แนวทางการประกันสิทธิเสรีภาพ ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม : สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นบนอินเตอร์เน็ต


 

โดย : นายทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 

 

 

 

เกริ่นนำ

สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันได้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง พื้นที่สื่อก็เป็นพื้นที่สาธารณะหนึ่งที่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองได้พยายามฉกฉวยมาใช้เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของตนเพื่อสร้างอิทธิพลครอบงำประชาชนและทำซ้ำความคิดเดิมๆ เหนือกลุ่มมวลชนของตน โดยหวังผลว่าการขับเคลื่อนทางการเมืองของฝ่ายตนจะได้รับกระแสสนับสนุนจากสังคมและมวลชน 

 

อย่างไรก็ตามในสังคมประชาธิปไตยย่อมมีประชาชนซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายเกินกว่าจะปิดปากไม่ให้ คิด พูด หรือแสดงออกในทางตรงข้ามกับทิศทางที่กลุ่มการเมืองกระแสหลักพยายามจะชี้นำ ดังนั้น การสร้างประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างแตกต่างหลากหลายได้จึงจำเป็นต้องยืนอยู่บนหลักการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการประกันผ่านรัฐธรรมนูญ หรือกลไกประกันสิทธิต่างๆ  

 

บทความชิ้นนี้ได้พยายามเสนอแนวทางในการประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้บริบทของการมีอยู่ของ พระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งอาจจะมีทั้งผลดีและผลเสียต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทางอินเตอร์เน็ต พร้อมเสนอทางออกเฉพาะหน้าและระยะยาวในการแก้ปัญหาอันเนื่องจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐ

 

 

สิทธิเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ต

สิทธิเสรีภาพี่พึงมีในโลกไซเบอร์น่าจะได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และ

สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งสิทธิทั้ง 2 ประการนี้ รับรองโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนในหลายระดับ โดยจะชี้เห็นเป็นรายสิทธิไป ดังนี้

 


  • สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ในข้อ 12 และ 19

            นอกจากนี้ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ก็ได้เน้นย้ำความสำคัญของสิทธิในการแสดงความคิดเห็นไว้ในข้อ 19

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้เช่นกัน โดยรับรองไว้ในมาตรา 45

 กฎหมายสิทธิมนุษยชนในหลายระดับ ได้ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้ ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรใช้อำนาจไปในทางลิดรอนสิทธิดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยการออกกฎหมายมาลิดรอนสิทธิ หรือใช้อำนาจปกครองมาลิดรอนสิทธิ เพราะฉะนั้น การบังคับใช้พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จึงต้องอยู่ภายในกรอบของกฎหมายประกันสิทธิเสรีภาพด้วย

 


  • สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ปฏิญญาสากลฯ มิได้รับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไว้ แต่ภายหลังกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองได้รับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไว้ในข้อ 19

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 56

กฎหมายสิทธิมนุษยชนในหลายระดับ ได้ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรใช้อำนาจไปในทางลิดรอนสิทธิดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยการออกกฎหมายมาลิดรอนสิทธิ หรือใช้อำนาจปกครองมาลิดรอนสิทธิ เพราะฉะนั้น การบังคับใช้พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จึงต้องคำนึงถึงกรอบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนด้วย

 

 

การบังคับใช้กฎหมายในโลกอินเตอร์เน็ตและองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย

กิจกรรมในโลกไซเบอร์ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้น กฎหมายทั่วไปที่ใช้บังคับ

สังคมหากมีลักษณะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าว ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ทันที


  • กฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นโทษทาง

อาญา ดังนั้น เราจึงควรจะศึกษากฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับแรก

            กฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับฐานความผิดในพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้แก่

ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 112

หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 116

หมวด3 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร มาตรา 123 มาตรา 124

หมวด 4 ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ มาตรา 133 มาตรา 134

ลักษณะ9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 287

 

 

ฐานความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น ถ้าเราใช้วิธีการตีความกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย หรือใช้ดุลยพินิจต่างๆ โดยอ้างอิงประมวลกฎหมายอาญา ก็จะทำให้เราสามารถใช้กฎหมายได้ชดเจนและมั่นคงมากขึ้นกว่าการใช้บทบัญญัติพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ดังนั้น กระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายอาญาก็ควรนำมาปรับใช้กับกิจกรรมในโลกไซเบอร์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากพบว่า มีการกระที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ควรใช้กระบวนการทางอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาควบคู่ไปกับวิธีการตามพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในโลกไซเบอร์ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อมีการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ผู้เสียหายก็อาจฟ้องร้องให้มีการชดเชยตามบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยลักษณะละเมิด เช่น การใส่ร้ายหรือโฆษณาอันเป็นเท็จ ก็อาจเป็นมูลหนี้ให้ผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา423

 

ฐานความผิดทางแพ่งที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับสิทธิในชื่อเสียงของบุคคลอื่น ดังนั้น ถ้าเราใช้วิธีการตีความกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย หรือใช้ดุลยพินิจต่างๆ โดยอ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็จะทำให้เราสามารถใช้กฎหมายได้ชัดเจนและมั่นคงมากขึ้นกว่าการใช้บทบัญญัติพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ดังนั้น กระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายแพ่งฯ ก็ควรนำมาปรับใช้กับกิจกรรมในโลกไซเบอร์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากพบว่า มีการกระที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ก็ควรใช้กระบวนการทางแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่งฯควบคู่ไปกับวิธีการตามพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายในการเรียกร้องให้มีการเยียวยาสิทธิเพิ่มเติม เนื่องจากพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กำหนดเพียงโทษทางอาญาไว้เท่านั้น

 


  • องค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในที่นี้องค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายอาญา ก็คือ องค์กรของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ได้แก่

ตำรวจ(สันติบาล) กระทรวง ICT กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ซึ่งก็ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั่นเอง และในบางกรณี ก็อาจต้องใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ประกอบด้วย ดังนั้น คำสั่งของเจ้าพนักงาน จึงสามารถโต้แย้งได้ตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้นั่นเอง

            ส่วนในกรณีการฟ้องร้องในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั่นเอง

องค์กรตุลาการ ทั้งศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลปกครอง ก็สามารถทำหน้าที่ไปตามมูล

ฐานแห่งคดีเป็นรายกรณีไป เฉกเช่นคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครองทั่วไป

 

 


  • สิทธิและเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ตกับพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

การวิเคราะห์ว่าพระราชบัญญัตินี้ มีความสัมพันธ์กับสิทธิเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ตอย่างไรนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจเจตนารมณ์ หลักการ และกลไกของพระราชบัญญัติฉบับนี้เสียก่อน เพื่อเป็นฐานคิดในการวิเคราะห์ต่อไปภายหลัง

 

 

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ

เพื่อกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใหม่ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันนั้นอาจยังไม่สามารถรองรับหรือครอบคลุมถึง เช่น การกระทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใดๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจารและเพื่อกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องมีความรู้ความชำนาญพิเศษทางด้านคอมพิวเตอร์เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

 

หลักการของพระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แบ่งออกเป็น 2 หมวด โดยหมวดแรกนั้น จะกำหนดเกี่ยวกับฐานความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนหมวดที่สองนั้น จะกำหนดเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ก่อนบทบัญญัติทั้งสองหมวดนั้น จะเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับชื่อพระราชบัญญัติ, วันประกาศใช้บังคับ, คำนิยาม และรัฐมนตรีรักษาการ

 

คำนิยาม

มีการกำหนดคำนิยามที่สำคัญไว้หลายคำ ได้แก่ "ระบบคอมพิวเตอร์" . "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" . "ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์", "ผู้ให้บริการ", "ผู้ใช้บริการ" ,"พนักงานเจ้าหน้าที่", และ "รัฐมนตรี"

 

หมวดที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

สำหรับบทบัญญัติในหมวดที่หนึ่ง มีทั้งสิ้น 11 มาตรา กล่าวคือตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 15 ทั้งนี้ โดยตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 12 นั้น จะเป็นบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะการกระทำความผิดซึ่งกระทบโดยตรงต่อการรักษาความลับ(Confidentiality) , ความครบถ้วน (Integrity) , และสภาพพร้อมใช้งาน (Availability) ของระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ สำหรับการกระทำความผิดที่กระทบต่อการรักษาความลับ เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นซึ่งมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงเอาไว้ (มาตรา 5) , การล่วงรู้มาตรการการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ (ตัวอย่างคือ การล่วงรู้รหัสผ่าน (Password) หรือรหัสลับ (secret code) เป็นต้น) (มาตรา 6) , การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่น (มาตรา 7), หรือการดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ (มาตรา 8)

 

ส่วนการกระทำความผิดที่กระทบต่อความครบถ้วนของระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ความครบถ้วนในที่นี้ หากกล่าวให้เข้าใจโดยง่ายหมายความว่า ในกรณีที่มีการป้อนหรือพิมพ์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้เช่นใด โดยทั่วไปหากจะเรียกข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมาอ่าน เรียกดู หรือใช้ข้อมูลดังกล่าวอีกครั้ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่หรือเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์นั้น ก็ควรจะแสดงบนจอคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลหรือข้อความที่ครบถ้วนเหมือนที่พิมพ์หรือป้อนไว้แต่เดิม ตัวอย่างการกระทำความผิดในลักษณะนี้ เช่น การรบกวนการทำงานของข้อมูลคอมพิวเตอร์ด้วยการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ (มาตรา9) เป็นต้น

 

ส่วนการกระทำความผิดที่กระทบต่อสภาพพร้อมใช้งานตามปกติของระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น การกระทำความผิดด้วยการป้อนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ "ไวรัส" ในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานผิดเพี้ยนไปจากเดิมหรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ (มาตรา 10)

 

อย่างไรก็ตามในการกระทำความผิดอันเป็นการรบกวนระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้ทำงานหรือแสดงผลต่างไปจากเดิมหรือไม่เป็นไปตามปกตินั้น พระราชบัญญัติก็ได้มีการกำหนดโทษหนักขึ้นในกรณีที่มีเหตุฉกรรจ์ไว้ด้วย กล่าวคือ หากกระทำความผิดก่อให้เกิดผลอันเป็นความเสียหายแก่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือกระทบต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การบริการสาธารณะ หรือการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิตของประชาชน ผู้กระทำผิดดังกล่าวก็ต้องรับโทษหนักขึ้น (มาตรา 11)

 

นอกจากนั้น ยังได้มีการกำหนดฐานความผิดสำหรับการจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การจงใจหรือเจตนาเผยแพร่ไวรัสที่ใช้ในการก่อให้เกิดความเสียหายหรือทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือชุดคำสั่งที่เรียกว่า spyware เพื่อไว้ใช้โจรกรรมความลับทางการค้า เป็นต้น (มาตรา 12)

 

ส่วนพระราชบัญญัติตั้งแต่มาตรา 13 ถึงมาตรา 15 นั้น จะเป็นลักษณะการกระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้คอมพิวเตอร์ในทางมิชอบเพื่อกระทำความผิดในลักษณะต่างๆ เช่น การปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์, การเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน, การเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะลามก, การกระทำความผิดของผู้ให้บริการที่มิได้ลบข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม , และการตัดต่อภาพอันทำให้บุคคลอื่นเสียหาย เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การกำหนดว่าเจ้าหน้าที่สามารถเรียกให้ผู้บริการส่งข้อมูลประวัติการใช้งานคอมพิวเตอร์ย้อนหลัง 90 วัน ก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ให้บริการเป็นอย่างมาก และการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตศาล ดังนั้น หลักประกันที่ให้กับผู้ให้บริการจึงมีน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเรียกข้อมูลมาใช้ หากผู้ให้บริการไม่มีศักยภาพในการจัดเก็บประวัติข้อมูล ก็อาจต้องโทษ อันเนื่องมาจากไม่สามารถหาประวัติข้อมูลมาให้แก่เจ้าหน้าที่ได้

 

ร่างพระราชบัญญัติในส่วนนี้มี 13 มาตรา ตั้งแต่ร่างมาตรา 16 ถึงร่างมาตรา 28 โดยได้มีการกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

คุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่

พระราชบัญญัติได้กำหนดไว้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านั้นต้องมีคุณสมบัติพิเศษ กล่าวคือ มีความรู้ความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์และผ่านหลักสูตรอบรมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำหนด (มาตรา 26) เพื่อให้มีอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด

 

อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่

ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็น, ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่ต้องสงสัย , ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ , ถอดรหัสข้อมูลคอมพิวเตอร์ , เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และยึดถือหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ (มาตรา 16)

 

อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจข้างต้น จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเท่านั้น (มาตรา 18) เช่นการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ (มาตรา16(2)) นั้น ก็ทำได้เฉพาะที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดโดยกระทำความผิดโดยการรบกวนรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ (มาตรา9) ก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์เกินความจำเป็น (มาตรา 18 วรรคสอง)

 

การตรวจสอบการใช้อำนาจ

ในการยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ที่ต้องสงสัยต้องมีหนังสือยึดหรืออายัดซึ่งทำตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงไปแสดง และจะยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ได้ไม่เกิน 30 วัน หากเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ต้องไปยื่นคำร้องขอต่อศาลอาญาเพื่อขอขยายเวลาดังกล่าว โดยศาลจะอนุญาตได้ไม่เกิน 60 วัน

 

อย่างไรก็ตาม ในการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานในการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด (มาตรา 16(3)) และการเรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์อันเป็นบันทึกการเข้าออกจากระบบของผู้ใช้บริการที่ผู้ให้บริการเก็บรักษาไว้อันเป็นหลักฐานสำคัญในการหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งไม่ให้รวมถึงเนื้อหาของข้อมูลที่บุคคลติดต่อกัน (มาตรา 16 (5)) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลในการดำเนินการ รายงานต่อศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ ทั้งนี้ โดยศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ หากเห็นว่าเกินความจำเป็น (มาตรา 18 วรรคสาม)

 

อำนาจสั่งการเกี่ยวกับชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ (โปรแกรมชั่วร้าย)

เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการพัฒนาชุดคำสั่งหรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์มากมาย การจัดการกับปัญหาดังกล่าวก็จะยากมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุ พระราชบัญญัติจึงได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ รวมทั้งสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีชุดคำสั่งพึงประสงค์รวมอยู่ด้วยนั้นได้ หรืออาจกำหนดเงื่อนไขการใช้ มีไว้ครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม ชุดคำสั่งพึงประสงค์นั้น ได้มีการพัฒนาให้สามารถนำไปใช้งานให้มีประสิทธิผล พระราชบัญญัติจึงได้เปิดกว้างให้มีการกำหนดว่าชุดคำสั่งใดบ้างที่มีลักษณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้ดำเนินการใดๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากชุดคำสั่งเหล่านั้น ก็อาจมีการนำไปใช้ในลักษณะที่เป็นคุณได้เช่นกัน ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ด้วยเช่นกันว่า การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสั่งการกับชุดคำสั่งพึงประสงค์หรือชั่วร้ายนั้นมิให้รวมถึงชุดคำสั่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อมุ่งประสงค์ให้นำไปใช้ในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งชั่งร้ายดังกล่าว โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีอำนาจในการประกาศว่า ชุดคำสั่งใดบ้างเป็นชุดคำสั่งที่ชั่วร้ายไว้ในกฎกระทรวง (มาตรา 19)

 

การควบคุมการใช้อำนาจและข้อห้ามมิให้เปิดเผยพยานหลักฐานที่ได้

พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ จะมีคุณสมบัติพิเศษและมีความสามารถที่มากกว่าพนักงานทั่วๆ ไป ในการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในการเข้าใจกลไกและรูปแบบการกระทำความผิด และพระราชบัญญัติก็ได้ให้อำนาจสำคัญกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (มาตรา 16(3)) อันอาจกระทบต่อความเป็นส่วนตัว ความลับในการติดต่อสื่อสาร หรือความลับทางการค้า อันเป็นสิทธิพึงมีของประชาชนได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องตรวจสอบการใช้อำนาจดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น และในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องควบคุมการใช้อำนาจด้วย เพราะการมีอำนาจกระทำการใดๆ ก็ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาจเป็นที่มาของการอาศัยฝีมือของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ ในการสืบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานสำหรับการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดอื่นๆ นอกเหนือจากการกระทำความผิดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ และเพื่อป้องกันมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบในประการอื่น

 

ดังนั้น พระราชบัญญัติจึงได้กำหนดห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ให้บริการที่ได้มาให้กับบุคคลใด (มาตรา 20 วรรคหนึ่ง) เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ, การใช้อำนาจในทางมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่, และการกระทำตามคำสั่งศาลในการพิจารณาคดี (มาตรา 20 วรรคสอง)

 

อย่างไรก็ตาม แม้มีกฎหมายอื่นให้อำนาจในการเรียกพยานหลักฐานหรือข้อมูลใดๆ ซึ่งมิใช่ข้อยกเว้นที่กล่าวไว้ในมาตรา 20 วรรคสอง พระราชบัญญัตินี้ก็ห้ามมิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับ ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายพิเศษยิ่งกว่ากฎหมายอื่นใด (มาตรา 20 วรรคสาม) ทั้งนี้ โดยได้กำหนดโทษในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติข้างต้นเอาไว้ด้วย รวมถึงกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายโดยประมาท (มาตรา 20 วรรคสี่ และมาตรา 21 ตามลำดับ) นอกจากนั้น ก็ได้กำหนดระวางโทษสำหรับบุคคลซึงล่วงรู้ข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อบุคคลที่สามเอาไว้ด้วย (มาตรา 22) และก็ได้บัญญัติให้รับกันโดยกำหนดให้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยฝ่าฝืนต่อหลักการควบคุมการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งกล่าวไว้ข้างต้น โดยมิให้รับฟังพยานหลักฐานเหล่านั้น ในการดำเนินการใดๆ อันเป็นโทษแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูล (มาตรา 23)

 

หน้าที่ของผู้ให้บริการในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์

เนื่องจากข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการหาตัวผู้กระทำความผิดพระราชบัญญัติจึงได้กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 30 วัน และในกรณีที่จำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ก็อาจสั่งให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้เกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วันก็ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กฎหมายที่จะใช้บังคับมีความยืดหยุ่น ทันสมัย และสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พระราชบัญญัติจึงได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำหนดว่าผู้ให้บริการที่มีหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น ได้แก่ผู้ให้บริการประเภทใดและจะกำหนดให้ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ พระราชบัญญัติก็ได้กำหนดว่า หากผู้ให้บริการใดไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ ก็ต้องระวางโทษที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังได้กำหนดว่า หากผู้ใดขีดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ อันรวมถึงอำนาจสั่งการเกี่ยวกับชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ (โปรแกรมชั่วร้าย) (มาตรา 16 และมาตรา 19 ตามลำดับ) ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งปรับทางปกครอง (มาตรา 25)

 

การทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ และพนักงานสอบสวน

ในพระราชบัญญัติได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีร่วมกับรัฐมนตรีรักษาการ ร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการดำเนินการในการจับ ควบคุม ค้น และสอบสวน (มาตรา 28)

 

การบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการหาหลักฐานหรือหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ถ้า "มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า"มีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้ ซึ่งการวัดว่าการกระทำใดร้ายแรงเพียงพอจน "มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า"นั้น อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะการใช้อำนาจตาม มาตรา 18 (1) (2) (3) ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากศาลก่อนด้วย ดังนั้น จึงอาจเกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเนื่องมาจากการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นที่วิตกกังวลกันว่าอาจมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ไปในทางกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรูทางการเมือง หรือผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล เช่น อาจถูกเรียกตัวมาสอบสวน ถูกเรียกข้อมูลมาใช้ปรักปรำผู้ต้องหาได้

 

กรณีศึกษา

 


  • กรณีฟ้าเดียวกัน

กระดานข่าวของเว็บฟ้าเดียวกัน มีคนเข้ามาโพสต์ข้อความและกระทู้ที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  และมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำหน้าที่ตรวจตราเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและมีลักษณะขัดต่อกฎหมาย  ทำการบล็อกกระดานความคิดเห็นรวมถึงเว็บไซต์ทั้งหมดที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการหมิ่นระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด  เมื่อผู้ประกอบการเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันได้ฟ้องร้องไปยังศาลปกครอง ศาลได้ตัดสินให้มีการยกเลิกการปิดเว็บไซต์และกระดานข่าว  เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผู้ที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาจต้องส่งสำนวนไปยังอัยการเพื่อร้องให้ศาลพิจารณาปิดเว็บไซต์หรือลบข้อความที่ไม่เหมะสม  แต่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงไม่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการปิดเว็บไซต์ใดด้วยฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  และพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็กำหนดขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีให้ยื่นเรื่องไปยังศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่ไม่เหมะสม แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นใช้อำนาจโดยขัดต่อกระบวนการที่กฎหมายวางกรอบไว้  ดังนั้นการปิดเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิจารณาให้มีการเยียวยาโดยการยกเลิกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบ ด้วยการสั่งให้ยุติการปิดเว็บไซต์  เว็บไซต์ฟ้าเดียวกันจึงสามารถกลับมาให้บริการในสารบบ ได้อีกครั้ง

 


  • กรณีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยา  ทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ดำเนินการต่อต้านรัฐประหาร และการกระทำที่เข้าข่ายเผด็จการอย่างต่อเนื่อง  โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศได้ปิดเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผ่านเซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการหลัก  ผู้ดูแลเว็บไซต์(รศ.สมเกียรติ ตั้งนะโม)ได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้รับการคุ้มครองชั่วคราวโดยคำสั่งของศาลปกครองต่อมา ศาลปกครองได้นัดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาให้ปากคำ  หลังจากศาลรับฟังจากทั้งสองฝ่าย พบว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศได้ดำเนินการปิดเว็บไซต์เองโดยมิได้มีอำนาจตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าให้เจ้าหน้าที่ยื่นเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศใช้ดุลยพินิจในการส่งเรื่องร้องขอต่อศาลให้พิจารณาปิดเว็บไซต์ที่มีลักษณะไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย  และยังพบข้อเท็จจริงว่า  เจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศได้ให้การว่าทำการพิจารณาปิดเว็บไซต์เองเป็นประจำโดยมิได้ทำเรื่องร้องขอให้รัฐมนตรีออกคำสั่งเพื่อดำเนินกระบวนการปิดเว็บไซต์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด  เมื่อศาลพิเคราะห์เห็นแล้วว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่มีลักษณะการใช้อำนาจทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงวินิจฉัยให้มีการเยียวยาโดยให้ส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศทำการเปิดเว็บไซต์อีกครั้ง  และรัฐมนตรีว่าการกระรวงเทคโนโลยีสารสนเทศก็ได้ทำจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการมาถึงเว็บไซต์ด้วย

 


  • กรณีพันทิพย์

หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเว็บบอร์ดราชดำเนินซึ่งอยู่ในเว็บไซต์พันทิพย์เป็นจำนวนมาก คณะรัฐประหารได้มีคำสั่งและขอความร่วมมือเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆซึ่งรวมถึงพันทิพย์ให้ดูแลกวดขันเนื้อหาและการแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ของตน ไมให้มีลักษณะปลุกระดมและต่อต้านคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง ด้วยเหตุนี้ทางผู้ดูแลเว็บไซต์พันทิพย์ได้ทำการเซ็นเซอร์ตัวเองโดยการปิดเว็บบอร์ดหน้าราชดำเนินลงชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เนื้อหาของหน้านี้มีลักษณะเข้าข่ายปลุกระดม ต่อต้านคณะรัฐประหารและรัฐบาล อันจะเป็นเหตุให้เว็บไซต์พันทิพย์ทั้งหมดต้องปิดตัวลงไป อันเนื่องมาจากเนื้อหาเว็บบอร์ดราชดำเนิน ดังนี้ จะเห็นได้ว่าทางผู้ประกอบการมิได้เซ็นเซอร์ตัวเองด้วยใจสมัครแต่เป็นเพราะกลัวเกรงต่อผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับเว็บไซต์เสียมากกว่า กรณีนี้ไม่มีการร้องทุกข์ต่อกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีการเปิดเว็บบอร์ดดังกล่าวขึ้น

 

จากกรณีนี้เห็นได้ชัดว่าฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้น ทั้งคณะรัฐประหารและรัฐบาลแต่งตั้งได้ใช้อิทธิพลและอำนาจข่มขู่กดดันให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ปิดเว็บบอร์ดราชดำเนิน ซึ่งเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ให้เห็นว่าผู้กุมอำนาจรัฐต้องการควบคุมทิศทางข่าวสาร และสกัดกั้นความคิดเห็นฝั่งตรงข้าม แต่ไม่อาจทำได้โดยตรง เนื่องจากช่องทางเว็บบอร์ดนั้นมีผู้ประกอบการคอยควบคุมอยู่ จึงต้องใช้วิธีการกดดันผู้ประกอบการแทน ในลักษณะการข่มขู่กดดันว่าถ้าปล่อยให้มีช่องทางเว็บบอร์ดดังกล่าวอยู่อีกก็อาจจะต้องสูญเสียเว็บไซต์ทั้งหมดไป การกระทำดังกล่าวของผู้มีอำนาจมิได้มีบทกฎหมายรองรับการใช้อำนาจข่มขู่กดดันเลย

 

สำหรับกรณีนี้จะเห็นได้ชัดว่า เว็บไซต์พันทิพย์มีกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หากต้องเลือกว่าจะปิดเว็บไซต์ลงและกระทบกระเทือนต่อความอยู่รอดของเว็บไซต์ทั้งหมด กับ การคงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บบอร์ดราชดำเนินแล้วล่ะก็  ทางผู้ประกอบการก็จะเลือกความอยู่รอดของเว็บไซต์เสียมากกว่า เพราะฉะนั้น อิทธิพลของอำนาจรัฐจึงได้ผลมาก เนื่องจากเจ้าของเว็บไซต์เกรงกลัวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

 

สำหรับประเด็นการกระทำของรัฐที่มีลักษณะการใช้อำนาจโดยปราศจากกฎหมายรองรับ ก็ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกต และทำข้อโต้แย้งไว้ด้วย ดังจะเห็นได้จากกรณีของเว็บไซต์อื่นที่ถูกปิด ( เว็บไซต์ที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนและแน่วแน่ ) ได้ทำการร้องทุกข์ไปสู่กระบวนการเยียวยาสิทธิ โดยยกประเด็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายขึ้นต่อสู้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าการกระทำของรัฐดังกล่าว จะถูกชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีฐานทางกฎหมายใดๆให้การรองรับอย่างชัดแจ้ง  ดังนั้น ฝ่ายอำนาจรัฐจึงได้มีความพยายามผลักดันกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการสั่งปิดเว็บไซต์ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

 

 

ผู้เขียนคิดว่า แนวความคิดข้างต้นได้ถูกผลักดันเข้ามาอยู่ใน พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากบทบัญญัติของพ.ร.บ.นี้ มีการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการขอเก็บข้อมูลหลักฐานเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องให้ศาลปิดเว็บไซต์ต่างๆได้ ซึ่งน่าจะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์ อันไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศประชาธิปไตยที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

 

 


  • Hack&Crack

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศมีนโยบายสกัดกั้นและปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมทั้งที่เป็นเว็บไซต์ภายในประเทศและเว็บไซต์ที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ของต่างประเทศ  แต่ด้วยอุปสรรคทางข้อกฎหมายทำให้ทางกระทรวงไม่สามารถปิดและสกัดกั้นเว็บไซต์ที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ของต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงไม่อาจใช้อำนาจหรือควบคุมให้เจ้าของเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นทำตามนโยบายได้  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศจึงใช้วิธีการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเจาะเข้าไปในฐานข้อมูลในเว็บไซต์ต่างประเทศเหล่านั้นแล้วทำการสกัดกั้นหรือทำลายเว็บไซต์ลง  เพื่อป้องกันไมให้ผู้ใดได้เข้าไปดูเว็บไซต์ที่มีลักษณะไม่เหมาะสม  ซึ่งทางกระทรวงก็ยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ และเป็นทางเลือกที่กระทรวงต้องทำเพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และรักษาเกียรติยศชื่อเสียง วัฒนธรรมอันดีงามของประเทศเอาไว้  ทั้งนี้การที่กระทรวงไม่สามารถร้องขอให้ประเทศเจ้าของเขตอำนาจเหนือเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นทำการปิดเว็บไซต์ ก็ด้วยเหตุที่ประเทศเหล่านั้นมิได้มีข้อกฎหมายทีเอื้อให้มีการใช้อำนาจปิดเว็บไซต์ดังกล่าวนั่นเอง  กระทรวงฯจึงต้องอาศัยวิธีการHack&Crack เข้าไปจัดการกับปัญหาแม้จะรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม

 

 

แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

 


  • แนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ระบบกฎหมายไทยได้มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น เราควรแก้ไขปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โดยอาศัยกระบวนการที่มีอยู่ก่อน แล้วจึงเสนอให้มีการปรับปรุงหลักประกันสิทธิเสรีภาพเพิ่มเติมภายหลัง แนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ระบบกฎหมายรองรับอยู่แล้วมี 3 แนวหลักๆ ได้แก่

 

1. การโต้แย้งดุลยพินิจหรือคำสั่งของเจ้าพนักงาน

ปัจจุบันระบบกฎหมายไทยได้มีการยอมรับเรื่องการโต้แย้งดุลยพินิจหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานผ่านกลไกของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กล่าวคือ เจ้าพนักงานจะต้องใช้ดุลยพินิจภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น หากต้องการจะออกคำสั่งที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชน จะต้องมีกฎหมายรองรับ หากเจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจหรือออกคำสั่งเกินขอบเขตของกฎหมายหรือปราศจากฐานทางกฎหมายรองรับ คำสั่งเหล่านั้นก็จะมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถบังคับเอากับประชาชนได้

 

สำหรับกรณีที่เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจตัดสินว่าเว็บใดไม่เหมาะสมแล้วออกคำสั่งปิดเว็บ เราอาจโต้แย้งดุลยพินิจและคำสั่งดังกล่าวได้ หากกฎหมาย ไม่ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานผู้นั้นไว้ หรือถ้าเจ้าพนักงานผู้นั้นไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด การกระทำทางปกครองของเจ้าพนักงานคนนั้นก็จะมีลักษณะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เราสามารถเรียกร้องให้เพิกถอนการกระทำทางปกครองดังกล่าวได้ โดยผ่านวิธีการร้องเรียนผู้บังคับบัญชาให้มีคำสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าว หรืออาจร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าวก็ได้ ซึ่งกฎหมายที่เราต้องพิจารณาว่าเจ้าพนักงานมีอำนาจหรือมีวิธีปฏิบัติราชการอย่างไรนั้น ในที่นี้ ก็น่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั่นเอง

 


  1. ร้องเรียนต่อองค์กรตรวจตราสิทธิ พวก คณะกรรมการสิทธิ ผู้ตรวจการ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ออกแบบให้มีองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่ตรวจตราการทำงาน

ของภาครัฐ และรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนโดยตรงหากเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากประชาชนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็อาจร้องเรียนไปยังองค์กรอิสระเหล่านั้นได้ ซึ่งองค์กรเหล่านั้น ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

หากการละเมิดสิทธินั้นเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ ประชาชนสามารถร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศสั่งปิดเว็บไซต์ ประชาชนสามารถร้องทุกข์ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ แล้วจึงกำหนดวิธีการเยียวยาสิทธิให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำความเห็น ข้อเสนอแนะ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำคดีขึ้นฟ้องร้องสู่ศาลโดยตรงแทนประชาชน เพื่อให้ศาลวินิจฉัยและมีคำสั่งให้เยียวยาสิทธิต่อไป

 

สำหรับกรณีทั่วๆไป ที่มีการละเมิดสิทธิของประชาชนไม่ว่าจากการกระทำของใครก็ตามประชาชนยังสามารถร้องเรียนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสอบสวนข้อเท็จจริง และทำความเห็น ข้อเสนอแนะ ไปยังผู้ละเมิดสิทธิ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไข และเยียวยาสิทธิอย่างเหมาะสม รวมถึงการนำคดีขึ้นฟ้องร้องสู่ศาลโดยตรงแทนประชาชน เพื่อให้ศาลวินิจฉัยและมีคำสั่งให้เยียวยาสิทธิต่อไป

 

ดังนั้น ถ้าเกิดกรณีปิดเว็บไซต์อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราก็อาจนำเรื่องราวร้องทุกข์ต่อองค์กรอิสระเหล่านี้ได้เช่นกัน

 


  1. การฟ้องร้องในกระบวนการศาล

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อ

ประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน โดยศาลใช้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี หากฝ่ายบริหารมีการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็อาจพิพากษาเพิกถอนการกระทำดังกล่าวได้ และมีคำสั่งให้เยียวยาสิทธิแก่ประชาชน  ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายที่มีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลก็มีอำนาจในการพิพากษาให้กฎหมายนั้นเสียไป

 

ศาลอาญา สามารถประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ผ่านการพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ประกอบการเว็บไซต์หรือผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ โดยตัดสินคดีไปในทางที่เป็นคุณต่อสิทธิเสรีภาพ เช่น ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาล ก็ไม่ควรถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะการวิจารณ์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

ศาลแพ่ง สามารถประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้สุจริตได้ ผ่านการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการเสียโอกาสในการใช้ช่องทางเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดในการแสดงความคิดเห็นและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยศาลอาจกำหนดให้ผู้ที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นชดใช้ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ให้กับผู้เสียหายได้ เช่น เจ้าของเซิร์ฟเวอร์สกัดกั้นหรือปิดเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง ผู้ประกอบการที่ถูกปิดก็อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลแพ่งได้ อันเนื่องมาจากการสูญเสียโอกาสต่างๆเมื่อถูกปิดเว็บ

 

ศาลปกครอง สามารถประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำทางปกครองของเจ้าพนักงาน โดยศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้กระทำการใดๆเพื่อเยียวยาและส่งเสริมสิทธิให้กับประชาชน รวมถึงสั่งให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายได้อีกด้วย เช่น เจ้าหน้าที่ปิดเว็บไซต์ตามอำเภอใจ ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนการปิดเว็บไซต์ และให้มีมาตรการเฝ้าระวัง รวมถึงให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของเว็บไซต์ได้

 

ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยศาลสามารถวินิจฉัยกฎหมายที่ออกมาว่ามีบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีบทบัญญัติดังกล่าว ศาลอาจตีความให้เสียไปได้ และถ้าหากหลักการสำคัญหรือกระบวนการของกฎหมายฉบับนั้นมีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพขอประชาชน ศาลก็อาจตีความให้กฎหมายเสียไปทั้งฉบับก็ได้

 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ประชาชนฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง และสามารถอ้างเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในชั้นศาลได้ ดังนั้น การละเมิดสิทธิเสรีภาพอันเนื่องมาจากพ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ น่าจะเป็นฐานความผิดที่ประชาชนสามารถฟ้องร้องไปยังศาลได้

 

 

ข้อเสนอแนะ

 


  • การแก้ปัญหา พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่มากขึ้น

เห็นได้จากมาตรา18,19 (การกระทำตาม ม.18 (1)(2)(3) เจ้าพนักงานสามารถใช้อำนาจในการสอบถาม เรียกบุคคล ขอข้อมูลที่ผู้ให้บริการเก็บไว้ได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากศาล  ตามความในมาตรา18(3) อ้างถึง มาตรา 26 กำหนดให้ผู้บริการต้องเก็บข้อมูลย้อนหลัง 90วัน และเจ้าพนักงานก็เรียกตรวจสอบได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ให้บริการ(เจ้าของเซิร์ฟเวอร์)เป็นอันมาก เช่น มหาวิทยาลัย ต้องจัดเก็บข้อมูลของทุกองค์กรย่อยๆที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล เพื่อเป็นหลักฐาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจเรียกเอาข้อมูลเมื่อไหร่ก็ได้  อาจจะต้องปรับกฎหมายหรือกระจายภาระในการจัดเก็บข้อมูลไปให้แก่หน่วยงานย่อยๆ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบของหน่วยงานย่อยๆที่มีความใกล้ชิดกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เหมะสม นอกจากนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาระตามกฎหมายข้อนี้มีมาก อาจต้องให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณา ว่าเจ้าหน้าที่จะขอข้อมูลได้มากน้อยเพียงใดด้วย

 


  • การเพิ่มขั้นตอนในการกลั่นกรองดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน

พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อาจถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 1 หรือ ลักษณะ 1/1 โดยให้ศาลกลั่นกรองการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานไว้ในมาตรา 20 ซึ่งในทางปฏิบัติกลับพบว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยื่นเรื่องให้ศาลอนุมัติก่อนที่จะทำการปิดเว็บไซต์ ดังนั้น อาจต้องมีระบบตรวจตราเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ปิดเว็บไซต์ตามอำเภอใจ ซึ่งถ้ารอให้มีการปิดเว็บไปก่อน แล้วค่อยให้ผู้เสียหายมาร้องต่อศาลภายหลัง ก็จะกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนในช่วงที่เว็บถูกปิดไป ทั้งๆที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 


  • ความคลุมเครือของนิยามฐานความผิดในพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 เงื่อนไขที่ใช้ในการกล่าวหาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามพ.ร.บ.มาตรา 14 (2)(3) อาทิ  "ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ" "ก่อให้ประชาชนตื่นตระหนก" "ความมั่นคง" "การก่อการร้าย" นั้น ให้นิยามได้ค่อนข้างยาก ซึ่งในทางปฎิบัติ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจะใช้ดุลยพินิจตัดสินว่าการกระทำหรือเว็บไซต์ใดเข้าข่ายละเมิดกฎหมายในฐานความผิดต่างๆข้างต้น ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ขาดความเข้าใจ มีแรงกดดันทางการเมืองหรือ ตามอำเภอใจ ทำให้ประชาชนอาจถูกลิดรอนสิทธิได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องมีการฝึกอบรมและให้ความรู้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความเข้าใจกฎหมายมากขึ้น และไม่ใช้อำนาจไปในทางลบโดยไม่ตั้งใจ

 


  • สิทธิเสรีภาพ กับ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 20 ได้ให้อำนาจในการเซ็นเซอร์ข้อมูลกรณีความมั่นคงของรัฐ และเรื่องความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิคด้านสิทธิเสรีภาพ แม้จะให้ศาลเป็นผู้กลั่นกรองการใช้ดุลยพินิจ แต่ก็น่าจะเป็นปัญหาในการตีความกฎหมาย เนื่องจากแนวบรรทัดฐานของศาลในเรื่องความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมีความไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน ดังนั้น เราอาจต้องสังคายนากฎหมายเรื่องความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั้งระบบ เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่ชัดเจนและมั่นคงมากขึ้น เพื่อป้องกันมิให้มีการอ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 


  • เรื่องโครงสร้างองค์กรบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

      โครงสร้างของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้วางให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นผู้ตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรง ต้องยื่นเรื่องขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศร้องให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลหรือเว็บไซต์ จะเห็นได้ว่า เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองและฝ่ายตุลาการ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งยังปิดโอกาสของผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ให้เข้าร่วมในการตัดสินใจ เราอาจเสนอให้มีการปรับปรุงพ.ร.บ.โดยการออกแบบให้มีคณะกรรมการพิเศษที่ประกอบไปด้วยประชาชนหลากหลายกลุ่ม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายผู้ประกอบการสื่อ เข้ามาร่วมทำหน้าที่ตรวจตราด้วยก็ได้

 

 


  • กฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามรัฐธรรมนูญไทยนั้น อาจต้องใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ ในทางปฏิบัติพบว่า ประเทศไทยยังมีกฎหมายลำดับรองซึ่งมีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญอยู่หลายฉบับ อาทิ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายหมิ่นประมาท นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจมักใช้กฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น หากมีการยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ให้สอดคล้องกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นการลดปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นฯเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้มาก

 

 

อ้างอิงข้อมูล

 

-  หนังสือ กฎหมายใหม่ เรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 85  

 กรกฎาคม 2550

-  สยามธุรกิจ [ ฉบับที่ 810 ประจำวันที่ 14-7-2007 ถึง 17-7-2007]

- http://midnightuniv.org/midnightuniv

- http://dusithost.dusit.ac.th/

- http://www.geocities.com/useng_9/33.htm

- http://board.dserver.org/

- http://gotoknow.org/blog/tutorial/3

- http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yingkidkid

 

 

เชิงอรรถ

  "ข้อ 12 การเข้าไปแทรกสอดโดยพลการในกิจส่วนตัว ครอบครัว เคหะสถาน การส่งข่าสาร ตลอดจนการโจมตีต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลนั้นจะทำมิได้ ทุกๆ คน มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการแทรกสอดและโจมตีดังกล่าว

 

ข้อ 19  บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหารับ ตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นโดยผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน"

 

"ข้อ 19

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

 

"มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

 

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

 

การสั่งปิด...สื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้  

การห้าม...สื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง

       การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาใน...สื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง "

 

"ข้อ 19
2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

 

3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อกำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น
(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน "

 

" มาตรา 56  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ ในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่ การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ"

 

มาตรา 112  ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

 

มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

มาตรา 123 ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อความ เอกสารหรือสิ่งใด ๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัย ของประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี

 

มาตรา 124 ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือได้ไป ซึ่งข้อความ เอกสารหรือสิ่งใด ๆ อันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับ ความปลอดภัยของประเทศต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี

 

10> มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาต มาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่าง ประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

11> มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพัน บาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  มาตรา 287 ผู้ใด

(1)เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้า ในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือ ยังให้พาไปหรือทำให้

 

  "มาตรา 423  ผู้ใด กล่าว หรือ ไขข่าวแพร่หลาย ซึ่ง ข้อความ อันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหาย แก่ชื่อเสียง หรือ เกียรติคุณ ของบุคคลอื่น ก็ดี หรือ เป็นที่เสียหาย แก่ทางทำมาหาได้ หรือ ทางเจริญของเขา โดยประการอื่น ก็ดี ท่านว่า ผู้นั้น จะต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่เขา เพื่อความเสียหาย อย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้ง เมื่อ ตนมิได้รู้ว่า ข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
            ผู้ใด ส่งข่าวสาร อันตนมิได้รู้ว่า เป็นความไม่จริง หากว่า ตนเอง หรือ ผู้รับข่าวสารนั้น มีทางได้เสีย โดยชอบ ในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่า เพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้น หาทำให้ผู้นั้น ต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ "

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท