Skip to main content
sharethis

28 ก.พ. 52 - ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนทยอยมาถึงโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี แล้ว ขณะนายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางมาถึง 14.15 น.ทั้งนี้มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด มีการกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั่วบริเวณโรงแรมพร้อมชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดและหน่วยกู้ชีพพร้อมห้ามจอดรถตลอดเส้นทาง ขณะที่การประชุมครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกหลังจากกฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ ที่ภาคประชาสังคมจะได้มีโอกาสพบหารือกับผู้นำอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นที่จะนำไปสู่การพัฒนาภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งขึ้น ตามเจตนารมณ์ของกฎบัตร โดยวันนี้จะมีผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน ภาคประชาสังคมอาเซียน รวมทั้งผู้นำสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมผลักดันความคิดเห็นจากภาคประชาชนต่อเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม


 


กลุ่มคนเสื้อแดงชูป้ายโจมตีรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรฯ  
(ที่มาภาพ
: กรุงเทพธุรกิจ)


 


 


นักเคลื่อนไหวสันติภาพในพม่าก็มาด้วย งานนี้มีปั่นจักรยานรณรงค์รอบเมืองหัวหิน
(ที่มาภาพ
: AFP/Pool/File/Nicolas Asfouri)


 


 


ม็อบประปรายเป็นหย่อมๆ เสื้อแดงโดนแม่ค้าไล่


ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหอนาฬิกาเทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งห่างจากสถานที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประมาณ 10 กิโลเมตร ได้มีกลุ่มประชาชนกว่า 10 คน เรียกตัวเอง "กลุ่มเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" แต่ไม่ได้สวมเสื้อแดง ได้รวมตัวยืนถือป้ายพร้อมกับอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาบังคับใช้ และให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน


 


หลังจากชูป้ายประท้วงเสร็จได้พากันไปนั่งกินไอศครีม ในร้านซาเวนเซ่น ริมถนนเพชรเกษมขาล่องใต้ ประมาณ 15 นาที ได้มีกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าในตลาดสด หัวหิน ประมาณ 10 คน มาตะโกนด่ากลุ่มที่ประท้วง จนมีแกนนำกลุ่มเสื้อแดงได้ออกมาบอกนอกร้านว่า "มาด่าพวกผมอย่างนี้ได้อย่างไร ผมเป็นถึงดอกเตอร์" แต่ถูกกลุ่มแม่ค้า ตะโกนกลับว่า "ด๊อก นะมันแปลว่าหมานะโว้ย" และต่อมายังมีการโต้เถียงด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกประมาณ 10 นาที จนเกือบเกิดศึกตะลุมบอนก่อนที่กลุ่มคนเสื้อแดงดังกล่าวจะพากันล่าถอยออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว 



นอกจากนี้ ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน กลุ่ม "พีช ฟอร์ เบอร์ม่า" ภายใต้การสนับสนุนขององค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กว่า 10 คน ได้จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรอบตัวเมืองหัวหิน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเรียกร้องให้กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ท่ามกลางการจับตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด


นายกฯ กล่าวสุนทรพจน์เปิดอาเซียน หวังเห็นภูมิภาคมีสันติ
จากนั้น เวลา 14.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอาเซียน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ หัวหิน ซึ่งมีผู้นำรัฐบาลจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมาร่วมประชุมดังนี้..









 


"ใต้ฝ่าพระบาท ฯพณฯทั้งหลาย ท่านเลขาธิการอาเซียนท่านรัฐมนตรี ท่านสมาชิกรัฐสภาท่านแขกผู้มีเกียรติ ท่านสุภาพบุรุษและสตรี เมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว รัฐบุรุษผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนได้พบกันที่แหลมแท่น ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลในจังหวัดชลบุรี อีกฟากหนึ่งของอ่าวไทยจากบริเวณที่พวกเราอยู่ในปัจจุบัน ท่านเหล่านั้นได้รับแรงจูงใจจาก "ความฝัน" ร่วมกัน "ความฝัน" ที่จะรวมประเทศในภูมิภาคบนเส้นทางที่มุ่งไปสู่ประชาคม ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสันติ สมานฉันท์ และมีความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น เมื่อมีการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 อาเซียนจึงได้ถือกำเนิดขึ้น


      


       วันนี้อาเซียนได้หวนคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ในวาระที่เรามาประชุมกันที่ชะอำ-หัวหิน และเรามาอยู่ร่วมกัน ณ ที่นี้ เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานต่อความสำเร็จของผลงานของผู้ก่อตั้งอาเซียน


      


       จากแหลมแท่นสู่ชะอำ-หัวหิน เราได้พัฒนาสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมือ โดยการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายร่วมกัน ในยามวิกฤติ เราได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ในยามสงบ เราได้สร้างโอกาสสำหรับประชาชน ไม่ว่าปัญหาท้าทายจะมาในรูปแบบใด ทั้งความขัดแย้งจากสงครามเย็น หรือวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 พวกเราในอาเซียนได้ฟันฝ่าปัญหาร่วมกัน


      


       จาก 5 ประเทศ เป็น 10 อาเซียนของเราแม้มีความหลากหลาย แต่ก็มีเป้าหมายร่วมกัน ที่ทำให้เรารวมตัวเป็นประชาคมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความห่วงใยซึ่งกันและกัน และตอบสนองต่อส่วนที่สำคัญที่สุด นั่นคือประชาชนอาเซียน


      


       วันนี้ เราเสริมสร้างรากฐานของประชาคมอาเซียน เรามาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นครั้งแรกภายใต้กฎบัตรอาเซียน ซึ่งเมื่อรวมกับแผนงานสำหรับการพัฒนาของทั้งสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน จะเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวกำหนดอนาคตของพวกเราร่วมกัน ที่สำคัญที่สุด ในการก้าวไปข้างหน้า อาเซียนจะให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก ทั้งในวิสัยทัศน์ นโยบาย และในแผนงานของอาเซียน


      


       นั่นคือเหตุผลที่ไทยได้เลือกคำขวัญสำหรับการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่า "กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน" เพื่อเน้นถึงรากฐานปรัชญาของเราในการทำให้ประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียน รวมทั้งเพื่อสะท้อนถึงข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่ว่า ประชาชนต้องการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องมากขึ้น และดำเนินการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์อย่างแข็งขันมากขึ้น


      


       ภายหลังการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรอาเซียน ประชาชนอาเซียนกว่า 570 ล้านคน ได้ตื่นตัวขึ้น พวกเขาต้องการส่วนแบ่ง ความเป็นเจ้าของ และบทบาทของตนในกระบวนการอาเซียน การกำหนดแนวทางในการจัดการประเด็นใหม่ ๆ เหล่านี้ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรา


      


       การสร้างภูมิภาคแห่งสันติภาพและความผาสุก


      


       ขณะที่เราตั้งเป้าหมายจะสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เราต้องพยายามส่งเสริมและเสริมสร้างสภาวะที่เอื้อต่อสันติภาพและความผาสุกของภูมิภาค อาเซียนจะเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ด้านหนึ่งและเอเชียใต้อยู่อีกด้านหนึ่ง สิ่งท้าทายในการบรรลุเป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของโครงสร้างทางการเมืองของภูมิภาคต่อไป


      


       วิธีหนึ่งคือการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน เราต้องพยายามอย่างแข็งขันในการสร้างประชาคมของเรา เพื่อให้เราสามารถเป็นกำลังหลักในการสร้างระบบภูมิภาคที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ สำหรับประชาคมการเมืองความมั่นคง เราต้องพยายามสร้างบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นและความเข้าใจกันระหว่างประชาชนภายในภูมิภาค


      


       สำหรับประชาคมเศรษฐกิจ เราต้องเร่งสร้างเขตเศรษฐกิจและฐานผลิตร่วมของอาเซียนที่สามารถดึงดูดการค้าลงทุนจากต่างประเทศได้ สำหรับประชาคมสังคมวัฒนธรรม เราต้องพยายามส่งเสริมประชาคมที่เอื้ออาทรและแบ่งบัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนของเราสามารถใช้ชีวิตอย่างมั่นคง


      


       นอกจากนี้แล้ว เราต้องทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาและในฐานะที่อาเซียนเป็นองค์กรที่มีนิติฐานะ อาเซียนต้องมีความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส โดยมีการประนีประนอม การตรวจสอบ และการเจรจาในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นมาตรฐานขององค์กร


      


       เราต้องทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในเรื่องการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานหนึ่งในเรื่องสำคัญของประชาคมอาเซียน การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนภายในปีนี้เป็นครั้งแรกของอาเซียนมีกลไกและเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค


      


       เราต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งเมื่อเช้านี้เราได้รับฟังความคิดเห็นของผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้นำเยาวชน ผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนภาคธุรกิจ ผมจึงหวังว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในความพยายามสร้างความรู้สึกของความเป็น "ราษฎรอาเซียน" และแปลงความหวังของประชาชนให้เป็นผลที่เป็นรูปธรรม


      


       อีกวิธีหนึ่งคือการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค ในขณะที่เราเสริมสร้างความเข้มแข็งภายใน การสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค เรายังต้องเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับโลกภายนอก และเพิ่มพูนบทบาทและความร่วมมือของอาเซียนในกรอบความร่วมมือและกระบวนการในระดับภูมิภาคต่างๆ ที่จะนำประโยชน์มาสู่ทุกประเทศ


       เราจำเป็นต้องย้ำบทบาทของอาเซียนในโครงสร้างของภูมิภาคที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของภูมิภาคในความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศในเอเชียตะวันออกอื่นๆ และร่วมมือกับมิตรของเราเพื่อแก้ไขประเด็นเร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อประชาชน


      


       การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นเพียงภาคแรก ในภาคสองไทยจะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกต่อไปในปีนี้ ซึ่งไทยกำลังหารือกับประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดวันประชุม นอกจากนี้ เราจะเป็นประธานการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับคู่เจรจา (พีเอ็มซี) ในเดือนกรกฎาคม และได้กำหนดจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคม ศกนี้


      


       ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับนอกภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในโลกที่โลกาภิวัฒน์และพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่มีใครอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีภูมิภาคใดหรือประเทศใดที่อยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เรามีความเกี่ยวเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของโลกทั้งใบนี้ หากอยู่เพียงคนเดียว เราก็จะอ่อนแอ


       ดังนั้น อาเซียนจึงยื่นมือที่เป็นมิตรและความเป็นหุ้นส่วนให้กับคู่เจรจาและประเทศนอกภูมิภาคโดยเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างภูมิภาคให้เป็นที่ที่ดีกว่าสำหรับทุกคน ในการนี้ เราจึงขอต้อนรับทูตประจำอาเซียนจากประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่กับเราในที่นี้ เพื่อยืนยันความสนับสนุนและความร่วมมือในความพยายามของเราที่จะสร้างประชาคมอาเซียน


       


       ผมอยากบอกมิตรและหุ้นส่วนของเราทั่วโลก ว่าโปรดมั่นใจว่าอาเซียนจะเป็นหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้ เพื่อสันติภาพและความผาสุก เพื่อประชาคมเศรษฐกิจที่รุ่งเรื่อง และสังคมที่มีน้ำใจ และที่สำคัญที่สุดเป็นเพื่อนที่จริงใจกับทุกคน


      


       การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในปัจจุบัน เมื่ออาเซียนได้จัดตั้งขึ้น บรรยากาศในภูมิภาคถูกแวดล้อมด้วยความขัดแย้ง และครอบคลุมโดยเงามืดของสงครามเย็น วันนี้ เราต้องเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างจากเดิม สิ่งที่อาเซียนเผชิญอยู่เป็นความท้าทายรูปแบบใหม่และส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยไม่ถูกกีดกันโดยพรมแดน


      


       ตั้งแต่ผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนความท้าทายจากความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ปัญหาข้ามพรมแดน ภัยพิบัติธรรมชาติและโรคระบาด ไปจนถึงปัญหาต่อความมั่นคงมนุษย์เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบขนสิ่งเสพติด ตลอดจนเหยื่อการค้ามนุษย์และการก่อการร้าย อาเซียนจะต้องตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีต่อสิ่งท้าทายในยุคปัจจุบัน


      


       ผมจึงยินดีที่ทราบผลของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนซึ่งเพิ่งจบลงที่พัทยา ที่ประชุมฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคกลาโหมและองค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ของทางทหารในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ


      


       ผมหวังจากการประชุมนี้ และการประชุมอื่นๆ ว่า อาเซียนจะสามารถพัฒนาทีมเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติ ที่มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนมาตราฐานสำหรับเพื่อให้อาเซียนสามารถ ตอบสนองต่อภัยพิบัติใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด โดยประสานงานและทำงานอย่างใกล้ชิดกับเลขาธิการอาเซียนและหุ้นส่วนอื่นๆ ในภูมิภาค


      


