ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ในมุมมองของนักกฎหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชำนาญ จันทร์เรือง


 

 

จากกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้ปิดล้อมขบวนเกย์พาเหรดที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมิใช่มีเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่มีทั้งเยาวชน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และตัวแทนขององค์กรเอกชนหลายภาคส่วน จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรรณรงค์งานด้านการต่อต้านและให้ความรู้ด้านโรคเอดส์ได้ตามเป้าหมาย โดยมีการใช้ถ้อยคำด่าทอ ข่มขู่และคุกคามต่อผู้เข้าร่วมงานหลายรูปแบบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ใส่ใจต่อการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ร่วมงานนั้น ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศในมุมมองทางกฎหมายกันอย่างจริงจัง

 

คำว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Human Dignity" ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักวิชาการได้บัญญัติขึ้นในยุคที่มีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน(Human Rights) และได้ปรากฏสู่วงการกฎหมายไทยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ถึงสามมาตราคือ มาตรา ๔ ของบททั่วไป มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๘ ของหมวดว่าสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย

 

การใช้สิทธิเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญฯนอกจากจะบัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรตรวจสอบมิให้มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว รัฐธรรมนูญฯมาตรา ๒๘ ยังบัญญัติว่าบุคคลย่อมสามารถอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหากถูกล่วงละเมิดก็สามารถใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้อีกด้วย

 

๑) การใช้สิทธิผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๒๔๔(๑) ของ รัฐธรรมนูญฯที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

 

๒) การใช้สิทธิผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามมาตรา ๒๕๗ ของรัฐธรรมนูญฯที่สามารถตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองกรณีกฎหรือคำสั่งหรือการกระทำใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังสามารถฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายในกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวมได้อีกด้วย

 

๓) การใช้สิทธิทางศาลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๑๘ ศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ หรือแม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๒ ที่บัญญัติไว้ว่าบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีอื่นได้แล้ว

 

นอกจากนั้นยังมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี ๑๙๔๘ ที่มีเนื้อหาคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการอ้างถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นวัตถุประสงค์(Objective)อันหนึ่งในการที่จะคุ้มครองสิทธิของมนุษย์และเสรีภาพขั้นพื้นฐานอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นหมายความว่าอย่างไร และการที่บุคคลอ้างถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้นทำได้ทุกเรื่อง ทุกกรณีหรือไม่

 

จากการศึกษาวิจัยการอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา ๒๘ ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญพบว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"นั้นมีนัย ๒ ประการ คือ

 

(๑) "ธรรมชาติมนุษย์" กล่าวคือ ลักษณะที่แท้จริงของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจและความต้องการจำเป็น(Needs)ที่จูงใจให้มนุษย์ทำการใดๆ โดยทฤษฎี มนุษย์น่าจะเป็นอย่างเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด แต่ในทางปฏิบัติ พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมด้วย

 

(๒) "ศีลธรรม" อันได้แก่ หลักที่ว่าด้วยความผิดชอบชั่วดีที่สังคมหนึ่งๆกำหนดให้สมาชิกปฏิบัติ โดยไม่มีศีลธรรมสากลให้ยึดถือ นอกจากอนุมานเอาจากส่วนที่กำหนดไว้เหมือนกันในความประพฤติบางเรื่อง

 

ฉะนั้น การที่เราจะวินิจฉัยว่าพฤติกรรมใดเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมไทยหรือไม่ แล้วจึงนำไปสู่การปกป้อง "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ตามกฎหมายเมื่อถูกละเมิด สามารถแยกพิจารณาได้สองประเด็น คือ

 

ประเด็นแรก สิ่งนั้นๆมนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันหรือไม่

การตะโกนด่าทอ ปิดกั้น และพร้อมที่จะใช้กำลังต่อการที่กลุ่มหลากหลายทางเพศหากยังขืนดำเนินการเดินขบวนรณรงค์เพื่อต่อต้านโรคเอดส์ต่อไปนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันหรือไม่ ทั้งๆที่การเดินขบวนดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

 

ประเด็นที่สอง ความรู้สึกทางด้านจิตใจของสังคมไทยในขณะนั้นสนับสนุนหรือโต้แย้งหรือไม่ อย่างไร

 

เหตุการณ์ในวันนั้นมีการแสดงอาการแปลกๆ ต่อที่สาธารณะหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมเกินเลยจากคำว่า "มีวัฒนธรรมอันดี" ไปหรือไม่ มีบางคนก็ใส่กางเกงในตัวเดียวเดินในขบวนแบบไม่อายใครดังเช่นในต่างประเทศหรือไม่ มีการทำตัวเกินความพอเหมาะพอดีของสังคมที่จะยอมรับได้บ้างหรือไม่ ซึ่งในข้อเท็จจริงก็คือไม่

           

เมื่อพิจารณาทั้งสองประเด็นและประสบการณ์ในสังคมอื่นมาประกอบแล้วเห็นว่าการณรงค์ในวันนั้นไม่อยู่สถานะที่เกินเลยกว่าที่สังคมจะรับได้ ฉะนั้น พฤติกรรมของกลุ่มเสื้อแดงที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ละเลยหรือละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่จึงสมควรที่จะได้รับโทษานุโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ มิใช่ปล่อยเลยตามเลยโดยเห็นเสมือนว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศไม่ใช่มนุษย์ร่วมโลกเดียวกันเช่นนี้

 

 

 

----------------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 มีนาคม 2552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท