Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ
 อ.จะนะ จ.สงขลา


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


เนื่องด้วยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับ สภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชิญ ชัยค์ ศ. ดร.อาลีญุมอะฮ์ มูฮัมหมัด อับดุล วาฮับ ( Shaikh Profressor Dr. Ali Gomaa Mohamed Abdel Wahab ) ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม (Mufti) จากประเทศอียิปต์ เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้


พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวทางการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในการพัฒนาประเทศ" เพื่อนำเสนอถึงรูปแบบการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศอียิปต์ และ ประเทศมุสลิมอื่นๆ ซึ่งจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาการใช้กฎหมายอิสลาม ในประเทศไทย รวมทั้ง จะเป็นการทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และแสดงถึงการสนับสนุนกิจการศาสนาอิสลามของรัฐบาลไทยต่อโลกมุสลิม ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในวันที่ 19 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 น.


ชัยค์ ศ. ดร.อาลีญุมอะฮ์ มูฮัมหมัด อับดุล วาฮับ ( Shaikh Profressor Dr. Ali Gomaa Mohamed Abdel Wahab ) ถือเป็นผู้นำทางศาสนาที่สำคัญเป็นอันดับสอง รองจากผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Iman of Al Azhar) มีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรี เป็นปราชญ์คนสำคัญของโลกมุสลิม เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อิสลาม เป็นผู้ชี้ขาด ออกคำวินิจฉัยในประเด็นด้านศาสนา (Fatwa) เป็นที่ยอมรับทั้งในอียิปต์ และประเทศมุสลิมอื่นๆ


คำว่าฟัตวาเป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง การให้ความกระจ่างในสาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ ผู้ให้การฟัตวา คือ ผู้ที่ชี้แจงการทำหน้าที่ชี้แจงบทบัญญัติและข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับปรนตามยุคและสมัยต่างๆภายใต้กรอบหลักนิติศาสตร์อิสลามจนสามารถนำมาเป็นกฎหมายอิสลาม


ศาสนบัญอันเป็นกฎหมายอิสลามนั้นจะ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการคือ


1. อีบาดะห์ คือ การกราบไหว้ต่อพระเจ้าที่อาศัยจิตใจหรือหลักศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การละหมาด การถือศีลอด การบริจาค (ซากาต) เป็นต้น


2. มูอามาลาด คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าขาย จำนอง จำนำ การกักตุลสินค้า เทียบได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของกฎหมายไทย


3. มูนากาฮาด คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว มรดก การแต่งงาน เช่นในกรณีของการแต่งงานนั้นตามหลักอิสลามต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 5 ประการคือ1.เจ้าบ่าว 2เจ้าสาว 3.ผู้ปกครองของเจ้าสาว 4.ผู้นำ 5.พยาน ซึ่งหากไม่ครบองค์ประกอบนั้นจะทำการแต่งงานไม่ได้ หากทำไปโดยขาดอย่างใดอย่างหนึ่งถือว่าการแต่งงานนั้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์ จึงเทียบได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัวนั่นเอง


4. ยินายาส คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฆ่าคนตาย การขโมยทรัพย์สินของผู้อื่นนั้นต้องได้รับโทษอย่างไร เทียบได้กับกฎหมายอาญาของไทยนั่นเอง ตัวอย่างโทษในการฆ่าผู้อื่นจนทำให้ผู้อื่นจนทำให้เสียชีวิตนั้นคือผู้นั้นต้องตายตามกันไปแต่หากมีการยอมความกันได้ก็อาจต้องชดใช้ด้วยอูฐ 100 ตัว การขโมยก็เช่นเดียวกัน หากจับได้ต้องตัดมือนั้นทิ้งไปเลยแม้ผู้ที่ขโมยอาจต้องเป็นลูกสาวของตนเองก็ตาม


ดังนั้นจากองค์ประกอบทั้งหมด จะทำให้ทราบทันทีว่า ศาสนาอิสลามเป็นเสมือนวิถีชีวิตที่ครอบคลุมและมีความบริบูรณ์ในทุกด้านของมุสลิม อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติในประเด็นต่างๆ ที่เป็นความต้องการของมนุษย์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติในฐานะบ่าวผู้น้อมภักดีของอัลลอฮฺ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องได้รับความกระจ่างในข้อปลีกย่อยของศาสนบัญญัติ พร้อมประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงอย่างสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลามที่แท้จริงและเหมาะสมกับศักยภาพและกำลังความสามารถของมนุษย์ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคลหรือสังคมโดยรวม


อัลลอฮฺทรงสร้างสรรพสิ่งตามกฎสภาวะดั้งเดิมบนพื้นฐานของเหตุผลและกฎกติกาที่แน่นอน พระองค์ทรงเรียกร้องและเชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักใช้สติปัญญาในการทำความเข้าใจกฎสภาวะดั้งเดิมและกฎกติกาดังกล่าว ด้วยการใช้วิจารณญาณ หลักการสังเคราะห์และวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย การใช้หลักฐานและเหตุผลบนหลักการของความรู้และวิทยาการ


ด้วยเหตุดังกล่าว อิสลามจึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยในประเด็นศาสนา (ฟัตวา)


จากความสำคัญของการฟัตวาดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมมุสลิมทุกสังคมต้องมีมุฟตีเพื่อการดังกล่าวและการจะเป็นมุฟตีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสามารถเป็นได้ทุกคน มุฟตีจะต้องมีองค์ความรู้ด้านอิสลามศึกษาชั้นสูง ที่ปฏิบัติหน้าที่เสมือนแทนศาสนทูต เพราะในสมัยศาสนทูตปัญหาต่างๆ ท่านจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดแต่ปัจจุบันไม่มีศาสนทูตที่คอยให้คำตัดสิน


การจะเข้าใจอิสลามศึกษาชั้นสูงได้ มุฟตีจะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างแตกฉานเกี่ยวกับคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานและวจนศสดา มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับ มีความรอบรู้ศาสตร์ที่ว่าด้วยชีวิตและสังคมมนุษย์ มีสติปัญญาอันเฉียบแหลมกอปรกับความรู้ความสามารถในการเข้าถึงแก่นแห่งศาสนบัญญัติได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ


ท่านอิมามชาฟิอีย์ปราชญ์อิสลามผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้ :


"ไม่อนุญาตสำหรับใครก็ตามที่จะทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยประเด็นศาสนา (มุฟตี) เว้นแต่ผู้ที่มีความรู้ในศาสนาของพระเจ้า มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และข้อปลีกย่อยแห่งคัมภีร์อัลกุรอาน มีความแตกฉานในวจนศาสดา และศาสตร์ว่าด้วยวจนศาสดา เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอาหรับ สำนวนโวหารและวาทกรรมอาหรับ ทั้งนี้มุฟตีจำต้องมีบุคลิกที่สุขุม รอบคอบ ไม่พูดเรื่องไร้สาระ เป็นคนที่รอบรู้ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสำนักคิดต่าง ๆ เขาจะต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมทั้งพรสวรรค์ และพรแสวงของคุณสมบัติของความเป็น มุฟตีที่ดี"


ท่านอิมามอาหมัดปราชญ์อิสลามผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งกล่าวไว้


"สมควรอย่างยิ่งสำหรับมุฟตีที่จะต้องศึกษาค้นคว้า และรอบรู้คำวินิจฉัยของนักวิชาการอิสลาม (ปราชญ์อิสลาม) ยุคก่อน หาไม่แล้ว เขาไม่สมควรให้การฟัตวา"


นอกจากนี้คุณสมบัติสำคัญในด้านอค์ความรู้ มุฟตีจะต้อง เข้าใจในศาสตร์แขนงต่างๆ เพิ่มเติมอีกดังนี้


1.ศาสตร์ที่ว่าด้วย การเผยแผ่ 2.ศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นจริง 3.ศาสตร์ที่ว่าด้วยการบริหารการจัดการความขัดแย้ง4.ศาสตร์ที่ว่าด้วยชนกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ


5.ศาสตร์ที่ว่าด้วยกำลังความสามารถและศักยภาพ 6.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺการกำหนดยุทธศาสตร์และการลำดับความสำคัญ


การฟัตวายังมีเงื่อนไขสำคัญอีกกล่าวคือความรับผิดชอบตามหลักศาสนาเรียกว่า อะมานะฮฺ ซึ่งจะต้องถูกสอบสวนในโลกหน้าต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้า


คำฟัตวาที่เป็นประเด็นปลีกย่อยในสมัยอดีตอาจสวนทางกับฟัตวาสมัยใหม่อันเนื่องมาจาก ความเปลี่ยนแปลง และข้อเท็จจริงร่วมสมัยหรือข้อมูลใหม่ที่ได้รับแต่จะต้องอยู่ภายใต้ หลักนิติศาสตร์อิสลาม


เป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะที่สถานการณ์และสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับมุฟตีที่จะต้องตีความหลักศาสนบัญญัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันที่กระแสความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัดหรือเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งแต่ละฝ่ายพยามยามอ้างหลักศาสนามาสนับสนุนแนวคิดของตน ดังนั้นการสร้างปราชญ์ด้านอิสลามศึกษารุ่นใหม่จึงมีความสำคัญมากเช่นกันในสังคมและองค์กรมุสลิมเพื่อสามารถให้ความกระจ่างในสาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับปรนตามยุคและสมัยต่างๆภายใต้กรอบหลักนิติศาสตร์อิสลามจนสามารถนำมาเป็นกฎหมายอิสลามทำให้มุสลิมรู้จักประยุกต์ใช้คำสอนของศาสนาอย่างรู้เท่าทัน


 


เรียบเรียงจาก


http://www.oknation.net/blog/print.php?id=80120
http://www.dar-alifta.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net