       ผมยินดีกับความก้าวหน้าในการหารือระหว่างรัฐมนตรีคลังอาเซียนและประเทศบวกสามที่ภูเก็ตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งได้ผลักดันในข้อริเริ่มเชียงใหม่มีลักษณะเป็นพหุภาคี และมาตรการอื่นๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตการทางการเงินโลกและผลกระทบที่มีต่อภูมิภาค ผมหวังว่า จากการประชุมที่ภูเก็ต และการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เราจะสามารถตกลงกันในข้อริเริ่มต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาค รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเพื่อรับมือกับผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่มีต่อภูมิภาค ในขณะนี้ อาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟู ต่อจากนี้จะเป็นบททดสอบสำหรับเราทั้งในฐานะกลุ่มประเทศอาเซียน และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่วิกฤตการเงินเลวร้ายลง โลกจะหันมาสู่ภูมิภาคเราเพื่อแสวงหาความเชื่อมั่นและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้วางแผนที่จะทำ


      


       ในการประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ผมได้เสนอมุมมองต่อการจัดการความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยการกำจัดการบิดเบือนกลไกตลาดกับการประชุมสุดยอดกรุงลอนดอนหรือ G-20 ในเดือนเมษายน ผมหวังว่า ผม (ในฐานะประธานอาเซียน เคียงข้างกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย) จะสามารถบอกกล่าวความคาดและกังวลของอาเซียนตลอดจนแนวความคิดต่อวิกฤติการทาง ตามข้อเสนอและคำแนะนำที่ผมจะได้รับจากการประชุมสุดยอดนี้


      


       ผู้นำทุกท่านมีประสบการณ์ ความสามารถและความรู้อย่างมากซึ่งหากสามารถมาแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ร่วมกันก็จะดีกว่าต่างคนต่างใช้ สิ่งที่สำคัญคือ การทำงานร่วมกันของอาเซียนเพื่อให้ได้คำตอบต่อปัญหาต่างๆ ทั้งของอาเซียน และความท้าทายในระดับโลกที่ส่งผลต่อภูมิภาค นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจากประชาคมอาเซียน


      


       ส่วนบทสรุป ภายหลังที่ผมได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ผมได้สัญญากับประชาชนชาวไทยว่าผมจะทำเต็มความสามารถเพื่อให้มั่นใจว่า ไทยจะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ที่เต็มไปด้วยโอกาสและเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม


      


       วันนี้ เช่นเดียวกับในอดีต ผมอยากให้คำสัญญาในลักษณะเดียวกันกับประชาชนอาเซียน ผมขอยืนยันว่า ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน และโดยการสนับสนุนของผู้นำอาเซียนทุกท่าน ผมจะผลักดันให้วิสัยทัศน์และความฝันของผู้ก่อตั้งอาเซียนที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่เต็มไปด้วยความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อกันและกันเป็นจริง ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานกับผู้นำอาเซียนเพื่อสร้างความมั่นคง สันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่ง สำหรับประชาชนในปัจจุบันและอนาคต


      


       สุดท้ายนี้ในฐานะประชาชนอาเซียนคนหนึ่ง กระผมจะร่วมมือกับประชาชนอาเซียนทั่วภูมิภาคเพื่อให้อาเซียนเป็นที่รู้จักในภูมิภาคเราและทั่วโลก จากแหล่มแท่นสู่ชะอำและหัวหิน การเดินทางที่ใช้เวลากว่า 42 ปีได้ทำให้ความฝันของผู้ก่อตั้งอาเซียนได้เป็นจริง เพราะเป็นจุดเริ่มของความฝันอีกอันหนึ่งที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีพลวัตร และมีความเอื้ออาทรให้กับทุกคน เรากำลังจะได้เห็นอาเซียนเดินไปสู่เป้าหมายที่ อาเซียนไมใช่เป็นองค์กรสำหรับผู้มีอำนาจหรือร่ำรวย แต่สำหรับประชาชนทุกคนในประชาคมนี้ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่จำนวนประเทศสมาชิก แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจะต้องก้าวไปด้วยกันและในทิศทาง ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราก่อตั้งมานานหรือไม่ แต่อยู่ที่ความสำเร็จที่เราได้บรรลุในอดีตและความสำเร็จในปัจจุบัน และอนาคตที่เราจะทำให้เกิดขึ้น ในขณะที่เรามองไปข้างหน้าในปี พ.ศ. 2558 ผมขอเชิญทุกคนในฐานะประชาชนชาวอาเซียนและเพื่อนของอาเซียนร่วมเดินทางไปกับผมไปถึงวันที่เราจะเห็นความฝันและความหวังของเราเป็นจริง ขอบคุณครับ"


 


 


 


ไทยเสนอเชื่อม "เซาท์เทิร์นซีบอร์ด" ชูเที่ยวเชิงสุขภาพ
นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมสุดยอดแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย (IMT-GT Summit) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ว่า การประชุมเป็นไปด้วยดี มีการย้ำถึงเป้าหมายระยะยาวว่า ความร่วมมือจะดำเนินการต่อไป แม้ว่าจะมีการผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม มีหารือหลายเรื่อง เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน การพัฒนาอย่างยั่งยืน อาหารฮาลาล การเกษตร การขนส่งและการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน  มีการพูดถึงกรอบความร่วมมือหลายเรื่อง เช่น กรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน การเชื่อมต่อและการเดินทางของสินค้าและคนข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องการท่องเที่ยว เราตั้งใจปี 2009 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง (Celebration Year) มีการพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงการรักษาสุขภาพ (Medical Tourism) และความเป็นไปได้ในการโปรโมทแผนการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ (Joint Package)


นายวีระชัย กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทย เช่น ความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทางภาคใต้ หรือ Southern Sea Board กับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย 



ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า แนวคิดการเชื่อมโยง Southern Sea Board กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาให้เร็วที่สุด เพื่อการร่วมพัฒนากันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เสนอความเห็นว่าควรมีการพูดถึงการดึงความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ ในประเด็นนี้ด้วย โดยเฉพาะ ประเทศแถบตะวันออกกลาง นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ยังได้ขอความร่วมมือนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ในการเชื่อมโยงด้านพลังงาน หรือ Energy Land Brige โดยเฉพาะก๊าซและน้ำมัน ร่วมทั้งยังได้ขอความร่วมมือจากอินโดนีเซียในการสนับสนุนเรื่อง ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งก๊าซที่สำคัญ



นายวีระชัย กล่าวอีกว่า นายอภิสิทธิ์ยังเรียกร้องให้กระชับความร่วมมือระหว่างกลุ่ม IMT-GT ให้มากยิ่งขึ้นกับอาเซียน และกรอบความร่วมมือของอาเซียนเช่น การย้ำจุดยืนให้ภาคเอกชนเป็นตัวนำทาง โดยยกตัวอย่างที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วมโปรโมทการท่องเที่ยวปีที่แล้ว ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง และยังพูดถึงเรื่อง Governer Forum ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดของทั้ง 3 ประเทศมีการมาประชุมพบปะ เพื่อผลักดันแผนงานให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นด้วย


นายกฯ สิงคโปร์เชิญ"มาร์ค"เยือนสิงคโปร์เน้นร่วมมือ ศก.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หารือทวีภาคีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ณ Bor Fai 1 ชั้น 1 โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีสรุปสาระสำคัญของการสนทนา ดังนี้



นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมไทยและสิงคโปร์ ที่มีความร่วมมือกันอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทั้งภายใต้โครงการความร่วมมือต่างๆ อาทิ โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการไทยกับสิงคโปร์ (Civil Service Exchange Programme-CSEP) รวมทั้ง การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวภายใต้กรอบ Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship -STEER) นอกจากนี้ ไทยและสิงคโปร์ยังเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งในกรอบความร่วมมืออาเซียนด้วย นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวถึงบทบาทของอาเซียนว่า จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มความร่วมมือที่สำคัญ ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ความสำเร็จของอาเซียนในการร่วมมือทางการเศรษฐกิจและการเงิน



ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังตอบรับคำเชิญนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป


 


ไทย-พม่าเจรจาทวิภาค ร่วมแก้ปัญหาคนลักลอบเข้าเมือง
เมื่อเวลา 10.30 น. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายธฤต จรุงวัฒน์  อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการหารือทวิภาคีระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายเนียน วิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ว่า ฝ่ายพม่าได้เชิญนายกษิตเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่าไทยกับพม่ามีชายแดนติดกันจึงต้องการใช้ความเหมือนทางอารยะธรรม และการนับถือศาสนาพุทธมาเป็นจุดร่วมของการกระชับความสัมพันธ์ระดับประชาชน



ทั้งนี้ได้ตกลงกันว่าให้ไทยส่งหัวข้อการหารือในระหว่างการเยือนให้กับพม่าก่อน เพื่อให้เกิดผลความร่วมมือเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด เช่น ความร่วมมือการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย อาชญากรรมในพื้นที่ และปัญหายาเสพติด



