Skip to main content
sharethis

ASTV ผู้จัดการรายวัน รายงานว่า  วานนี้ (26 ก.พ.) แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณี พล.ต.ท.ดนัยธร วงศ์ไทย ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ แถลงผลตรวจการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ โบว์ ว่าพบสารซีโฟร์บนเสื้อและชุดชั้นในของน.ส.อังคณา ว่า เรื่องนี้ตนไม่อยากให้มีการคลาดเคลื่อน อยากจะชี้แจงว่า สารระเบิดซีโฟร์เป็นเหมือนผลิตภัณฑ์วัตถุระเบิดของทางการทหาร โดยมีองค์ประกอบย่อยคืออาร์ดีเอ็กซ์ ผสมกับสารเคมีอีกตัวซึ่งไม่ใช่สารระเบิด โดยสารดังกล่าวเมื่อนำเข้าเครื่องตรวจอะไรก็ตามจะไม่ออกผลเป็นซีโฟร์ โดยเฉพาะเครื่องไอออนสแกนที่สถาบันฯ ใช้ตรวจเหตุการณ์ระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้มา 2 ปี หรือซีเคเมด ก็จะออกมาเป็นอาร์ดีเอ็กซ์ องค์ประกอบอีกตัวก็จะไม่ปรากฏออกมา


         


พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวอีกว่า ไม่แน่ใจว่าคนที่ออกมาให้สัมภาษณ์มีความเข้าใจได้รู้เรื่องดังกล่าวหรือเปล่า เพราะเครื่องตรวจอะไรต้องออกมาเป็นตัวย่อยสุด คือ ไนโตรกลีเซอรีน, อาร์ดีเอ็กซ์, ซีอีพีเอ็น, อาคส์ หรือทีเอ็นที แต่ซีโฟร์เป็นตัวบน เพราะเป็นสารใหญ่ ซึ่งผสมกับอะไรแล้วออกเป็นซีโฟร์ที่นำมาใช้ในทางการทหาร ส่วนแก๊สน้ำตาถือเป็นสารเคมี เนื่องจากในตัวของแก๊สน้ำจะมีสารเคมี โดยแก๊สน้ำตา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยเฉพาะแก๊สน้ำตา ซึ่งได้มาจากการทดลองที่เป็นลูกขว้าง ไม่จำเป็นต้องจุดชนวน จึงไม่ต้องใช้สารระเบิด โดยจากการที่เคยทดลองแก๊สน้ำชนิดลูกขว้าง และลูกยิงที่เป็นของจีน พบว่ามีตัวจุดชนวนเพื่อให้มีแรงกระจายไกล ตัวจุดชนวนมีลักษณะเชื้อปะทุ จึงทำให้มีสารอาร์ดีเอ็กซ์ อยู่พร้อมกับแก๊สน้ำตา


         


ทั้งนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าสารอาร์ดีเอ็กซ์ มาจากแก๊สน้ำตา หรือระเบิด พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า จากการทำงานในภาคใต้กว่า 6 ปี ส่วนใหญ่วัตถุระเบิดที่พบจะมีสารอาร์ดีเอ็กซ์เป็นเชื้อปะทุเล็กๆ เช่นเมื่อขว้างไปและระเบิดตูม แต่ไม่มีสารอาร์ดีเอ็กซ์ติด จะมีแต่ไนเตรท ในเหตุการณ์ที่มีการยิงแก๊สน้ำตาเป็นร้อยลูก สารอาร์ดีเอ็กซ์น่าจะมาจากแก๊สน้ำตา เรื่องของสารซีโฟร์ไม่น่าจะใช่ เพราะสารซีโฟร์ไม่มีเครื่องมือตรวจหา เนื่องจากเครื่องอะไรตรวจก็จะพบแต่สารอาร์ดีเอ็กซ์ และสารที่นำมาผสมกับอาร์ดีเอ็กซ์เพื่อเป็นซีโฟร์นั้นเครื่องไม่สามารถตรวจหาได้


         


เมื่อถามว่าจากการตรวจศพของน.ส.อังคณา พบอะไรบ้าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า พบแก๊สน้ำตา ที่เสื้อเราก็ตรวจเช่นกัน ซึ่งพบสารอาร์ดีเอ็กซ์


       


เมื่อถามต่อว่า ในแก๊สน้ำตาจะมีสารอาร์ดีเอ็กซ์หรือไม่นั้น พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า เฉพาะแก๊สน้ำตาที่เป็นของจีนที่เป็นลูกยิง และลูกขว้าง โดยการพิสูจน์เบื้องต้นเราอยากจะรู้ว่าน.ส.อังคณา โดนอะไรบ้าง เรื่องนี้ที่ผ่านมามี นพ.วิรัช พงษ์พานิช สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และ พล.อ.ต.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม หัวหน้าหน่วยนิติเวช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ตรวจพิสูจน์พลิกศพ บาดแผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากวัตถุระเบิด ซึ่งจากที่สรุปผลให้คณะกรรมสอบทุกๆ ชุด น่าจะเกิดจากแก๊สน้ำตามากกว่าวัตถุระเบิด เรื่องนี้ต้องแยกแยะกันหลายชั้น เนื่องจากมีนิติวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพื้นที่เกิดเหตุ นิติวิทยาศาสตร์ที่ตรวจศพ และนิติวิทยาศาสตร์ในห้องปฎิบัติการ จึงอยากยืนยันว่าซีโฟร์ไม่มีการตรวจในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากมันจะเกิดขึ้นมาเป็นอาร์ดีเอ็กซ์ ซีโฟร์ไม่ใช่วัตถุที่หาได้ง่าย เพราะตัวมันจะเป็นห่อหากนำมาใช้ อย่างเหตุการณ์ระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการลักษณะห่อเล็กๆ


 


อย่างไรก็ตาม สามารถฟันธงได้หรือไม่ว่า น.ส.อังคณา เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา ผอ.นิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ไม่ขอฟันธง แต่วันนั้นตนเองได้ประมวลและเล่าให้ฟังแล้ว ย้อนดูเทปได้ สิ่งที่จะบอกว่าเป็นคือศพ ตัวหมอที่ตรวจพิสูจน์หลายคนได้เห็นศพแล้วว่าการโดนระเบิดบาดแผลจะไม่เป็นลักษณะอย่างนี้ ประกอบบริเวณเสื้อผ้านั้น เราพบแก๊สน้ำตา และสารอาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งเราก็ลองไปจำลองสถานการณ์ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาในทุกชนิด ตนเองอยากจะเตือนว่าการแถลงอะไรก็ตามก็ขอให้คิดดีๆ ว่าจะเป็นการทำลายองค์กรตัวเองหรือไม่ เพราะพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ ไปให้ข้อมูลชั้นศาล หรือ ป.ป.ช.ดีกว่า จู่ๆ ออกมาแถลงข่าวอาจทำให้เสียเครดิตไปด้วย


         


นอกจากนี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า จะไม่ขอพูดถึงการตรวจสอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่จะขอพูดถึงประเด็นคือซีโฟร์เป็นชื่อทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าถูกนำมาใช้ทางการทหารเป็นวัตถุระเบิดที่มีอานุภาพรุนแรง และในทางวิทยาศาสตร์ไม่มีเครื่องมือชนิดใดสามารถตรวจสอบพบสารซีโฟร์ได้แม้แต่เครื่องไอออนแสกน ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ใช้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตามในซีโฟร์นั้นจะมีสารประกอบอาร์ดีเอ็กซ์ผสมอยู่อย่างแน่นอน และอาจมีสารประกอบชนิดอื่นด้วย ทั้งนี้จากการทดสอบแก๊สน้ำตาก็พบว่ามีอาร์ดีเอ็กซ์จำนวนมากประกอบอยู่ในแก๊สน้ำตาของจีนทั้งชนิดยิงและขว้าง


 


 


แพทย์รามาเห็นแย้งผลสรุป สตช.


วันเดียวกัน พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการตรวจพิสูจน์เสื้อชั้นใน เสื้อยืด ของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น.ส.อังคณา  โดยขอยืนยันว่าตรวจพบสารอาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นสารประกอบของระเบิดซีโฟร์ แต่ไม่พบสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของแก๊สน้ำตา เนื่องจากกลไกทางห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถตรวจพิสูจน์สารเคมีสำคัญในแก๊สน้ำตาได้ แต่การแปลผลสาเหตุการเสียชีวิตจากบาดแผลของ น.ส.อังคณา คือ พบเสียชีวิตจากแรงระเบิดที่ทำให้อวัยวะภายใน ปอด หัวใจ ฉีกขาด มีประสิทธิภาพในการทะลุทะลวงสูง แต่ผลการชันสูตรไม่ได้ระบุถึงว่าเสียชีวิตจากระเบิดชนิดใด ซึ่งจากการหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดทำให้สันนิษฐานได้ว่า แรงระเบิดอาจมาจากการแตกตัวของขั้วกระป๋องที่บรรจุแก๊สน้ำตา ซึ่งมีสารอาร์ดีเอ็กซ์เป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 7 กรัม จึงปรากฏเป็นเขม่าติดตามเสื้อผ้า


         


พล.อ.ต.น.พ.วิชาญ กล่าวต่อว่า หลักฐานที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปไว้เป็นผลการตรวจพิสูจน์เดียวกันกับตน ทั้งนี้ หากต้องการทราบรายละเอียดในด้านวัตถุระเบิดและแก๊สน้ำตา สามารถสอบถามได้ที่ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด


 


 


 


 


ที่มา: ASTV ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net