Skip to main content
sharethis


คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแผนแม่บทยุติธรรมแห่งชาติปี 2552-2555 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เตรียมตั้งศูนย์ประสานงานอำนวยความยุติธรรม พร้อมบูรณาการคดีความทั้งหมดในพื้นที่เพื่อจัดการอย่างเป็นระบบ นายกฯ สั่งศึกษาเพิ่มเติมแนวทางการใช้กฎหมายอิสลามที่ชายแดนใต้ ขณะเดียวกัน ครม.ยังอนุมัติคงกรอบอัตรากำลังครูในพื้นที่ 1,639 อัตรา ด้าน ส.ส.มุสลิมจากพรรคเพื่อแผ่นดินและพรรคราษฎร ประกาศรวมตัวตั้งกลุ่มผลักดันนโยบายสร้างสันติสุข ประเดิมจี้รัฐเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎอัยการศึก หันใช้กฎหมายความมั่นคงแทน ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ยังป่วน เผาตู้ไปรษณีย์-ยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ปัตตานี บึ้มกลางระแงะวัยรุ่นเจ็บหนึ่ง


 



 


นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2552 ว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรมขออนุมัติร่างแผนแม่บทในการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2552-2555 และร่างแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ ครม.ได้อนุมัติแผนแม่บทกระบวนการยุติธรรมไปตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.2547 แต่ได้มีการทบทวนปรับมาเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง กระทั่งสำนักงานกิจการยุติธรรมได้ปรับแผนแม่บทในการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2552-2555 เสร็จเรียบร้อย และเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง ครม.ก็ได้อนุมัติในหลักการ 


 


ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวต้องการให้ระบบยุติธรรมทั้งหมดมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ทันสมัย เป็นธรรม มีความเป็นสากล ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก ทำให้เกิดความปลอดภัย สมานฉันท์ และเกิดความเรียบร้อยในสังคม โดยแผนแม่บทจะแปลงเป็นแผนอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงยุติธรรมไปพิจารณาเรื่องความสอดคล้องของกฎหมาย ก่อนส่งต่อตามขั้นตอนต่อไป 


 


นายปณิธาน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ "สถาบันอิศรา" ว่า แผนแม่บทในการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ มีแผนแม่บทในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ซ้อนอยู่ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำให้เกิดศูนย์ประสานงานอำนวยการความยุติธรรม มีคณะกรรมการรับผิดชอบในระดับนโยบาย และบูรณาการคดีความต่างๆ ทั้งหมดในพื้นที่เพื่อให้เป็นระบบมากขึ้น มีกระบวนพิจารณาที่เหมาะสมสอดคล้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น 


 


อย่างไรก็ดี ครม.อนุมัติเฉพาะหลักการเท่านั้น ส่วนในรายละเอียดได้ให้กระทรวงยุติธรรมไปศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องการใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เน้นเป็นพิเศษให้ไปพิจารณาศึกษา 


 


"กฎหมายอิสลามมีใช้อยู่แล้วบางส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ท่านนายกฯ ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่อไป" นายปณิธาน กล่าว 


 


ครม.อนุมัติคงกรอบอัตรากำลังครูชายแดนใต้ 


วันเดียวกัน ครม.ยังอนุมัติให้คงกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ (ตำแหน่งครูผู้สอน) จำนวน 1,639 อัตรา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2552 เป็นต้นไป ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ 


 


ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ข้าราชการครูได้ขอย้ายออกนอกพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังครูของสถานศึกษา ซึ่งในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ จำนวน 1,639 อัตรา เพื่อรองรับอัตราจ้างครูรายเดือนทดแทนข้าราชการครูที่ขอย้ายออกนอกพื้นที่ดังกล่าว เป็นการช่วยแก้ปัญหาสภาพการขาดแคลนครู และทำให้ครูอัตราจ้างเหล่านั้นมีขวัญกำลังใจ มีความรู้สึกมั่นคงในอาชีพ สำหรับปีงบประมาณ 2552 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับงบประมาณ งบบุคลากร ค่าตอบแทนพนักงานราชการ เพื่อจ้างต่อเนื่องตามกรอบอัตรากำลัง จำนวน 1,639 อัตรา จำนวนเงิน 214,577,900 บาทแล้ว


 



 


ส.ส.มุสลิมเว้น ปชป.รวมตัวจี้รัฐใช้ ก.ม.มั่นคงแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ


ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2552 ที่ห้องประชุมโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ได้มี ส.ส.มุสลิมจากพรรคการเมืองต่างๆ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแถลงจุดยืนทางการเมืองด้วยการประกาศรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อแสดงถึงเอกภาพ และผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 


 


สำหรับ ส.ส.ที่มาร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.สัดส่วน นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส และ นางฟารีดา สุไลมาน ส.ส.สุรินทร์ ทั้งสามสังกัดพรรคราษฎร (เดิมสังกัดพรรคพลังประชาชน) นายนิมุคตาร์ วาบา และนายยุซรี สูซารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคเพื่อแผ่นดิน นอกจากนี้ยังมีอดีต ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในจังหวัดชายแดนใต้เป็นที่ปรึกษาและคณะทำงานของกลุ่มด้วย อาทิ นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี นายเด่น โต๊ะมีนา นายมุข สุไลมาน นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร นายมะรีเป็ง จะปะกียา นายรอมลี มามะ และ นายบุญญา อดิเรก



 



 


นายอารีเพ็ญ กล่าวถึงเหตุผลของการรวมกลุ่ม ส.ส. อดีต ส.ส. และ ส.ว.ว่า สืบเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อยาวนานยังไม่มีที่ท่าว่าจะสงบ ทำให้ทางกลุ่ม ส.ส.อดีต ส.ส. และ ส.ว.จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นพ้องที่จะต้องทำงานร่วมกัน โดยทุกคนมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันคือสร้างความสามัคคี ความสมานฉันท์ และความสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 


 


"นักการเมืองรับรู้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี การรวมตัวกันจึงเป็นประโยชน์กับพื้นที่ เพราะหากมองภาพรวมในวันนี้ เราจะเห็นความขัดแย้งทางการเมืองมีสองขั้ว ทำให้พื้นที่ข่าวสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดหายไปจากหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ในพื้นที่ตอนนี้ยังมีความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่มีความเปลี่ยนแปลง เราจึงตัดสินใจประกาศจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเกิดของเราเอง"


 


นายอารีเพ็ญ กล่าวอีกว่า จุดยืนของกลุ่มคือดำเนินการทางการเมืองในระบบรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถือเป็นแนวทางสันติวิธี ทั้งนี้เพื่อระดมความคิดความอ่านของคนในพื้นที่สำหรับใช้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 


 


"ขณะนี้จะเห็นว่ามีกฎหมายบางฉบับที่ออกมาแล้วแต่ยังไม่ประกาศใช้อย่างเต็มศักยภาพ คือกฎหมายความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ซึ่งเนื้อหามีลักษณะของความปรองดอง ถ้าหากทางการการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพราะเราจะแยกแยะกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดและเริ่มที่จะมีแนวคิดไปในทางต่อต้านรัฐให้สามารถพ้นมลทินในคดีอาญา แต่ปัจจุบันรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ไปควบคุมตัว ซึ่งวิธีการดังกล่าวพวกเรามองว่าไม่นำพาไปสู่สันติสุข" นายอารีเพ็ญ กล่าว 


           


ลุยเร่งรัดคดีเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ์


 



 


ขณะที่ นายนัจมุดดีน กล่าวว่า กลุ่มของเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายทับซ้อนกันถึง 3 ฉบับด้วยกัน จึงต้องการให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับกฎอัยการศึก แล้วใช้กฎหมายความมั่นคงแทน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้


 


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องคดีความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ซึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับไม่ได้รับการพิจารนา เพราะปัจจุบันยังมีคดีลักษณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกอย่างน้อย 4 คดี เช่น คดีซ้อมผู้ต้องหาที่ตัดต้นไม้ในการก่อเหตุปล้นอาวุธปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งนำไปสู่การอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หรือคดีจับกุม นายอนุพงษ์ พันธชยางกูร กำนัน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แล้วมีการขมขู่เพื่อให้รับสารภาพ เป็นต้น 


 


เล็งตั้ง "พรรคมาตุภูมิ" รวม ส.ส.มุสลิม 


 



 


นายนิมุคตาร์ กล่าวว่า โอกาสหน้าจะมี ส.ส.มุสลิมเพิ่มอีก 1 พรรค แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ และในอนาคตจะเปลี่ยนสังกัดภายใต้พรรคเดียวกันคือพรรคมาตุภูมิ โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นหัวหน้าพรรค


 


"ตอนนี้เราพยายามสร้างให้เกิดเอกภาพ แต่ไม่ได้ใช้ชื่อกลุ่มวะดะห์เหมือนครั้งที่แล้ว" นายนิมุคตาร์ กล่าว


 


ขณะที่ นางฟารีดา กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ แต่กลับไม่มีรัฐมนตรีในพื้นที่เพื่อรับผิดชอบแก้ปัญหาโดยตรง ซึ่งขัดแย้งกับผลการศึกษาของคณะกรรมมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ศึกษาและสรุปแนวทางแก้ไขว่า จะต้องมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน รับผิดชอบปัญหาเป็นการเฉพาะ 


 


 


 


ที่มา: ศูนย์ข่าวอิศรา (patanipost)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net