ก๋วย...ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น วิถีชีวิต รายได้ และลมหายใจของคนชุมชนแม่นะ (1)

 

องอาจ เดชา : รายงาน                                                                                   

สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) : ภาพประกอบ

 

 

หากเราขับรถไปบนถนนหลวงสายหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง ก่อนจะเข้าถึงตัวอำเภอเชียงดาว ผ่านไปยังเขตชุมชนตำบลแม่นะ ของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เราจะเห็นรถบรรทุกสิบล้อจอดนิ่งอยู่ริมถนน บนกระบะสูงนั้นอัดแน่นไปด้วยก๋วยไม้ไผ่ที่สอดทับขึ้นไปเป็นชั้นๆ หลังจากนั้นไม่นาน รถบรรทุกค่อยๆ ขับเคลื่อนออกไป มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ เข้าสู่เมืองใหญ่ คันแล้วคันเล่า...               

              

ครั้นเมื่อเราแวะเข้าไปเยี่ยมเยือนในหมู่บ้านละแวกนั้น ก็จะเห็นชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มคนสาว แม้กระทั่งเด็กนักเรียนที่ว่างจากเรียนหนังสือ ต่างพากันนั่งอยู่บนลานดินหน้าบ้าน บ้างเกาะกลุ่มกันอยู่ในศาลา ใช่ ทุกคนกำลังนั่งสานก๋วยใบเขื่องกันอย่างขะมักเขม้น บ้างกำลังลากล้อเข็นทยอยขนก๋วยมากองรวมกันบริเวณจุดซื้อขาย แหละนั่นชาวบ้านกำลังนั่งนับเงิน บ้างกำลังนั่งตรวจสอบบัญชีซื้อขายก๋วยให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้านด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข  

 

 

 

 

 

 

                                                 

ภาพเหล่านั้น มีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และดูเหมือนกับว่า "ก๋วย" ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนที่นี่ไปแล้ว ยังไงยังงั้น          

                                                                                   

"คนในตำบลแม่นะร้อย 90 จะสานก๋วยเป็น ก๋วยได้สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว ก๋วยเหมือนโตชิบ้า นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต..."

                                                                           

"เวลาสานก๋วย จะคิดแต่เรื่องก๋วย ราคาก๋วย แต่บางทีก็คิดไปทางอื่นด้วย ฟังเพลงไปด้วย ดูทีวีไปด้วย โดยเฉพาะวิทยุ หรือบางคนไม่ได้พักผ่อน นอนหลับคาก๋วยก็มี..."      

                                    

"ถ้าไม่มีก๋วย ก็ไม่รู้จะทำอะไร…"       

 

"ทำงานสานก๋วยไม่มีโอที ไม่มีเวลาที่จะกำหนดเข้าออก เช้ามา แม่บ้านนั่งสาน สายๆไปรับจ้าง กลางวันกลับมาสานต่อ หรือกลางคืนก็สามารถสานได้ ก๋วยจึงเป็นการสร้างานในชุมชน"  

                                                                                                

นั่นเป็นคำพูดของชาวบ้านตำบลแม่นะ  ที่บอกเล่าให้เรารู้ว่า "ก๋วย" ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาจนแยกจากกันไม่ออก

 

"ก๋วย" เป็นภาษาเหนือ ที่ใช้เรียกเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับเข่ง ตะกร้า หรือชะลอมที่ใช้บรรจุสิ่งของต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่สืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

 

โดยสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านร้านถิ่นนั้นยังไม่มีภาชนะสำหรับใส่ของที่หลากหลาย จึงมักใช้ก๋วยไว้ใส่ผลผลิตเก็บไว้หรือใช้ขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยง ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องจักสานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนล้านนามาช้านาน       

                                                                                                         

ก๋วยจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรู้ การสืบทอดหรือประเภทของสินค้าที่ต้องการจะใส่ ความรู้เดิมที่ถ่ายทอดมาของท้องถิ่นนั้นๆ บางครั้งชาวบ้านก็เรียกกันว่า "ก๋วยต๋าจ๋น" ที่มาของ ก๋วยต๋าจ๋น นั้นคนเฒ่าเล่าให้ฟังว่า ในอดีตเมื่อชาวบ้านเข้าไปในป่า พบเห็ด หน่อไม้ แต่ไม่สามารถนำออกมาได้มาก จึงตัดไม้ไผ่ มาสานเพื่อเอาของป่าออกมา หรือเรียกว่าถึงคราวตาจนที่สุด ถึงขั้นต้องตัดไม้ไผ่มานั่งสานก๋วยในขณะนั้น เวลานั้น จึงกลายมาเป็นชื่อ ก๋วยต๋าจ๋น           

                                                 

บางท้องที่อาจเรียกว่า "ก๋วยตาแหลว" บางท้องที่เรียกว่า "ก๋วยตาห่าง" ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก แตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า เช่น ถ้าเอาไว้ใส่หมู ก็เรียก ก๋วยหมู ถ้านำไปใส่ไก่ ก็จะเรียก ก๋วยไก่ หรือถ้านำไปบรรจุผัก ก็จะเรียกว่า ก๋วยผัก เป็นต้น             

                                                                

ก๋วย ทำจาก "ไม้ไผ่" ซึ่งถือว่าเป็นเป็นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่จะนำมาแปรรูป เป็นวัสดุสำหรับทำเครื่องจักสานมากที่สุดและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งไผ่ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาวนั้น จะพบว่ามีอยู่หลายพันธุ์ แต่ที่นิยมนำมาทำก๋วยนั้น ได้แก่ ไม้ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่สีสุก เนื่องจากมีลำปล้องใหญ่และเนื้อไม้มีความเหนียวมากกว่าไผ่สายพันธุ์อื่น         

                                                 

ก๋วย จากเดิมมีการผลิตขึ้นมาเอาไว้ใส่ผัก สิ่งของ สัตว์เลี้ยง เพื่อสะดวกในการขนย้ายจากชุมชนหนึ่งไปยังชุมชนหนึ่ง แต่ปัจจุบัน ก๋วย ได้เริ่มปรับบทบาทของตนเอง ให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ก๋วยได้กลายเป็นวัสดุที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าเกษตรเชิงพาณิชย์หลังจากเริ่มมีเกษตรกรนำก๋วยมาใช้ใส่สินค้าต่างๆ เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อสะดวกต่อการขนส่งไปยังตลาดกลางในเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ หลังจากก่อนหน้านั้น เกษตรกรได้ทดลองนำถุงพลาสติกขนาดใหญ่มาใส่ผักกาด ขนย้าย ครั้นเมื่อถึงปลายทาง พบว่า พืชผักต่างบอบช้ำ เกิดความเสียหาย ทำให้ขายได้ราคาต่ำ

                                                  

นับตั้งแต่นั้นมา เกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก รวมไปถึงพ่อค้าคนกลาง จึงได้หันมาใช้ก๋วยในการบรรจุสินค้าส่งไปยังเป้าหมาย                

                                                                                                  

ดังนั้น การสานก๋วย จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของชาวบ้านที่นี่ กลายเป็นอาชีพเสริม บางครอบครัวนั้นถึงขั้นทำการสานก๋วยเป็นอาชีพหลัก กระทั่งมีการรวมกลุ่มกันขึ้น ในรูปแบบของกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้ให้กับสมาชิก สามารถพึ่งพาตนเองได้ แบบยั่งยืน และที่สำคัญ การรวมกลุ่มทำช่วยเสริมสร้างความสุข ความรัก ความอบอุ่นให้กับครอบครัวของชุมชนแห่งนี้อีกด้วย

 

 

ที่มาของ "ก๋วย" แม่นะ- เชียงดาว

"ก๋วยเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่คู่กับชุมชนมานาน แต่ก่อนนั้นยังไม่ได้มีการทำเป็นอาชีพ จนเมื่อประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการทำก๋วยเป็นอาชีพขึ้น..." แม่อุ้ยติ๊บ รู้ดี วัย75 ปี บอกเล่าให้ฟัง

 

จากคำบอกเล่าของแม่อุ้ยติ๊บ บอกว่า ผู้นำก๋วยมาเผยแพร่ให้คนในชุมชน จนทำให้ก๋วยกลายเป็นอาชีพนั้น คือ "ครูไสว เฟื่องฟู" ซึ่งตอนนั้น เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านทุ่งละคร ภายหลังครูไสวได้ลาออกจากการเป็นครู และได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาได้เป็นกำนันตำบลเชียงดาว ซึ่งระหว่างที่เขาเป็นผู้นำท้องถิ่นอยู่นั้น ได้ทำอาชีพเสริม คือ รับซื้อพืชผักจากเกษตรกรไปขายตลาดในเมือง จึงจำเป็นต้องซื้อก๋วยมาใส่ผัก โดยต้องไปซื้อก๋วยจากพื้นที่อื่น

 

"ครูไสว เห็นว่าการสานก๋วยน่าจะเป็นอาชีพเสริมให้กับคนในหมู่บ้านได้ จึงได้นำเอาแม่พิมพ์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ปีม" โดยครั้งแรกให้ญาติพี่น้องทดลองสานกันก่อน เมื่อสานได้แล้วก็เผยแพร่ให้คนในหมู่บ้านทำกันต่อไป โดยที่ครูไสวเป็นคนรับซื้อก๋วยเองในตอนนั้น..." นางชูศรี ปันกุย ชาวบ้านคนสานก๋วยบอกเล่าให้ฟัง

 

เมื่อสอบถามที่มาของการจักสานก๋วยของตำบลแม่นะ ชาวบ้านบอกว่าเริ่มมีการสานก๋วย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2518 เริ่มแรกได้สานก๋วยเพื่อส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าบ้านทุ่งละคร ต.เชียงดาว โดยตอนแรกนั้น พ่อค้าแม่ค้าจะเป็นตัวกำหนดว่าจะรับซื้อก๋วยในจำนวนเท่าใด เช่น เมื่อบอกว่า จะรับก๋วยจำนวน 100 ใบ ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็จะแบ่งกันไปทำ กระจายให้แต่ละหลังคาเรือน รับไปสานกันคนละ 2-3 ใบ        

 

ต่อมา เกษตรผู้ปลูกพืชผักป้อนส่งตลาดในเมือง เริ่มสนใจและหันมาสั่งซื้อก๋วยไปใส่ผักเป็นจำนวนมากขึ้น ตลาดรับซื้อก๋วยจึงเริ่มขยายกว้างขึ้นตามลำดับ จนชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นๆ สนใจหันมาสานก๋วยกันเพิ่มขึ้น โดยคนในหมู่บ้านที่สานก๋วยเป็น ก็จะไปเป็นผู้สอนให้ โดยมีพ่อค้าเอาไม้มาให้สาน บ้างก็จ้างชาวบ้านไปวิทยากรสอนการสานก๋วยให้กับเพื่อนบ้านตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 

ปี พ.ศ.2528 การผลิตก๋วยและการซื้อขายก๋วย เริ่มคึกคักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านเริ่มหันมาสานก๋วยกันในช่วงเวลาว่างกันมากขึ้น ครอบครัวหนึ่งจะสานก๋วยกันประมาณ 20 ใบ โดยเริ่มมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อก๋วยถึงในหมู่บ้าน ในราคาใบละ 1.20 บาท กระทั่ง การสานก๋วย ได้กลายเป็นอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านเกือบทั่วทั้งตำบล

 

จากการสำรวจในภายหลัง พบว่า ปัจจุบันมีชาวบ้านหันมาสานก๋วยกันทั้งหมด 13 หมู่บ้าน หรือประมาณร้อยละ 75 ของชุมชนตำบลแม่นะทั้งหมด

 

แม่อุ้ยลูน ลายคำ วัย 80 ปี ชาวบ้านบ้านจอมคีรี ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ตนเองสานก๋วยมาตั้งแต่อายุ 50 ปี สมัยก่อน จะเข้าป่า ไปตัดไม้ไผ่ ขนมาเอง แล้วตอนนั้นยังไม่มีเครื่องจักร ที่จะช่วยร่อนตอก ต้องใช้มือใช้มีดจักตอกทีละเส้นๆ ก่อนลงมือสานก๋วย

 

ในขณะที่แม่สุภา  ฟองคำ วัย 60 ปี บอกเล่าให้ฟังว่า เริ่มสานก๋วย ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2526 - 2527 ไปเรียนรู้การสานก๋วยตามบ้านใกล้เรือนเคียง 

 

"ตอนนั้น ก็ไปให้คนข้างบ้านเขาสอนให้ สอนก้นได้ สอนเม้ม วันแรกที่หัดเริ่ม วันละ 3 ใบ เมื่อเห็นคนอื่นสาน ก็อยากจะมีอาชีพเสริม จากฤดูกาลว่างงาน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ปลูกถั่วเหลืองแล้ว ต่อมา ต้องเลิกทำนา ทำสวน เนื่องจากผู้นำครอบครัว สุขภาพไม่แข็งแรง จึงหันมายึดสานก๋วยเป็นอาชีพหลัก ตอนนี้ แม่จะสานก๋วยได้วันละ 40  ใบ"

 

ส่วนนางโสภิน กองสถาน บอกว่า แรกเริ่มเดิมทีครอบครัวมีอาชีพทำการเกษตร ต้องเช่าที่นาที่สวนคนอื่นมาทำ ต้องกู้เงินคนอื่นมาลงทุนทำนาทำสวน ยิ่งทำก็ยิ่งจน มีแต่หนี้สิน ตอนหลัง ได้หันมาสานก๋วย ก็รู้สึกว่าความเป็นอยู่ดีขึ้น  เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนมาก 

 

"ก็แบ่งงานกันทำ สามีออกไปทำงาน เมียสานก๋วย ลูกก็สานก๋วยร่วมกัน เมื่อคิดออกมาเป็นตัวเลขแล้ว หนี้สินเริ่มลดลง ส่งลูกไปเรียนในเมือง ก็ยังสามารถทำให้ครอบครัวอยู่ได้..." 

 

ในขณะ ชาวบ้านหลายคน ก็บอกว่า เห็นคนอื่นสาน แล้วมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าตนเองก็เป็นคนหนึ่งในหมู่บ้าน แล้วทำไมไม่ทำอย่างคนอื่นบ้าง ก็เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสานก๋วยกับกลุ่มที่จักสานอยู่ก่อนแล้ว

 

"เริ่มสานก๋วยเป็นอาชีพเสริม ไม่ได้สานเป็นหลัก หากมีเวลาว่างก็จะสาน เพราะครอบครัวเราทำสวนเป็นหลัก แต่เมื่อมาสานก๋วยแล้ว ก็มีรายได้มากขึ้นจาก ไม่กี่พัน กลายเป็นหลักหมื่น นั่นคือสำหรับคนที่ไม่มีหนี้ เก็บไว้ ไม่ต้องเร่งรีบ ปีหนึ่งๆเขา มีรายได้เป็นหมื่นๆบาท"

 

ด้านนายอุดม  สิงห์คำ  ชาวบ้านบ้านแม่นะ  บอกว่า ทุกวันนี้ ตนเองเป็นฝ่ายจัดหาไม้ไผ่มาให้ภรรยาทำหน้าที่สานก๋วย

 

"ไปเอาไม้เอง เมื่อเริ่มมาทำ ให้แม่บ้านไปขายในกลุ่ม ลงมาจากบ้านป่าเมี่ยง เป็นสล่า เป็น แผนกหาไม้ ส่วนแม่บ้านทำหน้าที่สานก๋วย แล้วทำให้เรารู้ว่าเริ่มมีรายได้ เริ่มดีขึ้นมา..."

 

จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านที่นี่ได้หันมาสานก๋วย เป็นทั้งอาชีพเสริมและอาชีพหลัก ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละครอบครัว

 

 

กว่าจะมาเป็นก๋วย ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน

พัฒนาการจักสาน  โดยใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย

ปี พ.ศ.2537 ชาวบ้านเริ่มมีการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการจักสานก๋วย โดยมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยทุ่นแรง คือ "เครื่องจักตอก" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เครื่องร่อนตอกไม้ไผ่" ซึ่งหลายหมู่บ้านเริ่มหันมานิยมใช้ เพราะสามารถทุ่นแรง ไม่ต้องใช้มีดใช้มือจักตอกเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รวดเร็วขึ้น และการใช้เครื่องร่อนตอก ทำให้ได้จำนวนเส้นตอกมากขึ้น

 

ซึ่งต่อมา ทำให้ชาวบ้านผู้ที่มีกำลังเงินมาก ลงทุนซื้อเครื่องจักตอกมา แล้วให้ชาวบ้านเช่าร่อนตอก โดยคิดค่าเช่าเป็นชั่วโมง 

 

"สรุปค่าใช้จ่ายค่าร่อนตอกด้วยเครื่องจักร ชั่วโมงละ 15 บาท คนร่อนเร็วก็ได้มาก ร่อนช้าอาจจะได้น้อยลง"

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้ว่า กว่าจะมาเป็นก๋วยในแต่ละใบนั้น จะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนด้วยกัน                                                                                                         

ชาวบ้านบอกเล่าให้ฟังว่า เมื่อได้ไม้ไผ่ที่ต้องการมาแล้ว โดยไม้ไผ่ที่นิยมนำมาสานก๋วยคือ ไม้ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่สีสุก เพราะไผ่ประเภทนี้มีความเหนียว และขนาดของลำต้นค่อนข้างใหญ่ ความยาวระหว่างลำปล้องมาก เมื่อนำมาจักสานเป็นก๋วย จะได้จำนวนมากกว่าไผ่พันธุ์อื่น 

 

"แต่จะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าไผ่นั้นลำใหญ่และมีความยาวมากน้อยเพียงใดด้วย"

 

ชาวบ้านบอกว่า ต้นไผ่ลำหนึ่งจะนำมาตัดเป็นท่อนได้ประมาณ 4-5 ท่อน ความยาวท่อนละ 1.60 เมตรโดยประมาณ จากนั้น จึงนำมาผ่าเป็นกีบ โดยไม่มีการลอกเปลือกนอก หลังจากนั้น จึงนำไม้ที่ผ่าเป็นกีบมาจักเป็นเส้นตอก (ซึ่งปัจจุบัน ในหลายพื้นที่เริ่มมีการนำเครื่องจักตอก มาใช้ เพราะจะทำให้ได้จำนวนเส้นตอกมากขึ้น รวดเร็วขึ้น)

 

ต่อมา จะถึงขั้นตอนการนำตอกที่ได้มาสานทำก้นก๋วย จำนวน 24 เส้น (แนวสาน 1 แนวมี 8 เส้น รวม 3 แนว) โดยจะมี "ปีม" หรือแม่พิมพ์ก๋วย ซึ่งจะไม่เหมือนกัน จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของก๋วยหรือประเภทของก๋วย

 

หลังจาก สานก้นก๋วยเสร็จแล้ว ก็จะนำมาสานขึ้นเป็นตัวก๋วย ก่อนจะพับปากก๋วย ก็จะได้ก๋วย 1 ใบ

 

"หากลำไผ่ที่มีลำต้นใหญ่ 1 ท่อน จะได้เส้นตอกประมาณ 252 เส้น และการสานก๋วย 1 ใบ จะใช้เส้นตอกประมาณ 31 เส้น และโดยเฉลี่ยชาวบ้านจะสานได้ประมาณวันละ 20 ลูก"

 

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ชาวบ้านที่นี่สามารถสังเกตและคำนวณได้ด้วยตนเอง ว่าไผ่ลำหนึ่งใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเท่าใด เพราะว่าชาวบ้านที่นี่สานก๋วยอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้า สาย บ่าย เย็น หรือแม้กระทั่งยามค่ำคืน

 

และจากคำบอกเล่าของกลุ่มสานก๋วยและกลุ่มพ่อค้ารับซื้อก๋วย ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า ก๋วยที่มีคุณภาพดีส่วนใหญ่มาจากบ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 14 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว เพราะสานได้สวยงาม และมีเส้นตอกเสมอกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

ราคาก๋วย : ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ความต้องการของตลาด

เมื่อพูดถึงเรื่องราคาการซื้อขายของก๋วยในปัจจุบัน ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า ราคาขึ้นอยู่กับฤดูกาล ความต้องการของตลาด และคุณภาพของก๋วย

 

"ฤดูกาลที่ก๋วยราคาแพง คือ ต้นฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี บางครั้งสามารถขายได้ราคาสูงถึง 5 บาทต่อใบ ช่วงที่ราคาก๋วยต่ำ คือ ช่วงที่หมดฤดูทำนาเพาะปลูก หรือหมดฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะมีเวลาว่างจึงสานก๋วยได้ปริมาณมาก ราคาก๋วยจึงต่ำ แต่ไม่เคยต่ำกว่า 3 บาทต่อใบ"

 

 

เมื่อพ่อค้าคนกลางกดขี่ราคา

คือที่มาของการตั้งกลุ่มสานก๋วยของชุมชน

อย่างไรก็ตาม การทำงานทุกอย่างใช่ว่าราบรื่นเสมอไป หลังจากที่ชาวบ้านเริ่มหันมายึดอาชีพสานก๋วยในแต่ละครัวเรือน ขยายไปหลายๆ พื้นที่ จึงเริ่มทำให้หลายคนพบเจอกับอุปสรรคและปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคาก๋วยให้ต่ำลง จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

 

"สิ่งที่คิดในขณะนั้น คือเราเริ่มเห็นปัญหา จากที่ชาวบ้านถูกโกงราคา เมื่อพ่อค้าคนกลางกดขี่ราคา ราคาอยู่ที่พ่อค้า บางครั้งขายได้เพียงใบละ 2.20 หรือ 2.80 บาท คนแก่คนเฒ่าบางคนไม่รู้หนังสือ บันทึกรายการซื้อขายไปไม่ครบตามจำนวน ถึงเวลาเอาของไป พอสิ้นเดือน ก๋วยหาย ก๋วยตก ส่วนมากคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่รู้หนังสือจะถูกกดราคา  เพราะจำไม่ได้ ทำให้พวกเราเริ่มมาคิดกันว่า จะพยุงราคาก๋วยได้อย่างไร ให้คงที่ ไม่ให้เสียเปรียบพ่อค้า จึงมาคิดร่วมกันว่าหากรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้ว จะสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองราคา หากพ่อค้ามาซื้อ ราคาถูกกว่า ก็ไม่ขาย แต่หากได้ราคาที่เป็นธรรม ก็จะขายให้..."  แม่อรุณ แสนแอน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือนบ้านจอมคีรี หมู่ที่  3 ตำบลแม่นะ  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าให้ฟัง

 

แหละนั่นนำไปสู่กระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผนร่วมกันของชาวบ้าน ว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ โดยชาวบ้านมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการจัดการ ในการกำหนดราคาของก๋วยได้

กระทั่ง กลายเป็น "กลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือนบ้านจอมคีรี" ขึ้นมา

 

แน่นอนว่า การตั้งกลุ่มสานก๋วยครั้งนี้ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการกดขี่ราคาพ่อค้าคนกลางได้เป็นอย่างดี โดยหลังจากที่กลุ่มรับซื้อก๋วยจากสมาชิกไว้ เพื่อต่อรองกับกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ด้วยการเปิดโอกาสให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาประมูลราคาก๋วย จนเกิดความเป็นธรรมในที่สุด

 

ว่ากันว่า แต่เดิมนั้น ราคาขึ้นอยู่กับอารมณ์ของพ่อค้าคนกลาง

ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็น ชาวบ้านคือผู้กำหนดราคา พ่อค้าคือผู้ประมูล

 

"ราคาก๋วย ของกลุ่มก๋วยบ้านจอมคีรี หมู่ที่ 3 ต.แม่นะ ราคาจะอยู่ที่ประมาณใบละ 4 บาท โดยต่อรองให้พ่อค้ามารับทุกวันที่ 10 หรือ 15 ของเดือน และคิดราคาที่กลุ่มต่อรองได้ ผ่านกลไกการทำงานระบบกลุ่ม  สมาชิกนำก๋วยมารวมกัน และเปิดซองประมูล ใครให้ราคามากก็ได้ไป และจากราคาประมูลเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2550 อยู่ที่ใบละ 4.45 บาท ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่ประมูลได้เป็นแม่ค้าจากบ้านห้วยโจ้ หมู่ที่ 4 ตำบลแม่นะ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรับซื้อก๋วยใหญ่ที่สุดในอำเภอเชียงดาว" แม่อรุณ บอกเล่าให้ฟัง หลังจากมีการรวมกลุ่มกันขึ้นมา

 

ตอนหน้า เราจะพาไปศึกษาเรียนรู้ การพัฒนา จากคนสานก๋วย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนกลายเป็น "ก๋วยเงินล้าน" ได้อย่างไร!?

 

 

 





 

วัตถุดิบที่ใช้ในการจักสาน

 

มนุษย์มีความเฉลียวฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบแต่ละชนิดจากธรรมชาติ มาทำเป็นเครื่องจักสานให้สอดคล้องเหมาะสมกับการใช้สอย เช่น นำกิ่งไม้มาสอดขัดกันอย่างง่ายๆ เป็นรั้วเพื่อแสดงอาณาเขตของตนนำใบไม้ที่มี ลักษณะเป็นเส้นแบนๆ อย่างใบตาล ใบมะพร้าว ใบลาน ใบลำเจียก มาจักเป็นเส้นแล้วสานเป็นเครื่องจักสานประเภทต่างๆ นำไม้ไผ่และหวายมาจักเป็นเส้นเพื่อสานเป็นเครื่องจักสาน

 

ไผ่ เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่จะนำมาแปรรูป เป็นวัสดุสำหรับทำเครื่องจักสานมากที่สุด จึงเห็นได้ว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่ เป็นเครื่องจักสานที่นิยมใช้และผลิตกันแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย เฉพาะ ประเทศไทยนั้นไผ่หลายพันธุ์มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาทำเครื่องจักสาน กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศและไผ่ที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ดีมีหลายพันธุ์ ได้แก่ ไผ่สีสุก ไผ่รวก ไผ่เฮี้ยะ ไผ่ข้าวหลาม เป็นต้น

ไผ่พรรณไม้ชนิด Bambusa spp. ในวงศ์ Poaceae เป็นกอลำต้น สูงเป็นปล้องๆ มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาใช้ทำเครื่องจักสานแตกต่างกันไป เช่น

 

·         ไผ่สีสุก (Bambusa blumeana Schult.) ขึ้นทั่วไปตามหัวไร่ปลายนาทุกภาคของประเทศ แต่พบมากในภาคกลางและภาคใต้ ชอบดินเหนียวปนทรายหรือดินร่วนในที่ราบต่ำๆ ตามริมแม่น้ำลำคลอง ไผ่ชนิดนี้ กล่าวกันว่ามาจากหมู่เกาะชวา สุมาตรา และบอร์เนียว ลำมีสีออกเหลือง จึงเรียกว่าไผ่สีสุก เป็นไผ่ที่มีลำสูงใหญ่ ไผ่ชนิดนี้ใช้ ประโยชน์ได้หลายอย่าง ชาวบ้านจึงมักปลูกไว้เป็นรั้วบ้านเพื่อ ช่วยกำบังลม และนำหน่อมาเป็นอาหาร นำต้นมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ทำพะอง บันได และทำเครื่องจักสานนานาชนิด

 

·         ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis Gamble) เป็นไผ่ที่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณประเทศพม่า จึงพบไผ่ชนิดนี้มากในบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันตกบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ไผ่รวก เป็นไผ่ที่มีความ สวยงามเป็นกอชิดทึบ พุ่มเตี้ย ลำต้นเล็กและเปลา สูงประมาณ 2-7 เมตร มีกิ่งเล็กๆ ไผ่รวกเป็นไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ปลูกตกแต่งบริเวณบ้าน ทำรั้ว ใช้เป็นวัสดุประกอบการก่อสร้าง การประมง ทำเยื่อกระดาษ และใช้ทำเครื่องจักสาน

·         ไผ่เฮี้ยะ (Cephalostachyum virgatum Kurz) เป็นไม้ที่รู้จักกันดีในภาคเหนือ ขึ้นทั่วไปในบริเวณป่าดงดิบหรือป่าผสมผลัดใบที่มีไม้สักเฉพาะตามริมห้วยต่างๆ ลักษณะเด่นของไผ่ชนิดนี้คือ เนื้อลำบางมากตั้งแต่โคนถึงยอด มี ขนาดปล้องยาวมากประมาณ 50-70 เซนติเมตร สูงประมาณ 18 เมตร ไม้เฮี้ยะเป็นไม้ขนาดย่อมลำเรียวเปลา ชาวบ้านในภาคเหนือนิยมนำมาทำฝาบ้าน เครื่องมือจับปลา กระบอกใส่น้ำ และเครื่องจักสาน

·         ไผ่ข้ามหลาม (Cephalostachyum pergracile Munro) มีมากในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นกระจายเป็นกลุ่มๆ ในป่าผสมผลัดใบ ชื่อพื้นเมืองอาจเรียก ไม้ข้ามหลาม ไม้ป้าง เป็นไม้ขนาดกลาง ชู ลำสวยงาม กอไม่แน่นจนเกินไป ลำต้นตรงสีเขียวนวล เนื้อบาง ไผ่ชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่ใช้เผาข้าวหลาม และเครื่องจักสาน ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ทำฟาก ฝา เพดานบ้าน ทำโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์จนถึงนำไปทำเป็นตะแกรงแทนเหล็กสำหรับยึดคอนกรีตในงานก่อสร้าง

ที่มาข้อมูล

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22 เรื่องเครื่องจักสาน

                                                                                                                        

 

 

 

 

ที่มาข้อมูล-ข้อมูลประกอบ

สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.)

สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22 เรื่องเครื่องจักสาน

คำสัมภาษณ์ผู้นำและสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมครัวเรือนบ้านจอมคีรี ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท