สิทธิมนุษยชนเอเชียเรียกร้องสื่อและองค์กรสิทธินานาชาติประณามการคุกคามสื่อออนไลน์

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC ออกแถลงการณ์ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม วันเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เข้าค้นสำนักงานเว็บไซต์ประชาไท และจับกุมนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการ โดยปรากฏเป็นฉบับภาษาไทย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

 

.....



แถลงการณ์โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย


ประเทศไทย : AHRC ขอประนามการเข้าค้นสำนักงานหนังสือพิมพ์อิสระ



ตามที่ได้มีการประกาศไว้บนเว็บ "ประชาไท" ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่ออิสระที่เสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเพียงไม่กี่สื่อในประเทศไทย ว่า

"เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ 5 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง 1 คน และเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 1 คน เดินทางด้วยรถยนต์ จำนวน 2 คัน เข้าแสดงตนพร้อมหมายค้นและหมายจับ น.ส. จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท ด้วยข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 15 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน โดย น.ส. จีรนุช ปฏิเสธให้การใดๆ จนกว่าจะมีทนายความให้คำปรึกษา"

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission -AHRC) ได้ตรวจสอบและขอยืนยันข้อมูลดังกล่าว  โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กำหนดว่า  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ที่น่าจะ "เกิดความเสียหาย" ต่อสาธารณะหรือความมั่นคงของประเทศ หรือน่าจะก่อให้เกิด "ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ มาตรา 15 กำหนดว่า ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมา



AHRC ขอประณามการเข้าค้นและการออกหมายจับผู้ดูแลเว็บไซท์ประชาไทอย่างที่สุด  ซึ่งแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเข้าค้นครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวาระอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่กำลังดำเนินการอย่างเป็นระบบหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เพื่อคุกคามและปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมทางสังคมในประเทศไทย กฎหมายอันน่ารังเกียจที่เป็นฐานของการเข้าค้นและการออกหมายจับครั้งนี้เป็นก้อนอิฐก้อนหนึ่งอันสำคัญในรากฐานที่ถูกก่อขึ้น เพื่อครอบผู้ที่เห็นต่างในประเทศไทยที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยทหาร เมื่อปี 2550

AHRC สนับสนุนและขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของประชาไทที่ได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นในฐานะสื่ออิสระ ที่ต้องเผชิญกับสภาพการณ์ที่ยากลำบาก ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมขนานใหญ่ในประเทศไทย อันเป็นช่วงเวลาที่การแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาและอย่างจริงใจ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากและเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

AHRC ขอเรียกร้องให้องค์กรสื่อในภูมิภาคและระดับนานาชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำลังเริ่มการประชุมวาระที่ 10 ในกรุงเจนีวา และผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้ร่วมกันประนามการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและในการคิดในประเทศไทย และเรียกร้องให้ยุติการจับกุมและการคุกคามประชาไทและสื่ออื่นๆ และองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยทันที


 


# # # 
เกี่ยวกับ
AHRC : คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (The Asian Human Rights Commission : AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานตรวจสอบและรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย  AHRC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2527 โดยมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท