Skip to main content
sharethis


 



รายงานโดย บุญยืน สุขใหม่


ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์


 


 



 


 


บริษัทแคนาดอล เอเชีย จำกัด และบริษัทแคนาดอลไพพ์ จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯ อมตะซิตี้ จ.ระยอง ตั้งอยู่เลขที่ 7/204 หมู่ 6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ทำกิจการ ผลิตท่อส่งน้ำมัน,ท่อส่งก๊าซ ส่งให้กับประเทศในตะวันออกกลาง และประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศส่งบริษัท ป... ประธานบริษัทฯ ชื่อนายจาคโคโม ซอซซี่ เป็นนายจ้างคนเดียวกันทั้ง 2 บริษัทฯ เป็นชาวอิตาลี เชื้อชาติแคนาดา บริษัทฯ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 ตลอดเวลาที่ดำเนินกิจการมาบริษัทฯมีกำไรตลอดและยังขยายบริษัทฯเพิ่มขึ้นบนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ และมีการขยายกิจการกว่า 8 โรงงาน แต่ความเป็นจริงชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานไม่ดีขึ้นเลย ทุกคนยังคงต้องทำงานหนักแลกกับค่าจ้างที่ต่ำและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ


 


สหภาพแรงงานแคนาดอล ประเทศไทย ได้รับจดทะเบียนสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2548 ทะเบียนเลขที่ รย.32/2548


 


 


ประมวลเหตุการณ์เคลื่อนไหวของพนักงาน


 


วันที่ 22 สิงหาคม 2548 ได้ยื่นข้อเรียกร้องในนามพนักงานให้กับบริษัทฯจำนวน 12 ข้อ


 


วันที่ 23 สิงหาคม 2548 นายจ้างให้หัวหน้างานข่มขู่พนักงานให้ถอนชื่อจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องถ้าไม่ถอนจะเลิกจ้างทั้งหมด


 


วันที่ 24 สิงหาคม 2548 หัวหน้างานและผู้จัดการ ได้เรียกพนักงานที่มีรายชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องทีละคนและให้เซ็นชื่อถอนจากการสนับสนุนข้อเรียกร้อง และลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ถ้าใครไม่เซ็นชื่อจะไม่มีการปรับเงินขึ้นให้ และต่อมาในวันที่ 25 สิงหาคม 2548 บริษัทฯไม่ตั้งตัวแทนเพื่อเจรจาข้อเรียกร้องภายใน 3 วัน จึงแจ้งพิพาทแรงงาน


 


วันที่ 25-26 สิงหาคม 2548 บริษัทฯได้มีการทำหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมาให้พนักงานเซ็นพร้อมทั้งมีการนำเงินสดใส่ซองมาให้พนักงาน แต่มีเงื่อนไขคือต้องเซ็นลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก่อน


 


ระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม 2548 บริษัทฯได้มีการดำเนินการให้สมาชิกสหภาพแรงงานลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโดยมีเงื่อนไขเช่นเดิมคือเสนอเงินให้แต่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก่อน และได้มีการนัดแกนนำผู้ก่อการสหภาพแรงงานไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารข้างสนามกอล์ฟและมีการเสนอเงินให้แกนนำสหภาพแรงงาน


 


ระหว่างวันที่ 1-10 กันยายน 2548 มีการดำเนินการเช่นเดิมเพื่อให้สมาชิกลาออกจากสหภาพแรงงานโดยเสนอเงินที่สูงขึ้นจากเดิม และได้มีสมาชิกบางคนยอมเซ็นชื่อลาออกเพราะเกรงกลัวถูกนายจ้างกลั่นแกล้งแต่สมาชิกบางคนที่ยอมเซ็นชื่อลาออกนั้นยังคงยืนยันกับประธานสหภาพแรงงานฯ ว่ายังคงยินดีเป็นสมาชิกเหมือนเดิมแต่ที่ยินยอมเซ็นชื่อกับนายจ้างนั้นเพราะเกรงว่านายจ้างอาจกลั่นแกล้งได้


 


