มองคนละมุม: เกษตรกรเหนือขอมีส่วนจัดการหนี้ ร้องชะลอยึดทรัพย์-ขายทอดตลาด

รายการมองคนละมุม สัมภาษณ์ "สมศักดิ์ โยอินชัย" กรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถึงสถานการณ์แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เผยมติ ครม. 16 ก.พ. อนุมัติงบ 1,500 ล้านให้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดการหนี้ แต่มีสมาชิกในกองทุน 380,000 ราย จึงเตรียมเคลื่อนไหวศาลากลางเชียงใหม่ 23 มี.ค. นี้ เพื่อประสานนายทะเบียนสหกรณ์ ชะลอการฟ้อง ชะลอการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดหนี้ชาวบ้าน


 

ในเสาร์ที่ 21 มี.ค. เวลา 7.30 น. ที่ผ่านมา รายการ "มองคนละมุม" ออกอากาศทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ในคลื่นความถี่ FM 100 MHz ผลิตโดยโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ดำเนินรายการโดยนายมานพ คีรีภูวดล ได้เชิญนายสมศักดิ์ โยอินชัย กรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและ พัฒนาเกษตรกร ชี้แจงถึงสถานการณ์การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของรัฐบาล

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยได้มีการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเรียกร้องให้รัฐบาลได้เข้ามาแก้ปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกร โดยมติ ค.ร.ม. มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการจัดการหนี้บางส่วนที่มีความจำเป็น โดยใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามทางกองทุนฟื้นฟูฯ มองว่าจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมจึงได้นัดเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงให้มารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. นี้ เพื่อให้เกิดการชะลอการชำระหนี้

 

นายสมศักดิ์ โยอินชัย กรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร และผู้นำแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) ได้ตอบข้อซักถามถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มี.ค. นี้ โดยระบุว่าที่มติ ค.ร.ม. ได้อนุมัติงบประมาณให้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นจำนวน 1,500 ล้านบาทนั้น มาตรการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีสมาชิกที่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับกองทุนฟื้นฟูมีจำนวนประมาณ 380,000 ราย ฉะนั้นภายใต้งบประมาณ 1,500 ล้าน นั้นไม่สามารถครอบคลุมสมาชิกทั้งหมดได้แน่นอน เพราะงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่ได้รับมานั้นจะนำไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาหลักทรัพย์ถูกนำไปขายทอดตลาดก่อน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2,000 กว่าราย

 

"อย่างเกษตรกรที่เป็นหนี้เสียผิดนัดชำระหลายปีและพร้อมถูกดำเนินคดีได้เฉพาะของ ธ.ก.ส. ก็มีจำนวนประมาณ 60,000 - 70,000 ราย ซึ่งในที่ชุมนุมได้หารือกันว่าจะทำอย่างไร โดยทางกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าใจว่ารัฐบาลมีภาระต้องใช้งบประมาณหลายทางต้องช่วยเหลือคนหลายกลุ่ม จึงอยากให้ ธ.ก.ส. ให้โอกาสกับเกษตรกรโดยชะลอการดำเนินการทางกฎหมายไปก่อน"

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่าปัญหาก็คือเกษตรกรจำนวนมากถูกสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์ต่างๆ ดำเนินการฟ้องร้องเนื่องจากขาดการชำระหนี้ ในบางรายถูกยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแล้ว ในเบื้องต้นจึงได้ไปคุยกับทาง ธ.ก.ส. ว่าระหว่างที่รัฐบาลยังไม่มีงบประมาณมาจัดการหนี้ทั้งหมดนั้นอยากจะให้ทาง ธ.ก.ส. ชะลอการฟ้องรวมถึงการยึดทรัพย์และบังคับขายทอดตลาดได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ได้ระบุไว้ว่าในระหว่างที่กองทุนฟื้นฟูดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นให้ชะลอการฟ้องไปจนถึงการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดไว้ก่อน ฉะนั้นจึงได้ประสานกับทาง ธ.ก.ส. โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีการบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระหว่าง ธ.ก.ส. กับกองทุนฟื้นฟูฯ และในวันถัดมาก็ได้มีการพูดคุยกันระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยถึงการชะลอการดำเนินการกับหลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยมีธนาคาร 8 แห่งได้ลงนามยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี กรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารนครหลวงไทย

 

