Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


โดย: ผศ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ
แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ชื่อบทความเดิม: 10 ข้อสังเกต กรณีการออกกฎกระทรวงยกเว้น  "ยาและเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยผู้ให้บริการสาธารณสุข" มิใช่ "สินค้า" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551


 


 






บทความนี้มีขึ้นสืบเนื่องจากวันที่ 2 มี.ค.52 นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้นัดหารือร่วมระหว่างตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ พร้อมทั้งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และผู้ป่วย ในเรื่องการออกหรือไม่ออกกฎกระทรวงสาธารณสุขยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยผู้ให้บริการสาธารณสุข (ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์) เพื่อให้ ยา ยาเสพติดให้โทษ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเครื่องมือแพทย์ มิใช่ "สินค้า" ที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขจะต้องรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 โดยการหารือนี้จะมีขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 13.00 น.


 


 


    
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ออกกฎกระทรวงสาธารณสุขยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยผู้ให้บริการสาธารณสุข (ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์) เพื่อให้ยา ยาเสพติดให้โทษ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเครื่องมือแพทย์ มิใช่ "สินค้า" ที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขจะต้องรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่เพิ่งมีใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552


ความพยายามในการออกกฎกระทรวงดังกล่าวได้รับการขานรับจากผู้ประกอบวิชาชีพฯ รวมทั้งผู้ประกอบการจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ถูกทักท้วงจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และผู้ประกอบวิชาชีพฯจำนวนมากเช่นกัน จนเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯเกิดความวิตกกังวล ในฐานะนักวิชาการและผู้ประกอบวิชาชีพฯคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงดังกล่าว จึงขอเสนอ 10 ข้อสังเกตเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบวิชาชีพฯและผู้บริโภค ดังนี้

1.   ไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง


1)      นิยาม "สินค้า" และ "ผู้ประกอบการ" ตามมาตรา 4


 


"สินค้า" หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ทุกชนิดที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อขาย รวมทั้งผลิตผลเกษตรกรรม และให้หมายความรวมถึงกระแสไฟฟ้า ยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


"ผู้ประกอบการ" หมายความว่า
(1)     ผู้ผลิตหรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต
(2)     ผู้นำเข้า
(3)     ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้เข้าได้
(4)     ผู้ซึ่งใช้ชื่อ ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมาย ข้อความหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ อันมี


          ลักษณะที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้า

จะเห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 คุ้มครองสินค้าที่มีรูปร่างที่ผลิตเพื่อขาย ไม่ครอบคลุมการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งมิได้ผลิตสินค้าขาย ดังนั้น กฎหมายนี้จึงไม่กระทบต่อผู้ให้บริการสาธารณสุข เพราะผู้ให้บริการสาธารณสุขทำหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายวิชาชีพของตน มิได้มาผลิตสินค้าขาย ความรับผิดตามกฎหมายนี้จึงอยู่ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าซึ่งเป็นต้นน้ำ ผู้ประกอบวิชาชีพเพียงชี้ว่า ผู้ผลิตใดขายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคตามไปฟ้องได้
       


2)      มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพ ยา และเครื่องมือแพทย์


การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการสาธารณสุขนั้นเป็นการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติวิชาชีพซึ่งจะทำตามที่สภาวิชาชีพของตนกำหนด และการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ "ยา" และ "เครื่องมือแพทย์" มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่ ดังนั้น หากแม้นไม่มีการตรากฎกระทรวงนี้ ก็ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ แต่อย่างใด


ผู้ประกอบวิชาชีพต้องจัดหายาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาอย่างถูกต้อง เพราะเป็นยาที่สามารถระบุถึงตัวผู้ผลิต ผู้นำเข้า ที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยา  ย่อมพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายนี้ ในกรณีของเครื่องมือแพทย์ ก็เช่นเดียวกัน คือจัดหาเครื่องมือแพทย์ที่สามารถระบุตัวผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้า ได้  ก็ย่อมพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายนี้เช่นกัน

3) ผู้ประกอบวิชาชีพไม่สามารถพ้นจากความรับผิดได้ตามกฎหมายอื่น
เนื่องจากมีกฎหมายความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการสาธารณสุขอยู่หลายฉบับ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางละเมิด กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ การยกเว้นไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบวิชาชีพเท่าใดนัก
 เพราะอย่างไรก็ตามผู้ให้บริการสาธารณสุขก็ไม่สามารถรอดพ้นอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากความรับผิดที่เกิดขึ้นหากมีผู้เสียหายจากการให้บริการ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกกฎกระทรวง

2.   กฎกระทรวงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย


1) กฎกระทรวงมีเนื้อหาขัดกับพระราชบัญญัติ เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า มิให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจหรือทรัพย์สิน โดยให้ "ผู้ผลิต" ต้องใช้ความระมัดระวังในการผลิตสินค้า รวมทั้งต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้า วิธีการใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือนต่อผู้บริโภค ในอีกด้านหนึ่งนับได้ว่าเป็นกฎหมายที่จะยกระดับผู้ผลิตให้มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานสูง สามารถแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่นได้
       


หากผู้ผลิตไม่ใส่ใจ ผลิตสินค้าที่ชำรุด บกพร่อง จนอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตสินค้าย่อมสมควรต้องรับผิดต่อผู้บริโภคในสินค้าของตนเอง โดยเฉพาะในปัจจุบันการผลิตสินค้าต่างๆ มีการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะล่วงรู้หรือตรวจสอบพบความชำรุด บกพร่อง หรืออันตรายของสินค้าได้


นอกจากผู้ผลิตแล้ว กฎหมายยังให้เป็นความรับผิดชอบของ ผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าได้ รวมถึงผู้ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายหรือข้อความที่แสดงให้เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเองต้องระมัดระวังในสินค้าของตนเองด้วย


การยกเว้น"ยา" และ "เครื่องมือแพทย์" จากคำนิยาม "สินค้า" ตามมาตรา 4 จึงขัดต่อหลักการและเหตุผลในการออกกฎหมายนี้


2)  กฎกระทรวงมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 30 วรรคแรก ระบุ
"บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ..."


ดังนั้น หากร่างกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับจะมีผลทำให้ยาและเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งผู้ให้บริการสาธารณสุขผลิตให้ผู้ป่วยหรือผู้บริโภคที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยหรือผู้บริโภค ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจะไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้ผลิตยาและผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งผู้นำเข้าจากต่างประเทศ หรือผู้ขายสินค้าข้างต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการของต่างชาติหรือเป็นบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นอยู่ด้วยได้รับประโยชน์ ผู้บริโภคคนไทยจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ผลิตสินค้าชนิดอื่นๆ ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากกฎกระทรวงดังกล่าว



จึงถือว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลตามกฎหมาย

3.   กฎกระทรวงลิดรอนสิทธิผู้บริโภคตามกฎหมาย



สิทธิของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประกอบด้วยสิทธิที่จะได้รับข้อมูลและคำพรรรณนาเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ครบถ้วนและถูกต้อง สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าและบริการ และสิทธิที่จะได้รับชดเชยความเสียหาย พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ได้ให้การรับรองสิทธิผู้บริโภคดังกล่าว โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดในประเทศไทย การออกกฎกระทรวงยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์จึงถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิผู้บริโภค

4.   กฎหมายต่างประเทศไม่ยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์



กฎหมายต่างประเทศในเรื่อง Product Liability ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ต่างก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ ยาและเครื่องมือแพทย์ กฎหมายต่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้บังคับครอบคลุมสินค้าที่เป็นสังหาริมทรัพย์แทบทุกชนิด

5.   ความเหมาะสมในกระบวนการและหน่วยงานที่ออกกฎกระทรวง



สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานหลักในการกำกับดูแลพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเสนอพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ได้เปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายครั้ง เพื่อเสนอ "สินค้า" ตามนิยามที่สมควรออกกฎกระทรวงฯ ปรากฏว่า สินค้าที่ผ่านการรับฟังและกลั่นกรองแล้วคือ กระแสไฟฟ้า และยาที่อยู่ในระหว่างการทดลองและวิจัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า สมควรจะออกกฎกระทรวงหรือไม่


ในการออกกฎกระทรวงยกเว้น "สินค้า" ดังกล่าว มีกระบวนการรับฟังความเห็นและกลั่นกรองเป็นลำดับขั้นโดยหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรง แต่การออกกฎกระทรวงของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องยาและเครื่องมือแพทย์นี้ กระทำโดยเร่งด่วนไม่ผ่านกระบวนการรับฟังและกลั่นกรองอย่างโปร่งใสและรอบด้านจึงขาดความชอบธรรมในการออกกฎกระทรวง

6.   ยกเว้น "บุคคล" ทั้งที่เป็นกฎหมายว่าด้วย "สินค้า"
การออกกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจาก พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่มีฐานคิดจากตัวสินค้าเป็นหลัก แต่การออกกฎกระทรวงยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์มีฐานคิดยกเว้นเฉพาะตัวบุคคลซึ่งมิใช่ประเด็นหลัก ทำให้ความพยายามในการร่างกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นเฉพาะผู้ให้บริการสาธารณสุขทำได้ยากและขาดความเหมาะสม การออกกฎหมายมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งปวงไม่ต้องรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ อีกทั้งยังไม่สามารถตอบคำถามผู้บริโภคและสังคมได้ว่า เหตุใดสินค้าชนิดเดียวกันรุ่นเดียวกัน แต่ผู้ให้บริการคนละคนกัน ความรับผิดจึงแตกต่างกัน หรือการได้รับการชดเชยกรณีเกิดความเสียหายจึงมีความแตกต่างกัน

7.   ยกเว้นความรับผิดกับการประกอบวิชาชีพที่ไม่มีมาตรฐาน


ข้อกล่าวอ้างว่า แพทย์จะไม่ยอมสั่งการรักษายาเคมี ยารักษาโรคมะเร็ง การผสมยาเพื่อใช้กับผู้ป่วยจะกลัวว่าจะเป็นความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายนี้เป็นการอ้างไม่สมเหตุผล เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นขั้นตอนในการประกอบวิชาชีพ หากผู้ประกอบวิชาชีพได้ปฏิบัติตามแบบแผน มาตรฐานการประกอบวิชาชีพแล้ว ย่อมพิสูจน์ตนเองได้และไม่อยู่ในบังคับตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เพราะกฎหมายนี้มุ่งเน้นที่จะให้ผู้ประกอบการ ผลิต นำเข้า ยาและเครื่องมือแพทย์ต้องใส่ใจต่อสินค้าของตนเอง


ในทางกลับกัน หากการผสมยาหรือสารเคมีใดๆตั้งแต่สองตัวขึ้นไป เพื่อปกปิดชื่อสารเคมีหรือที่มา หรือ ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นสินค้าของตนเอง แม้จะกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพใดๆ ก็สมควรต้องรับผิดต่อสินค้าของตนเองตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ไม่ควรได้รับการยกเว้น

8.    ความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคเมื่อมีการผลิตสินค้า(ใหม่) ที่ไม่ได้มาตรฐาน
       


คำว่า "ผู้ผลิต" ตามกฎหมายนี้คือ ผู้ผลิตสินค้าที่สามารถควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสินค้า เพราะเจตนารมณ์มุ่งไปที่มาตรฐานการผลิตสินค้า เมื่อผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาได้มาตรฐานการผลิต แต่ผู้ให้บริการสาธารณสุขมาทำการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ใหม่ (เช่น แบ่งบรรจุ หรือ ผสม) โดยไม่ได้ทำตามมาตรฐานการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ซึ่งเป็นสินค้าเฉพาะที่มีมาตรฐานการผลิตที่สูงและจำเป็นต้องอยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญนั้น เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคแล้ว กฎหมายยกเว้นไม่ต้องรับผิด ผู้บริโภคไม่สามารถฟ้องตามกฎหมายและผู้ประกอบการอื่น (ผู้ประกอบธุรกิจ) กลับต้องมารับผิดแทนในสิ่งที่ไม่ได้กระทำ เนื่องจากได้ผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานมาตั้งแต่ต้นก่อนออกสู่ตลาด จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งทั้งต่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค

9.   วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษทุกชนิดมิใช่ "ยา"


การควบคุมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยแบ่งแยกการควบคุม "ยา" ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม การควบคุม "วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท"ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และการควบคุม "ยาเสพติดให้โทษ"ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีความแตกต่างกันในระดับการควบคุมโดยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษจะควบคุมอย่างเข้มงวดมากกว่ายาเนื่องจากมีผลต่อระบบประสาทและสมองของผู้ใช้และสามารถเสพติดได้ กฎหมายจึงกำหนดให้วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและยาเสพติดให้โทษบางประเภทเท่านั้นที่จำเป็นสามารถนำมาใช้เป็นยาได้  นอกจากนี้ยังปรากฏว่า
 มีการนำวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทมาใช้อย่างไม่เหมาะสมและขาดความระมัดระวังจำนวนมาก เช่น ยาลดความอ้วน ยาแก้ไอซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 (ผสมเป็นยาเสพติดในวัยรุ่น) ยานอนหลับ ฯ โดยมีผู้ประกอบวิชาชีพส่วนหนึ่งที่กระทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เป็นผู้ส่งเสริมการใช้อย่างผิดๆโดยขายยาอย่างผิดกฎหมาย



การออกกฎกระทรวงที่ยกเว้นความรับผิดที่ครอบคลุมถึงวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษโดยนิยามให้เป็น "ยา" จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง

10.   ราคาที่เพิ่มขึ้นกับความปลอดภัยที่สูงขึ้น


การกล่าวอ้างว่า การที่ต้องทำภาชนะบรรจุหรือหีบห่อใหม่ที่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับผู้บริโภคตามกฎหมายเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาและเครื่องมือแพทย์นั้น ไม่สมเหตุผล เพราะยาและเครื่องมือแพทย์เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลมากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้ การเพิ่มราคาของยาและเครื่องมือแพทย์อย่างสมเหตุผลตามความจำเป็นเพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและความปลอดภัยในการใช้ยาและเครื่องมือแพทย์เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและได้ประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความจำเป็นที่จะต้องส่งต่อยาไปให้ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ

เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ โดยความเห็นส่วนตัว เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรเร่งออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นสินค้าบางชนิด จนทำให้รัฐบาลขาดโอกาสในการปกป้องพลเมืองไทย ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขาดโอกาสในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพขาดโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพ
 และทำลายโอกาสของผู้บริโภคในการได้รับสิทธิผู้บริโภคตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งยังไม่มีกรณีตัวอย่างปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายนี้ที่มีน้ำหนักพอที่จะสามารถอ้างเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆประกอบการออกกฎกระทรวงยกเว้นได้เลย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net