วันที่ 12 กันยายน 2548 ได้มีการเจรจาข้อพิพาทแรงงานที่ห้องประชุมของบริษัทโดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 2 ท่านเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ย แต่การเจรจาก็ไม่สามารถตกลงกันได้และระหว่างการเจรจาประธานกรรมการบริหารได้พูดว่า "ถ้ายังมีสหภาพในโรงงานผมก็จะปิดบริษัทฯ" "ถ้าพนักงานเซ็นชื่อถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้องและถอนจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนายจ้างปรับค่าจ้างในเดือนที่มีการถอนหรือเดือนถัดไปทันที แต่ถ้าใครไม่ถอนก็จะไม่ปรับค่าจ้างให้"


 


การพูดดังกล่าวพนักงานประนอมพิพาทแรงงานจังหวัดระยองก็ร่วมรับฟังอยู่ด้วย


 


เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2548 ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องได้ทำหนังสือขอถอนข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2548 ซึ่งยื่นโดยพนักงานและในวันเดียวกัน ได้ยื่นข้อเรียกร้องในนามสหภาพแรงงานยื่นต่อบริษัทฯจำนวน 12 ข้อ นายจ้างไม่ได้แต่งตั้งผู้แทนเจรจาภายใน 3 วัน จึงแจ้งพิพาทแรงงานเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548


 


เมื่อวันที่ 22-24 สิงหาคม 2548 คุณถาวร ได้เรียกกรรมการสหภาพแรงงาน 3 คน ขึ้นพบและเสนอปรับขึ้นเงินเดือนให้ถ้าลาออกจากการเป็น สมาชิก สหภาพแรงงาน และได้มีกรรมการลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 1 คน คือนายทวีสุข เนื่องจาก เพื่อขอปรับเพิ่มเงินเดือนตามที่บริษัทฯเสนอ


 


เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2548 ผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องได้ทำหนังสือขอถอนข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 22สิงหาคม 2548 ซึ่งยื่นโดยพนักงานและในวันเดียวกัน ได้ยื่นข้อเรียกร้องในนามสหภาพแรงงานยื่นต่อบริษัทฯจำนวน 12 ข้อ และนายจ้างไม่ได้มีการแต่งตั้งผู้แทนเจรจาภายใน 3 วัน จึงแจ้งพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2548


 


วันที่ 18 ตุลาคม 2548 ระหว่างเวลา 09.00-10.00 น. ผู้แทนฝ่ายนายจ้างคือ นายคฑาวุธ สอนอาจ ได้เรียกพนักงาน 3 คน คือ นายประดิษฐ์ เนื่องโพนงาม , นายไพรมย์ เลิศวงษ์ และนายวันชนะ โชคอำนวย และได้บอกกับพนักงานทั้ง 3 คนว่า ให้ลงลายมือชื่อเพื่อลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ หรือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสหภาพแรงงานฯ ก็จะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำของบริษัทฯ ถ้าไม่เซ็นถอนจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯจะถูกปลดออกจากการเป็นพนักงาน


 


ระหว่างวันที่ 14-19 ตุลาคม 2548 เวลา 16.00-17.00 น. ผู้จัดการฝ่ายบุคคลได้เรียกพนักงาน 3 คน คือ นายวิสุทธิ์ สิงสนิท, นายอาทิตย์ ไกรบุตร และนายอี๊ด บานแย้ม เข้าพบและให้ลงลายมือชื่อถอนจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสหภาพแรงงานฯ ถ้าไม่เซ็นก็จะไม่มีการปรับเงินเดือนให้และจะโยกย้ายงานให้ไปอยู่บริษัทฯ อื่น


 


วันที่ 31 ตุลาคม 2548 บริษัทได้เลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานทั้ง 17 คน โดยอ้างว่าไม่ผ่านทดลองงานซึ่งก่อนที่จะเลิกจ้างได้เรียกพนักไปสอบถามและให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานถ้าใครไม่เซ็นชื่อลาออกจะไม่บรรจุงานให้ซึ่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้างไม่ยอมเซ็นชื่อ แต่มีพนักงานบางคนเซ็นชื่อจึงไม่ถูกเลิกจ้าและต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 บริษัทได้เลิกจ้าง นายศรายุทธ แสงศรี ที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ โดยอ้างว่าไม่ผ่านทดลองงานแต่ในความเป็นจริงนั้นนายศรายุทธ แสงศรี ได้ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 9 เดือน


 


วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็ได้นัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานรวมทั้งหมด 8 ครั้งแต่ผู้มีอำนาจไม่ยอมเข้าเจรจา


 


ต่อมาในปลายปี 2549 นายจ้างไม่ปรับค่าจ้างและไม่จ่ายโบนัสให้กับกรรมการสหภาพแรงงานทุกคน และขณะเดียวกันได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของประธานสหภาพแรงงานฯ คือนายประภัทร มีจันทร์ทอง โดยการลดตำแหน่งจาก Operator เป็นผู้ช่วยงานและลดค่าจ้าง 2,500 บาทต่อเดือน ในกลางปี 2550 ประธานสหภาพแรงงานฯ จึงได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและศาลได้มีคำพิพากษาให้จ่ายค่าจ้างคืนให้กับประธานสหภาพแรงงานฯ


 


ต่อมาในต้นปี 2551 นายจ้างได้ปรับลดค่าจ้างของนายประภัทร มีจันทร์ทอง ประธานสหภาพแรงานฯ อีก 2,500 บาท ครั้งโดยอ้างเหตุผลว่าไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินงานจากหัวหน้างาน และโยกย้ายหน้าที่งานไปเป็นคนทำความสะอาดห้องน้ำ เมื่อประธานสหภาพแรงงานคัดค้านก็ไม่จัดหาหน้าที่งานใหม่ให้ทำโดยให้หางานทำเองในแต่ละวัน และขณะเดียวกันก็ได้ฟ้องขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานฯ โดยอ้างเหตุขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร แต่ในข้อเท็จจริงคือประธานสหภาพแรงงานได้ลางานเพื่อเฝ้าแม่ซึ่งป่วยต้องนอนที่โรงพยาบาลและได้แจ้งให้หัวหน้างานทราบแล้ว และศาลได้มีคำพิพากษาชั้นต้นให้เลิกจ้างได้ และหลังจากนั้นมาสหภาพแรงงานก็หยุดดำเนินกิจกรรมชั่วคราว


 


ในเดือนตุลาคม 2551 แกนนำสหภาพแรงงานที่เหลือได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อฟื้นฟูสหภาพแรงงานฯ ใหม่อีกครั้ง แต่มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่มากนัก และได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เพื่อดำเนินงานสหภาพแรงงานต่อ


 


ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2551 พนักงานได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 4 ข้อ โดยมีผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องจำนวน 317 คน และฝ่ายบริหารชาวไทยได้นัดประชุมในวันที่ 24 ธันวาคม 2551 โดยไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องตามกฎหมายแต่อย่างใด และบอกว่าจะนำเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารระดับสูงต่อไป แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และข้อเรียกร้องได้ตกไปเนื่องจากมิได้แจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงานภายในเวลาที่ กฎหมายกำหนด และพนักงานเองก็ไม่คิดว่าบริษัทฯ จะโกหกจึงไม่ได้แจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงานตามกฎหมายโดยหวังเพียงว่านายจ้างจะหันมาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานบ้าง


 


ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2552 พนักงานได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องอีกครั้งจำนวน 4 ข้อเช่นเดิม โดยมีผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องจำนวน 367 คน และฝ่ายบริหารไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องตามกฎหมายแต่อย่างใด ผู้แทนลูกจ้างจึงแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงานไปที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานในวันที่ 16 มกราคม 2552 และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้เข้ามาไกล่เกลี่ยภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่นายจ้างปฏิเสธการเจรจาโดยสิ้นเชิง ต่อมาพนักงานได้ร่วมลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเรื่อยๆ จนล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 มีผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งสิ้น ประมาณ 600 คน


 


ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2552 นายจ้างได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจากทำงานสองกะเป็นสามกะ ในวันที่ 19 มกราคม 2552 แต่ลูกจ้างไม่ยินยอม เนื่องจากว่าการเปลี่ยนแปลงเวลาดังกล่าวมีผลกระทบต่อวิถีดำรงชีวิตประจำวันพนักงานทุกคนจึงเดินทางมาทำงานตามเวลาปกติของตนแต่นายจ้างไม่ให้เข้าทำงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงมาไกล่เกลี่ยและทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันว่าจะทำงานสามกะไปก่อนและจะมาประชุมสรุปกันอักครั้งในวันที่ 28 มกราคม 2552


 


ในวันที่ 21 มกราคม 2552 พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยองได้นัดเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง แต่นายจ้างปฏิเสธการเจรจา พนักงานที่เข้ารายชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องจึงเรียกประชุมพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเพื่อขอมตินัดหยุดงาน ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันให้นัดหยุดงานได้


 


ผู้แทนพนักงานบริษัทแคนาดอลเอเชีย จำกัด จึงแจ้งขอใช้สิทธิ์นัดหยุดงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยองและนายจ้างโดยแจ้งประสงค์ขอใช้สิทธิ์นัดหยุดงานในวันที่ 22 มกราคม 2552 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป


 


นายจ้างได้มีหนังสือแจ้งมายังผู้แทนพนักงานเพื่อประกาศปิดงานเฉพาะส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยจะเริ่มปิดงานตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2552 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป และในระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2552 บริษัทฯได้มีการทำหนังสือลาออกจากการสนับสนุนของเรียกร้องมาให้พนักงานเซ็นพร้อมทั้งมีการให้คำสัญญาว่าจะให้เงินพิเศษและปรับตำแหน่งให้หลังจากเข้ามาทำงาน


 


ในวันที่ 26 มกราคม 2552 เวลาประมาณ 11.20 น. ตัวแทนพนักงานบริษัทแคนาดอลไพพ์ จำกัด ได้รวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง จำนวน 115 คน แต่นายจ้างโดยนายบ็อบ (ไม่ทราบนามสกุล)ได้เรียกให้พนักงานทั้งหมดที่มีรายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องไปรวมตัวกันที่โรงอาหารเก่า และข่มขู่ให้เซ็น ชื่อเพื่อถอดถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้องโดยแยกพนักงานออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มที่ยอมเซ็นชื่อถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้องกับนายจ้าง และกลุ่มที่สองคือคนที่ยังไม่เซ็นถอดถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้อง หลังจากนั้นหัวหน้างานชื่อเล่นนายต้นบอกกับพนักงานกลุ่มที่สองว่าบริษัทฯ จะเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดและจะให้พนักงานทุกคนเซ็นชื่อในเอกสารฉบับหนึ่งโดยอ้างว่าเซ็นชื่อหรือไม่เซ็นชื่อก็มีค่าเท่ากัน แต่พนักงานทุกคนไม่ยอมเซ็น พนักงานที่ไม่ยอมเซ็นชื่อถอดถอนการสนับสนุนข้อเรียกร้องนายจ้างโดยนายบ็อบ ได้ประกาศเลิกจ้างประมาณ 87 คน และไล่ให้ออกมานอกโรงงาน ไม่ให้เข้าไปทำงานในบริษัทฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย


 


และในขณะเดียวกันได้มีการกักตัวแทนในการยื่นข้อเรียกร้องทั้งสามคน คือ นายปฏิพัทร์ แท่นแก้ว ,นายกิตติพล ภานุรักษ์ และนายเจริญ อสุรินทร์ ไม่ให้ออกมาพบเพื่อนร่วมงานโดยกักไว้ในห้อง 103 และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฝ้าไว้ไม่ให้ออกไปไหนเป็นเวลากว่าสี่ชั่วโมง ไม่ให้รับประทานอาหาร ไม่ให้เข้าห้องน้ำ หรือขณะที่ไปเข้าห้องน้ำจะมีคนคอยควบคุม โดยมีชายฉกรรจ์ แต่งกายคล้ายทหารมายืนควบคุมตลอดเวลา จนเย็นจึงปล่อยตัวออกมา ผู้แทนลูกจ้างจึงได้ไปแจ้งความกักขังหน่วงเหนี่ยวต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอปลวกแดง


 


พนักงานในส่วนของบริษัทแคนาดอลเอเชีย จำกัด และพนักงานบริษัทแคนาดอลไพพ์ จำกัด ประมาณ 687 คน ได้เริ่มชุมนุมนัดหยุดงานที่หน้าบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2552 และ 26 มกราคม 2552 ตามลำดับเป็นต้นมา แต่นายจ้างยังไม่ยอมเจรจาด้วย และได้มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานที่ยังไม่ผ่านทดลองงานอีก 73 คน โดยอ้างเหตุว่าไม่ผ่านทดลองงาน พนักงานทั้งสองบริษัทได้ชุมนุมนัดหยุดงานที่หน้าบริษัทฯ จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 จึงตัดสินใจเดินทางไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า จนในที่สุดต้องเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552


 


วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เดินทางจากหน้าทำเนียบรัฐบาลมาปักหลักที่ข้างกระทรวงแรงงานและปิดล้อมกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ผู้แทนจากรัฐนำตัวนายจ้างมาเจรจาแต่ผลการเจรจาก็ไม่คืบหน้าสุดท้ายนายจ้างขอเลื่อนการเจรจาออกไปเป็นวันที่ 3 มีนาคม 2552


 


วันที่ 3 มีนาคม 2552 มีการเจรจากันระหว่างผู้แทนของพนักงานกับผู้แทนของนายจ้างและเจ้าหน้าที่ ที่กระทรวงแรงงานแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้โดยผู้แทนนายจ้างอ้างว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง จึงแจ้งกับพนักงานว่าขอเวลาให้รัฐมนตรีเป็นผู้เจรจากับนายจ้างโดยตรงโดยที่จะเจรจาให้หาข้อยุติให้ได้ ถ้าเจรจาแล้วไม่ได้รัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามมาตรา 35 ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 คือ


 


"มาตรา 35 ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าการปิดงานหรือการนัดหยุดงานนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศหรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) สั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น
(2) สั่งให้ลูกจ้างซึ่งนัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ
(3) จัดให้บุคคลเข้าทำงานแทนที่ลูกจ้างซึ่งมิได้ทำงานเพราะการปิดงาน หรือการนัดหยุดงาน นายจ้างต้องยอมให้บุคคลเหล่านั้นเข้าทำงานและห้ามมิให้ลูกจ้างขัดขวาง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
(4) สั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน"


 


 


ในวันที่ 13 มีนาคม 2552 พนักงานบริษัทแคนาดอล เอเชีย จำกัด และพนักงานบริษัทแคนาดอลไพพ์ จำกัด จึงยอมสลายการชุมนุมและเดินทางจากกระทรวงแรงงานกลับบ้านที่ระยอง เพื่อรอฟังผลการเจรจาระหว่างนายจ้างกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายไพฑูรย์ แก้วทอง ว่าจะทำตามที่ให้สัญญากับลูกจ้างไว้หรือไม่


 


ในวันที่ 13 มีนาคม 2552 เมื่อครบกำหนดตามที่รัฐมนตรีผู้แทนของพนักงานรวมทั้งพนักงานของทั้งสองบริษัทฯ ต่างก็มารวมตัวกันเพื่อฟังผลการชี้แจงจากรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและบริษัทฯ แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่พนักงานทุกคนคิด คือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้แจ้งว่า รัฐมนตรีไม่ได้ประกาศใช้มาตรา 35 ตามที่ได้รับปากกับพนักงานไว้ โดยอ้างเหตุผลว่านายจ้างได้ประกาศเปิดงานให้กับพนักงานทุกคนเข้าทำงานแล้วตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2552 ฉะนั้นรัฐมนตรีไม่สามารถประกาศใช้มาตรา 35 ได้ พนักงานทุกคนต่างก็สงสัยและไม่เข้าใจเนื่องจากไม่มีใครทราบเรื่องการประกาศเปิดงานของนายจ้างแต่อย่างใด และที่น่าแปลกใจคือในวันที่ 12 มีนาคม 2552 นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เข้าพบกับนายจ้างที่บริษัทฯ แต่ทำไมไม่ทราบว่านายจ้างประกาศเปิดงานแล้ว เป็นคำถามที่พนักงานหลายคนสงสัย


 


หลังจากนั้นในตอนบ่ายของวันเดียวกัน ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ จึงได้นัดผู้แทนลูกจ้างและผู้แทนฝ่ายนายจ้างของบริษัทแคนาดอลเอเชีย จำกัด มาเพื่อเจรจาและหาข้อยุติให้ได้ หลังจากที่มีการเจรจากันจนถึงเวลา 19.00 น. ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถหาข้อยุติกันได้ โดยที่เนื้อหาหลักในข้อตกลงที่ลูกจ้างบริษัทแคนาดอลเอเชีย จำกัด กับบริษัทแคนาดอลเอเชีย จำกัด ได้มีสองประเด็น คือ


 


ประเด็นที่ 1 บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานบริษัทแคนาดอล เอเชีย จำกัด ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2552 เป็นต้นไป


 


ประเด็นที่ 2 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2552 เป็นต้นไป


 


ข้อตกลงอื่นที่นอกเหนือไปจากนี้ ถึงแม้ไม่ทำเป็นข้อตกลงก็เป็นหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว


 


คำถามที่ตามมาคือ แล้วนายจ้างจะให้พนักงานของบริษัทแคนาดอล เอเชีย จำกัด กลับเข้าทำงานเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบจากนายจ้าง วันนี้นายจ้างเพียงแต่บอกว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เป็นต้นไปเท่านั้น แต่นายจ้างไม่ได้บอกว่าจะให้ใครกลับเข้าทำงานบ้าง


 


เมื่อสหภาพแรงงานฯ ได้สอบถามไปที่บริษัทฯ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ถ้าเราต้องการให้ใครกลับเข้ามาจะติดต่อไป นี่แสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ นั้นมีกำไรมหาศาลกล้าที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานจำนวนประมาณ 600 คน โดยที่ไม่ต้องมาทำงานให้ เป็นการผิดปกติตามหลักการในการจ้างงาน แต่เจตนาของบริษัทฯ คืออะไร? นายจ้างต้องการที่จะล้มล้างสหภาพแรงงานให้ได้ถึงแม้จะต้องเสียเงินเท่าไรก็แล้วแต่ วันนี้จึงมีคำถามที่ท้าทายให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า "ต่อไปรัฐจะทำอย่างไร" เมื่อสิทธิของคนงานถูกละเมิด


 


ส่วนประเด็นปัญหาของพนักงานแคนาดอลไพพ์ จำกัด ที่นายจ้างเลิกจ้างระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 และร่วมชุมนุมมาโดยตลอด ที่ปรึกษารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานบอกว่าให้ลุกจ้างไปใช้สิทธิเรียกร้องขอความเป็นธรรมตามขั้นตอนของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อไป และตอนนี้พนักงานแคนาดอลไพพ์ จำกัด กำลังคิดว่าจะไปเรียกร้องหาความยุติธรรมตามกฎหมายได้ที่ไหน และจะร้องขอให้ศาลไต่สวนพิเศษเพื่อขอความคุ้มครองพิเศษเนื่องจากเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างระหว่างการต่อสู้ตามขบวนการการของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน


 


 


 


…………………………………………….


ข่าวเกี่ยวเนื่อง:


สหภาพแรงงานแคนาดอลประท้วง เรียกร้องนายจ้างปรับค่าจ้างและสวัสดิการให้เป็นธรรมขึ้น, 29/1/2552


แรงงานแคนาดอลบุกกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้ รมว.แรงงานช่วยเหลือกรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, 28/2/2552


แรงงาน บ.แคนาดอล ไพพ์ จำกัด เตรียมเข้าให้การคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, 11/3/2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net