Skip to main content
sharethis


เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์


มูลนิธิกระจกเงา


www.notforsale.in.th


 


 


 


จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลหน้าแล้ง เป็นผลให้แรงงานภาคเกษตรกรรมไม่มีการจ้างงานพื้นที่ และต้องหันเหมุ่งหน้าเข้ามาหางานรับจ้างทำในเมืองหลวงเป็นจำนวนมาก หลายคนมีสมัครพรรคพวกเป็นญาติพี่น้องในเมืองหลวง ก็พอจะมีลู่ทางในการทำงาน แต่ก็ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากเช่นกันที่เข้าเมืองหลวงมาตายเอาดาบหน้าโดยไม่รู้จุดหมายปลายทาง


 


จำนวนผู้เสียหายกว่า 70 กรณี ที่แจ้งมายังศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกล่อลวงและบังคับใช้เป็นแรงงานเยี่ยมทาสบนเรือประมงนอกน่านน้ำ คงสะท้อนภาพได้เป็นอย่างดีว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ ในด้านแรงงานมีอัตราที่รุนแรง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น


 


สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิต บริเวณรอบสนามหลวง บริเวณวงเวียนใหญ่ และบริเวณสวนรมณีนาถ คือสถานที่สำคัญที่แรงงานจำนวนมาก ใช้เป็นที่ผ่านทาง พักผ่อน และ  รอหางานทำ ซึ่งสถานีที่เหล่านี้เองมีมิจฉาชีพและขบวนการค้ามนุษย์แอบแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อคอยหาเหยื่อที่เป็นแรงงานพลัดถิ่น หลอกล่อด้วยคำพูดที่มีจิตวิทยาสูง เสนองานสบาย รายได้ดี แค่นี้แรงงานจำนวนมาก ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


 


ดังนั้น มาตรการเชิงป้องกัน และการให้ความรู้กับแรงงาน จึงนับเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในพื้นที่ภูมิลำเนา และพื้นที่เสี่ยงในการล่อลวงแรงงาน


 


 


ข้อเท็จจริงในพื้นที่ภูมิลำเนาของแรงงาน


 


ในพื้นที่ภูมิลำเนาของแรงงานมีความสำคัญในการป้องกันการเคลื่อนย้ายถิ่น หรือการสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนที่จะเดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ โดยจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้เสียหายของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า แรงงานภาคประมงที่ถูกล่อลวงส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีภูมิลำเนาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และสภาพภูมิประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นจึงเป็นผลให้เมื่อสิ้นฤดูกาลทำเกษตรกรรม แรงงานจำนวนมากจึงเคลื่อนย้ายเข้ามาหางานรับจ้างทำในกรุงเทพฯ หรือตามจังหวัดที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่า หลายกรณีจึงพบว่า แรงงานที่เดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ไม่มีจุดหมายปลายทาง หรือไม่มีงานรออยู่ แต่จะเข้ามาเพื่อหางานในลักษณะมาตายเอาดาบหน้า ประกอบกับแรงงานส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีหน่วยงานของกรมการจัดหางานคอยบริการคนหาอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งตรงจุดนี้เป็นผลให้มีแรงงานจำนวนหนึ่งมักตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์


 


แนวทางเรื่องคนหางานภายในประเทศ


 


จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายที่ตกเป็นแรงงานทาส ถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานบนเรือประมงนั้น พบว่าหลายกรณีไม่ทราบ หรือ ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดภูมิลำเนาของตนเองเกี่ยวกับการ เตือนภัย หรือ การให้ความรู้เรื่องการติดต่อกรมการจัดหางาน เมื่อต้องเดินทางเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่จังหวัดเศรษฐกิจ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว สอดคล้องกับการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในหลายพื้นที่ พบว่า สำนักงานจัดหางานในจังหวัดทางภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ให้ความสำคัญและมีโครงการเฉพาะในเรื่องของการให้ความรู้ในการเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศมากกว่า ส่วนเรื่องการย้ายถิ่นเพื่อทำงานในประเทศนั้น ยังไม่ปรากฏการทำงานที่เป็นรูปธรรมมากนัก จึงทำให้แรงงานที่เคลื่อนย้ายถิ่นในประเทศจำนวนมาก มีความเสี่ยงในการถูกล่อลวงจากขบวนการค้ามนุษย์


 


ทั้งนี้ แม้ว่ากรมการจัดหางาน จะมีโครงการเชิงรุกลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ ทุกจังหวัด ถึง 5 โครงการด้วยกัน แต่จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายกว่า 30 กรณี ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายรายไหนเคยรับทราบ หรือ ได้ผ่านการอบรมความรู้จากสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ ดังนั้นแสดงว่า กลุ่มเป้าหมายแรงงานที่ตกเป็นผู้เสียหายไม่เข้าถึงการรับรู้ข้อมูลป้องกันตัว หรือแสดงให้เห็นว่า การให้ความรู้ของสำนักงานจัดหางานจังหวัด ไม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง


 


การรับรู้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดภูมิลำเนา


 


จากการเข้าพบหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้เสียหาย ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด , สำนักงานจัดหางานจังหวัด , สำนักงานแรงงานจังหวัด, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด พบว่า หลายหน่วยงานไม่มีข้อมูล และไม่เคยรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการล่อลวงและการบังคับใช้แรงงานภาคประมง เนื่องจากไม่มีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ในพื้นที่ ดังนั้น กระบวนการหรือโครงการในการป้องกัน โดยการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่จึงไม่มีประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันตัวเองจากการถูกล่อลวงในเรื่องการค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง


 


ประกอบกับทัศนคติของหน่วยงานในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้เสียหาย มักมองว่า ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนกลาง หรือพื้นที่อื่น พื้นที่ภูมิลำเนาของผู้เสียหายจึงเป็นเพียงพื้นที่ปลายทางของปัญหา รอเพียงการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายเมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา จึงทำให้ไม่มีมาตรการเชิงรุกในการทำงานป้องกันกับประชาชนในพื้นที่ภูมิลำเนา


 


 


ข้อเท็จจริงพื้นที่เสี่ยงในการล่อลวงแรงงาน (กรุงเทพมหานคร)


 


ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายโดยตรงของมูลนิธิกระจกเงา พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแหล่งที่นายหน้าของขบวนการค้ามนุษย์ แอบแฝงเพื่อล่อลวงแรงงานอยู่ 5 พื้นที่ ได้แก่




    • สนามหลวง

    • สถานีขนส่งหมอชิต

    • สถานีรถไฟหัวลำโพง

    • วงเวียนใหญ่

    • สวนรมณีนาถ

 


พื้นที่ดังกล่าวข้างต้นอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานที่ทับซ้อนกัน จึงอาจทำให้การจัดการปัญหาในการล่อลวงแรงงานภาคประมงไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงในการดำเนินงาน ซึ่งมีปัญหาในหลายส่วน ดังนี้


 


การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้


 


ในพื้นที่กึ่งปิด เช่น สถานีขนส่งหมอชิต สถานีรถไฟหัวลำโพง และสวนรมณีนาถ ลักษณะเป็นสถานที่ราชการเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการเป็นช่วงเวลา มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่โดยตรง ลักษณะพื้นที่แบบนี้สามารถควบคุมได้ง่ายกว่าพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่เปิดตลอดเวลา ทว่าจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่าสถานที่กึ่งปิดเกือบทุกแห่งไม่มีมาตรการป้องกันการถูกล่อลวงจากขบวนการค้ามนุษย์ที่ดีพอ กล่าวคือ สถานที่ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีมิจฉาชีพแอบแฝงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีขนส่งหมอชิต และสถานีรถไฟหัวลำโพง ยังไม่ปรากฏสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนที่เข้ามาใช้บริการอย่างเพียงพอ บางสถานที่มีเพียงเสียงประชาสัมพันธ์ตามสาย และป้ายเตือนในการระวังมิจฉาชีพที่จะเข้ามาล่อลวงเอาทรัพย์สินเท่านั้น แต่เนื้อหาและรายละเอียดในการเตือนภัยมิได้ก้าวล่วงถึงเรื่องการค้ามนุษย์แต่อย่างใด


 


ส่วนในสถานที่สาธารณะแบบเปิดนั้น ไม่ปรากฏการประชาสัมพันธ์เตือนภัยใดๆ เลย อาจปรากฏเพียงมาตรการป้องปรามอาชญากรรมในลักษณะของตำรวจสายตรวจออกตระเวรพื้นที่เท่านั้น


 


การคุ้มครองคนหางาน


 


ถึงแม้ว่าในพื้นที่กึ่งปิด ทั้ง สถานีขนส่งหมอชิต และสถานีรถไฟหัวลำโพง จะมีหน่วยงานย่อยของกรมการจัดหางานคอยบริการอยู่ก็ตาม แต่ก็เป็นไปในลักษณะไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ หน่วยงานของกรมการจัดหางาน ซึ่งมีภารกิจในการช่วยเหลือและคุ้มครองคนหางานนั้น มิได้ทำงานในเชิงรุกเข้าไปให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นประชาชนที่กำลังเดินทางเข้ามาหางาน แต่จะทำงานในลักษณะตั้งรับอยู่ที่หน่วยงานของตนเอง จึงทำให้ในหลายกรณีผู้เสียหาย มักถูกขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ตัดตอนไปตั้งแต่ขณะลงรถโดยสารหรือลงรถไฟ นอกจากนี้ลักษณะทางกายภาพของหน่วยงานกรมการจัดหางานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ นั้น พบว่า อยู่ในลักษณะ มืดทึบไม่มีจุดสังเกตุที่เด่นชัด และไม่ปรากฏสื่อในการประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน จึงทำให้ประชาชนที่กำลังหางานไม่ทราบว่ามีหน่วยงานนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ หรือ ไม่รู้ว่าหน่วยงานดังกล่าวนี้มีบทบาทและภารกิจอย่างไร


 


ส่วนในพื้นที่สาธารณะแบบเปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสนามหลวง วงเวียนใหญ่ และสวนธารณะต่างๆ นั้น เป็นสถานที่ซึ่งมีแรงงานที่ต้องการหางานเป็นจำนวนมากใช้เป็นสถานที่อาศัยชั่วคราว พักผ่อน หรือใช้เป็นสถานที่ต่อรถในการเดินทาง แต่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ปรากฏสื่อประชาสัมพันธ์หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้ หรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่กำลังหางานแต่อย่างใด และจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายหลายกรณี ให้ข้อเท็จริงตรงกันว่าไม่เคยหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องการหางานของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ดังกล่าวเลย


 


และทั้งหมดนี้ คือข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น ภาวะการเคลื่อนย้ายแรงงานประเทศอย่างไม่ปลอดภัย การสร้างความตระหนักรู้แก่แรงงาน และการเตือนภัยทางสังคม คงต้องเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนมาตรการ และทำงานเชิงรุกอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะมีเหยื่อการค้ามนุษย์รายต่อไป และอีกหลายรายต่อไป....


 


                                                                                

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net