นายธฤต กล่าวว่า รัฐมนตรีทั้งสองได้มีการพูดคุยถึงปัญหาโรฮิงญา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ ค.ศ.1990 เป็นต้นมา พม่าได้ตกลงกับบังกลาเทศในการแก้ปัญหาบริเวณชายแดนระหว่างกันมาบ้างแล้ว โดยมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) มาร่วมดูการแก้ปัญหานี้ด้วย



"พม่ายืนยันว่าพร้อมจะรับชาวเบงกาลีกลับประเทศ โดยขณะนี้มีชาวเบงกาลีอยู่ในบังกลาเทศด้วย ซึ่งพม่าก็พร้อมจะให้กลับประเทศ แต่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ง่ายเพราะชายแดนของพม่ากับบังกลาเทศเป็นแนวยาวและยากที่จะควบคุม"นายธฤตกล่าว



นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงความร่วมมือเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ซึ่งฝ่ายพม่าแจ้งว่าสามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้มากยขึ้น ยาเสพติดลดน้อยลง ส่วนกรณียาบ้านั้นการผลิตสารเคมีตั้งต้นไม่ได้อยู่ในพม่า รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายจึงเห็นว่าควรนำปัญหานี้ไปหารือกับประเทศในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องต่อไป


 


กลุ่มอาเซียนจะลงนามร่วมมือฝ่าวิกฤตน้ำมัน


ในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่มีการประชุมความร่วมมือสำคัญๆ ในหลายๆ ด้านโดยช่วงเช้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้มีการประชุมสุดยอดแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย (อินโดนีเซีย , มาเลเซีย และไทย) ครั้งที่ 4 และต่อด้วยการประชุมสุดยอดแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 4 ฝ่าย ครั้งที่ 5 (บรูไน,อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) หลังจากนั้นจะเป็นการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการระว่างผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ต่อด้วยผู้แทนเยาวชนอาเซียนและผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน และผู้นำสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ตามลำดับ ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่าย



นายเอส พุชปานาทาน รองเลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เปิดเผยว่า กลุ่มอาเซียนจะลงนามข้อตกลงความมั่นคงด้านพลังงานในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มอาเซียนในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกซื้อน้ำมันได้ในราคาส่วนลด ซึ่งตามข้อตกลง ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จะต้องเป็นผู้จัดส่งน้ำมันปิโตรเลียมให้แก่ประเทศสมาชิกที่เผชิญปัญหาขาดแคลนในราคาถูก



อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันแพงคงไม่ใช่ประเด็นปัญหาในตอนนี้ แต่หากเกิดกรณีวิกฤตในอนาคต อาเซียนจึงต้องเตรียมการช่วยเหลือตัวเอง นอกจากนี้ นายพุชปาทาน ยังกล่าวว่า ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นปัญหาท้าทายการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนของทั้ง 10 ประเทศ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มประเทศสมาชิกจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน



ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน เพื่อปูทางไปสู่การสร้างประชาคมแบบเดียวกับสหภาพยุโรปภายในปี 2558


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการหารือเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นพลังงานทางเลือกนอกเหนือจากน้ำมัน แต่ยังเป็นการหารือในระดับเบื้องต้นของคณะทำงานเท่านั้น โดยสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ แต่บางประเทศคัดค้าน


ด้านนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ของมาเลเซีย เปิดเผยภายหลังหารือนอกรอบกับนายกรัฐนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการประชุมอาเซียนเมื่อวานนี้ว่า เขารู้สึกดีใจกับความคืบหน้าของอาเซียนที่มีอายุ 42 ปีแล้ว โดยความร่วมมือและความเข้าใจอันดี รวมถึงความเต็มใจที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน ส่งผลให้อาเซียนในวันนี้เป็นภูมิภาคที่มีทั้งสันติภาพและเสถียรภาพ และแม้มีความวิตกว่าปัญหากรรมสิทธิในดินแดนพิพาท เช่น เกาะสแปรตลีย์ จะกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค แต่ก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ แนวโน้มที่ชาติสมาชิกจะร่วมมือและแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน



นอกจากนี้ในช่วงที่ชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินขณะนี้ ผู้นำมาเลเซีย บอกว่า ชาติอาเซียนจะต้องร่วมมือกันมากกว่าที่เคยเป็นมาเพื่อฝ่าฝันวิกฤติไปให้ได้ และตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคนจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการค้าภายในภูมิภาคและกิจกรรมทางเศรษฐ กิจอื่นๆเพื่อผลประโยชน์ของทุกชาติ


 


 


ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net