"หลังจากที่มีมติ ค.ร.ม. ดังกล่าว ทางหัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ที่กระจายทั่วประเทศทั้งหมด 31 สาขา ก็ได้มีการประสานกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งเจ้าหนี้ก็ยินดีที่จะถอนหรือชะลอการขายหลักทรัพย์ของเกษตรกรไว้ก่อน"

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรใน จ.เชียงใหม่และใกล้เคียง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มี.ค. ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นั้น นายสมศักดิ์ชี้แจงว่าเพื่อให้เกิดการพูดคุยทำข้อตกลงกับสหกรณ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกร ทั้งนี้เจ้าหนี้อันดับหนึ่งของเกษตรกรคือ ธ.ก.ส. รองลงมาคือสหกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

 

ซึ่งระดับ ธ.ก.ส. ได้มีการพูดคุยทำข้อตกลงกับทางคณะกรรมการบริการของ ธ.ก.ส. แล้ว โดยจะมีการนำไปปฏิบัติในทุกสาขา แต่สำหรับสหกรณ์นั้นไม่สามารถดำเนินการด้วยวิธีเดียวกันได้ เพราะแต่ละสหกรณ์นั้นต่างเป็นนิติบุคคลและมีแนวทางการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทางกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ไม่สามารถพูดกับสหกรณ์ทั่วประเทศได้ จึงคิดว่านายทะเบียนของสหกรณ์โดยเฉพาะกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจะทำหน้าที่เชิญสหกรณ์ต่างๆ มาประชุมกันถึงเรื่องนี้ว่าจะมีทางออกหรือแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร โดยประชุมพร้อมกันทั้งเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ เจ้าหนี้ และนายทะเบียน

 

"แต่ละสหกรณ์มีแนวทางการบริหารที่ต่างกัน ซึ่งวิถีประชาธิปไตยเราเคารพความแตกต่างอยู่แล้ว แต่ว่าในเมื่อมีความแตกต่างกันมันควรจะมีที่พื้นที่มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยมีนายทะเบียนเป็นตัวกลาง ผมคิดว่าทางกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้นนายทะเบียนสามารถประสานกับสหกรณ์ได้ทั่วประเทศ อีกทั้งจะเป็นผู้ประสานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสหกรณ์จังหวัดที่เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนอยู่แล้ว"

 

ทั้งนี้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 24 มิถุนายน 2551 มีมติชัดเจนว่าจะให้สหกรณ์ดำเนินการอย่างไร โดยสหกรณ์จะได้รับเงินต้นเต็มจำนวนซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้จ่าย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 หากสหกรณ์มองว่าอัตราดังกล่าวไม่สามารถยอมรับได้ก็สามารถประสานกับทางนายทะเบียนให้เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ ส่วนข้อตกลงที่มีกับทาง ธ.ก.ส. นั้น ธ.ก.ส.จะได้รับเงินคืนครึ่งหนึ่งของเงินต้นโดยไม่ได้รับดอกเบี้ย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง และสหกรณ์หลายแห่งก็รับเงื่อนไขเช่นเดียวกับ ธ.ก.ส. โดยขณะนี้ขั้นตอนต่างๆ ได้ดำเนินการค่อนข้างคืบหน้าเหลือเพียงการทำความเข้าใจเรื่องรายละเอียดของปัญหาเท่านั้น เพราะรัฐบาลมีได้มีการนโยบายแถลงต่อสภา และการรวมตัวกันในวันที่ 23 มีนาคมนี้ ก็ได้ประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์แล้ว

 

"ชาวเชียงใหม่หรือคนพื้นที่อื่นไม่ข้าใจ อาจถามว่าทำไมมีรวมตัวอีกแล้วหรือ ขอเรียนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ การที่เกษตรกรสูญเสียที่นา ถ้าเกษตรกรไทยทั้งหมดสูญเสียที่นาไปแล้วครึ่งหนึ่งของประเทศ สูญเสียที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก อะไรจะเกิดกับประเทศไทย ถ้าประเทศไทยสิ้นที่ดินทำกิน สิ้นที่ดินในการทำนาปลูกข้าว ก็เท่ากับว่าคนในประเทศไทยก็ไม่มีข้าวกิน ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ใครก็มาเป็นเจ้าของที่ดินในไทยได้ ฉะนั้นการที่เกษตรในไทยมาปกป้องผืนนาของตนเป็นเรื่องชอบธรรม และเป็นการปกป้องผืนนาผืนสุดท้าย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท