เปิด "ศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง"

อาทิตย์ คงมั่น รายงาน



 

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่องค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ร่วมกับมูลนิธิชุมชนไท,มูลนิธิเขมไทย รสานนท์,มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน, เยาวชนกะเหรี่ยงในโครงการเด็กบ้านไกล,ชุมชนกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่  ได้มีการจัดงาน "พิธีเปิด ศูนย์วัฒนธรรม อบต.ไล่โว่เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง" โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลวิถีชีวิต ความเชื่อ การดำรงชีวิตอยู่คู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร รวมทั้งการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี และมีนายพีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน โดยกำหนดการช่วงเช้ามีการร่วมทำบุญตักบาตร และ ถวายภัตตาหารเพลและมีผู้เฒ่าผู้แก่ผูกข้อมือเรียกขวัญให้ผู้ร่วมงาน ส่วนช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง "การอนุรักษ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงกับกระแสโลกาภิวัตน์" โดยมีตัวแทนผู้นำกะเหรี่ยงและผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศร่วมวงเสวนาและช่วงค่ำเป็นเวทีการแสดงของผู้เข้าจากที่ต่างๆ

 

ผู้ดำเนินรายการ เริ่มด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานของชาวกะเหรี่ยงกับการปกครองของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

เริ่มด้วยนายไมตรี เสตะพันธุ์ นายก อบต.ไล่โว่ ได้กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ เพราะต้องการธำรงวัฒนธรรมไว้ให้ลูกหลานต่อไปทั้งด้านภาษา วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม คนภายนอกอาจจะรู้จักไล่โว่น้อย แต่ถ้าพูดถึงทุ่งใหญ่นเรศวรอาจรู้จักมากกว่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านอยู่กันที่นี่มานานมากกว่า 200 ปี ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติภายใต้ความพอเพียงมาโดยตลอดและปัจจุบันปัญหาที่มีอยู่เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันแก้ เช่น ปัญหาสัญชาติ ปัญหา การทำมาหากิน ปัญหาที่อยู่อาศัย และคนในหมู่บ้านทั้ง 6 มีอาชีพที่หลากหลาย ทั้ง หาปลา ทำนา ทำไร่ ทำสวน รับจ้าง เป็นต้น

 

พ่อโส่ยจีโหม่ว ผู้นำชุมชน กล่าวหา ตั้งแต่อดีตมาในพื้นที่ได้มีการดำรงชีวิตเหมือนกะเหรี่ยงทั่วไปคือการอยู่คู่กับป่ามีการทำไร่หมุนเวียน ทำนา จึงเป็นห่วงว่าอนาคตสิ่งเหล่านี้จะไม่อยู่คู่กะเหรี่ยง

 

อ.อภิชาติ เสตะพันธุ์ อ.สอนภาษากะเหรี่ยง กล่าวว่า มีหลักฐานประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวกับชุมชนกะเหรี่ยงไล่โว่ในตั้งแต่สมัยเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระแก้วขาวที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานไว้ให้ มีวัด 3 แห่งเป็นเครื่องยืนยัน แต่ปัจจุบันมีปัญหาการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามเริ่มที่จะเลือนราง เช่นการทำไร่หมุนเวียนที่มีความหลากหลายด้านพันธุกรรม ดังนั้นเขตหรือพื้นที่นี้สมควรแก่การจัดให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของคนกะเหรี่ยงไล่โว่ เพราะมีผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกอยู่ด้วยที่สำคัญเราเชื่อกันว่าทรัพยากรทุกอย่างมีเจ้าของ

 

นายนวพล คีรีรักษ์สกุล จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวหา ที่ผ่านมาในฐานะเราเป็นชาวกะเหรี่ยงเขาจึงมองด้านเดียว เช่นการทำไร่หมุนเวียนเราได้ปล่อยพื้นที่ให้เป็นไร่เหล่า เราคิดว่าเป็นการฟื้นหน้าดินฟื้นสภาพพื้นที่ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เพื่อที่เราจะได้ทำอีกรอบ พักพื้นที่ให้เป็นที่พักหากินที่ขยายพันธุ์ของสัตว์ป่า แต่ทางราชการหรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ มองพื้นที่ไร่เหล่าว่าเป็นพื้นที่ป่าหมดจึงเป็นปัญหาอย่างที่เห็นอยู่

 

ทางด้านนายวุฒิ บุญเลิศ ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเขตราชบุรี จ.ราชบุรี กล่าวว่า เรื่องเล่าตำนานของกะเหรี่ยงมักถูกบันทึกถูกพูดด้วยคนอื่น ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป เมื่อประวัติศาสตร์ถูกเขียนใหม่ทำให้วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงด้วย เมื่อพูดถึงเมืองสังขละบุรีของพระยาศรีสุวรรณ คนมักถามว่ากำแพงเมืองอยู่ตรงไหน เพราะมองแต่วัตถุทำให้ไม่เห็นคุณค่าของวิถีวัฒนธรรม การที่มีป่าทำให้กะเหรี่ยงเห็นความสำคัญของธรรมชาติ ดังนั้นวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงไม่ไช่อธิบายด้วยวัตถุแต่อธิบายด้วยธรรมชาติอย่างที่เห็นอยู่ แต่ปัจจุบันระบบโลกาภิวัตน์ได้บั่นทอนสิ่งเหล่านี้

 

วัฒนธรรมของกะเหรี่ยงไล่โว่นอกจากเรื่องธรรมชาติแล้ว ยังมีเรื่องของศาสนาด้วย รวมถึงการเคารพนับถือผี แต่เมื่อโลกาภิวัตน์มีการชักชวนให้กะเหรี่ยงเข้าไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่ชาวบ้านจำนวนมากยังลังเลเพราะอยากนับถือฤๅษีเหมือนเดิม ตอนนี้วัฒนธรรมกะเหรี่ยงไล่โว่ยังอยู่ได้เพราะยังทำไร่หมุนเวียนได้ หากไม่ทำไร่หมุนเวียนทุกอย่างก็จะหายรวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย

 

คุณค่าของไร่หมุนเวียนกะเหรี่ยงถูกตีเป็นสินค้าที่ทำให้สังคมได้รู้จักมากแต่กะเหรี่ยงเราไม่ได้มอง เช่น การนำชื่อร้านก๋วยเตี๋ยวว่า ร้านพริกกะเหรี่ยง ทำให้ทุกคนอยากจะเข้าไปชิมความอร่อยตรงนั้น แต่คนขายเขาไม่รู้หรอกว่า พริกกะเหรี่ยงที่เป็นสินค้านี้ปลูกได้เฉพาะในไร่หมุนเวียน  ดังนั้นการทำเขตวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ดีและน่าปลื้มใจเพราะพื้นฐานความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอยู่ที่กะเหรี่ยง นายวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

หลังจากการเสวนาเสร็จประธานจึงเปิดพิธีอย่างเป็นทางการแล้วจึงเดินชมนิทรรศการที่ทางเจ้าจัดไว้โดยมีน้องเยาวชนนักเรียนเป็นผู้อธิบายภาพนิทรรศการให้กับประธาน สื่อต่างๆและผู้เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้

                                                                                               

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท