชน ไม่มีโฆษณา เป็นสื่อที่ถูกกฎหมายก่อน เพราะเป็นสื่อของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

กลุ่ม วทท.ร้อง ไม่มีที่ยืน

 

ทางด้านนายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) กล่าวในเวทีเดียวกันว่า วทท. มีสมาชิกผู้ประกอบการวิทยุท้องถิ่นประมาณ 500 ราย เป็นวิทยุชุมชนแบบมีโฆษณา มีเจตนารมณ์ต้องการทำธุรกิจ และเกิดจากระเบียบของกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) ที่เปิดโอกาสให้ทำวิทยุชุมชน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2547 สมัย ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศมติ ครม.ให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง

 

"การเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนที่มีโฆษณา ก็มาจากภาครัฐ ออกระเบียบให้ดำเนินการได้ แต่ในการจัดระเบียบครั้งนี้ กลับทำแค่บางส่วน โดยไม่ให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชน ที่มีโฆษณาด้วย ทำให้พวกเราไม่มีที่ยืนอยู่ในสังคม ทั้งๆ ที่ภาครัฐเป็นผู้ทำให้วิทยุกลุ่มนี้เกิดขึ้น" นายเจริญกล่าว

 

กลุ่มวิทยุท้องถิ่นไทย ที่เป็นวิทยุชุมชน มีโฆษณา ต้องการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีรายได้จากโฆษณา และสนับสนุนเงินกองทุนให้กับกลุ่มวิทยุชุมชนแท้จริง แต่ที่ผ่านมา ภาครัฐเป็นส่วนที่ทำให้การปฏิรูปสื่อไม่เกิดขึ้น ไม่เกิดองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ และไม่เกิดกองทุนสนับสนุนสื่อชุมชน

 

นายเจริญ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนของวิทยุชุมชนท้องถิ่นไทย จะยื่นเรื่องในชั้น กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล ให้ออกใบอนุญาตชั่วคราว ให้วิทยุชุมชน ที่มีโฆษณาด้วย ระหว่างที่รอจัดตั้ง กสทช. ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกิดปัญหาล่าช้าเหมือนในอดีตหรือไม่

 

"ที่ผ่านมา วิทยุชุมชนเป็นกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แม้จะไม่ได้ใบอนุญาตชั่วคราวจาก กทช.ในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้วิตกกังวลในการประกอบกิจการต่อไประหว่างนี้ แต่ก็ไม่สบายใจนัก จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.องค์กรฯ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ" นายเจริญกล่าว

 

ปัจจุบัน กลุ่ม วทท. มีสมาชิก ประมาณ 500 ราย แต่ละรายมีพนักงาน 10 คน รวมทั้งหมด 5,000 คน ซึ่งเป็นเพียงวิทยุชุมชน มีโฆษณาเพียงกลุ่มเดียว จากทั้งหมดกว่า 5,000 สถานีทั่วประเทศ ขณะที่วิทยุชุมชน ไม่มีโฆษณา มีประมาณ 100 สถานีเท่านั้น จึงมั่นใจว่าภาครัฐคงไม่ดำเนินมาตรการปิดสถานีวิทยุชุมชนที่มีโฆษณา หลังจากไม่เข้าข่ายได้รับใบอนุญาตชั่วคราว เพราะถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่จะทำให้คนตกงานจำนวนมาก

 

 

คาดร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ เข้าครม.สัปดาห์หน้า

 

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า กทช. ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางโทรคมนาคมของประเทศไทย โดยเฉพาะให้รัฐบาลสนับสนุนเร่งดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยเบื้องต้น รัฐบาลจะนำกฎหมายดังกล่าวเสนอเข้าสู่สภาอีกครั้ง ประมาณสัปดาห์หน้า ตามกระบวนการทางสภาจะรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดของกฎหมาย คาดเสร็จสิ้นกระบวนการทันการประชุมสภาสมัยหน้า

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับ กทช.เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาให้เหมาะสมมากที่สุด และขั้นตอนกรรมาธิการ ต้องใช้ร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามาทั้ง 4ร่าง คือ 1.ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ 2.ร่างของ กทช. 3.ร่างจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย และ 4.ร่างของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม โดยวุฒิสภายังไม่รวมร่างกฎหมายจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ในการพิจารณาจะใช้ทุกร่างมาพิจารณาร่วมกัน แต่ยังไม่ทราบว่าจะใช้ร่างใดเป็นหลัก

 

ส่วนร่างกฎหมายดังกล่าวของภาคประชาชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) แจ้งความคือหน้าว่า ยังอยู่ในระหว่างการหารือของรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในชั้นกรรมมาธิการ

 

ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท