Skip to main content
sharethis

(8 มี.ค.) เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับ 8 มี.ค. ของทุกปี องค์การความร่วมมือแก้วิกฤตแรงงาน (ควร.) ประมาณ 250 คน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรแรงงานและนักศึกษา อาทิ สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย,  อุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย,  สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย,  สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย,  สหพันธ์ แรงานชิ้นส่วนยานยนต์ฯ, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ,  กลุ่มกรรมกรปฏิรูปและกลุ่มประกายไฟ เป็นต้น ร่วมกันชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบฝั่งประตู 4 ตรงข้ามสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


 


ผู้ชุมนุมใช้แถบผ้าสีแดงมีข้อความ "หยุดทุนนิยม สร้างสังคมรัฐสวัสดิการ" คาดศีรษะเป็นสัญลักษณ์ โดยผลัดกันขึ้นปราศรัยบนรถบรรทุก นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมแสดงละครสะท้อนปัญหาแรงงานหญิงจาก สนนท. และกลุ่มประกายไฟ และทำพิธีรดน้ำศพหุ่นนายกฯ เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยแก้ปัญหาให้คนงาน เท่ากับเป็นรัฐบาลที่ไม่มีชีวิต โดยผู้ชุมนุมได้ช่วยกันนำหุ่นนายกฯ โยนเข้าไปในทำเนียบฯ ทางประตู 5 ก่อนจะยุติการชุมนุมด้วย


 


"...เพื่อให้พวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมมีความมั่นคงในชีวิต เศรษฐกิจและสังคม เพื่อความเป็นธรรม ความเสมอภาค เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้พวกเราได้ในสิ่งที่พวกเราถูกขูดรีดไปกลับคืนมา และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเรา ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงขอใช้โอกาสวันสตรีสากล วันแห่งความเสมอภาคและความเป็นธรรมนี้ประกาศว่า "พอกันที"" นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนอ่านคำประกาศวันสตรีสากล ซึ่งระบุว่า ในเบื้องต้นจะร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการคือเป็นสังคมที่ให้หลักประกันในทุกด้านอย่างถ้วนหน้าและครบวงจร โดยใช้งบประมาณจากภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า รวมถึงยกเลิกภาษีทางอ้อม (VAT) ลดงบประมาณของรัฐที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณทางการทหาร งบประมาณการโฆษณา และพิธีกรรรมของรัฐที่ไม่จำเป็นต่อชนชั้นล่าง เป็นต้น ซึ่งรัฐสวัสดิการนั้นจะนำไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ตัวอักษรตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังเสนอให้มีพรรคการเมืองที่เป็นของแรงงานเอง เพื่อเข้าไปมีส่วนกำหนดนโยบายรัฐโดยตรงและเพื่อให้การศึกษาแก่มวลชนด้วย


 


นางสาวจิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนมักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผู้หญิงคือการเรียกร้องสิทธิที่เหนือกว่าผู้ชาย แต่ตนเองมองว่า ไม่ใช่การเหนือกว่า แต่เป็นเรื่องสิทธิของคนจนที่จะเข้าสู่การกำหนดนโยบาย การบริหารประเทศได้อย่างไร ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้หญิง เป็นแค่ชนชั้นเราก็พอแล้ว เพราะถ้ามองแค่ว่าต้องเป็นผู้หญิง สุดท้ายคนที่เข้าสู่ตำแหน่งก็ไม่พ้นชนชั้นสูงอย่างคุณหญิงคุณนายทั้งหลาย


 


 


 


 


.............................................


เกี่ยวข้อง


แรงงานกลุ่มต่างๆ เคลื่อนเรียกร้องสิทธิ-สวัสดิการในวันสตรีสากล


นายกฯ เสนอให้สิทธิทางภาษีเพื่อสถานประกอบการจัดศูนย์รับเลี้ยงเด็ก-ปฏิรูปประกันสังคม


คนงานเมย์ฟิลด์ โอดขอค่าชดเชยเลิกจ้างตาม กม. 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net