Skip to main content
sharethis

 



จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์


 


 


หนึ่งในการต่อสู้ทางความคิดในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คือการศึกษา ความพยายามในการปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการการปรับปรุงระบบการศึกษาของชาติที่ปัจจุบันมักถูกวิจารณ์มาตลอดว่า ล้มเหลว


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ในการสัมมนาระดมความคิดเรื่อง "นโยบายการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" ห้องประชุมตะกั่วป่า บี โรงรมจบี หาดใหญ่ จงหวัดงขลา ที่สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอร่างข้อเสนอนโยบายการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้อภิปราย ซึ่งเป็นความพยายามแก้ปัญหาทางด้านการศึกษาในอีกครั้งหนึ่งด้วย


 


โดยการสัมมนาครั้งนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าารระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมาเป็นประธานการสัมมนาก็ร่วมฟังการอภิปรายอยู่ด้วยตลอด


 


นายจุรินทร์ บอกว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้แล้ว การจัดทำร่างนโยบายก็น่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือนและสามารถลงมือปฏิบัติจริงได้ โดยเน้นเรื่องคุณภาพการศกษา การบริหารการจัดการ สวัสดิการ สวัสดิภาพ และโอกาสการเรียนการมีงานทำ รวมทั้งการอุดหนุนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมด 1,400 ล้าน


 


สำหรับร่างนโยบายดังกล่าว ได้ระบุสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ 8 ประการ ประกอบด้วย


 


1.ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งพบว่า นักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) และม.6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 200 แห่ง ไม่ผ่านการรับรองการประเมินคุณภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความไม่สงบ และเด็กส่วนหนึ่งออกจากโรงเรียนสามัญเข้าไปเรียนในปอเนาะ ซึ่งไม่มีการจัดทำหลักสูตรที่ชัดเจน จึงไม่สามารถเทียบโอนกับหลักสูตรพื้นฐานแต่ละช่วงชั้น


 


2.ปัญหาครูและบุคคลากรทางการศึกษา ช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายอนุญาตให้ครูขอย้ายออกจากพื้นที่ มีผู้แสดงความจำนงขอย้ายออกประมาณ 1,500 คน หรือ 70% ของจำนวนครูซึ่งสอน 4 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนครู แม้รัฐเปิดให้มีการจ้างครูอัตราจ้าง แต่ความรู้และประสบการณ์ไม่มากพอ จึงส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และส่งผลไปถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วย เนื่องจากครูส่วนหนึ่งลาออกไปสมัครทำงานในโรงเรียนของรัฐ


 


3.ปัญหาการศึกษาศาสนศึกษา ผู้เรียนปอเนาะไม่สามารถเทียบโอนวุฒิได้ เนื่องจากเน้นการเรียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน และภาษาอาหรับ แนวทางและวิธีการสอนไม่มีกำหนดตายตัว ขึ้นกับโต๊ะครู (บาบอ) เป็นหลัก ไม่มีหลักสูตรแน่นอน ไม่มีการวัดผลที่เป็นระบบ


 


4.ปัญหาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวนมาก ส่งผลให้เด็กไทยพุทธและมุสลิมตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป แยกกันเรียนคนละโรงเรียน ส่งผลต่อการเรียนรู้ การอยูร่วมกันอย่างสันติ โดยในระดับประถมศึกษามีเด็กมุสลิมเรียนในโรงเรียนของรัฐถึง 70% แต่พอขึ้นไประดับมัธยมศึกษามีเด็กมุสลิมเรียนในโรงเรียนของรัฐเหลือเพียง 30% และเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 70%


 


5.ปัญหาการจัดการศึกษาเอกชนที่ไม่มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนในส่วนภูมิภาครับผิดชอบโดยตรง ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งมีภารกิจหลายด้าน โดยเฉพาะการดูแล ส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนจำนวนมาก จึงไม่สามารถดูแลการศึกษาเอกชนได้อย่างทั่วถึง


 


6.ปัญหาระบบการอุดหนุนและสนับสนุนงบประมาณมีหลายปัญหา ประกอบด้วย การอุดหนุนรายหัวนักเรียนสามัญ ก่อปัญหาให้กับสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมในการอุดหนุน โดยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เป็นมูลนิธิได้รับการอุดหนุน 100% ขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอื่นๆ ได้รับการอุดหนุนเพียง 70% และปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างครูสอนสามัญกับครูสอนศาสนาอย่างเดียวในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม


 


ปัญหาการอุดหนุนทางกายภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของปอเนาะ เช่น ให้งบประมาณจัดทำเสาธงและป้าย ทั้งที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า เช่น ห้องน้ำ ระบบสาธารณูปโภคและสุขอนามัย เป็นต้น


 


ปัญหาการอุดหนุนงบประมาณพัฒนาบุคคลากร โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะจัดสรรงบให้บุคลากรในสังกัดโดยตรงก่อน ทำให้งบไม่ค่อยเหลือไปถึงข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนที่ช่วยสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ส่งผลให้บุคลากรเหล่านั้นขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง


 


ปัญหาการตรวจสอบการอุดหนุนงบประมาณ ซึ่งในทางปฏิบัติมีจุดอ่อนมาก เช่น ไม่มีการตรวจสอบระหว่างปีว่า นักเรียนมีการออกกลางคันหรือไม่


 


ปัญหาการจัดสรรทุนการศึกษา โดยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเห็นว่าควรให้ทุนนักเรียนในสถาบันการศึกษาเอกชนด้วย ไม่จำกัดเฉพาะในโรงเรียนของรัฐอย่างเดียว ขณะเดียวกันรัฐให้ทุนเฉพาะเด็กเรียนดี ขณะที่เด็กของโรงเรียนเอกชนมีคุณภาพด้อยกว่าตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว


 


ปัญหาการอุดหนุนงบประมาณให้สถานศึกษาเอกชน ซึ่งฝ่ายการศึกษา รวมถึงฝ่ายการศึกษาในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และฝ่ายความมั่นคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายการศึกษาเห็นว่า จำเป็นต้องอุดหนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาให้กับสถานศึกษาเอกชน แม้ฝ่ายความมั่นคงจะตั้งข้อสังเกตว่า บางโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนมากตามจำนวนรายหัวนักเรียน แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เพียงพอ เพราะโรงเรียนต้องนำไปจัดสรรให้กับครูสอนศาสนาด้วย ซึ่งครูสอนศาสนาจะไม่ได้รับการอุดหนุน ขณะที่เงินอุดหนุนที่ได้ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสถานศึกษาของรัฐ ที่ได้รับทั้งเงินเดือนบุคคลากร โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอื่นๆ


 


ส่วนการตรวจสอบปัจจุบันที่ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน แม้ยังไม่สมบูรณ์แต่ก็ทำให้มีการรั่วไหลลดลง


 


ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐอุดหนุนเงินให้กับสถานศึกษาเอกชนจำนวนมาก แต่ไม่เกิดผลต่อการพัฒนา จึงควรทบทวนนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ไม่มีการตรวจสอบที่ดีพอและยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้วย


 


7.ปัญหาการส่งเสริมความรู้วิชาสามัญ ไม่สอดคล้องกับความเชื่อและวิธีชีวิต ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะพ่อแม่ไทยมุสลิมและเด็กมีความเชื่อและศรัทธาในการเรียนศาสนาแบบดั้งเดิมมากกว่า ดังนั้นจึงควรทบทวนนโยบายนี้


 


8. การส่งเสริมอาชีพ โดยรัฐส่งเสริม สนับสนุนให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปสอนและฝึกอาชีพให้กับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่บางอาชีพก็ไม่ตรงตามความต้องการและไม่สอดคล้องกับวิธีชีวิตและสภาพปัจจุบันของท้องถิ่น


 


นอกจากนี้ในร่างดังกล่าว ยังได้มีข้อเสนอแนวนโยบายและมาตรการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ประกอบด้วย 6 แนวนโยบาย ได้แก่


 


1.การพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น จัดการศึกษาโดยเน้นแนวคิดพหุวัฒนธรรม จัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยด้วยระบบสองภาษา คือ ไทย - มลายูถิ่น พัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา พัฒนาบุคลากรอิสลามศึกษาของรัฐ โรงเรียนตาดีกา ศูนย์การศึกษาประจำมัสยิดและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ สนับสนุนงบประมาณและค่าตอบแทนอย่างเพียงพอ เป็นต้น


 


2.การส่งเสริมศาสนศึกษา เช่น ปรับปรุงระเบียบ หลักเกณฑ์ในการจัดและอุดหนุนงบประมาณสำหรับสถานศึกษาด้านศาสนา ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมการสอนอัลกุรอ่าน เช่น กีรออาตี อิเราะห์ เป็นต้น


 


3.การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา เช่น เร่งแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน เนื่องจากปัญหาความไม่สงบ ขยายการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย เช่น ศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยในวัด มัสยิดและชุมชน พัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ทั้งวิทยาลัยชุมชนให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เป็นต้น


 


4.การพัฒนาการศึกษาเพื่อการอาชีพและการมีงานทำ เช่น ให้สถาบันอาชีวศึกามีบทบาทในการจัดการศึกษาแบบคู่ขนานกับการเรียนการสอนปกติ โดยเน้นพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นต้น


 


5.การพัฒนาการบริหารจัดการ โดยพัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีอิสระ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ สนับสนุนให้นักศึกษามุสลิมได้เรียนต่อในประเทศ ทำข้อตกลงระหว่างรัฐกับมัสยิดในการจัดการศึกษาสายสามัญและศาสนาในระดับที่เหมาะสม ทบทวนการอุดหนุน ศูนย์การศึกษาอิสลาม โรงเรียนตาดีกา สถาบันปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อความเป็นธรรม เป็นต้น


 


6.การศึกษาเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยและใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในวิถีชีวิต จัดหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ค่านิยมและปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และหลักศาสนาที่ถูกต้องเหมาะสม จัดการศึกษาโดยเน้นแนวคิดสันติวัฒธรรมและพหุวัฒนธรรมให้เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายและสอดคล้องกับแนวทางการเสริมสร้างสันติสุขและความมั่นคงของชาติ


 


ปฏิรูปการศึกษาคราวนี้ ถูกกล่าวหาว่าล้มเหลวซ้ำอีกหรือไม่ ไม่อาจพิสูจน์ได้ในเวลาอันสั้น ที่ผ่านมากว่าจะรู้ซึ้งบาดแผลก็ลึกเกินและยากจะเยียวยาไปแล้ว


 


 


 






 


"ทั่วโลกสรุปไว้แล้วว่าต้องสอนภาษาแม่ก่อน"


 


จาตุรนต์ ฉายแสง


อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


 


 



 


 


"รัฐต้องทำความสนใจอีกอย่างหนึ่งว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ต้องให้ความรู้โดยใช้ภาษามาลายูด้วย


 


เมื่อประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เป็นธรรมดาและเป็นเรื่องสากล ที่รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนภาษาไทยกลาง เพราะจะเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ในการติดต่อกับผู้อื่น ทุกประเทศเขาก็ทำกันอย่างนี้ 


 


ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ครู มหาวิทยาลัย ต้องรู้จักวิธีการสอนหนังสือ และถ่ายทอดวิชาความรู้ แก่ผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรก ซึ่งแตกต่างจากการสอนประชาชนส่วนอื่นของประเทศ


 


เรื่องนี้ มีองค์ความรู้ สถาบันสอนภาษาทั่วโลก สรุปเอาไว้แล้วว่า ต้องสอนภาษาแม่ก่อนสอนภาษาที่สอง จึงจะพัฒนาเด็กให้เข้าใจภาษาไทยกลาง เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิชาต่างๆ แต่ผู้สอนต้องเรียนรู้วิธีสอน ให้สอนความรู้ทั่วๆ ไป ความรู้เบื้องต้นจากภาษาแม่ แล้วมาสอนสองภาษา มันเป็นเทคนิคที่สถาบันสอนภาษาต่างประเทศเขาศึกษา ทดลองใช้กันทั่วโลก


 


ช่วงเริ่มต้นทำเป็นแบบขั้นบันได โดยให้เขาเรียนภาษแม่ เป็นภาษหลัก แล้วค่อยเพิ่มชั่วโมงการเรียนภาษาที่สองไปเรื่อยๆ ให้เขาได้เข้าใจด้วยภาษาของตัวเองก่อน สามารถเรียบเรียงเรื่องราว จัดระเบียบทางความคิดได้ด้วยภาษาของตัวเองก่อน ไม่ใช่ต้องงงกับอะไรก็ไม่รู้


 


ส่วนความเข้าใจต่อกลุ่มคนที่มีชาติพันธุ์ต่างกัน มีความคิดความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน ต้องหาความรู้ ต้องให้ผู้รู้ในพื้นที่ ผู้รู้ทางศาสนา มาศึกษาร่วมกันว่า ความรู้ทางศาสนาที่ถูกต้อง คือ อะไร ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ถึงความจำเป็นที่จะต้องรู้วิชาสามัญ และวิชาชีพ ต้องศึกษาจากประเทศต่างๆ      


 


ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ทางความคิดกันอย่างจริงจัง ต้องทำอย่างเป็นระบบ ต้องใช้เวลานาน และต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาอื่นๆ  ในช่วงที่เป็นผมรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันเรื่องนี้มา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว


 


ยังไม่มีโอกาสได้ประเมินหรือได้คิด รายละเอียดต่างๆ ก็ไม่ทราบ เท่าที่ฟังจากผู้ที่สนใจก็ดูเหมือนจะชะงักไปพอสมควร บางเรื่องยังทำอยู่บ้าง ตอนนั้นอาศัยนักวิชาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง มีนักวิชาการมุสลิมเข้ามาร่วมหลายคน ตอนนี้เขายังคงช่วยงานอยู่ แต่โดยหลักใหญ่มันชะงัก


 


บางเรื่องเริ่มได้ไม่ดีนัก เช่น การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการศึกษาความรู้วิทยาการที่เป็นแบบสามัญ แบบสมัยใหม่ มีการเริ่มบ้าง แต่ไม่มีใครทำการบ้านเสริมอย่างจริงจัง


           


การสอนสองภาษา คิดว่ามีคนรู้ มีคนทำงานเรื่องนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ถ้าให้เข้าใจแพร่หลายคิดว่าคงยังห่างไกล


 


ที่สำคัญ ระบบต้องเอื้อต่อการทำให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับการศึกษาที่ดี เรียนจบแล้วมีงานทำ ได้ประโยชน์จากการพัฒนา เรียนจบแล้วมีงานทำ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ไม่ใช่ออกจากระบบการศึกษาแล้ว ไปเรียนประเทศอื่น กลับมาไม่สามารถทำงานได้ ถ้าให้เขาออกนอกระบบ เขาก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา


 


เรื่องนี้ยังต้องพูดกันอีกมาก เพื่อให้การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การศึกษาตามความหมายปกติ การต่อสู้ทางความคิดยังไม่ปรากฏ ยังไม่เห็นยังมืดพอสมควร


 


ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกันอย่างจริงจัง สังเกตจากการพูดของผู้เกี่ยวข้องบางคน มันยังไม่ถูกจับมาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้รับผิดชอบจริงๆ ไม่เข้าใจเรื่องการเคารพในอัตลักษณ์ การยอมรับความแตกต่าง ผู้รับผิดชอบบางคนคิดว่าจะต้องกลืนซะให้หมด


 


การที่จะให้คนเหล่านี้ เป็นผู้นำการต่อสู้ทางความคิด จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงทางความคิดซะเอง"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net