Skip to main content
sharethis

7 มี.. 52 - พนักงาน บริษัทเมย์ฟิลด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกต่างประเทศย่านบางพลัด ซึ่งเจ้าของได้ประกาศปิดกิจการถาวร โดยอ้าง ขาดทุน เพราะพิษเศรษฐกิจ ได้ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้เป็นวันที่ 10 ของการชุมนุมแล้ว ขณะที่ ผู้ชุมนุมในวันนี้  ซึ่งปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณป้ายอาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายในกระทรวงแรงงาน กว่า 50 คนเท่านั้น ทั้งนี้ น.ส.ชมัยพร เจริญผล หนึ่งในแกนนำ อดีตพนักงานเมย์ฟิลด์ บอกว่า พนักงานทุกคน ยังคงยืนหยัดในจุดยืนเดิม คือ เรียกร้องให้ เจ้าของกิจการจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วน  ตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด


ก่อนหน้านั้นพนักงาน บริษัทเมย์ฟิลด์ จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดย น.ส.อรสา สิทธิ์มั่นคง อายุ 41 ปี แผนกฝ่ายการเงิน เล่าว่า ทำงานมา 8 ปี เงินเดือน 10,300 บาท ขณะนี้เรียกได้ว่าเดือดร้อนสุดๆ เพราะต้องมาอยู่ในสภาพคนตกงาน จะไปสมัครงานที่ใหม่ก็ไม่มีใครอยากรับ เนื่องจากอายุมากแล้วขณะเดียวกันก็ต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวมีพ่อแม่ และน้องอีก 2 คน ที่สติไม่ดีทั้งคู่ ทั้งครอบครัวจึงมีเธอทำงานอยู่คนเดียว


โดยส่วนตัวแล้วไม่เคยคิดว่าบริษัทจะปิดกิจการ เพราะช่วงปีใหม่ยังมีออเดอร์เข้ามาอยู่ พอมาถึงวันที่ 20 มกราคม 2552 บริษัทก็ประกาศปิดกิจการและให้ค่าชดเชยตามอายุงาน ที่ผ่านมาบริษัทจ่ายค่าชดเชยแล้วคนละ 20% ของค่าชดเชย ส่วน 80% ที่เหลือบริษัทพยายามบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด


"พนักงานทุกคนต้องการเงินก้อนนี้ไปสร้างตัวกันใหม่บางคนมีหนี้สินค้าชำระอยู่ อยากให้บริษัทเห็นใจพนักงานบ้างของตัวเองนั้น ถ้าได้เงินก็จะเอาไปขายอาหาร เปิดเป็นร้านเล็กๆ หรืออาจไปฝึกอาชีพเพิ่มเติม เพื่อช่วยพยุงฐานะ และที่สำคัญคือเราก็ต้องทำเพื่อครอบครัว"


ด้าน นางสุรัตน์ บุญลือพันธ์ อายุ 65 ปี แม่บ้านประจำบริษัทเมย์ฟิลด์ บอกว่าทำงานที่นี่มาตั้งแต่ปี 2522 อยู่กับบริษัทนี้มา 30 ปี ไม่เคยคิดว่าจะตกงานตอนแก่ เพราะตลอดเวลาทำงานอย่างเต็มที่ ได้รับเงินเดือน 6,000 บาท แต่ก็อยู่ได้ เพราะไม่ได้สร้างภาระไว้มากมาย มีเพียงแค่ค่าเช่าบ้านและค่าโทรศัพท์ ตกเดือนละ 1,500 บาท เพื่อพยายามใช้อย่างประหยัดก็พออยู่ได้ ไม่เดือดร้อนมากนัก ยิ่งตอนนี้รัฐบาลช่วยสมาชิกประกันสังคม 2,000 บาท ก็ยังพอช่วยได้อีกเล็กน้อย


แต่เมื่อต้องกลายมาเป็นคนตกงาน ก็อยากได้เงินที่ควรจะได้รับจากนายจ้างด้วย บริษัทต้องจ่ายให้อีก 7 เดือน และเงินก้อนนี้คือรายได้งวดสุดท้ายที่ตนต้องได้ เพื่อจะเป็นทุนร่วมกับพี่สาวเปิดร้านขายของที่นครนายก


ส่วนนางสุธามาต ทองชู อายุ 36 ปี ทำงานมา 4 ปี แผนกคิวซี ได้รับเงินค่าชดเชยเลิกจ้าง 6 เดือน กล่าวด้วยความอัดอั้นว่า บริษัททำสัญญาว่า เงินที่เหลือ 80% ให้มารับเงินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พอถึงวันนัดนายจ้างก็ไม่มา ปล่อยให้พนักงานไปรอหน้าโรงงาน ถ้าได้เงินก้อนนี้ครบก็จะเอาส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ และจ่ายค่าบ้านที่ค้างไว้ 1 เดือน


นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูแม่กับลูกสาวอีก 1 คนซึ่งอายุ 18 ปีแล้ว ซึ่งต้องใช้เงิน เพราะอยู่ชั้น ปวช.2 แล้วและเด็กวัยกำลังนี้ต้องใช้เงินอีกมากกว่าจะจบการเรียนในระดับสูง ลำพังเงินเดือน 6,240 บาท ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดเต็มที่ยิ่งมาเจอสภาวะแบบนี้ทำใจไม่ถูกจริงๆ เพราะนอกจากตกงานแล้ว ยังไม่ได้รับค่าชดเชยเลิกจ้างอีก


"เวลาทำงานพวกเราก็ทำกันเต็มร้อย แต่เวลาบริษัทจ่ายเงินชดเชย จ่ายไม่เต็มร้อย ทำไมเอาตัวรอดอย่างนี้ พนักงานหลายคนส่วนใหญ่มีความรู้กันแค่ ป.4-ป.6 จะไปหางานทำได้อย่างไร ในเมื่ออายุก็มากแล้ว อยากให้นายจ้างนำเงินมาจ่ายพนักงานเร็วๆ เพื่อแต่ละคนจะได้นำเงินทุนแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพที่ตนเองถนัดต่อไป" นางสุธามาตกล่าว


อย่างไรก็ตาม  ระหว่างการชุมนุม เจ้าของกิจการได้ส่งตัวแทนมาทำการเจรจาต่อรอง โดยจะจ่ายค่าชดเชยที่เหลือเพียง 30 %เท่านั้น แต่กลุ่มผู้ชุมนุม ได้ปฏิเสธไม่ขอรับ โดยยืนยัน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน


เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท เมย์ฟิลด์ จำกัด ว่า ขณะนี้นายจ้างยินยอมที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยในส่วนที่เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ ให้กับลูกจ้างแล้ว โดยในวันที่ 4 มีนาคมนี้ นายจ้างจะโอนเงินจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 ล้านบาท มายังกระทรวงแรงงาน เพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างทั้งหมด ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์นั้น นายจ้างจะจ่ายให้ในภายหลัง ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะใช้เงินในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างไปก่อน แล้วจึงไปเรียกเก็บจากนายจ้างภายหลัง อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างบริษัท เมย์ฟิลด์ ยอมที่จะสลายการชุมนุม และพร้อมที่จะทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ชุมนุมให้


ส่วนการชุมนุมของพนักงานบริษัท เมย์ฟิลด์ ที่บุกขึ้นมาร้องเรียนถึงห้องทำงานนั้น นายไพฑูรย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป้นความเข้าใจผิด เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวงกว่า 1,000 คน จะเข้ามาร่วมชุมนุมกับพนักงานบริษัท เมย์ฟิลด์ด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูทางเข้า-ออก ซึ่งระหว่างนั้นกลุ่มพนักงานบริษัท เมย์ฟิลด์ไม่พอใจ จึงบุกขึ้นมาประท้วงถึงบริเวณหน้าห้องทำงาน ซึ่งไม่มีเหตุรุนแรงอะไรเกิดขึ้น


ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์แนวหน้า, เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net